Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ธรรมะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่แต่ละคนควรลงทุนแสวงหาด้วยตนเอง

sacred Dhammajpg

สวัสดีครับ

       ผมไปร่วมงานแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนครั้งที่ 9 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 11 – 20 พฤศจิกายน 2555  แต่เรื่องที่จะขอคุยด้วยในวันนี้ไม่เกี่ยวกับงานแข่งขันฯ

       นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ผมไปร่วมงานแข่งขันฯ ที่จัดในประเทศมุสลิม สองครั้งแรกที่อินโดนีเซีย ปี 2545, และที่มาเลเซีย ปี 2551

       สิ่งที่สะดุดใจผมก็คือเรื่องการละหมาด พวกเราคงเคยได้ยินกันมาแล้วว่าชาวมุสลิมเขาละหมาดกันวันละ 5    ครั้ง ลองอ่านคำอธิบายสั้น ๆ ข้างล่างนี้ครับ

การละหมาด คือ การนมัสการ หรือการแสดงความภักดีต่อพระเจ้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ มุสลิมทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามต้องปฏิบัติละหมาดวันละ 5 เวลา คือ เวลาย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ และกลางคืน ก่อนปฏิบัติละหมาดต้องรวมจิตใจให้บริสุทธิ์ ชำระล้างร่างกายให้สะอาดด้วยน้ำ การละหมาดจะทำที่ใดก็ได้แต่ต้องเป็นที่ ๆ สะอาด และไม่เป็นที่ต้องห้ามตามหลักการของศาสนาอิสลาม การละหมาดจะกระทำคนเดียวก็ได้ หรือทำรวมกันหลาย ๆ คนก็จะเป็นการดี ในวันศุกร์ มุสลิมโดยเฉพาะผู้ชายจะต้องไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิด ซึ่งเป็นศาสนสถานของมุสลิม ในการ ละหมาดมุสลิมทั่วโลกจะต้องหันหน้าไปทางเมืองเมกกะ

[จาก: http://yeawya.prd.go.th/view_ebook.php?id=15]

       ทุกครั้งที่ผมร่วมงานแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนจะพบว่า ถ้าตรงกับวันศุกร์ ประเทศเจ้าภาพจะพยายามจัดเวลาให้คนที่นับถือศาสนามุสลิมจาก 3 ประเทศ  คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ไปเข้ามัสยิดเพื่อละหมาด หรือแม้เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ เมื่อปี 2553 เราก็ต้องจัดหามัสยิดให้คนมุสลิมจาก 3 ประเทศนี้ไปละหมาดในวันศุกร์เช่นกัน

        มีหลายครั้งที่ผมเดินทางไปประเทศมุสลิม  และพบว่าห้องพักในโรงแรมเขาจะมีรูปลูกศรเล็ก ๆ ติดอยู่ที่เพดานห้อง หรือไม่ก็ในพื้นลิ้นชักโต๊ะ เขียนไว้ว่า QIBLAT (ทิศของเมืองเมกมะ)  อันนี้เพื่อบอกคนมุสลิมที่มาพักให้รู้ถึงทิศที่จะหันหน้าไปเมื่อจะทำการละหมาดในห้อง

        หลายปีก่อนผมชิงทุนไปเข้าคอร์สฝึกอบรมระยะสั้นที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน  วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังคุยสนุก ๆกับเพื่อนชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งในห้องพักของเขาที่โรงแรม   เขาก็บอกว่าขอเวลาเดี๋ยวนึง แล้วเขาก็หันหน้าไปอีกทางหนึ่งเพื่อทำพิธีละหมาดเสร็จแล้วก็กลับมาคุยกับผมต่อ

        บางคนอาจจะเห็นว่าการละหมาดของเขาบ่อยเกินไปและเสียเวลา แต่ผมเห็นต่าง เพราะผมรู้สึกว่า การละหมาดจริง ๆ นั้นใช้เวลานิดเดียวก็ได้ ขอเพียงว่าเวลานิดเดียวนั้นเป็นเวลาสำรวมใจอย่างแท้จริงเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า คุณค่าหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะมากมายมหาศาล

