รู้แกรมมาร์แต่พูดไม่ได้ รู้ศัพท์แต่อ่านไม่รู้เรื่อง – ปัญหาของคนไทย แก้ยังไงดี?
สวัสดีครับ
ชื่อของบทความวันนี้ รู้แกรมมาร์แต่พูดไม่ได้ รู้ศัพท์แต่อ่านไม่รู้เรื่อง – ปัญหาของคนไทย แก้ยังไงดี? น่าจะเป็นปัญหาที่พวกเราคุ้นเคยอยู่ แต่ทางแก้ปัญหาเราคุ้นเคยหรือเปล่า นี่คือคำถาม วันนี้ผมขอตอบคำถามตามความเห็นของผม ซึ่งเป็นคำตอบที่ simple มาก ๆ แต่ก่อนตอบ ขอให้ผมพูดอะไรไปเรื่อย ๆ ก่อนนะครับ
ว่าด้วยเรื่องแกรมมาร์ก่อน ผมเคยได้ยินหลายคนตำหนิว่า เมืองไทยเน้นเรียนแกรมมาร์มากจนพูดไม่ได้ จะเปิดปากพูดก็กลัวผิดแกรมมาร์ เลยไม่กล้าพูด ทำไปทำมาแกรมมาร์เลยกลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาชญากรรม ที่ทำให้คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นครูไทยหรือครูฝรั่งที่มาทำมาหากินในเมืองไทย ต่างรุมประณามสาปแช่งแกรมมาร์ไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด แกรมมาร์จึงแปลว่ากรรมมาก ครูสอนแกรมมาร์ก็คือครูมีกรรมมาก
แต่ผมจะบอกให้ว่า แม้ว่าจะมีการประณามกันถึงขนาดนี้ แกรมมาร์ก็ยังอยู่ยั้งยืนยงและคงมีคนรักไม่คลาย สังเกตได้ง่าย ๆ ทุกครั้งที่มีบทเรียนแกรมมาร์ให้เรียนฟรี หรือไฟล์แกรมมาร์ให้ดาวน์โหลดฟรี ก็จะมีคนเข้าไปเรียนหรือโหลดเยอะ แสดงว่าเขายังรักกันมั่นคง
มาพูดถึงเรื่องศัพท์บ้าง ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมทำปุ่ม Vocabulary เฉพาะขึ้นมาเพื่อแนะนำเว็บและไฟล์ดาวน์โหลดให้คนศึกษาคำศัพท์ และเรื่องที่คนสนใจมากที่สุดก็คือ list คำศัพท์ 1000, 2000, 3000 คำ พร้อมคำแปลภาษาไทย ส่วนใหญ่บอกว่าจะเอาไปท่อง จะได้รู้ศัพท์เยอะ ๆ, จะได้เก่งภาษาอังกฤษ
มันคล้ายกับว่า คนไทยส่วนใหญ่มีคำตอบสำเร็จรูปอยู่ในใจว่า การที่จะเก่งภาษาอังกฤษ คือ อ่านรู้เรื่อง, ฟังรู้เรื่อง, พูดได้, เขียนได้ จะต้องมี 2 อย่างนี้ตุนไว้ในสมอง คือ รู้แกรมมาร์และรู้ศัพท์ ถ้ารู้แล้ว เรื่องอ่าน-ฟัง-พูด-เขียน ก็เป็นเรื่องง่าย แต่มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ หรือครับ?
ปรากฏการณ์ที่เราเห็นมันก็บอกชัดอยู่แล้วว่า มันไม่ได้เป็นอย่างนี้ คือต่อให้คล่องแกรมมาร์ก็ใช่ว่าจะพูดคล่อง ต่อให้รู้ศัพท์เยอะก็ใช่ว่าจะอ่านรู้เรื่อง แล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไรล่ะ?
