ขอเสนอให้ตั้งหน่วยงานรวบรวมข้อมูลการเรียน-การสอนภาษาอังกฤษผ่านเน็ต

eeenet

สวัสดีครับ

               สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ผมคิดไว้นานแล้ว  แต่ก็ยังคิดไม่สะเด็ดน้ำ อยากจะพูดให้คนอื่นฟังแต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะพูดกับใคร คิดไปคิดมา ขืนรอให้คิดตกและได้คนพูดที่เหมาะใจ ก็คงไม่ได้พูดสักที ก็เลยตัดสินใจว่า ขอพูดที่นี่วันนี้แหละ แม้ว่าจะไม่เกิดผลอะไร และทำได้แค่เป็นการคุยกับท่านผู้อ่านเฉย ๆ ก็ดีกว่าเก็บไว้เฉย ๆ

               คือทุกวันนี้ สำหรับคนไทยที่ต้องการหาสื่อสำหรับใช้เรียนหรือสอนภาษาอังกฤษ  ก็ทำได้ง่าย ๆ ไม่ว่าเรื่องอะไร เพียงเข้าไปที่ www.google.com พิมพ์คำค้นลงไป, Google ก็จะไป Search ข้อมูลที่ต้องการจากทุกมุมโลกมาให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นข้อมูลจากประเทศที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ สหราชอาณาจักร   และต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ประสิทธิภาพของ Google ในการ Search พัฒนามากขึ้นเยอะทีเดียว   หาอะไรก็เจอ  บางทีเจอดีกว่าสิ่งที่เราจ้องไว้อีก

               แต่ปัญหาพื้นฐานของคนไทยในการใช้สื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีให้ใช้ฟรีในเน็ตก็คือ ทักษะการอ่านและการฟังภาษาอังกฤษของคนไทยยังไม่สูงพอ จึงมีคนไทยจำนวนไม่มากที่มาสารถนำสื่อภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในเน็ตมาใช้ฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองได้   และด้วยทักษะการฟังและการอ่านที่อ่อนนี้ ก็ทำให้ทักษะในการ Search อ่อนไปด้วย สรุปก็คือ ทรัพยากรมากมายในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในเน็ต คนไทยไปหยิบมาใช้เพียงได้นิดเดียว

               ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มีเว็บไซต์ภาษาไทยมากมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าไปเรียนกับเว็บภาษาอังกฤษได้โดยตรง สิ่งหนึ่งที่เว็บไซต์เหล่านี้ทำก็คือการอธิบายและแปลข้อความจากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยย่อยเรียนได้ง่าย ๆ

               เท่าที่เห็น เว็บไทยที่ว่านี้มีจำนวนมากและหลากหลายจริง ๆ ผมขอยกตัวอย่างให้ท่านเห็นพอสังเขป ดังนี้

               1.หน่วยงานหรือบุคคลที่จัดทำเว็บ  เช่น

  • เว็บของบริษัทหรือหน่วยงานเอกชน  ที่มีเนื้อหาฟรีให้คนทั่วไปเข้าไปเรียน และขณะเดียวกัน ก็มีสินค้าขาย เช่น คอร์สฝึกอบรม, หนังสือ, ebook, CD/DVD, เรียนออนไลน์ ฯลฯ เนื้อหาฟรีที่ให้จึงคล้าย ๆ เป็นสินค้าตัวอย่าง  ซึ่งตัวอย่างจากหลายเว็บก็ดีและมากอย่างน่าขอบคุณ
  • เว็บของหน่วยงานราชการซึ่งทำเนื้อหาสอนภาษาอังกฤษเพื่ออบรมกลุ่มเป้าหมายจำเพาะของหน่วยงานนั้น  หรือมีเนื้อหาที่สมาชิกขององค์กรทำเวียนเผยแพร่ในแวดวงของตัวเอง  หรือเนื้อหาบางส่วนก็ผลิตเพื่อบริการสาธารณชน
  • เอกชนหลายคนทำเว็บ, บล็อก, social media เพื่อเผยแพร่ความรู้การเรียนภาษาอังกฤษ  โดยอาจจะมีรายได้เกิดขึ้นบ้างจากโฆษณาที่นำมาติดไว้

               2.ลักษณะของเนื้อหาภาษาอังกฤษ  มีหลากหลายมาก  เช่น

  • การฝึกสนทนา: น่าจะเป็นเนื้อหาหลักที่หลายเว็บเน้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้เวลาเข้ายุคเออีซี ซึ่งทุกคนเห็นว่าการพูดสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญกว่าทักษะอื่น
  • การเน้นทฤษฎี  แกรมมาร์ การทำข้อสอบของนักเรียนนักศึกษา หรือการเตรียมตัวไปสอบวัดระดับต่าง ๆ เช่น TOEIC, TOEFL หรือสอบภาษาอังกฤษเข้าเรียนปริญญาโท
  • การเน้นเรื่องการอ่าน หรือคำศัพท์
  • การเน้นทุกทักษะ  ทุกเรื่อง ซึ่งการจะทำได้ดีต้องเป็นเว็บที่ค่อนข้างใหญ่