       ตรงนี้ผมเห็นว่าชาวพุทธเราควรจะเรียนรู้จากพี่น้องชาวมุสลิม สังคมไทยสมัยก่อนเรานิยมไปวัดวันพระ  แต่เดี๋ยวนี้เราทิ้งธรรมเนียมนี้ และพอโยมไม่เข้าวัด  พระก็เลยไม่ได้ฝึกกาย วาจา ใจ ให้มี skill สำหรับสอนธรรมะแก่โยม เมื่อโยมส่วนใหญ่ขาดธรรมะ สังคมก็วุ่นวาย จิตใจเป็นทุกข์

        ธรรมะจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกชีวิตควรน้อมเข้ามาใส่ตัว   พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในวิมุตตายตนสูตรว่า การบรรลุธรรม อันเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากความทุกข์  เกิดจากเหตุ 5 ประการ คือ

1. การฟังธรรม ซึ่งสมัยนี้ควรจะรวมถึงการอ่านหนังสือธรรมะด้วย

2. การแสดงธรรม ก็คือพูดธรรมะให้คนอื่นฟัง อาจจะเป็นเพื่อน ๆ หรือคนรุ่นน้อง แม้เราไม่ได้เป็นพระก็พูดได้

3. การสาธยายธรรม(ก็คือการสวดมนต์ออกเสียงมาดัง ๆ จนตัวเองได้ยินนั่นแหละครับ)

4. การพิจารณาธรรม

5. การภาวนาหรือเจริญกรรมฐาน

       ผมมีความเห็นว่า ในขณะที่ชาวมุสลิมยังยึดมั่นในกิจวัตรศักดิ์สิทธิ์คือการละหมาด ชาวพุทธเราก็ไม่ควรละทิ้งจากการรำลึกถึงพระรัตนตรัย และวิธีรำลึกถึงพระรัตนตรัยที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ การอ่านหนังสือธรรมะทุกวัน จะอ่านมากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่ขอให้อ่านด้วยใจที่ตั้งมั่นและสงบ และอ่านทุกวัน

       การอ่านหนังสือธรรมะทุกวันด้วยใจที่สงบ คือการสร้างเหตุแห่งการบรรลุธรรม  ทำทีเดียวได้ 3 ข้อพร้อมกันเลย คือ 1) ได้ฟังหรืออ่านธรรมะ [เหตุบรรลุธรรมข้อ 1],  2)ได้พิจารณาธรรม(ขณะที่ฟังหรืออ่านหนังสือธรรมะ) [เหตุบรรลุธรรมข้อ 4],, และ 3)ได้เจริญกรรมฐานขณะที่ฟังหรืออ่านธรรมะด้วยใจสงบ(ไม่ต้องเจียดเวลาไปนั่งหลับตาทำสมาธิ) [เหตุบรรลุธรรมข้อ 5]  

        นอกจากนี้ ขณะแห่งการฟังหรืออ่านหนังสือธรรมะ ก็คือขณะแห่งการรำลึกถึงพระรัตนตรัย เพราะผู้ที่เป็นต้นกำเนิดธรรมะนั้นก็คือพระพุทธเจ้า ธรรมะที่ฟังหรืออ่านนั้นก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ที่สอนธรรมะนั้นก็คือผู้ปฎิบัติดีตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การฟังหรืออ่านหนังสือธรรมะทุกวัน ๆ ละเพียง 5 นาทีด้วยใจสงบ จึงเป็นการรำลึกถึงพระรัตนตรัยอันเป็นเหตุนำชีวิตให้พ้นทุกข์ด้วยความสะอาด สว่าง สงบ

        การหรืออ่านหนังสือธรรมะด้วยใจสงบจึงเป็นกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธควรทำทุกวันเหมือนที่พี่น้องชาวมุสลิมทำละหมาดวันละ 5 ครั้ง แต่เราทำวันละครั้งดียวก็พอ แต่ขอให้ทำทุกวัน

        ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ขอพูดต่ออีกสักหน่อย ผมรู้สึกว่าผู้คนสมัยนี้ชอบหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันจัง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเทคโนโลยีอัน “ศักดิ์สิทธิ์” ที่เชื่อว่าจะนำพาความสุขมาให้ได้อย่างรวดเร็วและถาวร แต่สิ่งที่คว้าได้มาก็กลับเป็นเพียงความว่างเปล่า คนส่วนใหญ่แม้เป็นชาวพุทธแต่ก็ไม่เคยเชื่อสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ ว่าใจคนต่างหากคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง และสิ่งที่จะทำให้ใจศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ก็คือธรรมะ และเส้นทางง่าย ๆ ที่จะเดินไปสู่ธรรมะก็คือการฟังหรืออ่านหนังสือธรรมะทุกวัน วันละไม่ต้องมาก แต่ควรทำทุกวัน  ด้วยใจสงบ ด้วยสมาธิจิต ด้วยใจที่ระลึกว่าเรากำลังน้อมนำพระรัตนตรัยเข้ามาสู่ตัว

        และในที่นี้ผมขอพูดถึงการอ่านหนังสือธรรมะสักหน่อย

        การอ่านหนังสือธรรมะ ฟังดูเหมือนง่ายแต่มันก็อาจจะไม่ง่ายนัก ไม่ง่ายยังไง?

        ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ เพื่อนผมหลายคนชอบซื้อหนังสือธรรมะของพระหรือหลวงพ่อที่ตนเองเคารพนับถือแจกเพื่อน เพราะเชื่อว่าจะได้บุญและคนรับไปอ่านก็น่าจะได้รับประโยชน์ แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ผมเห็นหนังสือธรรมะมากมายที่ถูกแจกและถูกทอดทิ้งอย่างไร้ค่า มันแสดงว่าคนไม่สนใจในธรรมะที่ได้รับแจก แต่ผมก็เห็นว่า ไม่ใช่ความผิดของเขาที่ไม่สนใจ ก็มันไม่สนใจจะฝืนใจให้สนใจได้ยังไงล่ะ

        จำได้เคยอ่านพบว่า สมัยพุทธกาลในประเทศอินเดีย มีคำถามติดปากในหมู่คนที่แสวงหาธรรมะเมื่อพบกัน คือ “ท่านชอบใจธรรมะของผู้ใด?นี่เห็นได้ชัดว่า ธรรมะนั้นถ้าเป็นเรื่องของ demand คือสิ่งที่คนต้องการ และเมื่อเขาได้รับ ธรรมะนั้นจึงเป็นของมีค่าแก้ปัญหาของเขาได้  แต่ถ้าเป็น supply เหมือนคนไล่แจกหนังสือธรรมะแก่คนที่ไม่ต้องการ ธรรมะจะกลายเป็นของไร้ค่าหรืออาจถึงขั้นถูกรังเกียจก็ได้ ในแง่นี้ธรรมะจึงเหมือนอาหารที่คนต้องมี demand อยากกินซะก่อน ถ้าเขาไม่อยากกินต่อให้ตักป้อนก็ไม่อยากกิน และถึงแม้จะอ้าปากกินเพราะเกรงใจคนป้อนก็สามารถคลายทิ้งได้อย่างรวดเร็ว

        แต่ผมไม่เชื่ออย่างที่หลายคนชอบพูดกันว่า คนสมัยนี้ไม่สนใจธรรมะ  เพราะผมเชื่ออย่างเด็ดขาดว่า ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ทุกคนสนใจธรรมะ เพราะธรรมะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถแก้ปัญหาชีวิตของจิตใจได้

