ออกแรงสมองอีกนิด – read แล้ว test

สวัสดีครับ

           ทุกท่านรู้แล้วว่า ภาษาอังกฤษมี 4 เรื่องที่ต้องฝึกให้เก่ง คือ อ่าน พูด ฟัง เขียน ถ้ารู้ไม่ครบสี่ก็จะแหว่ง ๆ แม้ว่าบางท่านจะใช้งานทักษะใดทักษะหนึ่งมากกว่าอีก 3 ทักษะก็ตาม

           แต่ผมเชื่อว่าทุกท่านดก็ทราบอีกเช่นกันว่า ทุกทักษะมันช่วยเหลือกัน ถ้าอ่านเก่งก็จะช่วยเสริมแรงให้ฟังพูดเขียนเก่งขึ้นด้วย ถ้าฟังเก่งก็จะช่วยให้พูดอ่านเขียนเก่งไปด้วย

           ในวันนี้ผมจะพูดเจาะจงเรื่องอ่าน

           การอ่านภาษาอังกฤษคล่องมีคุณค่ามหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรู้ เพราะศาสตร์ส่วนใหญ่ในโลกถูกลิขิตผ่านภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาอื่นๆของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน เยอรมัน สเปน เพราะฉะนั้น การอ่านภาษาอังกฤษเข้าใจได้คล่อง ก็คือการสามารถเปิดประตูเข้าไปสู่ความรู้และอารมณ์ของคนทั้งโลก มันมีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การใช้ชีวิต ความสุขสำราญ การท่องเที่ยว และอะไรต่ออะไรอีกมากมายจาระไนไม่จบ

           แต่เรื่องที่ผมออกจะแปลกใจก็คือ เท่าที่มองผ่านสายตาเว็บมาสเตอร์ e4thai คนไทยจำนวนมากมายจริง ๆ สนใจเรื่องแกรมมาร์มากกว่า reading หลายเท่าจนเอามาเทียบกันไม่ได้เลย ทั้ง ๆ ที่แกรมมาร์มันก็เป็นเพียงตีนมือให้อ่านรู้เรื่อง หลายคนรู้แกรมมาร์ได้ลื่นไหล แต่เรื่อง reading กลับขรุขระ

           คำถามก็คือ เราจะฝึกให้อ่านรู้เรื่องคล่องแคล่วได้ยังไง?

           มี 2 วิธีที่ผมเห็นว่าเข้าท่าน่าลองฝึกเป็นประจำ คือ train กับ test ทั้ง 2 เรื่องนี้จะถือว่าเป็นคนละเรื่องหรือเรื่องเดียวกันก็ได้ ขอว่าเรื่อง train ก่อน

           คือเมื่อเราอยากอ่านเก่ง เราก็อ่านทุกวัน โดยอ่านเรื่องที่เราชอบ และถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกเรื่องที่ยากง่ายพอฟัดพอเหวี่ยงกับเรา คือไม่ยากเกินไปจนอ่านไม่รู้เรื่อง  ทำให้อ่านแล้วท้อ แต่ก็ไม่ง่ายเกินไปจนอ่านรู้เรื่องเกลี้ยงเกลาชนิดสมองไม่ต้องออกแรง ถ้าฝึกอย่างนี้ทุกวันไม่ยอมหยุด ทั้งวันที่ขยันและวันที่ขี้เกียจ วันที่ว่างและวันที่ยุ่ง วันที่อ่านแล้วรู้เรื่องและวันที่อ่านไม่รู้เรื่อง ถ้าดั้นด้นดื้อด้านอ่านอย่างนี้ ไม่นานก็อ่านเก่ง

           สาเหตุที่ผมให้คำแนะนำทำนองนี้บ่อยมาก จนดูเหมือนพูดอย่างอื่นไม่เป็น ก็เพราะผมเชื่อหมดใจว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน-ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ไม่ใช่ความพยายามอยู่ที่ไหน-ความพยายามอยู่ที่นั่น อย่างที่คนพยายามอย่างเหยาะแหยะ ๆ ชอบยกมาเยาะเย้ย