ผมไม่รู้หรอกครับว่า ตามหลักวิชาการนั้นเขาสอนกันยังไง แต่วิธีฝึกส่วนตัวที่ผมเองใช้ได้ผล ก็คือลุยไปเลย
- อยากอ่านรู้เรื่องก็ลุยอ่านไปเลย อ่านเยอะ ๆ อ่านทุกวัน
- อยากฟังรู้เรื่อง ก็ฟังเยอะ ๆ ฟังทุกวัน
- อยากพูดได้ ก็ฝึกออกเสียงทีละคำ ๆ พูดออกเสียงทีละประโยค ฝึกพูดเล่าเรื่องให้ตัวเองฟัง ทุกวัน
- อยากเขียนได้ ก็เขียนลงไดอะรี่ทุกวัน
ทุกเรื่องที่ฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ข้างต้นนี้ เอาปริมาณเข้าว่า ไม่สนใจคุณภาพ แต่ก็รู้สึกแน่ใจว่า ถ้าฝึกไม่หยุด เมื่อปริมาณเดินนำหน้า คุณภาพก็จะเดินตามหลัง
หมายความว่า ขณะที่ฝึกฟัง-ฝึกพูด-ฝึกอ่าน-ฝึกเขียนนี้ เราก็จะได้เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องแกรมมาร์และศัพท์ไปในตัว และเป็นแกรมมาร์และศัพท์ที่อยู่ในเนื้อเรื่องจริง ๆ
เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า นี่ผมจะให้เลิกอ่านตำราแกรมมาร์ หรือให้เลิกท่องศัพท์หรือ? มิได้ครับ! ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้น! แต่ผมกำลังจะบอกว่า
- อย่าใช้เวลาอ่านตำราแกรมมาร์ มากกว่าเข้าไปเจอแกรมมาร์จริง ๆ ในเนื้อหาที่เราอ่านหรือฟัง หรือเมื่อต้องระลึกถึงแกรมมาร์อยู่บ้างเมื่อพูดหรือเขียน
- อย่าใช้เวลาท่องศัพท์ มากกว่าเข้าไปเจอศัพท์จริง ๆ ในเนื้อหาที่เราอ่านหรือฟัง หรือเมื่อต้องใช้ศัพท์ในการพูดหรือเขียน
พูดอีกอย่างก็คือ ปัญหาภาษาอังกฤษของคนไทยไม่ได้อยู่ที่คนไทยฝึกอะไร แต่อยู่ที่คนไทยไม่ได้ฝึกอะไร
ผมไม่ได้เป็นแพทย์ แต่ผมเชื่อว่า การอ่านตำราแกรมมาร์และท่องศัพท์ กับการไปเจอและใช้แกรมมาร์และศัพท์เมื่อฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษจริง ๆ ใช้สมองคนละพู และคนไทยส่วนใหญ่ถูกสอนให้ใช้สมองพูแรกเพื่อการเรียนแกรมมาร์และท่องศัพท์ มากกว่าการใช้สมองพูที่สองเพื่อการทำความเข้าใจ-ตีความ-สังเกต-วิเคราะห์ เมื่อเราฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษจริง ๆ
ผมขอยกสัก 1 ตัวอย่างเรื่องการอ่าน
สมมุติว่า เราอ่านข่าวภาษาอังกฤษสัก 1 ชิ้น และไปเจอศัพท์สำคัญที่ไม่รู้ความหมาย เราทำยังไง?
[1] เราเปิดดิก
[2] ถ้าศัพท์คำนี้มีหลายความหมาย เราต้องใช้สมองเลือกมา 1 ความหมาย ที่มันสอดคล้องกับความหมายในเนื้อข่าวที่เราอ่าน
[3] เราตีความคำศัพท์นี้ ให้สามารถอ่านเข้าใจเนื้อความของข่าว ซึ่งในข้อนี้ อาจจะต้องรวมถึงการเข้าใจแกรมมาร์หรือโครงสร้างประโยคด้วย เช่นในประโยคที่มีอนุประโยค หรือส่วนขยายซับซ้อน โยงไปโยงมาเยอะ ๆ ก็เป็นภาระของเราที่ต้องตีความทั้งคำศัพท์และมองแกรมมาร์ให้กระจ่าง
ท่านเห็นไหมครับว่า เมื่อเราเอาแต่ตุนศัพท์จากการท่องเพื่อเป็นทุนใช้อ่านหนังสือ มันช่วยเราอย่างมากก็แค่ข้อ [1] คือไม่ต้องเปิดดิก แต่ข้อ [2] และข้อ [3] เราไม่ได้ฝึกเลย เพราะมันไม่มีของจริงจากเนื้อเรื่องให้เราฝึก ยิ่งทักษะที่จำเป็นเช่นการเดาความหมายจากเนื้อเรื่อง (context) เราแทบไม่รู้จักเลย
