การเมืองไทย- สื่อมวลชนโลก: บิดเบือน-เบี่ยงเบน-ปิดบัง
สวัสดีครับ
ผมอ่านข่าวภาษาอังกฤษจากเว็บสำนักข่าวโลกหลายสำนัก แล้วก็รู้สึกว่า ถ้ารายงานกันอย่างนี้ ชาวโลกไม่มีวันรู้เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหรอก เพราะข่าวส่วนใหญ่ที่อ่านมันแทบไม่ต่างจากนิยาย คือ การร้อยเรียงกันของเรื่องจริง(truth)-เรื่องครึ่งจริง(half-truth)-และเรื่องไม่จริง(un-truth) และยังละเว้นไม่รายงานบางเรื่องอย่างน่าประหลาดใจ เหมือนกับจงใจไม่รายงาน ผมขอยกตัวอย่าง ดังต่อไปนี้ครับ
1.หลายสำนักรายงานสรุปได้ดังนี้
-คนไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นคนยากจนในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งคนจน และคนทำงานใช้แรงงานในเมือง คนเหล่านี้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย อดีตนายกทักษิณ และยิ่งลักษณ์ กลุ่มที่ 2 เป็นพวกนิยมเจ้า,พวกคนชั้นกลางในกรุงเทพ และคนภาคใต้ หลายเว็บฟันธงลงไปเลยว่า กลุ่มที่ 1 มีมากกว่ากลุ่มที่ 2 เพราะเลือกตั้งคราวใดพรรคเพื่อไทยก็ชนะทุกครั้ง
-กลุ่มที่ 2 “กล่าวหา” พรรคเพื่อไทยว่าคอรัปชั่น โดยเฉพาะเรื่องโครงการจำนำราคาข้าว ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ทำให้ได้ สส.เข้ามามากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก
-กลุ่มที่ 2 โดย กปปส. เสนอเรื่อง การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง, นายกฯคนกลาง, สภาฯคนกลาง ซึ่งสื่อตะวันตกมักพูดว่า เป็นแนวคิดที่ยังเบลอร์อยู่ รายละเอียดเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้
-แทบทุกสำนัก มักให้ความเห็นว่า ต้องหันหน้ามาคุยกัน และมีการประนีประนอม (คือต้องยอมบ้าง ไม่มีฝ่ายไหนที่จะได้ดังใจ 100 %) และการเลือกตั้งคือทางออกเดียวของประเทศไทย
-ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยแย่ลง การส่งออกก็น้อย การผลิตก็แย่ คนมาลงทุนหรือมาเที่ยวก็น้อยลง คนไทยควักเงินซื้อของก็น้อยลง
-บางสำนักข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวใหญ่ ๆ ไปไกลถึงขั้นวิเคราะห์เลยว่า ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลห้าวหาญได้ถึงปานนี้ก็เพราะมีกลุ่มผู้มีอำนาจหลายกลุ่มในสังคมหนุนหลังอยู่
2.การรายงานข่าวและวิเคราะห์ข่าวของสำนักข่าวพวกนี้ อ่านดูแล้วก็รู้สึกว่า ไม่ได้บอกอะไรเราเลย และที่บอกก็บอกอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ขาด ๆ แหว่ง ๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะบางสำนักข่าวมีนักข่าวอยู่ประจำในเมืองไทยตั้งหลายปีแล้ว
3.ผมขอเรียนท่านผู้อ่านอย่างนี้ครับ ตามหลักวิชาชีพของการรายงานข่าวนั้น news กับ view จะต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด คือ ห้ามใส่ความเห็นของผู้สื่อข่าวลงไปในข่าว ถ้าจะใส่ก็ต้องเป็นความเห็นของบุคคลในข่าว และใส่ไปในลักษณะที่สมดุล คือทำให้ผู้อ่านข่าวได้ทราบข้อมูลหรือความเห็นของทั้งสองด้านหรือหลายด้าน ที่พูดมานี้เป็นทฤษฎีครับ เพราะเอาเข้าจริง หลายแห่งก็เขียนตามใจชอบ นึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียนอย่างนั้น
