Articles

วิธีฝึกอ่านภาษาอังกฤษที่อ่านยาก (The Economist)

Pages from theeconomist 16 22 july 2016

สวัสดีครับ

วันนี้ผมมีนิตยสารข่าวยักษ์ใหญ่ระดับโลก The Economist ฉบับวันที่ 16 – 22 July 2016 มาฝาก ถ้าท่านต้องการอ่านฉบับอื่น ๆ ก็เข้าไปที่เว็บ englishtips.org/ แต่ต้อง register ก่อน และพิมพ์ The Economist ในช่อง Search เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ mp3 และ pdf ตามปกติเว็บนี้จะมีให้ดาวน์โหลดทุกวันศุกร์

     ท่านผู้อ่านครับ ตามปกติผมจะแนะนำคนที่จะฝึก reading ว่า อย่าอ่านเนื้อหาที่ยากเกินตัว ให้เลือกอ่านเรื่องที่มันยากพอฟัดพอเหวี่ยง เหมือนเดินขึ้นบันไดควรก้าวขึ้นทีละขั้น  ถ้ารีบขึ้นโดยก้าวทีละ 2 – 3 ขั้น  ขาอาจฉีกก่อนได้

     แต่ว่า นาน ๆ ครั้ง เราอาจจะฝึกอ่านเรื่องที่ยากเกินกำลังบ้างก็ได้ และวันนี้ผมขอยกตัวอย่างนิตยสารข่าวยักษ์ใหญ่ระดับโลก The Economist ซึ่งผมเคยได้ยินหลายคนบ่นว่าอ่านยาก  ท่านลองเข้าไปดูฉบับวันที่ 16 – 22 July 2016 นี้ดูก่อนก็ได้ครับ ---> คลิก

และผมขอคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยว่าไปทีละประเด็น ดังนี้ครับ

[1] ในความเห็นของผม The Economist เป็นนิตยสารข่าวที่อ่านยากของปัญญาชนคนรู้ภาษาอังกฤษดี ทั้งข้อมูลและข้อคิดเห็นในเล่มอ่านแล้วดูขึงขังน่าเลื่อมใสไปหมด ผมเคยอ่านหลายเรื่องที่ลงเกี่ยวกับเมืองไทย ส่วนใหญ่เขียนได้ดีแต่บางเรื่องก็เขียนได้อย่างลำเอียงน่าเลื่อมใสศรัทธา  สรุปก็คือเขาเขียนข่าวได้น่าอ่านมาก   อ่านแล้วได้ทั้งเรื่องที่ชวนรู้(ว่าเขาเขียนอะไร)และการฝึกภาษา

[2] คราวนี้มาพูดถึงความยากที่หลายคนบ่นกันบ้าง  ผมขอแยกความยากออกเป็น 3 ด้านดังนี้ครับ

ด้านที่ 1 แกรมมาร์ยาก

     ผมขอพูดเรื่องแกรมมาร์ก่อนแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ชอบ ประเด็นของเรื่องก็คือ เมื่อเราอ่านเจอคำศัพท์เป็นคำ ๆ, กลุ่มคำ, วลี, อนุประโยค, สำนวน  และไม่เข้าใจ  แต่ถ้าแกรมมาร์เราแน่น  เราจะสามารถแยกแยะออกว่า คำที่เรางงนี้มันเป็นคำอะไร เช่น เป็น noun, หรือเป็น verb, หรือเป็น adjective, มันขยายอะไร หรือมีอะไรมาขยายมัน และขยายในลักษณะไหน, มันเป็นคำสำคัญที่จำเป็นต้องรู้เดี๋ยวนี้ หรือเป็นคำไม่สำคัญที่ยังไม่ต้องรู้ก็ได้  ฯลฯ แกรมมาร์พวกนี้ถ้าเราไม่รู้ ตอนเราอ่านข่าวแล้วงง  เราจะดับเบิ้ลงง เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรางงอะไร   แต่ถ้าเรารู้ตำแหน่งหน้านี้หรือยศฐาบรรดาศักดิ์ของคำศัพท์หรือกลุ่มคำ  เราจะแค่งงธรรมดา   เพราะเราจะมองออกว่า ไอ้จุดที่เรางงมันเป็นคน-สัตว์-สิ่งของ, เป็นการกระทำหรือคำขยาย,  และอาจจะรู้ด้วยว่า ไอ้ งง-1, งง-2, งง-3 มันสัมพันธ์กันหรือไม่ นี่แหละครับคือประโยชน์ของการรู้แกรมมาร์เมื่อเราอ่านเรื่องยาก ๆ ยาว ๆ และยอกย้อน

     แกรมมาร์ลักษณะนี้มีอะไรบ้างล่ะที่ต้องรู้?  หลัก ๆ ก็คือ part of speech (คำประเภทต่าง ๆและรายละเอียดการใช้งานของมัน), โครงสร้างประโยคแบบต่าง ๆ, วลีและอนุประโยคชนิดต่าง ๆ,  present & past participle เป็นต้น

