Articles

พระทำกรรมฐาน กับ เราเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ต่างกันเลยครับ !!

สวัสดีครับ

ท่านผู้อ่านลองดู  2 รูปข้างล่างนี้นะครับ

phra*studyENG

ท่านเห็นอะไรครับ?

     รูปซ้ายคือหลวงพ่อกำลังนั่งทำสมาธิในกุฏิที่วัด ส่วนรูปขวาเป็นหญิงสาวกำลังเปิดหนังสือศึกษาภาษาอังกฤษ ดูแล้ว 2 คนนี้อยู่คนละโลก ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย และทำกิจกรรม 2 อย่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง !!

     แต่ความจริงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็น และผมกำลังจะพูดสิ่งที่ผมเห็น ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

     ขอเริ่มที่รูปซ้ายคือหลวงพ่อก่อน ท่านกำลังนั่งสมาธิ ตามปกติถ้าเป็นศัพท์เทคนิคจริง ๆ จะใช้คำว่าทำกรรมฐาน ทำกรรมฐานคือทำอะไร? ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  บอกว่า กรรมฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบาย ทางใจ มี 2 ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และ วิปัสสนา กรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา อ่านจบแล้วยิ่งงงกว่าเก่า ตกลงว่าหลวงพ่อท่านนั่งทำอะไรกันแน่?

     ท่านผู้อ่านคงได้ยินชื่อหลวงพ่อดัง ๆ ที่พวกเราชาวไทยเคารพนับถือว่า เป็นผู้นำชาวพุทธทางด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา หรืออาจารย์พุทธทาส เป็นต้น ก่อนที่ท่านจะรู้ธรรมและนำธรรมที่ท่านรู้มาสั่งสอนพวกเราชาวพุทธและชาวโลก ทุกท่านล้วนผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า นั่งกรรมฐาน มาแล้วทั้งนั้น

     ท่านลองสมมุติตัวเองตามที่ผมกำลังจะว่าให้ฟังต่อไปนี้ก็ได้ครับ ท่านไปที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ปูเสื่อเล็ก ๆ ที่ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง นั่งขัดตะหมาดหลับตาทำความรู้สึกตามลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกนึกว่า “โธ” ให้ความรู้สึกทั้งหมดตามจับอยู่ที่ลมหายใจ ทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนใจสงบมากขึ้น ๆ ไปตามลำดับ... เป็นไงครับ เรื่องเล่าทำนองนี้คุ้นเคยบ้างไหมครับ

     คำถามของผมก็คือ พอสงบเสร็จแล้วยังไงต่อล่ะ แล้วมันต่างอะไรกับการทำตัวให้เป็นท่อนหิน?  ไม่ต่างกันเลยใช่ไหมครับ !!

     เพราะจริง ๆ แล้วขณะที่กำลังตามลมหายใจเพื่อให้ใจมันเชื่องและสงบนั้น ใจคนเรามันจะพยศและไม่ยอมเชื่องง่าย ๆ  ก่อนที่จะบวชเป็นพระหลวงพ่อท่านก็เป็นชาวบ้านธรรมดานี่แหละครับ และเมื่อนั่งทำสมาธิข้อมูลที่สะสมใน database สมองของท่าน จะโผล่ออกมารบกวน หรือ interfere ทำให้ใจท่านไม่สงบง่าย ๆ

     ท่านกลับขึ้นไปอ่าน definition ของคำว่า กรรมฐานอีกครั้งซีครับ

กรรมฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบาย ทางใจ มี 2 ประการ คือ

-สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และ

-วิปัสสนา กรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา

     ตอนที่ท่านตามลมหายใจเพื่อทำให้ใจสงบหรือนิ่ง นี่เรียกว่า ทำสมถกรรมฐาน  แต่ถ้าใจมันไม่ยอมสงบ ไม่ยอมเชื่อง ไม่ยอมนิ่ง ท่านจะทำยังไงต่อไป? ท่านก็ต้องทำตัวที่ 2 คือ วิปัสสนา กรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา ทำยังไงล่ะ?

