“นิราศท่าพระจันทร์ถึงท่าเตียน” - ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับงานบริการ
สวัสดีครับ
วันนี้ผมมีธุระไปซื้อยาไทยที่ร้านยาติดวัดโพธิ์ นาน ๆ จะได้กลับไปถิ่นเก่าสักที ก็เลยถือโอกาสไล่เดินตั้งแต่สนามหลวง ริมกำแพงวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ท่าเตียน ไปจนถึงร้านยา ระหว่างทางก็ได้เห็นคนไทยที่ประกอบอาชีพกับนักท่องเที่ยว คือไกด์ แต่เมื่อดูไกด์พูดภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ กับนักท่องเที่ยวได้อย่างคล่องแคล่าว ผมไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่
แต่ที่รู้สึกทึ่งก็คือ การได้เห็นคนขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวและอีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนขับรถตุ๊ก รถมอเตอร์ไซค์ และเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาที่คอยให้บริการนักท่องเที่ยว ที่บอกว่าทึ่งก็เพราะว่า หลายคนทีเดียวที่พูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ภาษาจีนนั้นผมฟังไม่ออก แต่ภาษาอังกฤษเมื่อยืนฟังอยู่ห่าง ๆ ได้ยินแล้วก็ต้องบอกว่า พี่เก่งจริง ๆ
อย่างเช่น พี่ผู้ชายขับรถตุ๊กคนหนึ่ง เขาจะรับนักท่องเที่ยว 3 คนไปส่งอีกที่หนึ่ง วิธีบอกราคาของเขาคือ ยกฝ่ามือขึ้นมาและผายไปที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นทีละคน พร้อมกับพูดว่า เท็น – เท็น – เท็น – เทอตี้ พูดจบนักท่องเที่ยวจีน 3 คนนั่นก็พยักหน้า ขึ้นรถทันที โอ้โฮ! เป็นการสื่อสารที่กระชับ ชัดเจน และก็สุภาพด้วย มันถูกต้องตามหลักเกณฑ์การสื่อสารที่ผมเรียนมาจากคณะวารสารศาตร์ ธรรมศาสตร์เด๊ะ ๆ เลย
ตามเส้นทางที่เดินผ่านไป ผมเห็นคนไทย 4 กลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยว ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 คือไกด์
- กลุ่มที่ 2 คือ คนเร่ขายของที่ระลึก
- กลุ่มที่ 3 คือ คนคนขับรถตุ๊ก ๆ และรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
- และคนกลุ่มที่ 4 ซึ่งผมรู้สึกว่าในการทำงาน มันน่าจะมีวิธีที่ช่วยทำให้เขาได้พูดภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยวบ้าง ไม่มากก็น้อย
กลุ่มนี้ก็คือคนขายพระเครื่อง ทั้งที่วางขายบนแผงตั้งโต๊ะพับได้ และที่วางขายบนผ้าพลาสติกปูบนพื้น เท่าที่เดินดูตลอดทางตั้งแต่ท่าพระจันทร์ไปจนถึงท่าเตียน กลุ่มสุดท้ายนี้ลูกค้ามีแต่คนไทย
แต่เท่าที่ผมเคยได้อ่านข่าว ตามห้างในฮ่องกงหรือไทเป และก็น่าจะมีที่อื่นอีก เขามีแผงเช่าพระบนห้าง โดยเฉพาะหลวงปู่ทวด และหลวงพ่อโตวัดระฆังเป็นที่นิยมสองอันดับแรก นอกจากนี้หลายเว็บไซต์ในเมืองไทยที่เปิดเป็นแผงเช่าพระภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าถ้ามีการจัดการอะไรสักอย่าง ให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนได้หยุดและหันมามองที่แผงเช่าพระตามรายทางท่าน้ำฝั่งเจ้าพระยาที่ว่านี้ บางทีพี่น้องเราที่ประกอบอาชีพนี้แถว ๆ นั้นอาจจะมีตังค์ใช้มากขึ้นเพราะได้ลูกค้าต่างชาติ
ท่านอาจะถามว่า แล้วจะคุยกันรู้เรื่องหรือ? เอ! ผมชักจะเปลี่ยนความคิดสักเล็กน้อยซะแล้วครับ คือ หลังจากที่ผมเห็นพี่คนที่ขับรถตุ๊กพูดประกอบท่ามือว่า เท็น – เท็น – เท็น – เทอตี้ ผมได้ข้อสรุปทันทีเลยว่า ถ้ามีใจพร้อมและมีความกล้าที่จะสื่อสาร การพูดภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยากเลย ไม่ใช่เรื่องยากจริง ๆ
