ไวยากรณ์ไทยที่ไม่เหมือนกับ English grammar (ตอนที่ 2 - stative verb)
สวัสดีครับ
ผมเคยพูดเรื่อง 4 เรื่องที่ไวยากรณ์ไทยไม่เหมือนกับ English grammar โดยบอกว่า 4 เรื่องที่ต่างกัน คือ
1. การเรียงคำ
2. คำนามเอกพจน์ – พหูพจน์
3. การเติม –ed หลังคำกริยา
4. preposition หรือ บุพบท
วันนี้ผมมาเจออีก 1 เรื่องที่ ไวยากรณ์ไทยที่ไม่เหมือนกับ English grammar คือเรื่อง state verb หรือ stative verb, มันคืออะไร?
ก็คือว่า verb ในภาษาอังกฤษนั้น ถ้าเราจะบอกว่า ประธาน “กำลังทำ” อย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ต่อท้าย verb ด้วย ing ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กว่า เป็น continuous tense
แต่ว่ามันมี verb อยู่จำนวนหนึ่ง ที่มักจะใช้แบบ present simple tense หรือ past simple tense เท่านั้น, จะไม่ใช้ continuous tense โดยมักเป็น verb ที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด, ประสาทสัมผัสทั้งห้า, หรือใช้อธิบายสิ่งต่างๆที่ไม่เป็น action เช่น
[agree] She didn’t agree with us.
จะไม่เขียนหรือพูดว่า She wasn’t agreeing with us.
[appear] It appears to be raining.
จะไม่เขียนหรือพูดว่า It is appearing to be raining.
[believe] I don’t believe the news.
จะไม่เขียนหรือพูดว่า I am not believing the news.
[belong] This book belonged to my grandfather.
จะไม่เขียนหรือพูดว่า This book was belonging to my grandfather.
♦ ขอให้ท่านดู state verb หรือ stative verb พร้อมประโยคตัวอย่างที่ลิงค์ข้างล่างนี้
http://www.perfect-english-grammar.com/support-files/stative-verbs-list.pdf
♦ แต่มีข้อยกเว้นที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ บางที state verb หรือ stative verb นี้ ก็เติม ing ได้เหมือนกัน ถ้ามันมีความหมายเป็น action เช่น
taste
This milk tastes sour. นมนี้มีรสเปรี้ยว
I was just tasting the food.ฉันกำลังชิมอาหาร
see
What do you see? คุณเห็นอะไร
I'm seeing my dentist this afternoon. ฉันกำลังจะไปพบหมอฟันบ่ายวันนี้
weigh
This watermelon weighs 2 kg.แตงโมลูกนี้หนัก 2 กก.
He is weighing the melon.เขากำลังชั่งน้ำหนักแตงโม
♦ ดูตัวอย่างเพิ่มเติม
http://www.grammaring.com/state-verbs-and-action-verbs
♦ คลิกทำแบบฝึกหัด - มีเฉลยอยู่ที่หน้าสุดท้าย
♦ ศึกษาเพิ่มเติม - คลิก
บางท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจจะรู้สึกว่า มาอีกแล้ว! แกรมมาร์มีแต่เรื่องให้จำ! น่าเบื่อจริงๆ! ถ้าท่านรู้สึกอย่างนี้ผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ แต่ผมอยากชวนให้ท่านลองมองอย่างนี้สักนิดแล้วกันครับ สมมุติว่าท่านอยู่ในที่ทำงาน แล้วบางครั้งบางคราว ท่านก็ต้องไปพบปะ พูดคุย ประชุม กับเจ้าหน้าที่แผนกอื่น มากบ้างน้อยบ้าง เมื่อกลับมายังห้องทำงานประจำของท่าน และเพื่อนถามว่า “เคยเห็นหน้าหรือรู้จักชื่อคน ๆ นี้ไหม? คุณน่าจะเคยพบเขาในที่ประชุมบ้าง” เมื่อท่านดูภาพและอ่านชื่อ ก็ตอบเพื่อนว่า “คุ้น ๆ แฮะ, แต่จำไม่ได้แล้ว!”
