ประสบการณ์ส่วนตัวในการฝึกฟังข่าวต่างประเทศให้รู้เรื่อง

สวัสดีครับ

ทุกท่านที่ฟิตภาษาอังกฤษก็ต้องการฟังให้รู้เรื่อง  แต่บางท่านก็อาจจะรู้สึกเหมือน ๆ กันว่า ถ้ามันเป็นเสียงภาษาอังกฤษที่ฝรั่งพูดออกมาตามธรรมชาติของเขา  เช่น ในโปรแกรมข่าวดังระดับโลกจากเว็บข้างล่างนี้  

มันก็ฟังยาก บางคนฟังมาเนิ่นนานแล้วก็ยังฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง จนท้อ, จนไม่อยากจะฝึกฟัง, จนยอมแพ้, และจนเลิกฝึกฟังไปในที่สุด

pipat huahin3

ปัญหาที่พูดมานี้ คนที่ฝึกภาษาอังกฤษทั่วโลกก็คงเจอทุกคน ยกเว้นคนที่โชคดีมีโอกาสได้ฝึกภาษาอังกฤษอย่างเป็นงานเป็นการ เช่น ได้เรียนระดับปริญญาที่สหรัฐฯหรืออังกฤษ, ได้ใช้ชีวิตนานพอสมควรในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ, ได้ทำงานในหน่วยงานที่ต้องพูดภาษาอังกฤษทุกวัน ฯลฯ แต่คนที่ไม่มีโอกาสอย่างนี้ คือคนอย่างเรา ๆ ทำอย่างไรจะให้เก่งฟังรู้เรื่องเหมือนคนที่โชคดีเหล่านั้น?

ปัญหานี้ ฝรั่งเจ้าของภาษาก็คงรู้ดี ถ้าท่านกูเกิ้ลด้วยคำว่า how to improve english listening skills ท่านก็จะพบคำแนะนำดี ๆ มากมายที่มีผู้รู้ให้ไว้ [คลิกดู]

ผมเองก็เคยหยิบคำแนะนำนี้มาเขียนไว้บ้างแล้วในเว็บนี้ เช่นที่บทความนี้

           วิธีฝึกฟังภาษาอังกฤษให้รู้เรื่องอย่างรวดเร็ว

และก็เคยแนะนำเว็บและไฟล์ให้ดาวน์โหลดเพื่อใช้ “ฝึกฟัง” ภาษาอังกฤษ  ที่บทความเหล่านี้ [คลิกดู]

วันนี้ผมมาคิดดูก็เห็นว่า น่าจะเล่าประสบการณ์ที่ผมมีอยู่บ้างในการฝึกฟังภาษาอังกฤษ ในฐานะที่มีสภาพเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ คือไม่มีโอกาสไปศึกษาหรือใช้ชีวิตในต่างประเทศนาน ๆ และก็ไม่ได้ทำงานในหน่วยงานที่มีชาวต่างประเทศเป็นเพื่อนร่วมงาน โดยจะเล่าวิธีที่ผมใช้ฝึกฟังภาษาอังกฤษจนสามารถใช้งานได้

เนื่องจากผมเป็นคนอายุเยอะแล้ว จึงขอแบ่งเวลาเป็น 2 ช่วง คือ (1)ช่วงก่อนเมืองไทยมีเน็ตใช้ และ (2)ช่วงหลังจากที่เมืองไทยมีเน็ตใช้


ช่วงที่ (1) –ก่อนเมืองไทยมีเน็ตใช้

ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก จนเรียนจบมหาวิทยาลัย และออกไปทำงานในต่างจังหวัด 10 ปี และจนถึงปีที่ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพเมื่ออายุประมาณ 35 ปี ผมแทบไม่เคยมีเวลาฝึกฟังภาษาอังกฤษเลย เพราะไม่รู้จะไปฟังที่ไหน ครูฝรั่งก็ไม่เคยเรียนด้วย เทปก็ไม่เคยฟัง อันที่จริงห้องแลบในมหาวิทยาลัยที่ให้นักศึกษาไปเบิกเทปมาฝึกฟังก็มีบริการ แต่ผมก็ทำได้ไม่กี่ครั้ง และมักจะหลับคาหูฟังในห้องแลบเสียมากกว่า ยิ่งเมื่อได้ทำงานเป็นพัฒนากรในหมู่บ้านอยู่ 10 ปี โอกาสที่จะฝึกฟังภาษาอังกฤษ(ในสมัยนั้น)ยิ่งไม่มี  สรุปก็คือ ณ วันที่ได้เปลี่ยนสถานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพเมื่ออายุตอนนั้น 35 ปี และได้ทำงานในแผนก “วิเทศสัมพันธ์” ผมมีทักษะภาษาอังกฤษ อย่างนี้

