Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

Articles

วิธีฝึกศัพท์ให้ จำได้+เข้าใจ+ใช้เป็น

awalk

สวัสดีครับ

       ท่านผู้อ่านครับ สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ถ้าแฟนประจำของเว็บบอกว่าเล่าซ้ำซากผมก็ยอมรับครับ แต่ขอบอกว่าผมมีความปรารถนาดีจริง ๆ ที่อยากเห็นน้อง ๆ ที่ยังเป็นนักเรียน และเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เรียนจบแล้ว แก้ปัญหาเกี่ยวกับคำศัพท์ 3 เรื่องนี้ให้ได้, ถ้ามันคือปัญหาของท่าน  คือ

(1)จำคำแปลหรือความหมายของคำศัพท์ไม่ได้

(2)เมื่ออ่านเจอหรือได้ยินคำศัพท์ก็ไม่เข้าใจ

(3)จะนำคำศัพท์ไปใช้แต่งประโยคเพื่อพูดหรือเขียน ก็ทำไม่เป็น

       ผมจะพยายามพูดให้สั้นที่สุด เพราะผมรู้ว่าเรื่องนี้พูดมากก็น่ารำคาญ บ่อยครั้งที่ผมกลับมาอ่านเรื่องที่ตัวเองเขียนยังรู้สึกว่าช่างพูดยาวได้อย่างน่ารำคาญยิ่ง เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะพูดให้สั้นที่สุด ตรงจุดที่ต้องการจะพูด จะไม่เลี้ยวออกนอกทางเพื่อชมวิวเพิ่มเติมเด็ดขาด  ดังนี้ครับ

[1] ผมรู้สึกว่าคนไทยทั่ว ๆ ไปจำนวนไม่น้อย   แม้แต่คนรุ่นใหม่ ก็ยังใช้วิธีการเดิม ๆ อยู่วิธีเดียวในการจำศัพท์ให้ได้ คือ “ท่อง” การท่องนี้เป็นการอัดศัพท์เข้าไปในสมอง เป็นวิธีการหักดิบซึ่งต้องใช้สมองที่แข็งแรงมาก ถ้าสมองไม่แข็งแรงมากพอ จะเกิดอาการแพ้คือจำยากและลืมง่าย  แทนที่จะเป็นจำง่ายและลืมยาก  อย่างที่ต้องการ

[2] ผมจึงแนะอยู่บ่อย ๆ ว่า  ถ้าท่านจะท่องก็ทำได้  แต่น่าจะทำน้อยหน่อย และควรใช้เวลาให้มากขึ้นไปฝึกศัพท์ด้วยวิธีอื่น ที่สามารถช่วยให้ท่านได้ 3 อย่างพร้อมกัน คือ จำได้+เข้าใจ+ใช้เป็น, ไม่ใช่จำได้อย่างเดียว แต่ไม่เข้าใจและใช้ไม่เป็น

[3] ผมมานั่งนึกดูว่า ทำไมคนไทยหลายคนเมื่อเรียนภาษาอังกฤษ จึงยึดการท่องศัพท์เป็นวิธีแรก สิ่งนี้น่าจะเป็นผลมาจากธรรมเนียมการศึกษาแต่ดั้งเดิม  ที่หลายวิชาเริ่มต้นด้วยการอ่านและต้องจำให้ได้ ผมกำลังจะบอกว่า คนที่เรียนด้วยวิธีท่องจำศัพท์นั้นไม่ได้ผิดถึงขั้นเป็นอาชญากร แต่ท่องจำอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องทำอย่างอื่นด้วย

[4] คำถามก็คือจะฝึกศัพท์อย่างไรให้ได้ครบ  3 อย่าง คือ จำได้+เข้าใจ+ใช้เป็น เรื่องนี้ผมได้พูดมาหลายครั้งแล้ว และคงจะพูดต่อไปอีกเรื่อย ๆ คือ  เราต้องออกไปเจอศัพท์ในที่อยู่ตามธรรมชาติของมันจริง ๆ คือ ในหนังสือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น fiction หรือ nonfiction, ในบทความ, ในข่าว, story ต่าง ๆ, ในเพลง, คลิป, ภาพยนตร์, สารคดี, mp3 ฯลฯ ของพวกนี้มีให้เข้าไปศึกษาและดาวน์โหลดเยอะแยะในอินเทอร์เน็ต ในเว็บ e4thai.com ก็มีเยอะครับ ในแหล่งเหล่านี้แหละครับ ที่ผมบอกว่าเป็นสถานที่อยู่ตามธรรมชาติของศัพท์, ไม่ใช่ใน list คำศัพท์อังกฤษ-ไทย   หรือในดิกชันนารี(อังกฤษ-ไทย)ที่มีคำศัพท์อัดแน่นกันอยู่อย่างหงอย ๆ

