Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ตั้งเป้าหมายในการอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่าน นสพ.ภาษาไทย

 Bangkok Post blue

 สวัสดีครับ

          คงจะดีไม่น้อยเลยถ้าเราสามารถอ่าน Bangkok Post   นสพ.ภาษาอังกฤษชื่อดังที่สุดที่ตีพิมพ์ในเมืองไทย ได้รู้เรื่องเหมือนอ่าน นสพ.ภาษาไทย ต่อไปนี้เป็นประโยชน์เพียงบางข้อจากการอ่าน Bangkok Post ที่ขอยกเป็นตัวอย่าง

[1] การอ่าน Bangkok Post จะทำให้เราได้ติดตามข่าวและความเห็นจาก นสพ. ฉบับนี้ที่มีผู้อ่านมาก ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ  โดยไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย, ชอบหรือไม่ชอบเนื้อข่าวและความเห็นก็ตาม แต่ข่าวในประเทศและข่าวต่างประเทศที่ Search จากเว็บ  Bangkok Post ก็เป็นเนื้อหาที่ท่านหยิบมาอ่านได้ง่าย ๆ เมื่อจะหาอะไรไว้คุยกับแขกต่างชาติที่มาจากประเทศนั้น ๆ   หรือจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องในเมืองไทยก็ได้ เพราะ Bangkok Post ก็เป็น นสพ.ที่ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยอ่านเมื่อต้องการรู้เรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย

[2] ภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เป็นภาษามาตรฐาน  ใช้ในการศึกษาได้  และขอบอกว่า  ถ้าท่านฝึกอ่านจนคุ้นเคยเข้าใจในศัพท์และสำนวนข่าวใน นสพ.ฉบับนี้ ท่านจะไปอ่านภาษาอังกฤษที่ไหนก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก พูดง่าย ๆ ก็คือ ท่านสามารถใช้ความยากของเนื้อหา นสพ.Bangkok Post เป็นตัวชี้วัดระดับของ  reading skill ที่เพียงพอต่อการใช้งาน

          ก่อนที่จะแนะนำวิธีฝึกอ่าน นสพ. Bangkok Post  ให้รู้เรื่องเหมือนอ่าน นสพ.ภาษาไทย  ผมขออนุญาตเล่าประสบการณ์ส่วนตัวสักนิดนะครับ  เป็นประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับการฝึกอ่าน นสพ.ฉบับนี้ ซึ่งเมื่อมองย้อนหลังแล้วก็เป็นว่า วิธีที่ผมใช้ฝึกมันยากเกินไป และสมัยนี้ก็มีวิธีฝึกที่ง่ายกว่าเยอะ

          เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ตอนผมเข้าเรียนปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ เอกหนังสือพิมพ์ ผมบอกตัวเองว่าก่อนขึ้นปี 2 จะต้องอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐให้ได้  ฉะนั้นแทบทุกวัน เมื่อกลับถึงที่พักผมจะนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ เอาเชือกผูกเอวตัวเองไว้กับพนักเก้าอี้ และอ่านให้จบอย่างน้อย 1 หน้าก่อนลุกไปไหน ถ้าจะลุกก่อนจบก็ต้องเอาเก้าอี้ไปด้วย เนื้อหาใน 1 หน้าที่อ่านนี้ บางข่าวก็รู้เรื่องมาก บางข่าวก็รู้เรื่องน้อย บางข่าวก็ไม่รู้เรื่องเลย  แต่ก็ทนอ่านเพราะสัญญากับตัวเองไว้แล้ว

          ผมทำอย่างนี้จนเรียนจบปี 1 ผลปรากฏว่าก็ยังไม่สามารถบันดาลให้ Bangkok Post กลายเป็นไทยรัฐไปได้  แต่ว่า....  แม้จะไม่รู้เรื่องทั้งหมด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับวันแรกที่เริ่มอ่าน ก็สามารถพูดได้ว่า มันรู้เรื่องมากขึ้นเยอะ นับว่าเป็นการลงทุนฝึกที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

          และหลังจากครบสัญญา 1 ปี ผมก็ยังอ่านต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนสามารถอ่าน Bangkok  Post ได้รู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่แม้ไม่รู้ศัพท์ทุกคำแต่ก็ไม่ต้องเปิดดิกเว้นแต่เจอคำที่จำเป็นจริง ๆ  การที่อ่าน Bangkok Post ได้เข้าใจทำให้เห็นว่า พอไปอ่านเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวอื่น ๆ เช่น BBC, CNN หรือบทความ, นิทาน, นิยาย ภาษาอังกฤษในที่อื่นมันก็ยากพอ ๆ กันนี่แหละ ไม่ได้ยากไปกว่านี้สักเท่าไหร่ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าอ่าน Bangkok Post เข้าใจ  ก็อ่านอย่างอื่นได้ทั้งนั้น

