Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

เพราะเรียนภาษาอังกฤษอย่างคนขี้กลัว ขี้โกรธ จึงได้ผลอย่างคนขี้แพ้และขี้ทุกข์

 pipat nobitaสวัสดีครับ

           การเล่าประสบการณ์หวังผล 2 อย่าง คือ อย่างแรก ประสบการณ์ดีหวังให้คนอื่นทำตาม และอย่างหลัง ประสบการณ์ไม่ดีหวังให้คนอื่นอย่าได้ทำตาม ประสบการณ์ของผมที่จะเล่าต่อไปนี้หวังผลทั้ง 2 อย่าง

           ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เหมือนคนไทยคนอื่นๆ คือเมื่อเรียนภาษาอังกฤษก็หวังว่าจะเก่งอังกฤษ แต่ผมก็ไม่เก่งอย่างที่อยาก ผมขอเล่าไปทีละเรื่องเลยนะครับ

           เรื่องพูด

           อาจารย์มักจะสอนว่า พูดไปเถอะ ไม่ต้องอาย ไม่ได้พูดก็พูดไม่ได้ ถ้าได้พูดก็พูดได้ ถ้าเธองับปากไว้ใครจะไปง้างมันได้ คำสอนเหล่านี้ ชัด ตรง และจริงยิ่งนัก แต่ผมก็อดอายไม่ได้ ในที่ทำงานของผม มีน้องคนหนึ่ง ชื่อ ว. เธอเก่งภาษาอังกฤษมาก เธอจบปริญญาโทภาษาอังกฤษที่จุฬาฯ และยังรับปริญญาโทอีก 2 ใบเกี่ยวกับภาษาอังกฤษจากประเทศอังกฤษและเดนมาร์ก เธอพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เมื่ออยู่ในที่ทำงาน ถ้าผมต้องพูดภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติต่อหน้าเธอ ผมจะรู้สึกอายไม่กล้าพูด เพราะผมรู้สึกว่าแม้ผมจะสื่อสารได้ แต่ความเนี๊ยบของภาษาที่ใช้มันเปรียบเทียบกับเธอไม่ได้เลย

           เวลานี้เมื่อย้อนหลังนึกก็รู้สึกว่า ผมไม่จำเป็นต้องไปรู้สึกอย่างนั้นเลย เพราะเธอก็ไม่ได้ดูถูกผม แถมยังยินดีที่จะตอบถ้าผมถาม  เพราะผมสังเกตว่าเธอใจดี อารมณ์ดี และมีความเป็นครู แต่ผมขี้กลัวไปเอง

           ใช้แล้วครับ เราไม่พูดภาษาอังกฤษเพราะขี้กลัว ก็เลยไม่เปิดปากฝึกพูด หรือฝึกอย่างมีเงื่อนไข เช่น ต้องไม่มีคนรู้จักอยู่ในที่นั้น หรือจะพูดเมื่อสถานการณ์มันบีบบังคับจริง ๆ การไม่พูดเพราะกลัวคนล้อ กลัวคนแซว กลัวคนให้เกรดต่ำ และกลัวอื่น ๆ อีกสารพัดกลัว ทำให้ผมไม่กล้าพูด หรือพูดไปกลัวไป จึงทำให้การฝึกพูดได้ผลน้อย

           ผมเข้าใจว่า โรคขี้กลัวที่ผมเป็น คนไทยอีกหลายคนก็เป็น บางคนก็ยอมรักษาตัวเอง หรือยอมให้คนอื่นรักษา แต่บางคนก็ไม่ยอม ผมโชคดีที่ยอมรักษา

           เรื่องเขียน

           ตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ มีงานเขียนภาษาอังกฤษที่ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์สั่งให้ทำ เรื่องที่ผมจำได้ดีก็คือการเขียนสุนทรพจน์ให้อธิบดีนำไปอ่านในที่ประชุม เมื่อผมร่างเสร็จก็ให้หัวหน้างานตรวจ พี่หัวหน้างานคนนี้ชื่อ จ. พี่ จ. จบปริญญาโทจากสหรัฐฯ แกอ่านร่างของผมแล้วก็บอกว่า “มันแข็ง และก็ไม่มีใครเขาเขียนกันอย่างนี้”  พี่ จ. มักมีคำวิจารณ์คล้าย ๆ กันอย่างนี้ทุกครั้งที่ผมต้องส่งงานให้แกตรวจ ซึ่งบางครั้งแกก็ตรวจให้ แต่หลายครั้งแกก็ขี้เกียจตรวจและให้ผมไปแก้มาใหม่โดยไม่บอกว่าแก้ยังไง

