Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

พัฒนาทักษะในการพูด ด้วยการอ่านอย่างสังเกตและสม่ำเสมอ

kidreadbook

สวัสดีครับ

              ผมเชื่อว่าทุกวันนี้คนไทยทุกอายุตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เมื่อรู้สึกว่าทักษะที่กำลังเรียนหรือเคยรู้จากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมันไม่พอ ก็อยากจะรู้มากขึ้น  เพื่อใช้พูดจาสื่อสารกับคนต่างชาติได้  แต่บางท่านอาจจะรู้สึกว่าติดขัด  และไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้มันไหลลื่น

              คำแนะนำของผมสำหรับทุกท่านมีสั้น ๆ นิดเดียวครับ อ่านออก-เขียนได้ ต้องไปด้วยกัน และฟังออก-พูดได้ ก็ต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ถ้าต้องส่งสารด้วยการพูดและเขียน ก็ต้องฝึกรับสารด้วยการอ่านและฟัง

              และผมเชื่อว่า นี่คือปัญหาพื้นฐานของคนไทย คือเราต้องการพูดได้-เขียนได้ แต่เราฝึกอ่านน้อยเกินไป และฝึกฟังน้อยเกินไป  เราก็เลยพูดไม่ค่อยได้ และเขียนไม่ค่อยได้

              ใช่แล้วครับ มันเป็นจริงอย่างที่บางคนเคยพูดไว้ การเรียนภาษาหนีเรื่องการเลียนแบบไม่ได้  ถ้าทารกคนไหนบอกว่า ฉันจะไม่ยอมจำขี้ปากใครในการฝึกพูด เด็กคนนั้นคงพูดไม่ได้เลยแม้จะไม่ได้เป็นใบ้

              สรุปก็คือ ใครก็ตามที่ต้องการเก่งภาษาอังกฤษ  อาจจะต้องฝึกหลายอย่างตามสไตล์ที่ตัวเองชอบ แต่อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ก็คือต้องอ่านและฟังเยอะ ๆ

              การอ่านและฟังคือการเปิดรับและสะสมวัตถุดิบเข้าไว้ในสมอง วัตถุดิบนี้ก็คือ ศัพท์ วลี สำนวน สำเนียง ลีลาของภาษา แกรมมาร์  ผ่านตาและหู ซึ่งของพวกนี้บางทีก็มีกฎเกณฑ์ให้จำ เหมือนกับ Go อ่านว่า โก, So อ่านว่า โซ แต่บางทีก็น่าสงสัยว่า ทำไม Do อ่านว่า ดู และ To อ่านว่า ทู  

              การฝึกภาษาอังกฤษจึงเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือ ฝึกบ่อย ๆ ==> คุ้นเคย ==>จำได้ ==>ใช้เป็น

              ข้อความข้างบนนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร เพราะเป็นความจริงง่าย ๆ ที่ไม่ต้องพูดมาก แต่ถ้ามองให้ดี มันก็มีอะไรที่หลายคนลืมมอง จึงต้องขอเอามาพูดสักหน่อย

              ข้อที่ 1: ผมเชื่อว่า หลายท่านคงเคยได้ยินผู้รู้หรืออาจารย์แนะว่า ตอนพูดภาษาอังกฤษ ให้พูดออกไปเลย ไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทย จะพูดผิดพูดถูกก็ช่างมัน ฝึกพูดเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็พูดได้เองแหละ  คำแนะนำเช่นนี้ พูดง่ายแต่ทำตามยาก  เพราะตอนที่เราจะพูดภาษาอังกฤษ ถ้าภาษาไทยมันวิ่งไปวิ่งมาอยู่ในสมองให้คึ่ก  ถึงเราออกปากไล่  มันก็คงไม่ไปง่าย ๆ

              แต่ความจริงอยู่ที่ 2 บรรทัดนี้:

              ถ้าเราอ่านมาก-ฟังมาก จนร่องสมองคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ เวลาที่เราต้องพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษถึงคนต่างชาติ  เราจะคิดถึงภาษาไทยน้อยลง และเราจะรับ style ของภาษาอังกฤษในการพูดและเขียนได้ง่ายขึ้น

              แต่....

              ถ้าเราอ่านน้อย-ฟังน้อย และร่องสมองของเราแทบไม่เคยรู้จักภาษาอังกฤษเลย  เวลาที่เราจะพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษถึงคนต่างชาติ  ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ภาษาไทยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านจะนั่งอยู่เต็มห้องรับแขก  และก็คงยากสักหน่อยที่จะขับไล่ภาษาไทยออกไป  จึงไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะที่บางคนอาจจะพูดแปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ ทำนองข้างล่างนี้

อยู่ไปวัน ๆ – live go day day

หล่อนเป็นคนเรื่องมาก – She is many stories.