  • reading = ดี
  • speaking = พอถูไถ
  • writing = พอถูไถ
  • และ listening = แย่ หรือ แย่มาก

pipat huahin3

แล้วผมฝึกฟังยังไงล่ะ? เพราะงานมันบังคับให้ผมต้องฟังรู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการไปต้อนรับหรือส่งแขกชาวต่างประเทศที่สนามบิน, คุยกับแขกทั้งในห้องประชุม และนอกห้องประชุม เช่น ที่โต๊ะอาหาร ในรถที่นั่งไปดูงาน  และที่หนักที่สุด คือ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีงานทั้งในห้องประชุม และนอกห้องประชุม เช่น ติดต่อโรงแรม คุยกับเจ้าภาพ ติดต่อร้านขายอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างเดินทางไปแข่งขันฝีมือแรงงาน (WorldSkills) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ต้องฟังให้รู้เรื่องทั้งสิ้น และการฝึกฟังก็ต้องฝึกฟังทุกวันขณะทำงานที่เมืองไทย จะฝึกยังไงล่ะ?

วิธีฝึกที่ทำได้ในยุคโน้นก็คือ ผมติดตั้งเคเบิ้ลทีวีของ   IBC  ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น UBC ซึ่งมีทั้งช่องหนังฝรั่งและข่าว BBC, CNN แต่ผมมักจะฟังข่าวมากกว่า เพราะภาษาอังกฤษที่ผมใช้ในที่ทำงานมันมีความเป็นทางการมากกว่า ผมจึงฝึกฟังข่าวมากกว่าดูหนัง

แต่มันก็ฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง  หรือรู้เรื่องน้อย น้อยจนท้อ และไม่อยากทนฝึกฟัง เพราะถึงฟังไปก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง และไอ้การที่ฟังแล้วไม่ค่อยรู้เรื่องนี่แหละครับ  มันทำให้ฟังแล้วเบื่อ, ฟังแล้วง่วง, ตอนหลัง ๆ ผมต้องยืนฟัง เพราะถ้านั่งฟังมันจะหลับคาเก้าอี้ แต่ก็ตื๊อทนฝึกฟังไปทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่อง วางนาฬิกาปลุกไว้บนหลังจอทีวี ครบครึ่งชั่วโมงเมื่อไหร่ก็เลิกฟังเพราะมันเบื่อ แต่ถ้าวันไหนเจอข่าวที่สนใจ แม้เลยครึ่งชั่วโมงก็จะทนดูไปได้เรื่อย ๆ ถึงจะไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ไม่เบื่อ

จนถึงวันนี้ ผมยังจำความรู้สึกครั้งแรกที่เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกได้ดี ที่ทำงานของผมเขาส่งผมไปเข้าร่วมประชุมที่สิงคโปร์ หน่วยงานหลักของไทยคือกระทรวงศึกษาฯ และกรมฯ ที่ผมทำงานอยู่ ก็ส่งผมเป็นผู้แทน 1 คนไปร่วมประชุมสมทบและนำเสนออะไรบ้างเล็กน้อย จำได้ว่า มีผู้นำเสนอเป็น ดร. ผู้หญิงจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสิงคโปร์  แกพูดคล่องมากไม่ติดขัดเลยนานกว่า 1 ชั่วโมง แต่ผมฟังไม่ออกเลยว่าแกพูดอะไร ส่วนผู้แทนไทยจากกระทรวงศึกษาฯ ก็นำเสนอประมาณครึ่งชั่วโมง ผมพูดต่อจากท่าน โดยอ่านจาก script ที่เตรียมไป ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที โชคดีที่เมื่อพูดจบไม่มีใครถามอะไร  เขาคงรู้!