           และที่ผมบอกว่า การ train กับ test เป็นเรื่องเดียวกันก็เพราะว่า ทุกนาทีที่เราพยายามฝึกอ่านหรือ train ตัวเองนั้น มันก็คือการ test ตัวเองโดยอัตโนมัติ คือถ้าอ่านแล้วรู้เรื่อง รู้ศัพท์ เดาได้ ตีความได้ นี่คือบอกว่าเราผ่านการ test แล้ว, แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ก็เหมือนกับว่า ประโยคนั้น บรรทัดนั้น เรื่องนั้น เรายังไม่ผ่านการทดสอบความเข้าใจในการอ่าน หรือ reading comprehension test

           แต่วันนี้ผมอยากชวนให้ทุกท่าน ลองเพิ่มกิจกรรมการ test เข้าไปใน English reading practice บ้าง

           มันมีอานิสงส์ต่างกันอย่างไร ระหว่าง train กับ test

           ท่านอาจจะบอกว่า มันก็ต่างกันแค่ อันแรกอ่านแล้วเลิก ส่วนอันที่สองอ่านแล้วก็ทำ test หรือแบบฝึกหัดที่เขาให้มา

           คำตอบนี้ถูกต้องแล้วครับ แต่มันอาจจะมีรายละเอียดอันมีประโยชน์ ที่ท่านอาจจะไม่ทันนึกถึง ผมขอว่าไปทีละข้อดังนี้ครับ

           ข้อ 1 - ที่ชัดที่สุดที่ทุกคนตอบได้ก็คือ การทำ test ซึ่งมีเฉลยให้เช็ค เราก็รู้ว่าได้กี่คะแนน คือเก่งขนาดไหน และถ้าตอนหลังมาทำซ้ำเดิมและได้มากขึ้น ก็แสดงว่าเราเก่งขึ้นซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี

           ข้อ 2 - แต่ข้อที่ผมอยากจะพูดเป็นพิเศษก็คือ การอ่านอย่างตั้งใจ และต่อด้วยการทำ test อย่างตั้งใจ มันให้ความต่างจากการอ่านเฉย ๆ ดังนี้

           [2.1] สมองก้อนที่เราออกแรงเพื่ออ่านให้รู้เรื่องนี้ จะต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ ซึ่งแต่ก่อนที่ไม่ต้อง test เราก็อาจจะอ่านอย่างเรื่อยเฉื่อย ท่านลองเปรียบเทียบระหว่างการเดินทอดน่องกับการเดินเร็วเพื่อออกกำลังกายให้เหงื่อออก แม้มันจะเหนื่อยต่างกัน เมื่อยต่างกัน แต่ถ้าฝึกเดินเร็วบ่อย ๆ ความแน่นของกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของร่างกายก็จะมากขึ้น มันเหมือนกับการที่ใช้สมองมากขึ้น กล้ามเนื้อและความแข็งแรงของสมองก็จะมากขึ้นเช่นกัน

           [2.2] ที่บอกว่ากล้ามเนื้อสมองส่วนที่ใช้ฝึกอ่านมันโตและแข็งแรงขึ้น นี่หมายความว่าอย่างไร?  มันหมายความอย่างนี้เป็นอย่างน้อย ครับ

           [2.2.1] เราได้ออกแรงฝึกปลุกศัพท์ที่นอนหลับจำได้คลับคล้ายคลับคลาให้ตื่น   และชุบชีวิตศัพท์ที่ตายคือลืมไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพ  การตั้งใจอ่านด้วยสมาธิที่มากเป็นพิเศษเพื่อทำ test ให้ได้คะแนนดี มันทำให้เกิดผลดีอย่างนี้แหละครับ

           [2.2.2] เรื่องความเข้าใจ – การอ่านชนิดเข้าใจก็ช่าง  ไม่เข้าใจก็ช่าง  กับการอ่านที่พยายามออกกำลังสมองให้เข้าใจมากที่สุด มันต่างกันอย่างไร?

           เรื่องนี้ต้องตอบชนิดสาวไปหาสาเหตุว่า ไอ้ที่เราอ่านแล้วไม่เข้าใจมันเกิดจากอะไร

           -อันแรกผมพูดไปแล้ว คือศัพท์ที่เลอะเลือนหรือลืม ถ้าอ่านอย่างตั้งใจสมองก็จะพยายามเรียก หรือ recall ศัพท์ให้กลับมา