4.บางสำนักข่าวพยายามสร้างความต่างให้ตัวเองเด่น คือ แทนที่จะบอกเพียงว่า เกิดอะไรขึ้น (what) ก็พยายามบอกด้วยว่า ทำไมมันจึงเกิดอย่างนั้น (why) และไอ้ตรงทำไมนี่แหละครับที่ผมรู้สึกว่า สำนักข่าวหลายแห่งสอบตก มันชวนให้คิดเลยเถิดไปด้วยว่า นี่ข่าวในประเทศไทยยังรายงานหรือวิเคราะห์ผิด ๆ เพี้ยน ๆ อย่างนี้ แล้วข่าวดัง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นของโลกล่ะ เราจะเชื่อถือได้ขนาดไหน
5.ผมขอยกตัวอย่างบางเรื่องที่ผมอ่านแล้วหงุดหงิดมาให้ฟังแล้วกันครับ
5.1 เรื่องที่ “มวลมหาประชาชน” ไม่พอใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประเด็นคอรัปชั่นที่แฝงตัวในโครงการประกันราคาข้าว สำนักข่าวพวกนี้มักจะใช้คำว่า โครงการนี้หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ถูกกล่าวหา” แต่แทบจะไม่มีสำนักข่าวใดเลยที่ลงลึกไปในรายละเอียดของข้อกล่าวหา ที่ทำให้มวลมหาประชาชนเชื่อว่ามันไม่ใช่เป็นเพียงข้อกล่าวหา แต่มันเป็น “ความจริง” เมื่อเสนอข่าวในลักษณะโฉบ ๆ เฉียด ๆ อย่างนี้ พอชาวโลกอ่านก็จะเข้าใจว่า มันเป็นเพียงความขัดแย้งทางความคิดเห็น แต่ชาวโลกจะไม่มีวัตถุดิบสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาว่า แล้วเรื่องจริง ๆ มันเป็นอย่างไรล่ะ?
5.2 เรื่องข้อกล่าวหาการคอรัปชั่นในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งแบบที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า pork barrel คือให้เงินแก่โครงการเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียง และการใช้อำนาจในทางที่มิชอบ เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่า สื่อตะวันตกจงใจไม่พูดถึงอย่างผิดสังเกต ไม่ยอมลงไปในรายละเอียด มันเพราะอะไรล่ะ? สื่อเหล่านี้มักจะพูดว่าโครงการประชานิยมทำให้มีคนไทยกลุ่มใหญ่ชอบทักษิณ แต่โครงการเหล่านี้มีข้อดีสุด ๆ และข้อเสียสุด ๆ อย่างไร กลับไม่ค่อยมีใครพูดอย่างตรงไปตรงมา
5.3 เรื่อง free TV ทุกช่อง ไม่ได้เสนอข่าววิเคราะห์เจาะลึกรอบด้านเกี่ยวกับความขัดแย้งในบ้านเมืองนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ free TV ไม่ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนเลย ไม่ได้ทำให้ประชาชนฉลาดขึ้นมาเลย และเป็นอย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ ทำให้คนต่างจังหวัดจำนวนมากไม่ได้รู้เรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ หรือรู้อย่างแผ่ว ๆ หรือบางคนที่มีตังค์ติดตั้ง cable TV ก็อาจจะดูเฉพาะช่องที่ตัวเองชอบดู ทำให้เราต้องมองอีกแง่นึงว่า นอกจากเราจะแบ่งคนเป็น ชอบทักษิณ/ไม่ชอบทักษิณ เราอาจจะต้องแบ่งอีกแบบหนึ่ง คือ คนรู้เรื่องการเมืองแบบใกล้ชิด/หรือรู้แบบห่าง ๆ และใครตอบผมได้ไหมว่า ที่รู้แบบห่าง ๆ นี้เป็นคนสักกี่ % ในประเทศนี้