           เรื่องเขียนแล้วกลัวคนคอมเมนต์  รู้สึกว่าเป็นโรคที่หนักหนาอยู่ ผมเคยเป็นโรคนี้และก็เห็นชัดว่า ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากก็เป็นโรคนี้ การเขียนผิดมีสารพัดเรื่องที่คนกลัวมากกว่าการพูดผิดเสียอีก ไม่ใช่เพียงการใช้แกรมมาร์ผิด แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง  เช่น การใช้ศัพท์ผิด ใช้สำนวนไม่เหมาะสม ใช้ภาษาพูดในการเขียนเรื่องที่เป็นทางการ  ใช้ภาษาทางการในเนื้อหาสบาย ๆ ที่ควรใช้เมื่อคุยกับเพื่อน และยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกเยอะ  มันมีมากจนคนไม่กล้าเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไทยที่ขี้กลัวในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องกลัว เพราะไม่ใช่การทำผิดศีลธรรม แต่ทั้ง ๆ ที่รู้ ว่าไม่จำเป็นต้องกลัวเขียนผิด ผมก็เขียนไปทั้ง ๆ ที่กลัว  ความกลัวเป็นสาเหตุของความทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ทุกข์ ก็ต้องเลิกทำ 2 อย่าง คือ (1)เลิกเขียน-ซึ่งเป็นการแก้ที่ผิด  และ (2)เลิกกลัว-ซึ่งเป็นการแก้ที่ถูก ผมไม่เลิกฝึกเขียน แต่ผมก็ไม่สามารถเลิกกลัวได้ในทันที  เรื่องใจของคนเรานี่มันจัดการยากจริง ๆ

           ในขณะที่การพูดต้องมีคนอื่นฟัง  และการเขียนต้องมีคนอื่นอ่าน เราก็กลัวว่า  เขาจะเห็นว่า เราพูดไม่ดี – เขียนไม่ถูก แล้วเราก็กลัว ไม่กล้าพูด – ไม่กล้าเขียน และก็ไม่ฝึกด้วย

           แต่เรื่องการอ่านและการฟัง  ไม่ต้องมีคนอื่นมาเกี่ยวข้อง เราจึงไม่ต้องอายถ้าเราอ่านไม่รู้เรื่อง – ฟังไม่รู้เรื่อง จึงไม่มีความกลัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเราอ่านได้รู้เรื่องน้อย รู้เรื่องช้า รู้เรื่องอย่างไม่แน่ใจ หรือบางครั้ง อ่านไม่รู้เรื่องเลย มันจะเกิดความรู้สึกอีกประเภทหนึ่ง คือ ไม่พอใจตัวเอง หงุดหงิด รำคาญ เบื่อ เซ็ง ยั้วะ พูดด้วยศัพท์คำเดียวสั้น ๆ ก็คือ “โกรธ” ตัวเอง

           เมื่อตะกี้ที่ผมพูดถึงการพูดและการเขียน หากเราทำได้ไม่ดี เรากลัวคำพูดหรือความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นที่ให้เกรดเราไม่ดี เช่น ให้แค่เกรด C, D หรือ เกรด F ตกไปเลย แต่พอมาถึงการอ่านและการฟัง มันไม่เกี่ยวกับคนอื่น  เพราะเป็นเรื่องที่เราให้เกรดตัวเอง และพอเราต้องยอมรับความจริงและให้เกรดต่ำ เราก็ไม่พอใจตัวเอง    การไม่พอใจเป็นนิตย์ คืออาการ “ขี้โกรธ” ตัวเองเพราะการอ่านและการฟัง

       ผมขอเล่าเรื่องของตัวเองเกี่ยวกับการอ่านก่อนนะครับ ผมเคยเล่าไว้แล้วที่ About Me

           เรื่องอ่าน

           ตอนที่ผมเข้าเรียนปีแรก  ที่คณะวารสารศาสตร์  วิชาเอกหนังสือพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผมบอกตัวเองเลยว่า   ก่อนขึ้นปี 2 จะต้องอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐ ฉะนั้นแทบทุกวัน เมื่อกลับถึงที่พักผมจะนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ เอาเชือกผูกเอวตัวเองไว้กับพนักเก้าอี้ และอ่านให้จบอย่างน้อย 1 หน้าก่อนลุกไปไหน ถ้าจะลุกก่อนจบก็ต้องเอาเก้าอี้ไปด้วย ทำอย่างนี้จนเรียนจบปี 1 ผลปรากฏว่าก็ยังไม่สามารถบันดาลให้ Bangkok Post กลายเป็นไทยรัฐไปได้ แต่… มันอ่านรู้เรื่องมากขึ้นเยอะและคุ้มค่ากับความพยายาม