awalk

[5] และแม้ว่าใน 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ บริษัททำดิกขายยี่ห้อดัง ๆ ของโลก เช่น Oxford, Longman, Webster, Cambridge จะพยายามทำดิกของเขาให้น่าใช้ เช่น มีประโยคตัวอย่างมากขึ้น, มีคำอธิบายประกอบ, หรือถ้าแทรกภาพได้ก็จะแทรกเข้าไปเพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นและดึงดูดตา แต่ถึงอย่างไรมันก็ไม่สามารถทำให้ดิกกลายเป็นสถานที่อยู่ตามธรรมชาติของคำศัพท์  มันเหมือนกับสวนสัตว์บางแห่งที่พยายามขยายพื้นที่ของกรงสัตว์ให้โตขึ้นหลายเท่า โดยเพิ่มต้นไม้ พื้นดิน ทางน้ำ เพื่อทำให้กรงคล้ายกับป่าซึ่งสัตว์อาศัยอยู่ แต่สัตว์ในสวนสัตว์ก็ยังเป็นสัตว์กรง ไม่สามารถกลายเป็นสัตว์ป่าไปได้

       ที่พูดเช่นนี้เพราะต้องการจะบอกว่า แม้ดิกดัง ๆ แทบทุกยี่ห้อจะโฆษณาว่า ประโยคตัวอย่างที่บรรจุไว้ในดิกของเขาเป็นตัวแทนที่แท้จริงของภาษาอังกฤษที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งเขาดั้นด้นนำมาเก็บไว้ใน corpus หรือคลังข้อมูลของเขานับเป็นล้านล้านคำ  แต่สวนสัตว์ก็ยังเป็นสวนสัตว์อยู่นั่นเอง ไม่สามารถเป็นป่าที่สัตว์ป่าอยู่กันตามธรรมชาติ

[6] เมื่อพูดอย่างนี้ หลายท่านก็อาจจะตอบว่า มันยากเกินไปที่จะให้ลุยออกไปอ่านข่าว Bangkok Post, ฟังข่าว BBC, CNN หรือซื้อนิยายต้นฉบับภาษาอังกฤษ bestseller มาอ่าน, มันอ่านไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่อง เจอศัพท์ทีไรดูใหม่ไปหมด ไม่รู้จักสักคำ ขอซ้อมมือท่องศัพท์ก่อน พอไปอ่านหรือฟังหรือดูจะได้รู้เรื่องบ้าง

       ถ้าท่านพูดอย่างนี้ผมก็ขอบอกว่า นี่ท่านกำลังแยกพี่น้องแฝด 3 คนออกจากกัน คือ การจำได้+เข้าใจ+ใช้เป็น สามอย่างนี้มันต้องเลี้ยงด้วยกัน และโตด้วยกันตลอดเวลา ไม่ใช่บอกว่าปีแรกนี้ขอท่องศัพท์ให้ได้สัก 1,000 คำก่อน, พอปีหน้าจะหาหนังสือที่มีศัพท์พวกนี้มาอ่าน  และจะได้เข้าใจทันทีไม่ต้องเปิดดิก, และปีถัดไปเมื่อต้องพูดภาษาอังกฤษหรือส่งอีเมลให้ฝรั่ง  ก็จะพูดให้ปร๋อหรือเขียนให้คล่องปรู๊ดปร๊าดเลย