        เคยได้ยินมาว่า ผู้ใดได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้านับว่าโชคดี เพราะพระพุทธเจ้ามีพระญาณที่หยั่งรู้ความเป็นไปและจิตใจของผู้ฟัง และสามารถแสดงธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่แก้ปัญหาของผู้ฟังได้ทันที พูดตามภาษาสมัยใหม่ก็คือ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีลักษณะเป็น tailor-made คือเหมาะเจาะกับผู้ฟังที่นั่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ ฟังแล้วก็ซาบซึ้งเข้าไปถึงใจทันที ถ้าเป็นเสื้อก็เป็นเสื้อตัดไม่ใช่เสื้อโหลแจกมี size เดียว ถึงจะใหญ่เล็กคับหลวมก็ต้องทนใส่เพราะไม่มีให้เลือก แต่เท่าที่เห็น คนทั่วไปก็ไม่ทนใส่เสื้อผ้าที่ขนาดไม่เหมาะกับร่างกายตัวเอง เหมือนกับที่ไม่ยอมทนฟังหรืออ่านหนังสือธรรมะที่ไม่เข้ากับจิตใจตัวเอง  หนังสือธรรมะจึงถูกทิ้งเกลื่อนกราดอยู่ไม่น้อย

        สมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ ผมเคยไปสวนโมกข์และเรียนท่านว่า อยากจะให้ท่านอาจารย์เทศน์ธรรมะสัก 1 ชุดเพื่อพิมพ์เป็นหนังสือธรรมะสักเล่มหนึ่งที่เหมาะกับทุกคน  ท่านอาจารย์ตอบผมโดยยกอุปมาว่า หนังสือธรรมะที่เหมาะสมกับทุกคนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะสิ่งที่แต่ละคนต้องการไม่เหมือนกัน เหมือนชายที่เข้าไปตัดไม้ไผ่ในป่า บางคนก็เลือกตัดต้นตรง ๆ ยาว ๆ เพื่อนำมาทำเสา บ้างก็เลือกตัดไผ่ลำที่มีผิวดีเหมาะกับการจักสานทำตระกร้า บางคนก็เลือกลำไผ่ที่เอามาใช้ทำกระบอกข้าวหลาม หรืออาจจะมีบางคนที่เลือกลำเล็ก ๆ คด ๆ งอ ๆ เพื่อเอามาทำบ้องกัญชา ผมนั่งฟังอุปมาของท่านอาจารย์พุทธทาสก็เห็นภาพทันทีว่า หนังสือธรรมะที่เหมาะกับทุกคนทำไม่ได้ง่าย ๆ

       หลังจากนั้นอีกหลายปี ผมเห็นหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ปกดำเล่มหนึ่ง ชื่อ “ธรรมะเล่มน้อย”

คลิกอ่าน:

http://www.buddhadasa.org/html/life-work/dhammakot/40-little_book/index.html

คลิกฟัง  

http://tinyurl.com/atsq7av

       โดยหนังสือเล่มนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกไว้ว่า ต้องการให้มีเนื้อหาที่ครบถ้วนสำหรับคนทั่วไปเพื่อการศึกษาและปฎิบัติธรรมะ เพราะธรรมะที่มีอยู่มันกระจัดกระจายมากมายจนคนตามอ่านไม่หวาดไม่ไหว    จึงต้องการทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ หนังสือเล่มนี้ผมอ่านดูแล้วรู้สึกเลยว่า ไม่ใช่หนังสือธรรมะ style ที่ผมชอบ ทำให้ผมหวนไปนึกถึงคำอธิบายของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ฟังมาก่อนหน้านี้ว่า หนังสือธรรมะที่เหมาะสมกับทุกคนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

        อันที่จริง สิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พยายามทำนี้ก็มีหลายคนทำอยู่ แต่ผมก็เชื่อตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสว่าไว้  คือมันทำยาก แม้แต่คนคริสต์ก็คงไม่ได้ชอบอ่านไบเบิ้ลทุกคน  แม้คัมภีร์คริสต์จะมีเล่มนี้อยู่เล่มเดียวก็ตาม ไม่เหมือนพระไตรปิฎกของคนพุทธที่มีตั้ง 45 เล่ม

        ท่านมองเห็นความยากลำบากของเรื่องนี้หรือยังครับ

1.พระที่สามารถสอนชนิด tailor-made ให้ทะลุแทงใจและแก้ปัญหาให้เราได้ ก็ยากที่เราจะได้เจอ