           จากย่อหน้าข้างบนนี้ สิ่งที่ผมไม่ได้เล่าก็คือ ผมไม่ได้ฝึกอย่างคนอารมณ์เย็น บ่อยครั้งทีเดียวที่หงุดหงิด เบื่อ เซ็ง ว่าทำไมมันอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง(วะ) หรือรู้เรื่องได้ช้ามาก  หรือบางประโยคบางเรื่องก็ยากมากจนอ่านไม่รู้เรื่องเลย พูดง่าย ๆ ก็คือผมมีอารมณ์ลบมากเกินไป และตอนนี้เมื่อมองย้อนหลังไปวิเคราะห์ตัวเองทำให้ต้องสรุปว่า ก็คงเป็นอารมณ์ลบ “ขี้โกรธ” ตัวเองเช่นนี้แหละ ที่ทำให้แม้จะขยันแต่ผลสำเร็จที่ได้รับกลับช้าเกินไป ทำให้ต้องใช้เวลาฝึกอ่านแบบโหดอย่างนี้ติดต่อกันถึง 1 ปีกว่าจะเห็นผล ผมเชื่อว่า ถ้าผมทำใจให้ร่าเริง คือเมื่ออ่านไป ๆ ไม่ว่าจะรู้เรื่องมาก รู้เรื่องน้อย หรือไม่รู้เรื่องเลย ก็ช่างมัน จะไม่ยอมปล่อยใจให้หงุดหงิด เบื่อ เซ็ง จนหดหู่ สะลึมสะลือ อยากเกินพิกัด ถ้าผมเป็นผู้ใหญ่สักนิด ไม่เรียนแบบเรียนไป-ด่า(ตัวเอง)ไป ผมเชื่อว่าผมจะเรียนอย่างเป็นสุขและประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น เพราะไม่มีใครหรอกที่ทำดีแล้วอยากโดนด่า โดยเฉพาะโดนตัวเองด่า จึงประท้วงด้วยการบล็อกสมองไม่ยอมรู้เรื่องเร็ว ๆ “อยากด่า(กู)ดีนัก”

           ผมขอรับรองว่าเรื่องที่เล่ามานี้ไม่ได้แกล้งเล่า  เพราะเป็นเรื่องจริงล้วน ๆ หลายครั้งเมื่ออ่าน Bangkok Post จบไปสัก 1 ข่าวหรือครึ่งหน้า และก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องว่าอ่านอะไร และก็เป็นอย่างนี้สิบ ๆ วันติดต่อกันทุกครั้งที่อ่าน ผมต้องมานั่งถามตัวเองว่า “จะอ่านไปทำไม ทั้ง ๆ ที่อ่านไม่รู้เรื่อง หรือรู้น้อยรู้ช้าขนาดนี้

           ภายหลังจากนั้นนานทีเดียวกว่าผมจะตาสว่างมองเห็นความจริงว่า ถ้าเราฝึกอ่านไปเรื่อย ๆ มันก็จะค่อย ๆ รู้เรื่องมากขึ้นเอง เพราะความไม่รู้เรื่องมันก็ซ่อนอยู่ในความรู้เรื่องนั่นแหละ คือมันเป็นจิ๊กซอว์ที่วางลงไปและยังไม่กลายเป็นรูปสุดท้าย ไอ้เราก็ใจร้อนอยากมากเกินไป  แค่เริ่มวางลงไปไม่กี่ชิ้นก็จะให้มันเป็นรูปซะแล้ว มันจะเป็นไปได้ยังไง และยิ่งอยากให้เกิดรูปเร็วเท่าไรสมองยิ่งไม่นิ่ง ยิ่งเรียงยิ่งรวน แต่ถ้าค่อย ๆ ทำด้วยใจเย็น ๆ มองโลกในแง่ดีและเชื่อมั่นในขันติและวิริยะ สมองก็จะนิ่งและโล่ง ผลรับก็จะได้เร็ว โดยมีความสุขเป็นเพื่อนร่วมเดินตลอดทาง