พอกลับจากสิงคโปร์งวดนั้น ผมรู้เลยว่าขืนปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไม่ดีแน่

เมื่อเจอเพื่อนรุ่นพี่หลายคนที่เก่งภาษาอังกฤษ ผมมักจะถามแบบเจาะ ๆ เลยว่า ผมฟังไม่รู้เรื่อง! ทำยังไงจึงจะฟังรู้เรื่อง? คำตอบที่ได้รับมักจะเหมือน ๆ กัน คือ “ฟังไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เรื่องเองแหละ

ในเวลานั้น คำตอบแบบนี้ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ผมมาสรุปได้ในตอนหลังว่า แม้นี่จะเป็นคำตอบสั้น ๆ ที่ perfect ตรงไปตรงมา  ไร้การหลอกลวง แต่สำหรับผม มันเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยดี ก็เพราะว่า มันตอบคำถามของผมได้ไม่ครบ  แต่ช่างเถอะ! ผมก็ยังฝึกยืนฟังข่าว UBC ต่อไปแม้จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง (อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง)

แล้วผมก็นึกย้อนไปถึงคำบอกเล่าของอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสอนผมตอนเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ ท่านจบจากสหรัฐฯ ครั้งหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนเข้าไปเรียนครั้งแรกฟังเล็กเชอร์แทบไม่รู้เรื่องเลย ตอนหลังท่านจึงต้องเตรียมตัว คือจะต้องอ่าน text ทุกครั้งเพื่อเตรียมตัวสำหรับการฟังเล็กเชอร์ครั้งหน้า ซึ่งทำให้การฟังเล็กเชอร์รู้เรื่องมากขึ้น และหลายครั้งทำให้ท่านได้ A ในวิชานั้น ๆ ผมสรุปเอาเองว่า ก่อนไปเรียนที่สหรัฐฯ reading skill ของอาจารย์ท่านนี้ดีมาก แต่ listening skill คงไม่ดีมากเท่า  และพอไปเข้าห้องเรียนฟังเล็กเชอร์จริง ๆ ก็ได้อาศัย reading skill โดยการเตรียมอ่านไว้ล่วงหน้านี่แหละ  ที่ช่วยให้บางสำเนียงและใจความซึ่งหลุดหล่นไป ถูกช้อนจับขึ้นมาได้  ทำให้ท่านตามทัน และเข้าใจ และได้ A

ผมจึงชักจะได้เค้าแล้วว่า ที่เพื่อนรุ่นพี่แนะนำว่า “ฟังไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เรื่องเองแหละ” นั้น ถูกต้องที่สุด แต่มันควรจะต้องมีตัวช่วย คือการอ่าน  คือ ทุกเรื่องที่ฟังภาษาอังกฤษ ถ้าได้อ่านไปก่อน จนรู้ประเด็น หรือเค้าโครงของเรื่อง หรืออย่างน้อยก็มี topic หลักที่กำลังฟัง เป็น sheet ให้ถือดูได้อยู่ในมือ การฟังก็จะง่ายขึ้น

ที่ว่าฟังได้ง่ายขึ้นนี้ มันไม่ได้หมายความว่า  ฟังแล้วเราจะรู้เรื่อง 100 % แต่อย่างน้อย เราก็ได้รู้ว่า เราไม่รู้เรื่อง-เรื่องอะไร? เพราะมันดีกว่า เราไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่า-เราไม่รู้เรื่อง-เรื่องอะไร?

ผมขอยกอีก 1 ตัวอย่าง เรื่องการฟังให้รู้เรื่อง โดยการศึกษาหรืออ่านไปก่อนให้มีความรู้เรื่องที่ฟังไว้ล่วงหน้า หรือการมี script ให้ดู topic ขณะที่ฟังภาษาอังกฤษ ส่วน detail ก็พยายามจับเอาขณะที่ฟัง

ผมสอบได้ทุนรัฐบาลอินเดีย ไปเข้ารับการอบรมเรื่องการพัฒนาอาชีพ ที่เมือง Coimbator รัฐ Tamil Nadu ทางภาคใต้ของอินเดีย เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ช่วง 2 อาทิตย์แรกที่ฟังครูแขกหลายคนเล็กเชอร์ ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า ไม่รู้เรื่องครับว่าท่านพูดอะไรบ้าง คือมันรัวไปหมดในรูหูผม แถมบางท่านพูดได้อย่างลื่นไหลรัวเร็วจนรับไม่ทัน แต่นับว่าโชคดีที่ส่วนมากท่านจะเตรียมชีทมาให้ ในชีทนั้นระบุหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย และท่านก็พูดตามนั้น การรู้เรื่องมากขึ้นจึงทำได้เร็ว เพราะหูฟังและตาช่วยอ่าน