          และต่อไปนี้คือประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกในการฝึกอ่าน ในสมัยโน้นซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเหมือนสมัยนี้   ผมขอว่าไปทีละข้อตามที่นึกออก   ดังนี้ครับ

[1] เรื่องคำศัพท์ ขอพูดรวม ๆ ก่อนนะครับว่า แม้เราจะรู้สึกว่าต้องรู้ศัพท์เยอะถึงจะอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับรู้เรื่อง แต่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่กี่พันคำหรอกครับ ท่านดูหนังสือพิมพ์ไทย เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ ที่ท่านอ่านก็ได้ มันก็ศัพท์เดิม ๆ ทั้งนั้นที่เราอ่าน เพราะฉะนั้น  ถ้าเราตั้งใจสังเกตและจดจำแต่ละความหมายใหม่ที่เราเจอ พอเราเจออีกครั้ง มันก็ไอ้ความหมายเดิมศัพท์ตัวเดิมนั่นแหละ   ถ้าใส่ใจจำไปทีละคำสองคำ มันก็จะจำเพิ่มได้เองเรื่อย ๆ  มันไม่ได้มากเป็นภูเขาเลากาอย่างที่คิด  แต่ว่า (เป็นแต่ที่สำคัญ) ต้องขยันจำทีละคำ ๆ ไปเรื่อย ๆ  

[2] จะเป็นการดีมาก ๆ ถ้าเรามีสมุดจดศัพท์เล็ก ๆ ติดตัว ติดกระเป๋าไว้ และถ้าไม่มีเวลา หรือไม่มีอารมณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องจดแบบ complete ก็ได้   อาจจะจดเพียงคำศัพท์และคำแปลสั้น ๆ   แต่ถ้าช่วงไหนมีเวลาหรืออารมณ์อันวิจิตร จะจดแบบละเมียดละไมก็ทำได้ตามอัธยาศัย พูดง่าย ๆ ก็คือ  จดเรื่อย ๆ และพลิกขึ้นมาดูเรื่อย ๆ  โดยไม่ต้องหนักใจเพราะภาระในการจด  แต่ก็อย่าเพิกเฉยไม่นำพาหยิบขึ้นมาดู

[3] ต้องอ่านข่าวทุกวัน นี่ดูเหมือนเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก   เพราะบางทีเราก็มีเรื่องอะไรเยอะแยะให้ทำ  ชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องการฝึกอ่านข่าวอย่างเดียว   เรื่องนี้ ผมขอแนะนำเทคนิคการฝึกอย่างนี้ครับ ให้ท่านสัญญากับตัวเองว่า จะต้องให้เวลากับการอ่านข่าววันละอย่างน้อย 30 นาที  วิธีปฏิบัติจริงท่านจะทำอย่างนี้ก็ได้ คือ ท่านซื้อ นสพ.Bangkok Post มา 1 ฉบับ, ดึงหน้าคู่ที่ท่านคิดว่าจะฝึกอ่านออกมาสัก 2 คู่, และพับเล็ก ๆ ใส่กระเป๋าถือไว้, และระหว่างวันที่ทำงาน หรือตอนค่ำ หรือตอนกลางคืน ท่านอาจจะเจียดเวลาออกมาสัก 10 นาทีจากงานอื่น  สมมุติว่าได้สัก 3 ช่วง ๆ ละ 10 นาที ก็ครบ 30 นาที และในแต่ละ 10 นาทีนี้ ท่านก็หลบมุมปลีกวิเวก, ดึงหน้า Bangkok Post ออกมาคลี่อ่าน, ขอให้อ่านด้วยสมองที่มีสมาธิ 100 % เหมือนกับนั่งอยู่คนเดียวในโลก  และทุ่มความสนใจทั้งหมดให้กับสิ่งที่อ่าน, มันจะอ่านรู้เรื่องมาก – รู้เรื่องน้อย – หรือไม่รู้เรื่องเลย ก็ไม่เป็นไร  แต่ขอให้ตั้งใจอ่านสุด ๆ, พอหมดเวลาก็เลิก, และในเวลาอีก 10 นาทีต่อมาที่เจียดได้, ก็ทำอย่างเดิมต่อจากที่ค้างไว้, ทำอย่างนี้ให้ได้วันละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย, วันรุ่งขึ้นก็ทำต่อจากที่ค้างไว้

          ท่านไม่ต้องสนใจปริมาณของความเข้าใจที่ท่านได้รับจากการอ่าน, ขอเพียงปริมาณของสมาธิที่ท่านให้แก่การอ่านนั้นเต็มที่ก็ถือว่าใช้ได้, พอหมดเวลาก็ไม่ต้องสนใจ, พอเริ่มอ่านใหม่ก็ค่อยทุ่มใจให้ใหม่, Bangkok Post ฉบับเดียวที่เสียเงิน 30 บาทซื้อมานี้ ท่านอาจจะอ่านสัก 1 เดือนก็ได้ หรือท่านจะอ่านผ่านเน็ตก็ได้   แต่สิ่งที่ขอเน้นในข้อนี้ก็คือ (1)ต้องอ่านทุกวัน (2)ทุกวันต้องอ่านให้ได้อย่างน้อย 30 นาที (3)ทุกวินาทีที่อ่านต้องใช้สมาธิเต็ม 100 % ถ้าท่านฝึกได้อย่างนี้ ก็ถือว่าใช้ได้