พูดไปพูดมา – talk go talk come

ไปดีมาดี – go good come good

อยู่ดีกินดี – stay good eat good

อยู่ดีไม่ว่าดี – stay good say not good

ไข่ลูกเขย – eggs of son-in-law

ฝากเนื้อฝากตัว – Please accept my meat, please accept my body.

                ข้อที่ 2: ข้อความที่บอกว่า ฝึกบ่อย ๆ นำไปสู่ ==> ความคุ้นเคยนั้น คือบอกว่า เราต้องพยายามฝึกอย่างสม่ำเสมอ แต่ผมขอเสริมว่า  แค่สม่ำเสมออย่างเดียวยังไม่พอ ต้องฝึกด้วยสมองที่สังเกต และใจที่เป็นสมาธิด้วย  จึงจะช่วยให้การฝึกได้ผลดี และได้ผลเร็ว

              เรื่องการฝึกภาษาอังกฤษด้วยใจที่เป็นสมาธิและปล่อยวาง ผมพูดมาหลายครั้งแล้ว วันนี้จึงของด แต่จะขอพูดเป็นพิเศษเรื่องการสังเกต

              ท่านผู้อ่านครับ ทุกวันนี้มีตำราภาษาอังกฤษคุณภาพดีออกวางขายมากมาย และมีเนื้อหาครอบคลุมทุกเรื่องที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่น เรื่องศัพท์ แกรมมาร์ ลีลา/ที่มา/วัฒนธรรมของภาษา การตีความ/การเดาศัพท์เรื่องที่อ่าน ฯลฯ เนื้อหาในหนังสือพวกนี้ เหมือนกับเก็บกฎเกณฑ์และข้อสังเกตไว้จนเกลี้ยง ถ้าจำได้ก็จะช่วยให้เรามีจุดให้จับสังเกตได้ง่ายขึ้นเมื่อเราอ่านหรือฟังภาษาอังกฤษ

              แต่เราอย่าได้เข้าใจผิดว่า ตำราพวกนี้จะสร้างปาฏิหาริย์ช่วยให้เราเป็นผู้ชำนาญเมื่ออ่านจบเล่ม เพราะความชำนาญที่แท้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราอ่านบ่อย ๆ – ฟังบ่อย ๆ จนจับลีลาของภาษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ภาษาอังกฤษขัดกับภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ของเรา

              ท่านลองดู 4 ข้อความข้างล่างนี้ ผมนำมาจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post

ข้อความที่ 1

Police were investigating the motive for the tragedy. 

ถ้าเขาเขียนว่า  … the motive of …  จะผิดไหม?
ข้อความที่ 2

Mr Kittanesh said he and his daughter were travelling to Singapore in the hope the Singapore High Court judges will be sympathetic to their appeal. The court will read its ruling at 2pm.

ถ้าเขาเขียนว่า  … will be sympathetic for …  จะผิดไหม?

ข้อความที่ 3

Siriraj Hospital set off shockwaves of hope and scepticism Monday with its terse announcement that researchers there had developed a breakthrough treatment for the Ebola virus.

ถ้าเขาเขียนว่า  … a breakthrough treatment of the Ebola virus.…  จะผิดไหม?

ข้อความที่ 4

According to the World Wide Fund for Nature, most ivory smuggled into Vietnam is destined for China but some is sold locally for $770-$1,200 per kilogramme.

ถ้าเขาเขียนว่า  …  is destined to China.…  จะผิดไหม?

คำตอบของทั้ง 4 ข้อก็คือ ผิดครับ, ผิดหลัก collocation

              ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า นี่ต้องระวังจนตัวเกร็ง ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเขียน  เพราะมันจะผิด อย่างนั้นหรือ?

              มิได้ครับ มิได้หมายความอย่างนั้น ผมเพียงแต่จะบอกว่า ตอนที่เราอ่านหรือฟังภาษาอังกฤษ นอกจากการ “รู้เรื่อง” แล้ว มันย่อมไม่เป็นการเสียหายอะไรเลย ถ้าเราจะเปิดหูเปิดตาให้กว้าง ๆ เรียนรู้โดยสังเกตลีลาของภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่างกัน เช่น verb + preposition, collocation, การเลือกใช้ tense ในข้อความที่ต่างกันไป เป็นต้น การสังเกตเช่นนี้มิใช่ช่วยเพิ่มพูนเพียงทักษะของภาษา แต่ยังเป็นการออกกำลังสมองของเราให้แข็งแรงและแก่ช้าอีกด้วย

