สไตล์การรายงานข่าวของ BBC

 bbc-news-style-guideสวัสดีครับ

การพูดเป็น 1 ใน 3 กรรมของคนเรา คือ กายกรรม, วจีกรรม, และมโนกรรม และตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทุกกรรมจะต้องทำด้วยสุจริต

เฉพาะวจีกรรม คำสอนที่ได้ยินบ่อยนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่าให้พูดอะไร แต่สอนว่าอย่าพูดอะไร คืออย่าพูด 4 อย่าง คือ อย่าพูดเท็จ, อย่าพูดส่อเสียด, อย่าพูดคำหยาบ, และอย่าพูดเพ้อเจ้อ

      ผมกำลังโยงเรื่องนี้เข้ากับเรื่องการรายงานข่าวของสำนักข่าวดังระดับโลก สำนักข่าวใดที่ยึดกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดว่า ต้องรายงานข่าวที่ไม่เท็จ  ก็จะได้รับความเชื่อถือจากผู้เสพข่าว

        แต่ข่าวก็มีเอกลักษณ์ของมันเอง คือข่าวที่ดีนอกจากเนื้อหาไม่เท็จ ยังต้องอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที เพราะฉะนั้น ข่าวที่ดีจึงควรเข้าใจง่าย, ไม่เยิ่นเย้อ, ตรงไปตรงมา, ให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข่าวได้ให้ข้อมูลและความเห็น และเสนอได้รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ สำนักข่าวที่ยึดหลักการนี้อย่างเคร่งครัดมากเท่าใด ก็จะเป็นที่นิยมมากเท่านั้น – นี่เป็นเรื่องของเนื้อหาข่าว ซึ่งต้องไม่เท็จ ชัดเจน เข้าใจง่าย กระชับ เป็นกลาง รวดเร็ว

นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว ข่าวยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “ภาษา”

            ท่านผู้อ่านลองสังเกตข่าวที่ท่านอ่านหรือฟังเป็นประจำวันก็ได้ครับว่า เขาใช้ภาษาที่ชัดเจนหรือคลุมเครือ, ภาษาที่เข้าใจง่ายหรือเข้าใจยาก, ภาษาที่กระชับหรือน้ำท่วมทุ่ง, ภาษาที่เป็นกลางหรือเอียงเข้าข้างโน้นออกข้างนี้

เรื่องภาษาที่ใช้รายงานข่าว จึงสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องเนื้อหาที่ถูกรายงาน

สำนักข่าว BBC เป็นสำนักข่าวดังระดับโลก วันนี้ผมจะไม่พูดถึงเนื้อหาข่าวที่เขารายงาน แต่ผมจะขอพูดถึงการใช้ภาษาในการรายงานข่าวของเขา

BBC มีสิ่งที่เรียกว่า styleguide ให้ผู้เขียนข่าวของเขาได้ใช้เป็นแนวทางในการเขียนข่าว ซึ่งครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การใช้คำย่อ แกรมมาร์ คำศัพท์ที่สับสน การสะกด เครื่องหมายวรรคตอน การอ้างอิงแหล่งข่าว และอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้เขาบอกว่า เพื่อทำให้มาตรฐานการใช้ภาษาข่าวของ BBC นั้นสูง ข่าวเข้าใจง่าย ชัดเจน

ท่านสามารถศึกษาที่เว็บข้างล่างนี้ครับ

  1. BBC News Styleguide
  2. http://www.bbc.co.uk/academy/journalism/news-style-guide

ขอยกตัวอย่างอีก 2 สำนักข่าว ซึ่งมีลักษณะนี้เช่นกัน

  1. The Economist Style Guide, Online version
  2. The Associated Press Stylebook

เรื่องที่ผมคุยในวันนี้อาจจะไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมขอให้ความเห็น คือ ในการศึกษาภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาใดก็ตาม การ “สังเกต”เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก ผมบอกไม่ได้หรอกครับว่า ต้องสังเกตยังไง แต่สามารถเปรียบเทียบง่าย ๆ อย่างนี้ครับ เหมือนกับเราเดินท่องป่า บนเส้นทางที่เท้าของเราสัมผัสพื้นขณะเดินทาง, ต้นไม้ ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงดาว ที่เราเห็น, อากาศที่เราสูดเข้าปอด, เสียงของป่าทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนที่เราได้ยิน, ธารน้ำที่เราผ่านพบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีอะไรมากมายให้เราสังเกต แม้ว่าในครั้งแรกที่เราสังเกตเห็น เราอาจจะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เราก็ “รู้สึก” ได้ถ้าเราไม่ใจลอย

ในการศึกษาภาษาอังกฤษก็เช่นกัน ถ้าเรามีสมาธิขณะที่ฟังหรืออ่าน ถ้าเราไม่ใจลอย เราก็จะรู้สึกหรือเห็นอะไรบางอย่าง แม้อาจจะยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th