มีอยู่คราวหนึ่งก่อนหน้านี้ ผมไปเที่ยวตลาดน้ำที่อำเภอดำเนินสะดวก ราชบุรี ผมเห็นแม่ค้าขายผลไม้ร้านหนึ่งนำผลไม้ที่ปอกแล้วหลาย ๆ ชนิดหั่นเป็นชิ้น ๆ เรียงใส่โฟม และขายราคา 50 บาท ผมก็พูดกับคนขายว่า เออ! ทำอย่างนี้ดีนะ อย่างฝรั่งที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับผลไม้อร่อย ๆ ของไทย เสียเงินแค่ 50 บาท ก็ได้ชิมทุกอย่าง ถ้าติดใจก็จะได้ซื้อใส่ถุงไปกินเป็นกิโล แม่ค้าตอบผมว่า ไม่รู้จะพูดยังไงกับฝรั่ง แล้วก็ไม่รู้จะติดป้ายยังไงด้วย วันนี้ผมได้ยิน เท็น – เท็น – เท็น – เทอตี้ ผมก็คิดถึงแม่ค้าขายผลไม้ที่คลองดำเนินสะดวกคนนั้นทันที
พอกลับมาถึงบ้าน ผมกลับมานึกทบทวนเรื่องนี้อีกที คือ เราทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นรายได้ก้อนใหญ่ทีเดียวสำหรับคนไทยหลายอาชีพ และต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม อาชีพที่ทำเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวนี้ ตามศัพท์เป็นงานเป็นการคือคำว่า Hospitality industry คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานบริการ หรืออุตสาหกรรมสถานบริการ ซึ่งก็คืองานหลายตำแหน่งในโรงแรม ร้านอาหาร พาหนะสาธารณะ ร้านขายของที่ระลึก การนำเที่ยว รวมทั้งสถานบริการอื่น ๆ เช่น นวดแผนไทย เป็นต้น
และแม้ว่าเจ้าของสถานประกอบการเหล่านี้ เขาจะมีการอบรมพนักงานให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เพียงพอต่อการใช้งาน หรือคนที่จะเข้าสมัครงานก็ต้องฟิตภาษาอังกฤษให้รู้พอตัวเพื่อให้นายจ้างยินดีรับเข้าทำงาน แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ผมก็ยังรู้สึกว่า เรื่องฟิตภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารให้ได้นี้ ยังมีอะไรอีกเยอะที่เราต้องเริ่มทำหรือปรับปรุง
ผมกลัวว่าเมื่อเริ่มเออีซีอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 งานหลายอย่างที่คนไทยควรได้ทำในเมืองไทยอาจหลุดมือ เพราะทั้งนายจ้างไทยและนายจ้างต่างชาติที่มาเปิดธุรกิจทำมาหากินในเมืองไทย จะหันไปจ้างคนอาเซียนชาติอื่นที่แห่มาหากินในเมืองไทยตามที่กฎหมายเปิดช่อง โอ! คิดแล้วเป็นห่วงครับ
วันก่อนผมไปที่เคาน์เตอร์โทรศัพท์มือถือในห้างแห่งหนึ่ง อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าในห้าง หรือธนาคาร หรือโรงพยาบาล หรือ outlet จะต้องมีโต๊ะตัวหนึ่งพร้อมคนนั่งที่มีหน้าที่ต้อนรับลูกค้าต่างชาติเป็นการเฉพาะ เมื่อถึงวันนั้น ไอ้คนที่บริษัทจ้างให้นั่งทำงานที่โต๊ะตัวนี้มันจะเป็นคนไทย หรือคนฟิลิปปินส์นะ หรือดีไม่ดีอาจจะเป็นคนพม่า หรือคนลาวด้วยซ้ำ
ย้อนกลับมาเรื่องงานในแวดวง Hospitality industry คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานบริการ ที่ดูเหมือนว่าคนทำงานหรือประกอบอาชีพนี้ต้องพูดภาษาอังกฤษคล่องซะหน่อย ผมได้รวบรวมเว็บไซต์ที่ผมเห็นว่าเข้าท่ามาได้ 2 – 3 เว็บข้างล่างนี้ ผมหวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ทำงาน หรือครูบาอาจารย์ที่สอนเรื่องเหล่านี้ ท่านเข้าไปคลิกดูรายละเอียดเอาเองแล้วกันนะครับ
เว็บที่ 1
http://www.englishformyjob.com/
Food & Beverage …Hotel Industry… Travel/Tourism… Politeness Training
เว็บที่ 2
https://www.englishclub.com/english-for-work/index.htm
Housekeepers …Hotel Staff …Food and Drink Staff … Tour Guides … Taxi Drivers
เว็บที่ 3
http://www.real-english.com/reo/index.asp
แถม ebook 1 เล่ม
http://www.teflebooks.com/HOTEL-English.pdf
ขอจบดื้อ ๆ บรรทัดนี้แล้วกันครับ
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th
♥ วิธีติดตั้ง add-on → "แปล ศัพท์ ทุกคำ-ทุกเว็บ-ทันที " โดยไม่ต้องเข้าเว็บ ดิก ♥