หูฟัง-ตาช่วยอ่าน” นี่แหละครับ คือหัวใจในการฟัง ที่เพื่อนรุ่นพี่แนะนำไว้ในตอนต้น แต่แนะนำไม่ครบ คือเขาแนะแต่ให้ใช้ “หูฟัง” แต่ไม่ได้แนะเรื่องให้ “ตาช่วยอ่าน” คือแนะไม่ครบ

หลายครั้งที่ผมได้รับการมอบหมายจากที่ทำงานให้ไปเข้าร่วมประชุม Technical Committee Meeting ในประเทศอาเซียนอื่น ๆได้แก่ มาเลเซีย  อินโดนีเซีย บรูไน ดารุสซาลาม และเวียดนาม ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ที่ประชุมลักษณะนี้จะถกเถียงกันด้วยเรื่องกฎ กติกา มารยาท ทางเทคนิค ที่จะใช้ในการแข่งขันฝีมือช่างสาขาต่าง ๆ และเอกสารหลักที่จะใช้ถกกันในที่ประชุม คือ Rules and Procedures - ASEAN Skill Competition ว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร เมื่อได้ศึกษาเอกสารนี้ไปก่อน คือ ทั้งอ่านเข้าใจและตีความกระจ่าง  เมื่อนั่งอยู่ในที่ประชุม ต่อให้บางชาติ/บางคน จากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงและรูปประโยคที่เข้าใจยาก เราก็ยังพอเดาออกอยู่นั่นเองว่า เขากำลังจะบอกอะไร และอาจจะรู้เลยไปด้วยอีกว่า เขาเข้าใจอะไรผิด นี่คือตัวอย่างที่ 2 ที่ผมขอยกมาเพื่อจะบอกว่า ในการฝึกฟังภาษาอังกฤษนั้น จะต้องให้ “ตาช่วยอ่าน” ด้วย เพราะถ้าให้หูฟังอย่างเดียว อาจจะเป็นงานหนักเกินไปสำหรับหู


ช่วงที่ (2) – หลังจากที่เมืองไทยมีเน็ตใช้

           ผมกำลังจะพูดถึงช่วงที่ 2 หลังจากที่เมืองไทยมีเน็ตใช้ ซึ่งทำให้การฝึกฟังภาษาอังกฤษ ง่ายกว่าเดิม  แต่วิธีฝึกยังต้องเหมือนเดิม คือ “หูฟัง-ตาช่วยอ่าน”

ผมขอเข้าเรื่องการฟังข่าว World News โดยสำนักข่าวดังระดับโลก  ข่าวพวกนี้มีประโยชน์มาก เพราะมันเกิดขึ้นในโลก และสำนักข่าวพวกนี้ก็รายงานให้เราทราบแทบจะทันที ท่านผู้อ่านบางท่านที่เป็นคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบชัดเหมือนคนรุ่นเก่าอย่างผม คือเมื่อสมัยก่อน พอเราได้ยินคำว่า “ข่าวต่างประเทศ” เรามักจะรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องของ “ต่างประเทศ” มันไม่ใช่เรื่องของ “ในประเทศ” ไทยเรา แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้วครับ เพราะโลกนี้ทั้งโลกมันได้กลายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ติดต่อกันได้หมดแล้ว ไม่ว่าจุดที่เกิดเรื่องดีหรือร้าย(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องร้าย) เช่น โรคระบาด สงครามการฆ่าฟัน การทำลายสิ่งแวดล้อมที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว การแฮกข้อมูล การเกิดคนไข้โรคจิตชอบทำร้ายที่มีสมองอัจฉริยะ การเปลี่ยนหรือแยกขั้วประเทศมหาอำนาจในโลก การหลบหนีของผู้ก่อการร้ายไปยังประเทศอื่น สินค้าขายดี แฟชั่นดัง พฤติกรรมเพี้ยนแต่คนเลียนแบบเร็ว ฯลฯ ข่าวต่างประเทศลักษณะนี้ มันสามารถกลายเป็นข่าวในประเทศได้ตลอดเวลา

การสามารถฟังสรุปข่าวดังและรู้เรื่องได้ทันที จากแหล่งข่าวที่เป็นเสียงภาษาอังกฤษ จะช่วยให้เราได้ทราบข่าวอย่างรวดเร็ว ได้เรื่อง รส และรายละเอียดจากต้นฉบับ ไม่ต้องผ่านการกรองจากบรรณาธิการของหน่วยงานข่าวต่าง ๆ ในประเทศ และอาจจะไม่ต้องผ่านการเซ็นเซอร์ด้วย(ถ้ามี)

pipat huahin3

การฟังข่าวพวกนี้ให้รู้เรื่อง เราต้องรู้อะไรบ้าง?