           -อันที่สอง ศัพท์ที่ไม่เคยรู้-ไม่เคยเห็นมาเลย  อันนี้มันก็ต้องเดาแหละครับ การเดาก็คือเดาจากเนื้อเรื่องหรือ context  พูดง่าย ๆ ก็คือใช้ศัพท์ที่รู้ช่วยเดาศัพท์ที่ไม่รู้,  แล้วเดายังไงล่ะ?  อันนี้เขามีสอนฟรีกันเป็นกิจจะลักษณะ (คลิกดูที่นี่)  แต่ถ้าท่านขี้เกียจไปเรียนก็ใช้หลักง่าย ๆ อย่างที่ผมว่านี่แหละครับ คือพยายามดั้นด้นเดาดุ่ยไปดื้อ ๆ โดยใช้ศัพท์ในเนื้อเรื่องที่เราพอจะรู้เรื่องอยู่แล้ว เดาศัพท์ที่เราไม่รู้จัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าศัพท์คำนั้นสำคัญ จำเป็นต้องรู้เพื่ออ่านให้รู้เรื่อง

           เรื่องการเดาศัพท์ที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจนี่นะครับ เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่า เราคนไทยสอนกันน้อยมาก เอะอะอะไรพอไม่รู้เรื่องก็เปิดดิกกันลูกเดียว สมองที่ธรรมชาติสร้างมาให้เดาศัพท์จึงเป็นง่อยเพราะคนไม่เข็นให้มันทำงาน

           ประเด็นถัดไปคือการตีความ เรื่องของเรื่องก็คือ ไม่ใช่ว่าพอรู้ศัพท์แล้วเราจะอ่านได้รู้เรื่องทันทีเสมอไป บางทีแม้จะรู้ศัพท์ทุกคำแต่ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง  อันนี้จึงมาถึงการตีความเรื่องที่อ่านให้เข้าใจ  การตีความนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องศัพท์  แกรมมาร์ และความรู้พื้นฐานในเรื่องที่อ่าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยากก็ตีความยาก แต่ถ้าเราเคี่ยวเข็ญสมองให้ลองทำงานยากคือหัดตีความบ่อย ๆ มันจะเหมือนเราค่อย ๆ กระชากสมองให้หัดสลัดความงัวเงียทิ้งไป ถ้าฝึกบ่อย ๆ จะหายงัวเงียเร็วขึ้น

           ท่านผู้อ่านครับ  ผมขอดึงประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าสักนิดนะครับ อันที่จริงมันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ตอนโน้นเมื่อผมยังอยู่ในวัยละอ่อนฝึกอ่านภาษาอังกฤษเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ๆ  มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม คือ เรื่องการอ่านภาษาอังกฤษ ที่มี present participle และ past participle ซึ่งในภาษาไทยมีความหมายว่า ที่, ซึ่ง, อัน แต่พอผมตีความเรื่องนี้ออก  การอ่านภาษาอังกฤษก็ง่ายขึ้นเยอะ ผมได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ที่บทความนี้

 วิธีอ่านภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง โดยไม่งงกับ “ที่, ซึ่ง, อัน” ในประโยค

           เอาละครับ นี่คือขั้นตอนของการฝึกทำ test เมื่ออ่านภาษาอังกฤษซึ่งต้องออกแรงมากหน่อย พอเสร็จจากนี้ก็ดูเฉลยที่เขาให้ไว้ ให้รู้ว่าเราได้กี่คะแนน

           ตรงนี้แหละครับที่บางท่านซึ่งไม่ชอบอะไรจุกจิกอาจจะรู้สึกรำคาญ คือหลังจากดูเฉลยแล้วรู้ว่าข้อใดผิดข้อใดถูก ท่านควรยอมเสียเวลาสักนิดวิเคราะห์ตัวเองว่า จุดอ่อนของตัวเองในการอ่านอยู่ตรงไหน เช่น ไม่ค่อยรู้ศัพท์ ตีความไม่ค่อยได้ งงแกรมมาร์ที่ซับซ้อน เดาศัพท์ไม่ออก และก็ให้ถือว่า นี่เป็นการบ้านสำหรับการฝึกอ่านครั้งต่อไป มันช่วยให้เรารู้ว่าในการฝึกเพื่อพัฒนา reading skill นั้น เราแข็งตรงไหน  เราอ่อนตรงไหน