5.4 เรื่องโกงการเลือกตั้ง ซื้อเสียง ใช้อำนาจของข้าราชการฝ่ายปกครอง ตำรวจ หัวคะแนน กรรมการคุมหน่วยเลือกตั้ง เพื่อบีบบังคับหรือหว่านล้อมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ให้ลงคะแนนอย่างเต็มใจ-ขืนใจ-หรือไม่สนใจ ก็ตาม ให้ผู้สมัครคนนั้นคนนี้ พรรคนั้นพรรคนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนโลกพูดถึงน้อยมาก เขาอาจจะไม่สนใจก็ได้ แต่เรื่องนี้ที่เขาไม่สนใจนี่แหละเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อ กปปส.กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยโกงการเลือกตั้ง แล้วพรรคอื่นล่ะไม่โกงหรือไง? หรือถ้าเราพูดเลยไปว่า การที่ประชาชนยอมรับพรรคเพื่อไทยทั้ง ๆ ที่พรรคเพื่อไทยโกง แสดงว่า พรรคเพื่อไทยต้องมีอะไรดีกว่าพรรคอื่น คนจึงเลือกทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโกง? แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ เรากำลังจะยอมรับว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาการโกงเลือกตั้งในเมืองไทย และต้องยอมให้มันคงอยู่ เรากำลังจะยอมรับเช่นนี้ใช่ไหม? และนี่อาจจะเป็นเรื่องลึกเกินไปที่สื่อมวลชนโลกจะรู้
5.5 ผมมาถึงข้อสรุปว่า การที่สื่อตะวันตกรายงานอย่างนั้นอย่างนี้เกี่ยวกับประเทศนั้นประเทศนี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย และชอบอ้างหลักการประชาธิปไตยอย่างนั้นอย่างนี้ เขาทำอย่างนี้เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลประเทศเขา และจริง ๆ แล้วรัฐบาลพวกนี้ก็มือถือสากปากถือศีล สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆตามที่เขาชอบเทศนา แต่เขาต้องการรัฐบาลที่เชื่อฟังและอำนวยประโยชน์ให้แก่ประเทศของเขา เขาอาจจะต้องการให้เมืองไทยสงบ แต่สงบเพื่อเขาจะได้อาศัยเมืองไทยเป็นฐานการผลิตที่สร้างกำไร ที่เขาจะได้มากกว่าไปลงทุนสร้างฐานการผลิตที่อื่น หรือสงบเพื่อได้ประโยชน์ด้านใดก็ตามที่เขาจะได้ แต่ความสงบที่เกิดขึ้นนี้แม้มันจะไม่ได้ขจัดสิ่งเลวร้ายในสังคมไทย เขาก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่หรอก นี่ผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่านะ
ผมไม่แน่ใจ และไม่รู้ตัวเลข แต่ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้คนไทยซื้อหนังสือพิมพ์อ่านน้อยลง และเว็บข่าวก็ไม่ใช่แหล่งเดียวที่คนไทยพึ่งพิงเรื่องข่าว ด้วยเทคโนโลยีของ social media ทำให้คนไทยพึ่งพิงแหล่งข่าวจากเพื่อนฝูงพี่น้องของตัวเองมากขึ้น ผมเดาว่าสื่อมวลชนไทยถ้าไม่เสนอความจริงที่ครบด้านจริง ๆ ก็รอวันเจ๊งได้ และสื่อมวลชนโลกก็อยู่ในสภาพเดียวกัน ในอนาคตเมื่อคนในภูมิภาคเดียวกัน (เช่น อาเซียน) หรือต่างภูมิภาคไปมาหาสู่กันมากขึ้น คนในโลกก็จะใช้ social media ข้ามประเทศมากขึ้น และสื่อมวลชนดัง ๆ ที่ผิดศีลข้อ 4 ทั้งหลายในโลกนี้ ก็รอวันเจ๊งเช่นกัน นี่ผมมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.