              ที่พูดมาข้างต้นนี้เป็นเรื่องของการสังเกตชนิดที่มีหลักเกณฑ์ให้จับ หรือมีตำราให้อ่าน แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเองก็บอกไม่ถูกว่า เราควรจะสังเกตยังไง  แต่ถึงยังไงเราก็ควรสังเกตเพราะมันมีประโยชน์มาก

              คือว่า อย่างที่ผมเคยพูดบ่อย ๆ ว่า การอ่านภาษาอังกฤษมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่าน story เพราะ story มีทั้งบทสนทนาและบทเล่าเรื่อง  และการพูดจาในชีวิตประจำวันเราก็พูดอยู่แค่ 2 อย่างนี้เท่านั้นแหละครับ คือ (1)พูดสนทนาโต้ตอบกันด้วยประโยคสั้น ๆ และ (2)พูดเล่าเรื่อง เราเป็นคนเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างนี้ต้องพูดยาวหน่อย

              การอ่าน story บ่อย ๆ จะช่วยเพิ่มพูนทักษะในการสนทนาโต้ตอบและเล่าเรื่อง  และในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงการเล่าอย่างถูกต้องแกรมมาร์  แต่หมายถึงการพูดเล่าเรื่องที่ ชัด, สั้น, สวย

              ชัด คือ เล่าเรื่องได้อย่างชัดเจน ไม่ทำให้คนฟังเข้าใจผิด ถ้าเล่าว่าเราเห็นวัวอยู่ในทุ่งตอนอาทิตย์อุทัย ก็อย่าพูดคลุมเครือจนทำให้คนฟังเข้าใจผิดว่าเราเห็นควายอยู่ในทุ่งตอนอาทิตย์อัศดง

              สั้น คือ กระชับ เรื่องบางเรื่องที่แม้ซับซ้อน หากสามารถเล่าจบได้ภายใน 5 นาที  ก็ไม่ควรใช้เวลาเล่าถึงครึ่งวัน

              สวย คือ สวยงาม เล่าเรื่องให้คนฟังรู้สึกอยากฟัง ไม่ใช่ต้องทนฟัง

              ท่านผู้อ่านอาจจะบอกว่า ถ้าขืนให้พูดภาษาอังกฤษตามสเป๊กนี้ใครจะไปทำได้  อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย พูดเป็นไทยยังยาก

              ท่านผู้อ่านครับ ขอให้เชื่อเถอะครับว่าทุกอย่างพัฒนาได้ถ้าเราฝึกไม่หยุด ในเว็บนี้ผมได้รวบรวมหนังสือ story “หนังสืออ่านนอกเวลา” กว่า 150 เล่ม level 1 – 6 ให้ท่านดาวน์โหลดไปฝึกอ่าน  หนังสือพวกนี้ต้นฉบับเป็นหนังสือ classic หรือนิยายสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียง ผู้ที่นำมาเรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่ายนี้ล้วนแต่มีฝีมือชั้นครู  เมื่อเราอ่านก็จะได้ซึมซับ style การใช้ภาษาในการเล่าเรื่องและสนทนาที่ ชัดเจน กระชับ และสวยงาม ความสามารถเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่มันจะค่อย ๆ เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราอ่านอย่างสม่ำเสมอ, อ่านอย่างสังเกต, และอ่านอย่างมีสมาธิ

              ท่านอาจจะบอกว่า พูดมาตั้งนานก็ยังไม่ได้บอกว่าให้สังเกตยังไง นี่แหละครับที่ผมบอกว่าพูดยาก แต่ผมขอบอกว่า ถ้าท่านตั้งใจท่านย่อมสังเกตได้แน่ ๆ และสามารถนำทักษะและการสังเกตนั้นมาพัฒนาการพูดภาษาอังกฤษของท่านได้อย่างไม่ต้องสงสัย

              เอาอย่างนี้ดีกว่าครับ ผมขอยก chapter 1 ของหนังสืออ่านนอกเวลามาให้ท่านลองอ่าน level ละ 1 เรื่อง  ขอให้ท่านค่อย ๆ ละเลียดอ่านไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบร้อน, ท่านจะเลือกอ่าน level ใดก็ตามอัธยาศัย

              ถ้าเรื่องที่ผมเลือกมาให้ท่านลองอ่านนี้ยังไม่ถูกใจ ท่านเข้าไปเลือกเองแล้วกันครับ ที่ลิงก์นี้

              ผมไม่สามารถเขียนให้ทุกอย่างกระจ่างได้ในบทความสั้น ๆ นี้ แต่เมื่อผมบอกว่า เราสามารถพัฒนาทักษะในการพูด ด้วยการอ่านอย่างสังเกตและสม่ำเสมอ ผมยืนยันเช่นนี้จริง ๆ ครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com