           ท่านผู้อ่านครับ ผมเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ตอนอ่านภาษาไทยนั้นไม่มีปัญหาเพราะอ่านแล้วก็รู้เรื่องเลย  แต่พอมาถึงภาษาอังกฤษมันไม่รู้เรื่องทันทีอย่างภาษาไทย เมื่อไม่ได้ดังใจก็โกรธตัวเอง มันน่าแปลกใจว่า ข้อสรุปที่เป็นสัจจะย่อหน้าข้างต้นนี้ อะไรมันบังตาทำให้ผมรู้ช้าจริง ๆ ถ้าหากท่านบังเอิญได้อ่านมาถึงตรงนี้ และก็มีปัญหาอ่านภาษาอังกฤษด้วยความ “ขี้โกรธ” อย่างที่ผมเป็นมาเนิ่นนานตอนที่เป็นวัยรุ่น ผมอยากให้ท่านใจเย็นและมองความพยายามอย่างอดทนในแง่ดี และให้เวลาแก่มันบ้าง   ท่านจะได้ไม่ต้องเสียเวลาอย่างผม

           เรื่องฟัง

           คราวนี้มาถึงเรื่องฟังบ้างซึ่งน่าหงุดหงิด น่ายั้วะ น่าเซ็ง น่าเบื่อ ชวนโกรธ ชวนให้ไม่พอใจได้ง่ายกว่าเรื่องอ่านเสียอีก

           ต้องขอบอกว่า คนรุ่นเก่าอย่างผม มีทักษะภาษาอังกฤษที่ได้มาตอนจบปริญญาตรีอยู่อย่างเดียว คือการอ่าน หรือ reading skill อีก 3 อย่าง คือ ฟัง พูด เขียน ต้องมาฝึกเพิ่มเมื่อทำงาน และในช่วง 10 ปีแรกที่ผมทำงานอยู่ “บ้านนอก” ผมก็ไม่ได้ฝึก พอย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และมีงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ หรือ “เมืองนอก” นั่นแหละครับ ทำให้จำเป็นต้องเริ่มฝึกฟัง พูด เขียน

           คนที่ไม่เคยฝึกฟังภาษาอังกฤษมาเลย และต้องมาฝึกฟังนี่มันยากจริง ๆ ครับ ยิ่งสมัยนั้นเครื่องไม้เครื่องมือสื่อการเรียนอะไรต่ออะไรมันไม่ได้เยอะแยะหาง่ายเหมือนสมัยนี้ ผมต้องติดตั้ง UBC กับทีวีที่บ้าน และภาษาอังกฤษที่ให้ฟังก็มีพวกข่าว CNN, BBC และหนังฝรั่ง ซึ่งฟังยากทั้งนั้น

           ขอบอกท่านผู้อ่านตรงนี้เลยว่า หากความหงุดหงิด รำคาญ ยั้วะ เซ็ง เบื่อ โกรธ ไม่พอใจ จากการฝึกอ่าน Bangkok Post ไม่รู้เรื่องมีขนาดเท่าถ้วยน้ำปลา พอมาฝึกฟัง CNN, BBC และหนังฝรั่ง อารมณ์พวกนี้มันเพิ่มขนาดเท่ากับกาละมังซักผ้าเลยทีเดียว เพราะมันฟังไม่รู้เรื่องครับ เมื่อผมอ่านหน้า Bangkok Post พอไม่รู้เรื่องก็อ่านซ้ำ หรือประดิดประดอยอ่าน หรือเปิดดิก แต่เมื่อดูหนังฟังข่าวฝรั่งพวกนี้ มันไม่ได้พูดช้า-ไม่ได้พูดซ้ำ-ไม่ได้พูดง่าย ๆ ให้เราฟังรู้เรื่อง  มันก็พูดไปตามประสาของมัน ส่วนเราก็ไม่รู้เรื่องตามประสาของเรา พอถึงเวลาที่ผมต้องให้เกรด listening skill แก่ตัวเอง ก็มีเกรดเดียวที่ให้ได้ คือ F

           การที่อยากรู้เรื่องมากเท่าใดและไม่รู้เรื่องมากเท่านั้น มันเป็นความรู้สึกพิเศษที่ไม่น่าสัมผัส  แล้วจะทำยังไงล่ะจึงจะข้ามมันไปได้  นี่ทำให้นึกถึงชื่อหนังสงคราม ปี  1977 เรื่องหนึ่ง ชื่อ A Bridge Too Far (คลิก) หรือว่า ทักษะการฟังอันเป็นอุปสรรคที่ผมอยากข้ามไปให้ได้นี้  มันจะเป็นสะพานที่ยาวเกินเดินข้ามพ้นอย่างชื่อหนังฝรั่งเรื่องนี้ ?