     ถ้าท่านผู้อ่านศึกษาประวัติของพระอาจารย์ดัง ๆ ก็จะพบว่า ชีวิตตอนเป็นชาวบ้านของท่านก็ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป หลายท่านเคยอกหัก มีเมียมาแล้ว บางท่านเคยเป็นโจรมาด้วยซ้ำ และมิหนำซ้ำหลายท่านถูกสีกาย่องเข้าไปหาในกุฏิตอนบวชเป็นพระแล้ว (ประวัติพวกนี้ไม่ค่อยมีการบันทึกแต่เล่าต่อ ๆ กันในกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิด) และตอนที่ท่านทำสมาธิเหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้ ที่ก่อให้เกิดความรัก ความชัง ความกลัว ความลังเลสงสัย ความท้อแท้หดหู่ เศร้าหมอง นานาประการ ก็จะเข้ามาแจมใจของท่านให้เป็นคลื่นที่ไม่สงบ บางท่านถึงกับเห็นภาพแปลก ๆ เช่น เห็นเทพองค์นั้นองค์นี้ หรือเห็นนางฟ้า เทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นสถานที่สวย ๆ ที่ไม่เคยไป หรือแม้แต่เห็นตัวเลข

     วิธีที่ท่านแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็คือ ใช้ใจที่สงบหรือนิ่งอยู่บ้างนี้ มองดูความรู้สึกนึกคิดที่เป็นภาพเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในใจ ท่านอาจจะถามว่า มองทำไม?  คำตอบก็คือ มองเพื่อให้รู้ว่า แม้ว่าท่านจะเห็นจริง แต่สิ่งที่ท่านเห็นไม่ใช่ของจริง ถ้าเรารักษาใจให้สงบ  ไม่ไปวี้ดว้ายกระตู้วู้กับมัน  ความไม่สงบก็จะอยู่กับเราไม่นานนัก เดี๋ยวมันก็ไป พระท่านเรียกเทคนิคนี้ว่า “รู้แล้วละ- ปล่อยวาง-ไม่ยึดมั่นถือมั่น”  และนี่คือความหมายของ “วิปัสสนา กรรมฐาน  - อุบายเรืองปัญญา” พระที่ผ่านการปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงเรื่องในใจเช่นนี้ ก็จะมาบอกเล่า(เทศน์)ประสบการณ์ของท่านเพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติเพื่อรู้เองเห็นเองบ้าง เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่สงบและไร้ทุกข์ในใจ

     ถามว่า พระท่านที่ทำกรรมฐานเหล่านี้เจอปัญหาในการปฏิบัติบ้างไหม? เท่าที่ได้ยินได้อ่านทำให้ทราบว่า บางรูปก็เจอปัญหา เช่น

-ไม่จริงจังที่จะปฏิบัติสมถรรมฐาน ใจจึงไม่รู้จักสงบ

-จะปฏิบัติแต่สมถกรรมฐานอย่างเดียว มุ่งแต่จะบีบให้ใจสงบ   ท่าน start การนั่งด้วยความอยากอย่างเปี่ยมล้นให้ใจสงบ เมื่อไม่สงบดังใจก็เครียด ยิ่งนั่งยิ่งเครียด แทนที่จะยิ่งนั่งยิ่งคลาย

-แต่ถ้าท่านรู้จักใช้ใจที่นิ่งอยู่บ้าง สำรวมจิตดูภาพหรือคลื่นที่เกิดขึ้นในใจ และปล่อยสิ่งที่เห็นให้มันสลายไปเอง (let it be) ท่านก็จะได้ใจที่นิ่งและเบาจากการปฏิบัติ

-แต่บางรูปก็ไม่สนใจที่จะนั่งสมาธิให้ใจสงบเลย ถือหลักว่า เมื่อเกิดความรู้สึกนึกคิดหรือนิวรณ์ในใจก็จะมองดูจนมันดับไป และบอกตัวเองว่า นี่คือการปฏิบัติ วิปัสสนา กรรมฐาน คือ มองให้รู้-ดูให้เห็น แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ถ้าพื้นฐานใจของท่านไม่สงบมากพอ ท่านก็จะมองไม่ค่อยเห็นหรอกครับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเป็นนามธรรม ไม่เหมือนสิ่งของที่วางใส่มือใช้ตาเนื้อมองเห็นได้ง่าย แต่สิ่งของที่วางอยู่ในใจถ้าตาในไม่นิ่งก็มองเห็นยากครับ เมื่อไม่เห็นท่านก็ละมันไม่ได้ ใจของท่านก็เบาได้ยาก

ท่านอาจจะสงสัยว่า ผมนำเรื่องนี้มาเล่าทำไม?