           แต่ผมขอเสริมว่า ต่อให้ท่านขี้เกียจไม่อยากเสียเวลาวิเคราะห์ตัวเอง เพียงแต่ท่านออกแรงสมองให้มากขึ้นอีกหน่อย ในการ recall เรียกคำศัพท์ให้กลับมา, เดาคำศัพท์, และกล้าตีความเพื่อให้เข้าใจเรื่องมากขึ้น เพียงเท่านี้มันก็ให้ประโยชน์เหลือหลายแล้ว  เพราะสมองมันจะถูกฝึกให้ค่อย ๆ ทำงานหนักขึ้น และเมื่อแรงอยู่ตัวก็จะเหนื่อยน้อยลง นี่ผมพูดจากประสบการณ์ตรง ไม่ได้พูดให้ท่านฝึกเหนื่อยเปล่า โดยยื่นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เป็นเหยื่อล่อ

           เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ท่านอาจจะถามว่า  เอ๊ะ! เมื่อฝึกอ่านภาษาอังกฤษจะต้องทำอย่างนี้ทุกครั้งเลยหรือ?  ฟังคำแนะนำแล้วรู้สึกเหนื่อยมาก ขอตอบว่า ไม่ต้องครับ เพราะหากท่านย้อนดูตัวเองก็จะเห็นว่า การฝึกอ่านที่ได้ผลมากที่สุด คืออ่านแล้วรู้สึกสบายมีความสุข  และปรมาจารย์ทั้งหลายมักจะสอนว่า ให้ start การฝึกอ่านด้วยเรื่องง่าย ๆ ที่เราอ่านได้ลื่นไหล ไม่ต้องชะงักหรือสะดุดเพราะเจอศัพท์ยากเกินไปมาขวางทาง และถ้าจะให้ดีควรเป็นเรื่องที่เราสนใจหรือชอบอ่าน   เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นลีลาของภาษาที่เราสามารถรู้เรื่องเข้าใจได้ และความเก่งก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้น ผมใช้คำว่า “ค่อย ๆ” เพราะมันเป็นความเก่งที่ค่อย ๆ โตขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เก่งฮวบฮาบ  เพราะถ้าเราฮึดจะเก่งฮวบฮาบให้ได้ เราก็ต้องขยันอย่างฮวบฮาบ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะขยันได้ไม่นาน พอหมดแรงหมดใจอาจทำให้เลิกฝึกเอาดื้อ ๆ เพราะสมองอาจจะทรุดโทรมเพราะหักโหมเกินพิกัด

           วิธีฝึกอ่านแบบทดสอบความเข้าใจในการอ่าน หรือ English comprehension test แบบเข้มข้นที่ผมแนะนำในวันนี้  เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ซึ่งผมขอแนะนำให้ทำแทรกเป็นระยะ ๆ เท่านั้น แต่แม้ว่าจะเป็นเพียงกิจกรรมแทรกประโยชน์ที่ได้ก็เยอะเกินคาด  ผมขออุปมาด้วยตัวอย่างที่อาจจะไม่ค่อยเข้าท่าดังนี้  คือปกติท่านทำงานหนักทุกวัน พอถึงเทศกาลวันหยุดยาวท่านก็ไปเที่ยวทัศนาจรต่างจังหวัด  ช่วงวันหยุดยาวแม้จะน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับวันทำงาน แต่มันก็ช่วยให้ท่านกลับเข้าทำงานแบบแบตที่ชาร์จไฟเต็มก้อน

           การฝึกทำ reading  comprehension test เป็นระยะ ๆ ก็ให้ผลดีในทำนองเดียวกัน คือช่วยกระตุ้นให้สมองชาร์จไฟมีพลังในการอ่านมากขึ้น แต่คำว่า “เป็นระยะ ๆ” นี้คือการแทรกฝึกเป็น series อย่างต่อเนื่องและไม่ห่างเกินไป  ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วเลิกไปนาน

           ในเว็บ www.e4thai.com นี้ ผมได้รวบรวม reading  comprehension test ไว้บ้างแล้ว ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ เชิญท่านแวะเข้าไปฝึกทำได้ตลอดเวลา

           ผมขอยืนยันว่า กิจกรรมแทรกการฝึกอ่านภาษาอังกฤษด้วยการ test ตามลักษณะที่ผมเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นนี้มีประโยชน์จริง ๆ ถ้าท่านฝึกตามเป็นระยะ ๆ รับรองว่าไม่แค่เพียงคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป แต่จะได้กำไรแน่ ๆ ครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/EnglishforThai