           ท่านผู้อ่านครับ ผมมาได้สำนึกตอนหลัง และทุกวันนี้ก็ยังสำนึกอยู่เรื่อย ๆ ว่า เมื่อเราฝึกภาษาอังกฤษ หรือฝึกทักษะวิชาใดก็ตาม ถ้ามันเป็นของดีที่น่าฝึก เราก็ฝึกไปเถอะ ฝึกไปด้วยจิตที่มุ่งมั่นและใจที่สงบ ยิ่งจิตมุ่งมั่นมากเท่าใด ใจก็ต้องยิ่งสงบมากเท่านั้น เพราะจิตที่มุ่งมั่นนั้นสร้างความร้อน จึงต้องทำใจให้สงบเพื่อสร้างความเย็น    ถ้าหยางคือความมุ่งมั่นมันร้อน ก็ต้องมีหยินคือความสงบทำให้เย็น

           ท่านผู้อ่านอย่าได้คิดว่า ผมเอาถ้อยคำมาเล่นสำนวนและดีแต่พูดในเรื่องที่ยากจะทำได้ อย่าคิดอย่างนั้นเลยครับ สิ่งที่ผมนำมาเล่าทั้งหมดเกี่ยวกับการฝึก พูด เขียน อ่าน ฟัง ภาษาอังกฤษ ผมเล่าจากประสบการณ์ ที่ผมฝึกมาเองอย่างผิด ๆ ถูก ๆ บางอย่างฝึกผิดมากกว่าฝึกถูก  บางอย่างฝึกถูกมากกว่าฝึกผิด  ผมอยากจะบอกว่า ให้เราพยายามฝึกให้มันถูก แต่ถ้าฝึกแล้วผิด ก็ไม่ต้องกลัวจน“ขี้กลัว” ไม่ต้องโกรธจน“ขี้โกรธ” เพราะความผิดที่เกิดขึ้นขณะฝึกนั้น มันจะช่วยให้เราลดการทำผิด และอาจจะเลิกการทำผิดซ้ำได้ในที่สุด การทำผิดเมื่อฝึกพูด ฝึกเขียน ฝึกอ่าน และฝึกฟัง ภาษาอังกฤษ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราควรขอบคุณ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปกลัวคนอื่นวิจารณ์เมื่อเราพูดหรือเขียน และไม่ต้องไปโกรธตัวเองเมื่อเราอ่านและฟังไม่รู้เรื่อง  มันไม่มีประโยชน์เลยครับ

           ท่านผู้อ่านครับ ยังเหลืออีก 1 เรื่องที่ผมขอพูดเป็นพิเศษ

คือเท่าที่ผมเห็น หลายคนตัดใจไม่ได้ ก็ฝึกภาษาอังกฤษไปทั้ง ๆ ที่กลัวคนอื่นจะวิจารณ์เมื่อตัวเองพูดหรือเขียน  และโกรธตัวเองเมื่ออ่านและฟังไม่รู้เรื่องดังใจ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาก็ไม่ "ขี้เกียจ"  และด้วยความอดทนพยายามเช่นนี้แหละ ทำให้การฝึกได้ผลไม่เป็นคนขี้แพ้ในการฝึก  แต่ผมก็ยังอยากให้ท่านเหล่านี้ได้ฝึกใจไปพร้อมกัน เพราะแม้ท่านจะไม่ได้เป็นคน "ขี้แพ้ " แต่ท่านก็เป็นคน “ขี้ทุกข์” ไม่มากก็น้อย ทักษะภาษาอังกฤษนั้นเป็นของดีมีประโยชน์และน่าฝึก  เราจึงไม่ควรปล่อยใจจนทำให้ตัวเองเป็นทุกข์  แต่ควรภูมิใจเพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำ

             สิ่งที่ผมต้องการจะเล่าจากประสบการณ์ของตัวเอง ในหัวข้อ เพราะเรียนภาษาอังกฤษอย่างคนขี้กลัว ขี้โกรธ   จึงได้ผลอย่างคนขี้แพ้และขี้ทุกข์ ก็มีเพียงเท่านี้แหละครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/EnglishforThai

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com