       ถ้าท่านยืนยันหัวเด็ดตีนขาดจะฝึกอย่างนี้ ผมก็ไม่กล้าขัดคอท่านหรอกครับ แต่ผมจะบอกว่าวิธีการฝึกของท่านนี้ เหมือนกับท่านกินอาหารมื้อเช้า และบนโต๊ะมีข้าวเปล่าอยู่ 1 จาน, มีปลาเค็มอยู่ 1 ตัว, และมีต้มยำกุ้งอยู่ 1 ชาม, ถ้าท่านยืนยันว่า จะกินข้าวเปล่าให้หมดจานก่อน, และตามด้วยกินปลาเค็มให้หมดตัว, ตบท้ายด้วยการกินต้มยำกุ้งให้หมดชาม ใครห้ามมาขวางสไตล์การกินที่ “เป็นตัวเอง” ของท่านแบบนี้ ผมก็ไม่กล้าขัดขวางการกินของท่านหรอกครับ

       แต่กระนั้น แม้ผมไม่อยากพูด แต่ก็อยากบอกว่า คนไทยหลายคนก็ชอบฝึกศัพท์ เหมือนกินข้าวและกับข้าว ให้หมดไปทีละอย่างแบบนี้เด๊ะเลย

awalk

[7] แต่ถ้าท่านยอมให้ผมพูดถึงวิธีการฝึกศัพท์ที่ผมเห็นว่าเป็นธรรมชาติและได้ผล ผมก็ขอเล่าอย่างนี้ครับ (ท่านฟังผ่าน ๆ โดยไม่ต้องเห็นด้วย หรือจะคิดค้านในใจ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรครับ)

[7.1] อันดับแรกของการฝึก ผมจะหาเรื่องมาอ่านหรือฟัง โดยเรื่องนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ 2 ข้อดังนี้

(1)มีเนื้อหาที่ผมชอบ  สนใจ อ่านแล้วเพลิน หรือผมต้องรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่บ้าง และ

(2)มีเนื้อหาที่ไม่ยากเกินไป  คือว่า ศัพท์ในนั้นต้องง่ายพอฟัดพอเหวี่ยงกับเรี่ยวแรงที่ผมมี   หรือถ้ามีศัพท์ยากหลงมาก็ต้องพอเดาได้ หรือถ้าเดาไม่ได้ก็เป็นศัพท์ที่ไม่สำคัญซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้

       นี่เป็นงานแรกที่ผมต้องลงทุนทำ  และจะไม่วานให้ใครทำให้เด็ดขาด เพราะไม่มีใครรู้ใจเราดีเท่าตัวเราเอง เรื่องที่จะอ่านหรือฟังที่ว่านี้ ผมต้องหาไว้หลาย ๆ เรื่องหน่อย ดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้, หรือทำ Favorites / Bookmarks ไว้, เหตุที่ต้องหาไว้เยอะ ๆ ก็เพื่อจะได้สลับกันได้เวลาเบื่อ หรือล้า

[7.2] พอได้เรื่องตามข้อ [7.1] แล้ว  ต่อไปก็ต้องลุยฝึกทุกวันโดยไม่มีข้อแม้ ทั้งวันที่ขยันและขี้เกียจ, วันที่เรียนรู้เรื่องและเรียนไม่รู้เรื่อง, วันที่มีเวลาและแม้วันที่ไม่มีเวลา ก็ต้องหาเวลาเรียนให้ได้ เช่น ตื่นเร็วขึ้นนิด, นอนดึกขึ้นหน่อย, เช็คโซเชียลให้น้อยลงกว่าบัดนี้สักสี่ห้าเท่า

       โกวเล้งวีรบุรุษบู๊ลิ้มอาจจะเคยพูดปรัชญาขี้เมาไม่น่าฟังบางประโยค แต่มีประโยคหนึ่งซึ่งแกพูดแล้วเป็นอมตะตลอดกาล คือ  ฟ้าไม่รานน้ำใจคนพยายาม  

[7.3] พอมาถึงตรงนี้ท่านอาจจะถามว่า ให้เลิกท่องศัพท์โดยเด็ดขาดอย่างนั้นหรือ? คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ! ถ้าท่านชอบและถูกชะตากับการท่องศัพท์เพราะมีบุพเพสันนิวาสร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ก็อย่าหักหาญหัวใจของตัวเองเกินไปเลยครับ   

