บทฝึกเงียบ ๆ สำหรับคนรักดิกจริงจังแบบหวังผล (ต้องตั้งใจอ่าน)
สวัสดีครับ
คำเตือน:
บทความนี้ ผมตั้งใจเขียนให้คุณครูนำไปสอนเด็กที่ตั้งใจเรียน และสำหรับท่านผู้อ่านที่เอาจริงเอาจังในการฝึก มันอาจจะอ่านไม่สนุก ถ้าท่านเป็นคนเครียดง่าย ขอเตือนว่า อย่าอ่านเลยครับ
ดิก (dictionary) เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการเรียน-ฝึก-ฟื้น-และฟิต ภาษาอังกฤษ เพราะในดิกเล่มหนึ่ง ๆ จะมีรายการคำศัพท์ พร้อมคำแปล ความหมาย การอ่านคำศัพท์ ประโยคตัวอย่าง วิธีใช้ และอะไรอีกหลายอย่างเกี่ยวกับคำศัพท์ให้ศึกษา
คำถามของผมก็คือ ในฐานะคนเรียนภาษาอังกฤษ ท่านรักดิกหรือเปล่า ถ้าท่านตอบว่ารัก ขอถามว่า ท่านรักดิกเพียงผิวเผิน หรือรักจริงจัง? ถ้าท่านชักจะไม่แน่ใจว่าควรจะตอบยังไง !! ผมมีดิกให้ท่านดู 3 ประเภท, ถ้าท่านรักหมดทุกประเภท แสดงว่าท่านรักจริง แต่ถ้าท่านรักเพียงบางเล่ม และเกลียดบางเล่ม แสดงว่าท่านลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชัง และจะไม่ได้รับปรโยชน์อย่างเต็มที่จากดิก
ดิกประภทที่ 1: ดิก อังกฤษ - ไทย
ผมขอยกตัวอย่างเล่มหนึ่งซึ่งดีมาก คือ Longman Basic English – Thai Dictionary เป็นดิก อังกฤษ – ไทย บรรจุคำศัพท์และวลีพื้นฐาน ประมาณ 12,000 คำ และที่เยี่ยมก็คือ มีประโยคตัวอย่าง และคำแปลประโยคตัวอย่างเป็นภาษาไทยให้เราศึกษาอีกด้วย
→http://www.e4thai.com/e4e/images/pdf/longman%20basic%20english-thai%20dictionary.pdf
ดิกประภทที่ 2: ดิก อังกฤษ - อังกฤษ
ผมขอยกตัวอย่างดิกประเภทนี้ซึ่งดีมาก ๆ ให้ท่านศึกษา 4 เล่ม คือ
[1]มีศัพท์ 10,000 คำ:Easier English Basic Dictionary
[2]มีศัพท์ 28,000 คำ:Easier English Intermediate Dictionary
[3]มีศัพท์ 32,000 คำ:Easier English Student Dictionary
[4]มีศัพท์ 95,000 คำ:Longman Dictionary of American English New 4th Edition
แต่ละเล่ม เราสามารถศึกษาคำจำกัดความง่าย ๆ เป็นภาษาอังกฤษ และโดยทั่วไป จะมีประโยคตัวอย่างให้ดูแทบทุกคำ ดิกประเภทที่ 2 นี่จะอ่านยากกว่าประเภทที่ 1 เพราะเราจะต้องอ่านด้วยใจที่เงียบ เป็นสมาธิ เพื่อตีความ (+เดา) ให้รู้เรื่อง ทักษะนี้ต้องอาศัยขันติและวิริยะซึ่งทุกคนมีแต่อาจจะไม่ได้ใช้
ดิกประภทที่ 3: ดิก อังกฤษ
เป็นดิกที่ไม่บอกทั้งคำแปล และไม่บอกความหมาย แต่ท้าให้เราเดาความหมาย และแถมยังไม่เฉลยอีกด้วย ท่านอาจจะงงว่ามันคืออะไรกันแน่ ผมมีตัวอย่างมาให้ดู 3 เล่ม ดังนี้ครับ