               3.การนำเสนอเนื้อหา  มีหลากหมายเช่นกัน เช่น

  • เน้นการอ่าน  ทั้งการอ่าน online และดาวน์โหลดไปอ่าน offline
  • เน้นการชม ซึ่งมักจะเป็นการนำคลิปขึ้นมาและนำไปฝากไว้กับเว็บ YouTube

               4.ความง่าย-ยาก ของเนื้อหา

               เท่าที่สังเกตดู เว็บไทยที่สอนภาษาอังกฤษจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างง่าย  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผู้เรียนที่เก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้วและต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในระดับสูง ก็สามารถศึกษาผ่านเว็บภาษาอังกฤษโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเว็บภาษาไทย

               5.สไตล์การสอน

               การสอนผ่านเว็บมีลักษณะหนึ่งต่างจากตำราอย่างเห็นได้ชัด คือ ภาษาที่ใช้มีชีวิตชีวาและมีความเป็นกันเอง  การใช้นิ้วคลิกหน้าเว็บจึงให้อารมณ์ที่ต่างจากการใช้มือคลิกหน้าหนังสือ  เพราะฉะนั้น  การเรียนผ่านเว็บ  แม้จะไม่มีครูที่ใกล้ชิดจับต้องได้ แต่ก็อาจจะให้ความรู้สึกใกล้ชิดอีกแบบหนึ่ง เป็บความใกล้ชิดแบบห่างไกล

               6.เครื่องมือการรับ-ส่งสื่อการเรียนการสอน

               มีหลายรูปแบบ ทั้ง Desktop, notebook, tablet, smartphone, application, และผ่าน TV/cableTV  เนื้อหาบางอย่างเมื่อผลิตออกมาแล้ว สามารถรับได้โดยหลายเครื่องมือ และบางอย่างก็รับได้เพียงบางเครื่องมือ

               7.กลุ่มผู้เรียน และ กลุ่มผู้สอน

  • เป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนลงไปว่า มีกลุ่มใดบ้างที่ใช้เน็ตเพื่อการเรียนภาษาอังกฤษ   เราอาจจะนึกถึงนักเรียนนักศึกษาที่ต้องสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษเพื่อให้เรียนจบ แต่ก็ยังมีคนทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่นอกจากการพูดแล้ว  ยังต้องเขียนและอ่านอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่าง “ห้ามผิด”  นอกจากนี้ยังมีบุคคลในอาชีพต่าง ๆ เช่นผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวหรือการค้าขายกับคนต่างชาติ   หรือคนที่ต้องหาความรู้แปลก ๆ จากเน็ตเพื่อนำมาผลิตสินค้าใหม่ ๆ และเปิดร้านออนไลน์ขายสินค้านั้น ๆ เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากน้อยต่างกันไปในบุคคลที่ต่างกัน บางคนถ้าไม่รู้คือตาย ตกงาน ไร้อาชีพ แต่บางคนก็เพียงแค่รู้ไว้เพื่อไปช็อปปิ้งตอนไปเที่ยวเมืองนอก
  • สำหรับกลุ่มผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมและมัธยมทั่วประเทศ คงจะพูดเป็นกลาง ๆ ได้ว่า ในขณะที่ท่านเหล่านี้ก็ใช้เนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตเพื่อนำไปสอนลูกศิษย์ น่าจะมีวิธีการที่ช่วยพัฒนาศักยภาพ ทั้งในการสืบค้น เนื้อหา และเทคนิค ของคุณครูเหล่านี้อย่างจริงจัง

eeenet

               จากที่พูดพอเป็นตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นภาพว่า ทุกวันนี้ “เนื้อหา” ที่เป็นภาษาไทยซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  ที่มีอยู่ในเน็ตนั้น มันมีอยู่มากมาย  และเกิดขึ้นทุกวัน  แต่คำถามที่น่าหาคำตอบก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถรวบรวมเนื้อหาเหล่านี้ให้เป็นระบบระเบียบ เป็นกลุ่มก้อน อย่างครบถ้วน และนำไว้ในที่เดียวกัน  เพื่อให้คนเข้าไปหา Search ได้ง่าย ๆ เพราะงานนี้เกินความสามารถที่ Google Search จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               ผมจึงมีความคิดที่พูดแล้วตั้งแต่ต้นว่า น่าจะมีหนึ่งหน่วยงานเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้ คือ

  • กำหนดกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็น หรือจะได้รับประโยชน์จากการเรียนภาษาอังกฤษผ่านเนื้อหาภาษาไทย (ต้องขอเน้นอีกครั้งว่า นี่เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือคนที่ยังต้องพึ่งภาษาไทยในการเรียนภาษาอังกฤษ  สำหรับคนที่ทักษะสูงเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งสิ่งนี้) นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคิดให้ชัด  ยิ่งชัดมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยเหลือเขาได้มากเท่านั้น เพราะมันทำให้เรารู้ว่า  เขาต้องการเนื้อหาอะไรในการเรียนภาษาอังกฤษ
  • กำหนดเนื้อหาให้ครบถ้วน  สำหรับกลุ่มบุคคลที่เรากำหนดไว้แล้ว
  • กำหนดลักษณะความยากง่ายของเนื้อหา ให้บุคคลเริ่มเรียนได้อย่างเหมาะสม  ตามระดับทักษะที่เขามีอยู่
  • กำหนดเครื่องมือการเรียนออนไลน์ให้ครบทุกประเภท  ตามที่กล่าวข้างต้น คือ Desktop, notebook, tablet, smartphone, application, และผ่าน TV/cable TV
  • กำหนดการทดสอบที่คนสามารถ test ตัวเองได้ ทั้งก่อนเรียน, ระหว่างเรียน  หรือ เมื่อเรียนจบ ในเรื่องหนึ่ง ๆ
  • เป็นต้น

eeenet

               งานทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่ต้องการคนเยอะ, ไม่ต้องการสำนักงานใหญ่ และที่ต้องย้ำก็คือ ไม่ใช่การจัดทำข้อมูลหรือสื่อการสอนขึ้นมาใหม่ เพราะสิ่งพวกนี้ที่กระจัดกระจายอยู่ในเน็ต หรือที่ซุกซ่อนอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของทางราชการ (แต่ทำแล้วไม่ได้ใช้หรือไม่ได้เผยแพร่) ก็มีอยู่มากมาย และที่เกิดขึ้นทุกวันก็มีมากมาย คำถามก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใส่ในหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบ  ให้คนเข้าไป search ได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการ Search โดยระบุเนื้อหา, วัตถุประสงค์, กลุ่มผู้ใช้, ความยากง่าย, เครื่องมือการใช้ หรืออะไรก็ตาม

               ที่พูดตามข้างบนนี้พูดง่าย แต่ตอนทำอาจจะไม่ง่ายเหมือนพูด เพราะตอนที่หน่วยงานหรือบุคคลผลิตเนื้อหานั้น เขาก็ทำตามความคิดของเขาซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบใด ๆ ทั้งสิ้น และการทำลิงก์ดึงเนื้อหาที่เขาทำให้ไปเข้าประเภทหรือหมวดหมู่นั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่มันก็พอทำได้

               อีกเรื่องหนึ่งคือการประเมินคุณภาพของเนื้อหา สำหรับคนที่เป็น perfectionist อาจจะทนไม่ได้ถ้าเจออะไรที่ผิดแม้เพียงนิด ๆ หน่อย ๆ หรือคนที่ติดสไตล์ตำรา ถ้าคำอธิบายมีลักษณะพูดเล่นใช้ภาษานอกตำราเกินไปนิด อาจจะทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเนื้อหาดี ๆ มากมายก็จะไม่ “ผ่านเข้ารอบ”   ในความเห็นของผม เราน่าจะมีผู้รู้ช่วยอ่านเนื้อหา  ถ้ามันผิดก็ช่วยตรวจแก้  แต่อย่าถึงกับว่าทุกลิงก์ต้อง perfect 100 %

eeenet

               หน่วยงานที่ว่านี้เมื่อเกิดขึ้นมา หน้าที่ของมันก็คือเว็บไซต์ 1 เว็บที่จัดหมวดหมู่เนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไว้ด้วยกัน เมื่อมีการกำหนดกรอบเบื้องต้นอย่างที่ผมชี้แจงคร่าว ๆ ข้างบน ขั้นตอนต่อไปก็คือการดึงเนื้อหาฟรี ๆ มาเข้าหมวดหมู่ โดยมีการกลั่นกรองเนื้อหาด้วย  และมีการประสานงานแจ้งสังคมและเว็บไซต์อื่น ๆ ในประเทศไทยที่สอนภาษาอังกฤษให้ทราบว่า เว็บไซต์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วเพื่อรับใช้คนไทยทั้งประเทศโดยขอรับความร่วมมือด้านเนื้อหาจากทุกคนที่หวังประโยชน์ให้ส่วนรวม

               เว็บไซต์นี้จะมีคนทำงานเพียงไม่กี่คน คือ ผู้รู้ด้านภาษาอังกฤษที่หูตาและใจกว้าง 1 คนทำหน้าที่เป็น webmaster, คนที่มีความรู้เรื่อง IT 1 คน, เจ้าหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ 1 คน, และคนออกเงิน 1 คน ซึ่งจะเป็นหน่วยราชการหรือภาคเอกชนก็ได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

               บางคนอาจจะคิดว่างานนี้เรื่องเงินสำคัญที่สุด แต่ผมกลับคิดว่าเรื่องใจสำคัญที่สุด ถ้าท่านมีใจที่จะทำเพื่อประชาชน ไม่ว่าท่านจะเป็นคนออกเงิน, ช่าง IT หรือผู้รู้ภาษาอังกฤษ ท่านสามารถทำงานช้างชิ้นนี้ให้รับใช้คนทั้งประเทศได้

พิพัฒน์