ผมขอบอกท่านว่า เรื่องแกรมมาร์ก็คล้าย ๆ กันอย่างนี้แหละครับ คือท่านอาจจะไม่ต้องซีเรียสตั้งอกตั้งใจจำอย่างเอาเป็นเอาตาย, เพียงแต่เมื่อท่านได้อ่านหรือฟังประโยคภาษาอังกฤษ ก็สังเกตสักนิด มันคล้าย ๆ กับว่า ท่านเห็น นาย ก. ผู้แทนจากหน่วยงาน A. มาประชุมกับหน่วยงานของท่านทุก ๆ 2 เดือน, และทุกครั้งที่มาประชุมเขาจะสะพายเป้สีน้ำเงินมาด้วย
ผมถามว่า ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ คือ หน้าตาและชื่อของนาย ก., ชื่อหน่วยงานของเขา, และเป้สีน้ำเงินของเขา ท่านต้องท่องจำไหมครับ? ท่านอาจจะบอกว่า คนเยอะแยะกว่า 20 คนเต็มห้องประชุม จะให้สังเกตจดจำได้ทุกคน ใครจะไปจำไหว! จริงครับ ที่ท่านพูดนี้ผมก็ไม่เถียง ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า ท่านลองทำใจให้โล่ง ๆ ว่าง ๆ เจอใครก็ลองสังเกตบ้าง, พอสังเกตแล้วก็ปักหมุดในใจเบา ๆ ว่า อ้อ! คนๆ นี้หน้าตาอย่างนี้! ชื่ออย่างนี้! มาจากหน่อยงานนี้! มีบุคลิกพิเศษอย่างนี้! เมื่อปักหมุดจำไว้ในใจอย่างนี้สักครั้ง พอเจอกันอีกครั้ง หมุดที่ปักไว้ในใจครั้งก่อนมันอาจจะหลุดคือลืมไปบ้าง ก็ช่างมันเถอะครับ แต่มันก็จะจำได้มากกว่าไม่ปักหมุดจำอะไรไว้ในใจเลย ยิ่งถ้าเดินเข้าไปทักทายพูดคุยอะไรกับเขาสักคำสองคำ จะยิ่งจำได้แม่น
ผมกำลังเปรียบเทียบกับการเรียนภาษาอังกฤษว่า มันทำนองเดียวกันเลยครับ ถ้าท่านเจอศัพท์ วลี ประโยค อะไรก็ตาม ที่ใหม่ แปลก หรือน่าสนใจ ก็ลองสังเกตสักนิด ถ้าสงสัยก็อาจจะลงทุนค้นคว้าสักนิดเพื่อแก้สงสัย และปักหมุดจำเบา ๆ ไว้ในใจ หรือถ้ายิ่งมีโอกาสฝึกพูดคำ, วลี, หรือประโยคนี้ออกมาจริง ๆ เหมือนกับเดินเข้าไปคุยทักทายกับนาย ก. ซึ่งเป็นคนจากต่างหน่วยงานที่มาประชุมในห้องเดียวกัน เมื่อได้คุยแค่ครั้งเดียวก็จะช่วยให้จำเขาได้นานทีเดียว
สรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือภาษา ถ้ามีโอกาส, หรือหาโอกาส ให้เจอบ่อย เมื่อเจอแล้วก็สังเกต, ถ้าสงสัยก็ค้นคว้าสักนิดหน่อยเพื่อให้หายสงสัย, ปักหมุดในใจเพื่อจำ, หรือเดินเข้าไปคุยกับเขาบ้าง เรื่องที่เคยบ่นว่า ไม่เคยพบ, ไม่เคยเห็น, ไม่เข้าใจ, จำไม่ได้, ใช้ไม่เป็น มันก็จะน้อยลง เพราะถ้ามีเท้า, มีทาง, มีการเดินทางด้วยเท้าที่เรามีอยู่, ก็ย่อมมีวันถึงที่หมาย
พิพัฒน์