[4] การจะอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่อง ต้องรู้ทั้งโครงสร้างประโยค(แกรมมาร์) และคำศัพท์ เกี่ยวกับโครงสร้างประโยคหรือแกรมมาร์นี้  ผมมี 2 เรื่องที่อยากจะแนะ คือ เรื่องการจับข้อความที่อ่านเป็นกลุ่ม ๆ และเรื่อง “ที่-ซึ่ง-อัน” ซึ่งผมเขียนแนะไว้ใน 2 บทความนี้

[5] ส่วนเรื่องศัพท์และสำนวนข่าว นั้น ขอเรียนว่า ทุกวันนี้ Bangkok Post มีหน้า Bangkok Post Learning ซึ่งช่วยให้การฝึกอ่านข่าวง่ายกว่าสมัยที่ผมฝึกเยอะทีเดียว แต่ท่านต้องเรียนผ่านเน็ต ดังนี้

Bangkok Post จะแบ่งข่าวจากง่ายไปยาก ออกเป็น 3 ระดับ คือ really easy news , easy news ,และ learning from news ขอให้ท่านเลือกอ่านระดับที่เหมาะสมกับท่าน (หรือง่ายที่สุด จะเริ่มอ่านที่ really easy news ก็ได้) โดยข่าวในแต่ละระดับนั้น จะมีความหมายและคำแปลศัพท์สำคัญ (เป็นตัวดำ)ให้ไว้ และมีเสียง mp3 ให้คลิกฟังด้วย

ผมขอแนะนำว่า แม้คำศัพท์สำคัญในข่าว จะมีความหมายภาษาอังกฤษและคำแปลภาษาไทยให้ไว้ ก็ขอให้ท่านอ่านเพื่อทำความเข้าใจ, เดาความหมาย และตีความด้วยตัวเอง ก่อนที่จะนำเมาส์วางบนคำศัพท์เพื่อดูคำแปล  การอาศัยตัวช่วยก่อนที่จะช่วยตัวเอง จะทำให้ท่านพลาดโอกาสในการฝึกเดาและตีความ ซึ่งเป็นทักษะที่ท่านจำเป็นต้องสร้างให้มีติดตัว

[6] ผมขอพูดเรื่องการใช้ดิกสัก 2 ข้อนะครับ

ข้อที่ 1 – ก่อนเปิดดิก ควรพยายามเดาความหมายของคำนั้นเสียก่อน โดยในการเดามี 2 step คือ  step 1) มองให้ออกว่า คำศัพท์ที่เรากำลังสงสัยนี้ เป็น noun, verb, adjective, adverb หรือเป็นคำอะไรกันแน่ คำบางคำเป็นได้หลายอย่าง เช่น light เป็นได้ทั้ง noun, verb, adjective, และ  adverb และ step 2) เมื่อดูถ้อยคำแวดล้อมแล้ว ก็ให้พยายามเดาว่า มันแปลว่าอะไร เพราะมันอาจจะแปลได้หลายอย่าง  และแม้ว่าจะเลือกความหมายหรือคำแปลที่ถูกต้องได้แล้ว ก็ยังต้องตีความให้เข้ากับเนื้อหาที่อ่านอีกด้วย

ข้อที่ 2 – ภาษาอังกฤษนั้นมีการสร้างคำใหม่และความหมายใหม่ตลอดเวลา และปัญหาที่พบบ่อยก็คือ ดิก อังกฤษ – ไทย นั้น มีคำและความหมายไม่เพียงพอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศัพท์และความหมายใหม่ในข่าวนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก และในเรื่องนี้ ดิก อังกฤษ – อังกฤษ เช่น ของ Oxford  หรือ  Cambridge  ดีกว่าดิกไทยเยอะ การพึ่งแต่ดิกไทยอาจเพี้ยนได้โดยไม่รู้ตัว

          มีรายงานข่าวที่ชวนให้รู้สึกหดหู่ว่า คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ แม้แต่ภาษาไทยก็ไม่อ่าน การที่ผมชวนให้คนไทยฝึกอ่านภาษาอังกฤษ ซึ่งอ่านยากกว่าภาษาไทย ผมไม่รู้เลยว่า จะมีสักกี่คนที่รับคำชวน  แต่ใครจะพูดยังไงช่างเถอะ  ผมเชื่อว่า ทุกคนทำได้  และท่านก็ทำได้ ถ้าท่านได้ทำ  และไม่หยุดทำ

Do it

พิพัฒน์

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com