Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนถึงความรู้เจ้า-ไพร่, เขตหวงห้ามของผู้หญิง และ jago ในสังคมไทย

 nithi

สวัสดีครับ

วันนี้ผมอ่านบทความที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนเรื่อง ความรู้เจ้า-ไพร่, เขตหวงห้ามของผู้หญิง และ jago ในสังคมไทย อ่านแล้วรู้สึกว่าได้ความรู้และมันมาก จึงขอนำมาแบ่งปันครับ (เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษครับ)

 

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนถึงความรู้เจ้า-ไพร่, เขตหวงห้ามของผู้หญิง และ jago ในสังคมไทย

ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355331840&grpid=01&catid=50

ดาวน์โหลดไฟล์: คลิก

จากบทความ "ตบะในวัฒนธรรมไทย" มติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2555 และ 7 ธันวาคม - 13 ธันวาคม 2555

เมื่อเป็นเด็กได้ยินเรื่อง "บำเพ็ญตบะ" เสมอ แม้ยังไม่เคยอ่านรามเกียรติ์ก็ตาม เพราะละครวิทยุพูดถึง, ผู้ใหญ่พูดถึง, เพื่อนพูดเล่น, เป็นท้องเรื่องหนึ่งในลิเก ฯลฯ อยู่เสมอ ความเข้าใจสมัยเด็กก็คือตบะทำให้เกิดฤทธิ์เกิดอำนาจ สำนวนไทยใช้ว่า "ตบะแก่กล้า" ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงฤทธิ์เดชเหนือโลก แต่มักหมายถึงความสามารถที่บ่มเพาะมานานจนเป็นที่เกรงขาม จะไปในทางนักเลงก็ได้ ไปในทางการพูด, การเขียน, การมีความรู้ทางวิชาการ หรืออะไรอื่นทำนองนี้ก็ได้

ผมเพิ่งมาสำนึกได้ว่า ผมไม่ได้ยินคำ "ตบะ" มานานแล้ว เหมือนจะหลุดหายไปจากภาษาพูดไทยในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่คำคำหนึ่งที่เลิกใช้ในภาษาพูดไปเท่านั้น แต่ความรู้ชนิดหนึ่งได้ตายไปจากสังคมไทยแล้วต่างหาก

ตบะทั้งในบาลีสันสกฤตหมายถึงความร้อน และด้วยเหตุดังนั้นจึงหมายถึงการเผาผลาญ จะเผาผลาญกิเลสหรือเผาผลาญมายาคติอะไรก็ตาม ย่อมเป็นการบำเพ็ญตบะทั้งนั้น วิธีเผาผลาญคือการ "ทรมาน" (ฝึก) ตัวเอง ไม่ตอบสนองความสะดวกสบายทางร่างกายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ อาจหมายถึงการทำสมาธิจนเข้าฌานได้สูงๆ ทำไปนานเข้าความร้อนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยไป จนโลกแตกก็ได้ เช่น ศิวลึงก์นั้น หากพราหมณ์ไม่คอยพรมน้ำไว้ ก็อาจระเบิดจนโลกแตกเป็นจุณ

แต่ความร้อนที่ว่านี่ อย่าได้เอาปรอทไปวัดนะครับ เพราะมันไม่ใช่ความร้อนทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นร้อนยังไงผมก็ไม่ทราบ คิดว่าคงเป็นการสะสม "พลัง" บางอย่างไว้กับตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แผ่เป็นรังสีกายสิทธิ์ปกป้องภยันตรายทุกอย่างที่จะแผ้วพานตัว และอาจใช้พลังนี้ไปทำอันตรายแก่ผู้อื่นก็ได้ (เช่น ในรามเกียรติ์ เอาไปสาปแช่งคนอื่น เป็นต้น)

ดังนั้น การบำเพ็ญตบะจึงให้ "ฤทธิ์" จะเป็นฤทธิ์ในทางโลกย์หรือในทางธรรม ก็สุดแต่ผู้มีตบะแก่กล้าจะนำไปใช้ และที่ปรากฏในวรรณคดีและลิเก ดูเหมือนจะใช้ทั้งสองอย่าง (เช่น พระเจ้าตาของสุดสาคร เป็นต้น)

การบำเพ็ญตบะจึงเป็นการแสวงหาความรู้ และการบรรลุถึงความรู้ชนิดหนึ่ง อันมีประโยชน์ที่จะนำมาใช้ได้ทั้งทางโลกย์และทางธรรม การศึกษาของเจ้าชายในลิเกและนิทานโบราณ คือไปศึกษากับพระเจ้าตาในป่า ศึกษาอะไรหรือครับ หากอยากอ่านออกเขียนได้ ก็เรียนกับพราหมณ์หรือภิกษุในวังในวัดเมืองหลวง ไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเรียนการทหาร สู้เรียนกับขุนพลซึ่งผ่านการรบมาจริงๆ ไม่ดีกว่าไปเรียนกับพระเจ้าตาซึ่งไม่เคยรบกับใครนอกจากยุงหรือ เรียนการปกครองก็เรียนกับพ่อหรือกับอำมาตย์ในวังไม่ดีกว่า

ไปเรียนกับพระเจ้าตา ก็ไปเรียนตบะสิครับ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือไปสั่งสมพลังอำนาจบางอย่าง ที่ทำให้เจ้าชายมีสถานะทางความรู้สูงกว่าทุกคน จนเหมาะจะเป็นพระราชาต่อไป

ความรู้ที่ว่านั้นมีลักษณะเด่นอย่างไร จะขอยกเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้


ประการแรกคือเป็นความรู้ที่มีคุณค่าเชิงปฏิบัตินะครับ เช่น สังข์ทอง (ซึ่งไม่ได้เรียนจากพระเจ้าตา แต่เรียนจากนางยักษ์) สามารถเรียกเนื้อเรียกปลาได้, บางพระเอกอาจรู้วาระจิตของคนอื่น คือเขาพูดกับตัวเองก็ยังได้ยินด้วย, บางพระเอกรู้ภาษาสัตว์, บางพระเอกเสกเป่าอะไรได้สารพัด ฯลฯ เป็นต้น

ประการที่สองก็คือ ความรู้เหล่านี้เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือไม่อย่างไรไม่ทราบได้ แต่ที่นำมาใช้ในท้องเรื่อง ล้วนไม่เกี่ยวกับคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้น แต่แม้ว่าไม่เกี่ยวแต่ที่จริงแล้วคงเกี่ยว เพราะความรู้หรือฤทธิ์เดชเหล่านี้จะมีได้ก็ต้องฝึกจิตให้มีสภาวะอันเป็นพลังเสียก่อน อันนี้ไม่ปรากฏในวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านชัดๆ นะครับ แต่เป็นความเชื่อที่เห็นได้ชัดเจนในทางศาสนา นั่นคือสองอย่างนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เช่นการฝึกจิตให้มีสมาธิจะเกิดอานุภาพต่างๆ ทั้งในทางโลกย์และทางธรรม ประวัติพระอาจารย์มั่นเล่าถึงอานุภาพในทางโลกย์ไว้มากมาย เช่น อสุรกายไม่กล้าทำร้าย รวมทั้งเสือสิงห์กระทิงแรดและช้าง ต่างไม่ทำร้ายพระอาจารย์มั่นทั้งสิ้น โดยเฉพาะในขณะที่ท่านเข้าฌาน

ประการที่สามคือ ความรู้ดังกล่าวนี้ไม่ได้มีในเมือง แต่มีในป่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นความรู้ที่อยู่นอกสังคม จะได้มาต้องถอยออกไปจากสังคมเสียก่อน ส่วนได้แล้วจะถอยออกไปจากสังคมตลอด หรือย้อนกลับมาสู่สังคมอีกก็ได้ ในวรรณคดีและนิทานคนที่มีความรู้นี้มักย้อนกลับมาสู่สังคม หรือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสังคมจนเป็นเรื่อง สอดคล้องกับในชีวิตจริง คนเหล่านี้ก็มักจะย้อนกลับมามีบทบาทในสังคม

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาที่น่าพิจารณามีสองด้าน ด้านแรกก็คือคนที่ได้ครอบครองความรู้ประเภทนี้ มีบทบาทอะไรในสังคม และมีความสัมพันธ์กับรัฐอย่างไร ด้านที่สองก็คือมีเงื่อนไขพิเศษอะไรทางสังคม ที่จะทำให้คนเหล่านี้มีบทบาทมากหรือน้อยต่างกัน


ในด้านแรกนั้น อาจกล่าวได้ว่า คนที่มีความรู้ที่ได้จากการบำเพ็ญตบะ มักกลับมาเป็นผู้นำของชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นนายบ้านเสมอไปนะครับ เพราะผู้นำในชุมชนหมู่บ้านนั้นประกอบด้วยคนหลายประเภทและมักถ่วงดุลอำนาจกันเองด้วย บางคนในกลุ่มคนเหล่านี้อาจเป็นนายบ้าน แต่อีกมากทีเดียวที่เป็น "จ้ำ" หรือผู้นำในการประกอบพิธี หรือเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือ หรือเป็นแกนหลักในการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินเงินทองหรือผู้คนในหมู่บ้าน โดยไม่มีตำแหน่งเป็นทางการ ซึ่งเรียกในภาคกลางสมัยหลังว่า "นักเลง" (และเพราะเป็นแกนหลักมีกำลังผู้คนมาก จึงอาจปล้นวัวควายของหมู่บ้านอื่นก็ได้)

ที่น่าสังเกตก็คือ อำนาจของคนเหล่านี้เกิดนอกเขตอำนาจของรัฐ ไม่เหมือนมหาบาเรียน ที่ต้องเล่าเรียนในวัด (ส่วนใหญ่เป็นวัดในเมือง) แล้วสอบสนามหลวงจนได้เป็นมหาบาเรียน ได้พัดยศได้สมณศักดิ์ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแต่งตั้ง จึงนับว่าเป็นความรู้ที่เกิดในสังคม และอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐ แต่ความรู้แบบตบะเกิดนอกรัฐ พระเจ้าแผ่นดินกำกับควบคุมไม่ได้ อำนาจที่ได้จากนอกสังคมเมื่อกลับเข้ามาอยู่ในสังคมแล้ว ก็เป็นอำนาจที่อยู่นอกการกำกับควบคุมของรัฐอีกเช่นกัน

ด้วยเหตุดังนี้ คนเหล่านี้คือคนที่รัฐไม่ค่อยไว้วางใจมาแต่โบราณแล้ว แม้ไม่พบในวรรณคดีและนิทานพื้นบ้าน แต่พบมากในรายงานทางประวัติศาสตร์ถึงบทบาททัดทานอำนาจรัฐของคนเหล่านี้ กบฏชาวบ้าน (หรือบางทีเรียกว่ากบฏชาวนา) ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา มักมีคนประเภทนี้เป็นผู้นำ พระที่ออกเที่ยวธุดงค์ สัญจรไปตามที่สงบในราวป่า หรือที่เรียกว่าพระป่า ก็เป็นพระที่รัฐไม่ค่อยไว้วางใจเหมือนกัน เพราะฝึกฝนตนเองในแนวของพระพุทธศาสนาที่อยู่นอกการควบคุมของรัฐ

ผมควรกล่าวด้วยว่า พระเหล่านี้ไม่เหมือนพระอรัญวาสีแท้นะครับ วัดอรัญวาสีนั้นตามพระบาลีกำหนดให้อยู่ห่างจากเมืองประมาณ 1 ก.ม.ขึ้นไป แต่วัตรปฏิบัติของพระอรัญวาสี คือเกี่ยวข้องกับผู้คนในสังคมมากกว่าพระป่า ยิ่งเป็นพระอรัญวาสีในเขตเมืองใหญ่ ก็แทบจะไม่ต่างจากพระคามวาสีนอกจากอยู่ในทำเนียบสมณศักดิ์ที่ต่างกันเท่านั้น

ในด้านที่สองคือ เงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้คนที่มีความรู้ประเภทนี้มีบทบาทมากเป็นพิเศษ ก็คือในช่วงหรือภาวะที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็นกลียุค บ้านเมืองวุ่นวาย อาจถึงบ้านแตกสาแหรกขาด หรือไร้ระเบียบกฎเกณฑ์จนปั่นป่วนวุ่นวาย เช่น ในช่วงแรกที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงแย่งอำนาจมาจากราชวงศ์ปราสาททองได้ ก็เกิดกบฏและการท้าทายอำนาจรัฐจากกลุ่มที่มีคนเหล่านี้เป็นผู้นำอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ก็มี "ก๊ก" เล็กก๊กน้อย ที่เกิดจากคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่เพื่อกู้ชาติอย่างพวกพันธมิตรฯ นะครับ แต่เพื่อเอาตัวรอด ที่เรารู้จักดีคือก๊กเจ้าพระฝาง เป็นต้น

เมื่อ ร.5 ขยายอำนาจของส่วนกลางไปครอบงำชุมชนในชนบท ก็เกิดการต่อต้านที่มีคนเหล่านี้เป็นผู้นำทั่วไป ทั้งในภาคเหนือและอีสาน ในภาคกลางที่อยู่ใกล้อำนาจรัฐหน่อย การนำของคนเหล่านี้ออกมาในลักษณะ "อ้ายเสือ" หรือโจร ซึ่งแต่ละซ่องอาจมีผู้คนได้เป็นร้อย เคยปล้นแม้แต่กองเก็บภาษีรายหัวที่รัฐบาลส่งไปเก็บจากชาวนา ในชลบุรี เมื่อรัฐบาลในต้น ร.6 ส่งคนไปปราบ "โจร" ปรากฏว่าสามารถจับ "โจร" ได้กว่า 1,000 คน

แน่นอนครับ การต่อต้านทัดทานอำนาจรัฐที่พยายามแทรกเข้ามาในชุมชนหมู่บ้าน ภายใต้การนำของคนมีความรู้ประเภทนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกำลังอำนาจของรัฐที่กำลังย่างเข้าสู่รัฐสมัยใหม่เข้มแข็งเกินกว่าจะต่อต้านทัดทานด้วยกำลังได้ แต่ลองคิดถึงว่าการต่อต้านนี้เกิดในรัฐจารีตของสมัยโบราณ ก็อาจล้มอำนาจรัฐลงได้ทีเดียว เช่น กบฏไตเซินในเวียดนาม หรือโจรโพกผ้าเหลืองในจีน

และด้วยเหตุดังนั้นความระแวงสงสัยหรือความไม่ไว้วางใจของรัฐที่มีต่อคนที่มีความรู้ประเภทนี้จึงสมเหตุสมผลทีเดียว

ก่อนจะพูดถึงบทบาทของความรู้ประเภทตบะในวัฒนธรรมไทย (ซึ่งคงต้องเลื่อนไปคุยในครั้งหน้า) ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจในวัฒนธรรมเดิมของไทยนั้นมีที่มาจากสองแหล่ง 
หนึ่งคือบุญบารมีหรือผมขอเรียกในที่นี้ว่าอำนาจจักรวาล เช่น กฎแห่งกรรม หรือพระเจ้าก็ตาม อาจมอบอำนาจให้แก่บุคคลได้ เช่น ท้าวแสนปม ตามตำนานก็ไม่ได้มีความรู้ทางตบะแต่อย่างไร เป็นเพียงทุคตะเข็ญใจคนหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นผู้มีบารมีถึงกษัตริย์ จึงบันดาลให้พระอินทร์ลงมาช่วยทำให้กลายเป็นกษัตริย์ในที่สุด

แหล่งที่สองมาจากการบำเพ็ญตบะ หรือฝึกฝนตนเองจนมีฤทธิ์เหนือสามัญชน และอาจนำเอาอำนาจที่ได้มานี้สร้างฐานะในทางโลกย์ได้ เช่น ขุนแผน เป็นต้น (ซึ่งตามฉบับที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน คือการจัดอันดับให้อำนาจทางตบะต้องเป็นรองอำนาจที่มาจากบุญบารมี)

บุญบารมีและความรู้ดังกล่าวนี้ตั้งเคียงคู่กันสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าว่า เจ้านายสมัยก่อนบวชเพียงพรรษาเดียว และไม่ได้มุ่งเรียนพระปริยัติธรรม แต่เรียนเวทมนตร์คาถามากกว่า ในการศึกษาของ ร.5 ก็ทรงเล่าถึงการฝึกขี่ม้า, ขี่ช้าง, รำทวน, กระบี่กระบอง ฯลฯ ความรู้ทั้งหมดเหล่านี้ต้องกำกับด้วยอาคมทั้งนั้นนะครับ เช่น ขี่ช้างไม่ใช่เพียงขึ้นไปขี่และบังคับช้างด้วยขอเป็นเท่านั้น ต้องกำกับช้างด้วยเวทมนตร์คาถาบางอย่างได้ด้วย เป็นต้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออำนาจทั้งสองนี้เสริมกันและกัน ส่วนความรู้ในทางปฏิบัติทั้งหลาย ก็เป็นความรู้ที่จะใช้ได้ผลต่อเมื่อมีความรู้อีกด้านหนึ่ง (ซึ่งผมเรียกว่าความรู้เชิงตบะ) กำกับอยู่ด้วย จึงจะใช้ได้ผล

แต่น่าประหลาดตรงที่ว่า ธรรมเนียมราชสำนักไม่ค่อยพูดถึงความเชี่ยวชาญด้านความรู้เชิงตบะนัก เช่น พระนเรศวรทรงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ก็เป็นด้วยบุญบารมีของท่าน ไม่ใช่เพราะท่านมีคาถากำกับการยิง ถือกันว่า "ผู้ดี" ไม่ควรสักร่างกาย ทั้งๆ ที่การสักเป็นยี่ห้ออย่างหนึ่งของคนมีคาถาอาคม เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ หันไปสนใจด้านคาถาอาคม ก็ถือว่าแปลกผิดเจ้านายทั่วไป

ผมสงสัยว่า ความรู้เชิงตบะเป็นความรู้ที่ถูกชนชั้นสูงถือว่าต่ำ เป็นความรู้ของไพร่ เพราะไม่น่าไว้วางใจอย่างที่กล่าวแล้ว แต่การแสวงหาความรู้ในสังคมไทยโบราณจะขาดด้านคาถาอาคมไม่ได้ เจ้านายจึงเรียนคาถาอาคมแต่ไม่แสดงออกหน้าเป็นอันขาดว่ามีความรู้ด้านคาถาอาคม เป็นความรู้สึกกำกวมต่อความรู้เชิงตบะ

ผิดจากชาวบ้านทั่วไป ไม่มีทางจะอธิบายอำนาจด้วยบุญบารมีเป็นอันขาด แต่อาจอธิบายได้ด้วยความรู้เชิงตบะ

----------

ครั้งก่อน ผมได้พูดถึงบทบาทและความสำคัญของความรู้เชิงตบะในสังคมไทย (อันที่จริงก็อาจพูดได้ว่าสังคมอุษาคเนย์ทั้งหมด) เป็นความรู้อีกชนิดหนึ่งที่คอยกำกับความรู้ชนิดอื่นๆ ด้วยซ้ำ เช่นหมอตำแยไม่ได้ทำคลอดด้วยความรู้ทางแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้เชิงตบะกำกับอยู่เบื้องหลังความรู้ทางแพทย์ด้วย เกือบเหมือนเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง

คราวนี้ผมขอคุยถึงบทบาทและสถานะของความรู้ประเภทนี้ในวัฒนธรรมไทย

ประการแรกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความรู้ประเภทนี้เป็นความรู้ของผู้ชาย ไม่แต่เพียงผู้หญิงไม่เกี่ยวเท่านั้น ผู้หญิงไม่พึงเกี่ยวด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้สูญเสียสถานะทางสังคมของเธอไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ ผู้หญิงไม่พึงสักร่างกาย ใครมีรอยสักบนร่างกายก็แสดงว่าเป็นผู้หญิง "ก๋ากั่น" (คำนี้น่าสนใจ ไม่มีในพจนานุกรม มีแต่ก๋าแปลว่าองอาจร่าเริง ผมไม่ทราบว่ามาจากภาษาอะไร แต่ไม่อาจแปลว่าองอาจร่าเริงได้ เว้นแต่องอาจไปในทางกามารมณ์และร่าเริงมากกว่าคนทั่วไป ผู้หญิงเท่านั้นที่มีสิทธิจะ "ก๋ากั่น" ได้ ผู้ชายไม่ว่าเจ้าชู้ขนาดไหนก็ไม่มีสิทธิ "ก๋ากั่น") โชกโชน มาแล้ว เรียกว่าสถานะทางสังคมของเธอตกต่ำลงทันทีที่มีรอยสักบนร่างกาย

รอยสักในสมัยก่อน ไม่ใช่การประดับร่างกายเฉยๆ แม้จะสักอย่างวิจิตรบรรจงอย่างไร ก็มีนัยะไปในทางฤทธิ์เดชบางอย่างที่ได้จากความรู้เชิงตบะ (ของเจ้าตัวหรือของผู้สักก็ตาม) ทั้งนั้น และเพราะความรู้ประเภทนี้เป็นพื้นที่ของผู้ชายเพียงอย่างเดียว รอยสักบนร่างกายผู้หญิงจึงเป็นเครื่องหมายของการละเมิดอย่างหนึ่ง และแสดงปูมหลังในชีวิตของผู้หญิงคนนั้น ซึ่งน่ารังเกียจ (จะพูดถึงข้างหน้า)

ไม่เหมือนสมัยนี้นะครับ ที่รอยสักเป็นการประดับร่างกายเฉยๆ ผู้หญิงจึงมีรอยสักบนร่างกายให้เห็นได้ โดยไม่เสื่อมสถานะทางสังคม แม้แต่ที่ซึ่งไม่อาจเห็นได้ก็ยังสักกัน บางคนสักชื่อสามีเก่าไว้บนท้องน้อย เพื่อให้สามีลำดับถัดๆ ไปได้สำนึกบุญคุณของสามีคนแรกก็มี

ประการต่อมา น่าสังเกตนะครับว่า รอยสักบนร่างกายผู้หญิงแสดงว่า "โชกโชน" ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

อันที่จริง คำว่า "โชกโชน" ก็คือ "เจนจัด" นั่นเอง แต่เจนจัดไปในทางที่สังคมไม่รับรอง (สำหรับเพศนั้น หรือสำหรับสถานะนั้น) ผมคิดว่าเรื่องนี้อธิบายได้ (ส่วนหนึ่ง) จากวิถีทางที่จะได้มาซึ่งความรู้เชิงตบะ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนก่อน นั่นคือผู้แสวงหาต้องออกไปจากสังคม โดยเฉพาะคือเข้าป่า ความเป็นหญิงหรือความเป็นชายนั้นมีได้เฉพาะในสังคม (หรือเมือง-หมู่บ้านในความคิดของคนแต่ก่อน) เพราะเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นเอง คนที่ออกไปจากสังคมย่อมสูญเสียสิ่งที่สังคมกำหนดว่าเป็นความเหมาะสม (propriety) ลงทั้งหมด หากเป็นผู้ชาย จะกลับมาสู่สังคมอีกได้ไม่ยาก เพราะสังคมยอมให้ผู้ชาย "โชกโชน" ได้ เช่น จันทโครพ หากไม่ตายก็คงกลับเมืองแล้วบอกว่าโดนอีนั่นอีนี่หลอก เกือบเอาชีวิตไม่รอด ก็เท่านั้นเอง แต่หากจันทโครพเป็นผู้หญิง จะเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังได้ เพราะนอกจากจันทโครพที่ต้องเผชิญกับหนุ่มหล่อในผอบแล้ว ไหนยังโจรอีกคนหนึ่งด้วย โอ้โฮ "โชกโชน" น่าดู

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า ผู้หญิงที่มี "ฤทธิ์" ในสมัยหลังๆ มานี่ ล้วนเป็น "ฤทธิ์" ที่เกิดจากการบำเพ็ญเพียรทางพุทธศาสนา หรือการทำคุณประโยชน์แก่สังคมด้วยประการต่างๆ ทั้งนั้น ไม่มีใครมีชื่อว่ามีฤทธิ์จากความรู้เชิงตบะสักคน

เช่น นางนพมาศ, แม่ชีหางนกยูง, คุณแม่สิริ กรินทชัย หรือ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นต้น


ประการถัดมานะครับ อย่างไรก็ตาม คิดดูให้ดี หากเป็นที่ยอมรับว่าความรู้เชิงตบะเป็นพื้นที่เปิดซึ่งผู้ชายหรือผู้หญิงก็เข้ามาได้ พระเจ้าตา (หรือพระเจ้ายาย) ก็อาจสอนความรู้ประเภทนี้แก่ผู้หญิง และนางสีดาซึ่งโตมากับพระเจ้าตา ก็น่าจะมีความรู้ประเภทนี้ติดตัวด้วย ทศกัณฐ์ก็อาจถูกนางสีดาเสกหนังควายเข้าท้อง ไม่ต้องร้อนถึงพระรามแต่แรกแล้ว

ผมจึงคิดว่า ที่หวงห้ามผู้หญิงก็เพราะความรู้เชิงตบะเป็นอำนาจ ซ้ำเป็นอำนาจที่อยู่นอกการควบคุมทุกชนิดด้วย จึงห้ามผู้หญิงไว้ค่อนข้างเคร่งครัด ผมไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงแต่ก่อนไม่มีอำนาจนะครับ มีและบางคนอาจมีมากด้วย แต่เป็นอำนาจที่ได้มาจากทางอื่น และถึงที่สุดแล้วอำนาจผู้หญิงก็อาจถูกล้มล้างได้ด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่นฟันเสาเรือนสามที แล้วทิ้งอีเปรตนี้ไปเสียทีเป็นต้น

ยิ่งกว่านี้ อำนาจของความรู้เชิงตบะเป็นอำนาจที่อยู่นอกการควบคุมของรัฐ ดังที่กล่าวในตอนที่แล้ว และยังเป็นอำนาจนอกพระพุทธศาสนาแบบไทยเสียอีก เพราะเป็นอำนาจที่ได้มาโดยไม่เกี่ยวกับบุญบารมีที่สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน

อยู่ในแดนอันตรายอันเป็นพื้นที่ซึ่งผู้หญิงไม่ควรเข้าไปเป็นอันขาด

ประการต่อมา ได้กล่าวแล้วว่า เพื่อจะได้ความรู้ประเภทนี้ จำเป็นต้องถอยออกไปจากสังคม ลูกผู้ชายได้บวชเรียนก็จริง แต่วัดเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่การถอยออกไป ฉะนั้น ความเป็นลูกผู้ชายจึงยังไม่เกิดเพราะได้บวชเรียน ท่าน อาจารย์กมลา ติษยวณิชย์ เล่าในงานของท่านว่า ธรรมเนียมแต่ก่อน เมื่อออกพรรษา พระอาจารย์มักจะพาศิษย์หาในวัดซึ่งยังไม่ได้สึกออกธุดงค์ทุกปี ท่านอธิบายว่าการธุดงค์ทำให้ได้ความรู้หลายอย่างในการเผชิญกับภัยอันตรายในป่า และได้ความสนุก เป็นเสน่ห์ที่ดึงให้พระไม่สึกไปในพรรษาเดียว แต่ผมคิดว่านี่คือการเสริมความรู้เชิงตบะให้แก่ประสบการณ์บวชเรียนในพระพุทธศาสนา จึงทำให้ทิด (ที่เคยไปธุดงค์) เป็นลูกผู้ชายแท้ในสายตาชาวบ้าน

ปัจจุบัน เราอธิบายการบวชเรียนว่าได้รับการฝึกฝนอบรมทางศีลธรรมเพียงอย่างเดียว จึงพร้อมจะยกลูกสาวให้ทิด ผมออกจะสงสัยว่าไม่ใช่เรื่องศีลธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทิดได้พิสูจน์ความเป็น "ลูกผู้ชาย" ว่าจะปกป้องคุ้มครองลูกสาวของตัวได้ด้วยต่างหาก ที่ทำให้ยินดียกลูกสาวให้

นี่เป็นสัญญาณว่า พระพุทธศาสนาในเมืองไทยต้องยอมรับความรู้เชิงตบะซึ่งมีอยู่ในหมู่ชาวบ้าน (หรือพูดกลับกันว่าวัฒนธรรมความรู้เชิงตบะยอมรับพระพุทธศาสนาก็ได้เหมือนกัน) ยิ่งในพระพุทธศาสนายอมรับว่า การเจริญสมาธิวิปัสสนาทำให้เกิดฤทธิ์ต่างๆ ได้ ก็ยิ่งสอดคล้องกับความรู้เชิงตบะของชาวบ้าน แม้พระพุทธองค์ทรงเตือนไว้แล้วว่า ฤทธิ์เหล่านี้ไม่มีผลอะไรต่อการทำให้รู้แจ้งแทงตลอด

แต่ดูเหมือนพระพุทธศาสนาแบบไทยก็ยังติดอยู่กับฤทธิ์ดังกล่าวมากทีเดียว


ประการต่อมา ได้กล่าวแล้วว่า ในบรรดาคนที่ถอยออกไปจากสังคมเพื่อแสวงหาความรู้เชิงตบะ มีคนที่ไม่ถอยกลับสู่สังคม หรือไม่กลับอย่างเต็มที่ ฤษีเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ถอยกลับอย่างถาวรประเภทหนึ่ง แต่ไม่ถอยแบบฤษีไม่ค่อยมีผลอะไรต่อสังคม อีกพวกหนึ่งที่ถอยออกถอยเข้าไปเรื่อยๆ ในชีวิตคือพระธุดงค์, ปะขาว และผู้บำเพ็ญเพียรด้วยการจาริกแสวงบุญ

อีกกลุ่มหนึ่งในบรรดาผู้ที่ถอยออกๆ เข้าๆ ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือ "โจร" ความหมายปัจจุบันของคำนี้ จำกัดอยู่แต่เพียงผู้ที่มีอาชีพขโมยและปล้นสะดม บดบังสีสันและมิติด้านอื่นๆ ของชีวิต "โจร" ไปจนหมดสิ้น แน่นอนว่า "โจร" ในสมัยก่อนคือข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย ซึ่งก็ผิดกฎหมายสมัยนั้นแน่


คนกลุ่มที่เรียกว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายนั้นมีจำนวนมากมาแต่โบราณและมักจะสมัครเข้าไปอยู่ใน "ซ่อง" ของขุนโจรที่มีความรู้เชิงตบะแก่กล้า เช่น พ่อนางบัวคลี่ในขุนช้างขุนแผน เป็นต้น ที่จริงนอกจากในวรรณกรรมแล้ว เรายังได้พบชุมชนของคนเหล่านี้ตามป่าห้วยเหวเขา ซึ่งอยู่รอดมาจนเข้าสู่สมัยใหม่อีกตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ (เท่าที่ผมนึกออกเดี๋ยวนี้ก็ เช่น บ้านคีรีวงศ์ นครศรีธรรมราช และหัวหิน-ตามคำให้การของ คุณอัศสิริ ธรรมโชติ-เป็นต้น)

การที่เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย ทำให้เราเห็นไปในทางเดียวว่าพวกเขาคือคนที่หนีจากอำนาจรัฐ แต่ผมอยากเดาว่าเขาไม่ได้หนีจากอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว แต่มีอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่างซึ่งเรียกรวมๆ ว่าชีวิตชาวบ้าน ที่ผลักไสให้เขาออกไปจากสังคม Eric Hobsbawm บอกว่า โจรคือเสรีชนกลุ่มแรกของสังคมชาวนา และด้วยเหตุดังนั้น คนที่สำเร็จวิชาความรู้เชิงตบะมาแล้ว และสมัครใจไม่กลับเข้าสู่สังคม จึงสามารถหาสมัครพรรคพวกได้ไม่ยากนัก เพราะถึงอย่างไรคนอื่นที่หนีออกไปจากสังคม ก็อยากได้ความคุ้มครองจากคนแข็งแกร่ง ที่สามารถปกป้องตนจากรัฐและจากชาวบ้านอยู่แล้ว

เราคงจะศึกษาเรื่อง "โจร" ในประวัติศาสตร์ไทยน้อยเกินไป ทำให้รู้เรื่องของคนเหล่านี้น้อย แต่ในชวา นับตั้งแต่สมัยโบราณ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า jago (แปลตามตัวคือไก่(ชน) ตัวผู้ แต่ใช้ในความหมายถึงหัวหน้ากลุ่มที่มีอาณาบารมี คือ "จ่าฝูง" นั่นเอง) คนเหล่านี้มีความรู้เชิงตบะ (เรียกในภาษาอินโดนีเซียว่า kebatinan-คือความสำนึกรู้ถึงตัวตนอันเป็นส่วนในที่แท้จริงของตนเอง) เที่ยวเร่ร่อนไปเรื่อยๆ สั่งสมอำนาจจากการยอมรับของคนอื่น ไม่อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ทางการเมืองและสังคมใดๆ

Jago ที่เรารู้จักดีที่สุดก็อิเหนาไงครับ


ขุนแผนก็มีชีวิตคล้าย jago คือเข้าๆ ออกๆ สังคม มีความรู้เชิงตบะแก่กล้า เป็นที่นับถือและเกรงขามอยู่ทั่วไป จะฝ่าฝืนอำนาจรัฐก็ได้ แต่เลือกไม่ฝ่าฝืนเอง (เพราะวังแต่งให้เป็นอย่างนั้นหรืออย่างไรไม่ทราบ)

ในสังคมไทยปัจจุบัน ดูเหมือนความรู้เชิงตบะเป็นความรู้ที่ไม่มีใครใฝ่หาไปแล้ว และที่จริงก็หาเรียนยาก (กว่าฟิสิกส์, เคมี, หรือสังคมวิทยา และรัฐศาสตร์เสียอีก) หลวงพ่อขลังๆ ก็ยังมีอยู่ แต่เป็นที่นิยมนับถือในวงจำกัด แทบไม่เคยได้รับนิมนต์ไปออกทีวีไทยพีบีเอสเลย

แต่ลึกลงไปในใจคนไทย ผมคิดว่าความเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์ของความรู้เชิงตบะก็ยังมีอยู่แน่นแฟ้น ความนิยมต่อ "วัตถุมงคล" นานาชนิดเฟื่องฟูโดยทั่วไป

วัตถุมงคลคือความรู้เชิงตบะที่ได้มาโดยไม่ต้องเรียน แต่ใช้เงินซื้อเอา

คนมีอำนาจมากๆ ในบ้านเมือง ล้วนมีข่าวลือเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญในความรู้ประเภทนื้ทั้งนั้น เช่น จอมพลสฤษดิ์ ห้อยพระอะไรบ้าง และลงทุนซื้อพระอะไรบ้าง สมัยหนึ่งก่อนที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะแพร่หลาย ผมจำได้ว่ามีข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดต่อสื่อสารผ่านกระแสจิตกับพระอาจารย์ชื่อดังสายพระอาจารย์มั่นได้ทุกรูป

ทำไมคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จึงต้องทำพิธีข่มโน่นข่มนี่ด้วยผ้าอนามัยกลางเมือง ก็คุณสนธิกำลังกลายเป็น jago ไปแล้ว ยืนอยู่นอกสังคมด้วยการยึดมัฆวาน และต่อมาก็เลยไปถึงทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน จะนำฝูงชนจำนวนมากขนาดนั้นออกไปจากสังคม โดยไม่มีความรู้เชิงตบะเลย จะน่าเชื่อถือได้อย่างไรเล่าครับ

เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้

 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com