       แต่ผมอยากจะบอกว่า การอ่านคำแปลนั้น(เช่น จากดิกอังกฤษ-ไทย) มันให้ความเข้าใจเป็นภาษาไทย แต่การอ่านความหมาย (เช่น จากดิกอังกฤษ-อังกฤษ) มันจะให้ความเข้าใจที่ไม่ต้องแปลเป็นไทยในสมอง คือเข้าใจไปเลยโดยไม่ต้องแปล  และนี่เป็นการ upgrade ตัวเอง จากระดับ(1)-เข้าใจโดยการแปล มาเป็นระดับ (2)-เข้าใจโดยไม่ต้องแปล โดยอาศัยสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า contextual (ข้อความทำให้เข้าใจ) และ visual (ภาพทำให้เข้าใจ)

awalk

       ท่านอาจจะพูดว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้ พูดง่ายแต่ทำยาก ก็จริงครับ แต่ผมก็ขอเชิญคำพูดของโกวเล้งอีกครั้ง คือ ฟ้าไม่รานน้ำใจคนพยายาม  ไม่รานจริง ๆ ครับ แม้ว่าบ่อยครั้งที่ฟ้ามักลองใจว่าคน ๆ นี้จะใจเด็ดจริงสมควรบำเรอความสำเร็จให้หรือเปล่า

       เรื่องที่ผมจะพูดก็คงมีแค่นี้แหละครับ

       สำหรับท่านที่เห็นว่า สิ่งที่ผมพูดนี้ทำไม่ได้หรือทำยากเกินไปสำหรับปุถุชน ถ้าทำได้กระทรวงศึกษาฯ เขาก็คงไม่ปวดหัวอยู่ทุกวันนี้ ถ้าท่านเห็นอย่างนี้ ผมก็กราบขออภัยเป็นอย่างสูงที่ทำให้ท่านเสียเวลาอ่านมาหลายนาที

       แต่ถ้าท่านเห็นว่า ก็น่าจะลองดู ก็ขอเชิญไปที่เครื่องมือ 2 กลุ่ม ที่เว็บนี้ขอมอบให้ท่านนำไปใช้ฝึกคำศัพท์เพื่อให้จำได้+เข้าใจ+ใช้เป็น อย่างที่ผมโฆษณาไว้ตั้งแต่ต้น  และขอขอบคุณที่ท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้ครับ


เครื่องมือชุดที่ 1:  

       รวมรวมไฟล์ story หรือ fiction / nonfiction ง่าย-ยากหลายระดับ ให้ท่านเลือกดาวน์โหลด เพื่ออ่านและฟัง ถ้าท่านเลือกและอ่านหรือฟังแล้ว รู้สึกว่ามันยากเกินไป ก็ให้เลือกใหม่ครับที่มันง่ายกว่านั้น เลือกระดับเตี้ย ๆ ถึง level 1 หรืออนุบาล หรือ kindergarten ก็ได้ครับ ท่านไม่ต้องรู้สึกอายที่ต้องอ่านหนังสือเด็ก ๆ (ของฝรั่ง)พวกนี้หรอกครับ ถือว่าเป็นการสร้างพื้นฐานใหม่หรือชดใช้กรรมเก่าที่ยังค้างคากับเจ้ากรรมนายเวรสมัยอดีตก็ได้ ผมขอบอกอย่างมั่นใจเลยว่า ถ้าท่านยอมอดทนปรับพื้นใหม่โดยไม่คิดมาก   ท่านก็จะทำได้ครับ


เครื่องมือชุดที่ 2:  

        เว็บข้างล่างนี้ จะช่วยฝึกคำศัพท์เพื่อให้ท่านจำได้+เข้าใจ+ใช้เป็น โดยไม่ต้องแปล  โดยอาศัยสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า contextual (ข้อความทำให้เข้าใจ) และ visual (ภาพทำให้เข้าใจ) อย่างที่ผมเล่าให้ฟังแล้วข้างต้น ถ้าเว็บแรก ๆ ยังไม่ถูกใจ ก็หาไปเรื่อย ๆ จนเจอที่ใช่นะครับ บางเว็บเมื่อเจอแล้วอาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับมันสักนิด 

contextual & visual

contextual

visual

และ  Learner’s Dictionary ดิก อังกฤษ – อังกฤษ ฉบับมาตรฐาน

ประกอบด้วย definition, example sentence, pronunciation, phrasal verb, idiom, usage note

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/EnglishforThai

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com