ผมกำลังจะดึงกลับมาถึงปัญหาที่เราพูด คือการที่เราเอาแต่ท่องศัพท์หรืออ่านตำราแกรมมาร์ มันเหมือนการฝึกเดินป่าในสนามจำลองปลอม ๆ ต่อให้เดินจนตายก็ไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักเดินป่า เพราะนักเดินป่าที่แท้ต้องมีประสบการณ์ในการเดินป่าจริง ๆ จะได้รู้ว่าเมื่อหลงป่าจะแก้ปัญหายังไง เมื่อเดินป่าคนเดียว
และนี่ก็มาถึงปัญหาข้อที่ 2 คือ การเดินป่าคนเดียว ซึ่งในที่นี้ก็คือการฝึกภาษาอังกฤษโดยไม่มีครู ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับคนไทยหลายคนที่เรียนไม่ได้โดยไม่มีครู หรือถ้าเจอภาษาอังกฤษที่ไม่มีคำแปลภาษาไทยเทียบไว้ให้ก็จะหลับตาทันที
วิธีง่าย ๆ ในการฝึกโดยไม่มีครูก็คือ
เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่เหมาะกับท่าน ถ้าท่านอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 แต่อ่าน story ภาษาอังกฤษของ ปี 1 ไม่รู้เรื่อง แต่พอจะอ่านหนังสือ story ของ ป. 1 รู้เรื่อง ท่านก็ต้องยอมถ่อมใจ ยอมกลับไปเริ่มอ่านหนังสือ story ของ ป.1 แล้วไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ, ไม่มีวิธีอื่นหรอกครับ การเงยหน้ายิ้มรับกรรมที่เคยทำมาแต่อดีต ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นความกล้าหาญ และผมคิดว่า ท่านจะเรียนได้เร็ว เพราะท่านโตแล้ว
ต่อจากนี้ก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจากฝึกทุกวัน –ทั้งวันที่ขยันและวันที่ขี้เกียจ, วันที่มีเวลาและวันที่ไม่มีเวลา, วันที่เรียนแล้วรู้เรื่องและวันที่เรียนแล้วไม่รู้เรื่อง – ไม่ว่าจะเป็น การอ่าน – ฟัง – พูด – เขียน ก็ให้ฝึกอย่างนี้หมด
ผมขอพูดซ้ำอีกทีว่า ปัญหาภาษาอังกฤษของคนไทยไม่ได้อยู่ที่คนไทยฝึกอะไร แต่อยู่ที่คนไทยไม่ได้ฝึกอะไร และนี่คือเรื่องที่คนไทยไม่ได้ฝึก หรือฝึกน้อยเกินไป เป็นสมองพูที่สองที่คนไทยไม่ค่อยชอบใช้ และทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดไม่ค่อยได้
สำหรับเรื่องง่ายที่จะศึกษา ในเว็บ e4thai.com นี้ก็มีให้เลือกพอสมควร ไปที่นี่แล้วเลือกเอาแล้วกันครับ
- ดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลากว่า 150 เล่ม
- ดาวน์โหลด 100 story ง่ายสุด ๆ เพื่อฝึกฟังพร้อมอ่านภาษาอังกฤษ
- ดาวน์โหลด Story เกือบ 2,000 เรื่อง เพื่อฝึกฟังและอ่านตาม (ไม่ยากครับ !!)
- read & test วันละ 1 เรื่อง - E4Thai.com
- อ่านข่าวภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเมืองไทย จาก นสพ online หลายฉบับ ที่พิมพ์ในไทย
บทความแนะนำ tip เพิ่มความเข้าใจในการอ่าน
- เทคนิคการอ่าน นสพ.ฝรั่งให้รู้เรื่อง
- วิธีอ่านภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง โดยไม่งงกับ “ที่, ซึ่ง, อัน” ในประโยค
เรื่องที่ผมจะคุยด้วยก็คงมีเท่านี้ และผมต้องขอให้ท่านผู้อ่านโปรดอภัยด้วยหากมีข้อความที่ไม่สุภาพปะปนไปในสิ่งที่เขียน แต่ใจทุจริต หยาบคาย และอคตินั้นไม่มีเลย
พิพัฒน์