  • (1)รู้ศัพท์ วลี สำนวน ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการเขียนข่าว
  • (2)มีความรู้เป็นพื้นฐานที่ช่วยให้ฟังข่าวนั้นรู้เรื่อง คือรู้เรื่องในปัจจุบันที่ข่าวรายงาน และพอจะสาวไปถึงเรื่องในอดีตที่ข่าวไม่ได้รายงาน และถ้าเก่งขึ้นไปอีก อาจจะสามารถเดาไปถึงเรื่องในอนาคตที่ข่าวอาจจะยังไม่ได้พยากรณ์

จำได้ว่า สมัยเรียนที่คณะสารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมได้เรียนวิชา “การแปลข่าว” ซึ่งพูดถึงหัวข้อที่ (1) และวิชา “สถานการณ์ปัจจุบัน” ซึ่งพูดถึงหัวข้อที่ (2) แต่ถ้ามองดูเหตุการณ์ทุกวันนี้ ซึ่งอะไรต่ออะไรมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก  ก็ต้องบอกว่า ข้อมูลจากห้องเรียนคงช้าและน้อยเกินไป

ผมขอยกตัวอย่างสัก 1 ข่าวแล้วกันครับ เช่น ข่าวประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯจะสถาปนาความสัมพันธ์กับคิวบา

อันดับแรก เมื่อท่านเข้าไปที่เว็บข่าว Aljazeera และได้ดู 2 คลิปนี้

Clip1: US-Cuba_ Foes no more - Inside Story - Al Jazeera English

คลิก หรือ คลิก  

clip2: Empire The US Cuba Obsession

คลิก หรือ คลิก


ถ้าท่านรู้สึกว่า ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือจับประเด็นได้ไม่ดีนัก ก็ขอให้ท่านทำดังนี้ครับ

[1] หาข่าวภาษาอังกฤษในเว็บนั้น อ่านดู  ยกตัวอย่างข่าวนี้ [คลิก]

ที่มา: [คลิก]

[2] กูเกิ้ลหาข่าวจากเว็บภาษาไทย โดยพิมพ์คำค้นที่เกี่ยวข้อง เช่น

สหรัฐ คิวบา ฟื้นฟูความสัมพันธ์

เช่น ได้มา 2 ข่าวนี้ ก็อ่านดูเพื่อเป็นพื้นฐานให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อท่านฟังข่าวภาษาอังกฤษ

  • สหรัฐฯ ฟื้นฟูความสัมพันธ์คิวบา - ข่าวไทยรัฐออนไลน์ [คลิก]
  • Big Story : สหรัฐฯ-คิวบา ประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์รอบใหม่ [คลิก]

[3] หาบทความเบื้องหลังข่าวมาอ่าน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ขอแนะนำคือจาก Wikipedia หรือ สารานุกรมเสรี

โดยเฉพาะเบื้องหลังข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นมีประโยชน์มาก เพราะนอกจากจะได้เนื้อหาที่ละเอียดกว่าภาษาไทยแล้ว ศัพท์/สำนวน/วลีภาษาอังกฤษที่เราได้อ่านจากบทความนั้น เมื่อมันไปปรากฏในเนื้อข่าวที่เราได้ฟัง จะช่วยให้เราฟังข่าวได้ง่ายขึ้น

ถ้าจะสรุปประสบการณ์ส่วนตัวในการฝึกฟังข่าวต่างประเทศให้รู้เรื่อง ผมก็ขอใช้คำสั้น ๆ ว่า “หูฟัง-ตาช่วยอ่าน”  โดยผมเชื่อว่า ท่านที่เป็นคนรุ่นใหม่จะฝึกได้ผลเร็วกว่าคนรุ่นผมซึ่งไม่มีอินเทอร์เน็ตคอยช่วย ตามที่ได้เล่ามาให้ฟังตั้งแต่ต้น

ขออวยพรให้ทุกท่านฝึกได้ผลโดยเร็วตามที่หวังครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/EnglishforThai