     ในฐานะ webmaster ของ e4thai.com ผมสังเกตว่า ปัญหาของเราซึ่งนั่งเรียนภาษาอังกฤษที่บ้าน ไม่ต่างจากปัญหาของพระที่นั่งทำกรรมฐานในกุฏิเลย  ไม่ต่างยังไง ? ผมขอว่าไปทีละเรื่อง

1.ไม่ค่อยมีสมาธิในการรียน:

     เราไม่สามารถนำความรู้สึกทั้งหมดให้จับอยู่ที่ตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่กำลังอ่าน หรือเสียงภาษาอังกฤษที่กำลังฟัง เมื่อฟังหรืออ่านด้วยจิตใจที่กระเจิดกระเจิงเช่นนี้ ต่อให้อ่านนานหรือฟังนาน ก็ได้แต่ปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพ เหมือนพระที่นั่งทำสมาธิแต่เพียงท่าทางแต่ใจไปเที่ยว จึงเป็นการนั่งที่เสียเที่ยว

2.ไม่รู้จักเลือก “สัปปายะ”:

     สำหรับพระที่ทำกรรมฐาน ครูบาอาจารย์จะสอนให้รู้จักเลือกสถานที่ที่เอื้อต่อการทำกรรมฐาน เช่น ไม่มีเสียงอึกทึก จอแจจ้อกแจ้ก และมีกลุ่มเพื่อนพระภิกษุที่มีความเพียรด้วยกัน เป็นต้น คนที่จะฝึกภาษาอังกฤษก็ต้องรู้จักเลือก “สัปปายะ” ที่เอื้ออำนวยต่อการฝึกภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน เช่น เรียนที่ไหน  เรียนกับใครหรือใกล้ใคร(หรือควรจะไกลใคร) เรียนยังไง เหล่านี้ต้องรู้จักเลือกครับ

3.มีสมาธิ แต่ไม่มีวิปัสสนา ก็พาไปไม่ไกล

     ตอนที่เรานั่งลงที่โต๊ะเพื่อฝึกอ่านหรือฝึกฟังภาษาอังกฤษ สำหรับหลายท่านที่ใจไม่พร้อม มันจะมี “มาร”มากมายเข้ามารบกวนจิตใจทำให้เราไม่อยากเรียน มารพวกนี้ภาษาพระท่านเรียกว่า “นิวรณ์”  เช่น ขี้เกียจ, เซ็ง, เบื่อ, ท้อแท้, หงุดหงิด, ใจฟุ้งซ่านไม่อยู่กับบทเรียน, ง่วง, อยากผลัดไปทำย่างอื่นก่อน, ใจร้อนอยากรู้เรื่องเร็ว เมื่อเร็วไม่ได้ก็เลยไม่เรียน, อายที่จะฝึกพูดให้คนอื่นได้ยิน และขี้เกียจที่จะฝึกพูดคนเดียวให้ตัวเองได้ยิน เป็นต้น

     เมื่อ    start ด้วยการนั่งลงเรียนด้วยความตั้งใจ แต่พอมารพวกนี้ปรากฏตัวก็เสียศูนย์และสูญเสียจิตใจใฝ่เรียนอย่างรวดเร็ว  ผมอยากจะบอกว่า ท่านอย่าเสียเวลาไปกับการขับไล่มารเลยครับ เพราะมารพวกนี้มันก็คือตัวตนของเราเองในอดีต มันคือตัวตนที่ราสร้างขึ้นมาเอง อาจจะในชาตินี้ที่เราจำได้หรือลืมไปแล้ว หรือในชาติก่อนที่เราระลึกไม่ได้ เมื่อมารมาก็อย่าไปไล่มัน เพียงแต่ไม่สนใจและมันก็จะไปของมันเอง โดยเราไม่ต้องไปสนใจมัน เมื่อมันเรียกก็เพียงได้ยินแต่ไม่ต้องขานตอบ และไม่ต้องไปขุ่นเคืองมันด้วย นี่คือการใช้กรรมฐาน คือ สมาธิพร้อมวิปัสสนา ในการเรียนภาษาอังกฤษ คือเรียนด้วยใจที่นิ่ง รู้และละสิ่งที่เข้ามารบกวนจิตใจ โดยไม่ต้องไปขับไล่มัน

          สิ่งที่ผมพูดมาจนถึงบรรทัดนี้ ถ้าท่านมีความคิดว่าทำไม่ได้ ผมก็ขอบอกว่า ท่านก็ไม่ต้องสนใจความคิดนี้ของตัวเองหรอกครับ ความคิดนี้เกิดขึ้นจริง ท่านเห็นมันจริง ๆ แต่มันไม่ใช่ของจริง เมื่อมันไม่ใช่ของจริง ท่านเพียงรับรู้ว่ามันเป็นความคิดลวง ๆ และก็ไม่ต้องไปใส่ใจ  

          ด้วยใจที่นิ่งพร้อมที่จะเรียน ตื่นตัวเพื่อรู้และละความรู้สึกนึกคิดหลอกลวงที่เกิดขึ้น และพยายามเรียนอย่างไม่ลดละ ท่านก็จะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ เหมือนพระคุณเจ้าประสบความสำเร็จในการทำกรรมฐานนั่นแหละครับ

พิพัฒน์

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.