ด้านที่ 2 ศัพท์ยาก

     ถ้าศัพท์ของท่านสูงระดับทำข้อสอบ TOEFL ได้ดี ท่านก็คงไม่มีปัญหาในการอ่าน The Economist แต่ถ้าไม่สูงขนาดนั้น  เราก็สามารถใช้ The Economist เป็นแบบฝึกหัดคล้ายบันไดไต่ฝึกศัพท์ คำว่าฝึกในที่นี้ก็คือฝึกเดาความหมายที่เราไม่รู้   และฝึกตีความประเด็นที่เรากำลังอ่าน  ผมจึงขอย้อนไปถึงเรื่องแกรมมาร์ที่พูดแล้ว คือ ถ้าเราไม่รู้แกรมมาร์ซึ่งเป็นป้ายบอกยี่ห้อของคำศัพท์  เวลาเราจะเดาความหมาย  เราก็จะเดาไม่ค่อยออกหรือเดาออกอย่างสะเปสะปะ

     แต่ถ้าเรารู้แกรมมาร์ซึ่งเป็นป้ายบอกยี่ห้อของคำศัพท์ เราก็จะสามารถใช้คำศัพท์พื้นฐาน 2-3 พันคำที่เรารู้อยู่  เป็นฐานปีนบันไดในการเดาคำศัพท์ที่เราไม่รู้หรือไม่แน่ใจ   แกรมมาร์จึงมีประโยชน์ในการอ่านภาษาอังกฤษให้รู้เรื่องด้วยประการฉะนี้

     อีกอย่างที่อยากพูดคือการรู้ root ของคำศัพท์ ประเภท prefix-suffix เรื่องนี้ก็มีประโยชน์ครับ   แต่ว่าเรื่องที่น่าเบื่อก็คือ มันมีเยอะจัด ผมขอแนะนำว่า ท่านก็พยายามจำให้ได้เพียง prefix-suffix ที่เจอบ่อยในศัพท์ยากแล้วกันครับ จำทุก –fix คงไม่ไหว

ด้านที่ 3 เนื้อหายาก

     เนื้อหายากหรือเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อ่าน world news แล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง ดูง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ ท่านอ่านภาษาไทยนี่แหละ  แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ท่านไม่คุ้นเคยเอาเสียเลย เช่น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง, ปรัชญาตะวันตกยาก ๆ ของอริสโตเติ้ล ถึงอ่านออกทุกคำก็อาจจะไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ท่านคุ้นเคย มันจะอ่านง่าย-เดาศัพท์ได้ง่าย-ตีความเนื้อเรื่องได้ง่าย มันง่ายไปหมด

     ผมจึงขอแนะว่า แม้แต่นิตยสารข่าวอ่านยากอย่าง The Economist นี่แหละ ถ้าเราอ่านข่าวเกี่ยวกับเมืองไทย, เมืองจีน, ญี่ปุ่น ที่เราคุ้นเคยหรือติดตามอยู่ มันก็จะอ่านได้ง่ายกว่าข่าวเกี่ยวกับประเทศอะไรก็ไม่รู้ในทวีปแอฟริกาซึ่งเราแทบไม่เคยได้ยินชื่อ

     จากที่คุยมานี้ ท่านจะเห็นได้ว่า แม้จะเป็น world news ที่อ่านยากอย่างนิตยสาร The Economist มันก็ยังใช้ฝึกอ่านได้บ้างอยู่นั่นเองไม่มากก็น้อย โดยเรา

(1)ค่อย ๆ ฟิตเรื่องแกรมมาร์ที่จำเป็นต่อการอ่านมากขึ้นเรื่อย ๆ

(2)พยายามฟิตศัพท์พื้นฐาน 2-3 พันคำที่ควรรู้ให้แน่นเป็นต้นทุนไว้ และ

(3)เลือกอ่านเรื่องที่เรามีความคุ้นเคย  

     ถ้าทำอย่างนี้ ของอ่านยากก็มีประโยชน์ได้   หลาย ๆ วันคลิกเข้าไปอ่านสักทีก็ดีเหมือนกัน

     มีอีกเรื่องหนึ่งที่ขอแถมท้ายก่อนจบ  คือผมได้อ่านประวัติของพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสายอีสานหลายองค์ มีเรื่องหนึ่งที่คล้ายกันมากหรือเรียกว่าเหมือนกันก็ได้ เมื่อท่านฝึกกรรมฐานอยู่ในป่า ในดงสัตว์ร้าย ชุกชุมด้วยเสือ ช้าง งูพิษ หรือภูตผีปีศาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามค่ำคืน เมื่อต้องผจญกับพวกนี้ซึ่งคนธรรมดาต้องกลัวสุดขีด แต่ใจของท่านกลับนิ่งมาก  นิ่งไม่นิ่งเปล่าแถมแผ่เมตตาให้โดยไร้ขีดจำกัด และท่านก็ผ่านเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้พร้อมบทเรียนที่เป็นประสบการณ์อันมีค่า

     ผมอยากแนะนำให้ท่านที่ฝึกอ่านและเจอภาษาอังกฤษยาก ๆ ว่า อย่าปล่อยให้ความเกลียดกลัวเข้ามาครอบงำจิตใจ ถ้าท่านอ่านภาษาอังกฤษยาก ๆ ด้วยใจที่นิ่ง  ไม่ว่าท่านจะอ่านเข้าใจมากหรือน้อย ท่านก็จะค่อย ๆ สะสมบทเรียนและประสบการณ์จากการอ่าน ทุกครั้งที่อ่าน

     ลองเข้าไปอ่าน The Economist ดูนะครับ ---> คลิก

     ด้วยความรักและปรารถนาดีอย่างจริงใจครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai