สิ่งที่น่าจะทำได้ทันที เพื่อฉุดไทยไม่ให้เป็นประเทศบ๊วยเรื่องภาษาอังกฤษ
สวัสดีครับ
บ่อยครั้งเมื่อได้อ่านผลการศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบทักษะภาษาอังกฤษของประเทศต่าง ๆ [เช่น บทความนี้] แล้วเจอว่าลำดับของไทยก็คล้าย ๆ เดิม คือใกล้ ๆ บ๊วย ผมจะมีความรู้สึก 3 อย่างปนกัน คือ ทำใจ แปลกใจ แต่ใฝ่ฝัน
ทำใจ คือ ชักจะปลงแล้วว่า หรือประเทศไทยมันจะได้แค่นี้
แปลกใจ ก็คือ งง เพราะจริง ๆ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศจน มีชื่อเสียงในเวทีโลกด้านนั้นด้านนี้ที่ดี ๆ หลายด้าน และดูเหมือนว่า หน่วยงานหรือคนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำให้คนไทยเก่งอังกฤษก็ทำงานหนัก แต่ทำเมืองไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศบ๊วย
แต่ 2 ความรู้สึกนี้ คือ ทำใจและแปลกใจ ก็แผ่วเบามาก เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกสุดท้ายที่หนักแน่น คือ ใฝ่ฝัน – ผมใฝ่ฝันว่า เมืองไทยและคนไทยจะก้าวไปข้างหน้า เพราะได้พัฒนาทักษะภาษาโลกภาษานี้ – คือ ภาษาอังกฤษ
ตามรายงานการศึกษา ปี 2014 ของบริษัททางการศึกษา EF ซึ่งสำรวจข้อมูลประชาชน อายุ 18 ปีขึ้นไป กว่า 750,000 คน ใน 63 ประเทศทั่วโลกซึ่งภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ ตามผลที่ได้รับ เขาแบ่งทักษะภาษาอังกฤษของคนในประเทศเหล่านี้ออกเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่ดีที่สุดจนถึงแย่ที่สุด ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มแย่สุด หรือ very low proficiency ขอให้ท่านดูในแท่งสีส้มขวาสุด เมื่อคลิกภาพข้างล่างนี้
[ -เมื่อเปิดหน้าไฟล์ pdf แล้ว, ให้กด Control ค้างไว้, และกลิ้งล้อบนเมาส์ ไป-มา เพื่อเพิ่ม-ลด ขนาดตัวหนังสือให้เหมาะกับสายตาของท่าน - ] [ที่มา]
ผมติดใจ key word สั้น ๆ ล่างสุดในเอกสารนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 วลีนี้
- Defining English proficiency as a core competency.
- Developing assessment standards that evaluate effective communication.
คือ จากประสบการณ์การทำงานในหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ผมเคยเสนอว่า ควรจะมีการกำหนดให้การผ่านการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเป็นแต้มพิเศษในการได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน หรือเป็นเกณฑ์บังคับในการได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง โดยเกณฑ์นี้อาจจะไม่ต้องสูงนักแต่ควรตั้งไว้ เป็นคล้าย ๆ วิชาบังคับที่นักศึกษาทุกคนต้องผ่าน แต่หน่วยกิตอาจจะไม่ต้องสูงนัก เช่น สัก 1 หรือ 2 หน่วยกิต
ข้อเสนอของผมถูกเมิน ผมเข้าใจว่า ข้าราชการทั้งรุ่นเก่าที่ใกล้วันเกษียณ และข้าราชการรุ่นใหม่ที่ไกลวันเกษียณบางคน ไม่อยากเหนื่อยเพราะต้องฟิตภาษาอังกฤษของตัวเองถ้าเกณฑ์เช่นนี้ถูกกำหนดออกมา
แต่ถึงแม้จะเจออย่างนี้ ผมก็ยังมีความใฝ่ฝันอันแรงกล้าว่าภาษาอังกฤษของคนไทยจะดีขึ้น และที่ยังคงทำเว็บไซต์นี้ ก็เพราะความใฝ่ฝันอันนี้แหละครับ
พิพัฒน์