2.หนังสือธรรมะเล่มที่อ่านแล้วทะลุแทงใจและแก้ปัญหาให้เราได้ ก็ยากที่เราจะได้เจอ

        แต่ว่า พระสงฆ์องค์ที่ว่า หรือหนังสือธรรมะเล่มที่ว่านี้ ที่เราสามารถเข้าไปหาหรือหยิบขึ้นมาอ่าน และแก้ปัญหาของเราได้ มีอยู่จริง ๆ ครับ ถ้าเราตั้งใจแสวงหา  เราต้องพบแน่ ๆ ว่า  พูดง่าย ๆ ตามที่ผมเล่ามาข้างต้นว่า ถ้าเราเกิดในอินเดียสมัยพุทธกาล และมีคนถามเราว่า  “ท่านชอบใจธรรมะของผู้ใด?” ถ้าเราเป็นคนแสวงหา เราย่อมสามารถตอบได้แน่ ๆ ว่า เราชอบใจธรรมะของอาจารย์ท่านนั้น ของหลวงพ่อองค์นี้ ชอบอ่านหนังสือธรรมะเล่มนั้น หรือเล่มนี้

        พูดมาถึงตรงนี้ ผมมีความเห็นโดยสรุปว่า การที่คนทุกวันนี้ ไม่สามารถนำธรรมะมาขจัดทุกข์ในใจได้  ก็เพราะว่า

       1.หลายคนไม่ยอมลงทุน ขวนขวายหาธรรมะมาฟังหรืออ่าน  จนได้พบพระที่เทศน์แทงใจแก้ปัญหาได้ หรือพบหนังสือธรรมะเล่มที่อ่านแล้วแทงใจแก้ปัญหาได้ เมื่อไม่ยอมแสวงหา ก็ยากที่จะพบ

       2.แต่ก็มีอีกหลายคนที่ตรงกันข้าม หรือชอบแสวงหาอาจารย์หรือหนังสือธรรมะไม่รู้จักจบจักสิ้น จนพบพระหรือหนังสือธรรมะที่ “ใช่เลย” แต่ชีวิตจิตใจก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ เพราะพบแล้ว-ฟังแล้ว-อ่านแล้ว แต่กลับมิได้นำพระธรรมคำสอนมาปฎิบัติ ปัญหาคาใจจึงยังคงคาค้างอยู่อย่างนั้น

        ธรรมะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่ควรแสวงหาและน้อมนำเข้ามาใส่ตัว  หนังสือธรรมะเล่มที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา นั้นมีอยู่แน่ ๆ แต่ขอให้เรายอมลงทุนหาสักนิด จะต้องพบแน่นอน เหมือนบทสวดมนต์ที่เราเคยสวดมาตั้งแต่เด็กนั่นแหละครับ

สันทิฏฐิโก - ธรรมะเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

โอปะนะยิโก – ธรรมะเป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตน

       ผมเองอ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่อายุน้อย แม้จะอ่านมาหลายร้อยเล่ม แต่ ณ วันนี้ก็ชอบใจสุด ๆ มาเนิ่นนานแล้วอยู่เล่มเดียว คือ หนังสือของหลวงพ่อชาเรื่อง  A Tree in a Forest

ดาวน์โหลดได้ที่นี่: http://www.buddhanet.net/pdf_file/tree-forest.pdf

       ผมเชื่อว่าหลายท่านเมื่อลองอ่าน A Tree in a Forest แล้ว คงไม่ได้รู้สึกชอบใจอย่างผม อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านเองแหละครับ ที่จะต้องหาหนังสือธรรมะเล่มที่ท่านชอบสุด ๆ ให้เจอ เมื่อเจอและอ่านบวกปฎิบัติตามเป็นประจำแล้วท่านก็จะได้รู้สึกเองว่า ธรรมะเป็นของศักดิ์สิทธิ์

      หนังสือธรรมะเล่มที่ท่านต้องการ อาจหาเจอที่ลิงค์นี้ครับ 

คลิกรวมเว็บธรรมะภาษาไทย หลายอาจารย์-หลายสำนัก

พิพัฒน์

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com