- New Headway Pre-Intermediate Vocabulary Quizzes คลิก
- New Headway Intermediate Vocabulary Quizzes คลิก
- New Headway Upper-Intermediate Vocabulary Quizzes คลิก
ก่อนที่จะอ่านต่อไป ขอให้ท่านคลิกเข้าไปดูเล่มใดเล่มหนึ่งก่อนนะครับ
- เมื่อคลิกเข้าไปแล้ว ท่านจะเห็นว่า แต่ละเล่ม (ประมาณ 30 หน้า) มี 12 Unit
- แต่ละ Unit แบ่งศัพท์ออกเป็น 4 – 5 กลุ่ม ๆ ละประมาณ 10 – 20 คำ
- เมื่อดูที่คอลัมน์ซ้ายมือ ท่านจะเห็นว่า มันกำกับด้วยตัวเลข 1... 2... 3... นำหน้าคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย a…. b…. c… เรียงลำดับไปเรื่อย ๆ จนถึง x… y… z…. จากกลุ่มแรกไปจนถึงกลุ่มสุดท้าย ของแต่ละ Unit, พอขึ้น Unit ใหม่ ก็เรียง 1... 2... 3... a… b… c… ชุดใหม่
- และศัพท์ในแต่ละกลุ่มนั้น ในบรรทัดเดียวกันที่คอลัมน์ขวามือ จะมีวลีเทียบ โดยหน้าวลีนี้จะมีตัว a… b…. c… กำกับ
- หน้าที่ของท่าน คือ โยงข้อ 1... 2... 3... ในคอลัมน์ซ้ายมือ ให้เข้ากับ ข้อ a… b… c… ในคอลัมน์ขวามือที่มีความหมายสอดคล้องกัน โดยโยงกลุ่มใครกลุ่มมัน เช่น กลุ่มนี้ในคอลัมน์ซ้ายมือมี 20 ข้อ ก็โยงให้เข้ากับ ตัว a… ถึง t…. .ในคอลัมน์ขวามือของกลุ่มเดียวกันเท่านั้น ไม่ต้องไปมองกลุ่มอื่น
ที่ผมอธิบายมานี้ท่านงงไหมครับ ถ้างงก็เลื่อนขึ้นไปอ่านใหม่ ข้อ 1 - 5 ข้างบนนี้ พร้อมกับเปิดดูไฟล์ ebook ประกอบ เดี๋ยวก็จะเข้าใจครับ
นี่เป็นดิกประเภทที่ 3 เป็นแบบฝึกหัดดิก วิธีฝึกที่ง่ายที่สุด ก็คือ
[1]ทำทีละ Unit, โดยแต่ละ Unit ให้ฝึกทำทีละกลุ่ม
[2]แต่ละกลุ่ม อ่านทุกคำในคอลัมน์ซ้ายมือก่อน แล้วก็อ่านวลีในคอลัมน์ขวามือ หรือจะอ่านด้านขวาก่อนด้านซ้ายก็ได้
[3]แล้วก็ค่อย ๆ โยงคำด้านซ้ายให้เข้ากับวลีด้านขวา ทีละข้อ ๆ โดยทำข้อที่แน่ใจก่อน ข้อไหนไม่แน่ใจก็เว้นไปก่อน เก็บไว้ทำตอนหลัง
ข้อสังเกต: คำศัพท์ด้านซ้าย และวลีด้านขวา นอกจาก match กันด้านความหมายแล้ว ยังต้อง match กันด้าน part of speech อีกด้วย เช่น ถ้าศัพท์เป็นคำ adjective - adj, วลีก็ต้องสื่อว่าเป็นคำ adj ด้วย
ท่านผู้อ่านครับ ชุด New Headway Vocabulary Quizzes ที่ผมนำมาฝากนี้ เป็นคำศัพท์ระดับกลาง คือ pre-intermediate, intermediate และ upper-intermediate แต่ถ้าท่านฝึกทำจนครบถ้วน ท่านจะได้ฝึกอ่าน, ฝึกเดา, ฝึกตีความ มากพอสมควรทีเดียว และผมเชื่อว่า จะช่วยให้ทักษะในการใช้ดิกของท่านสูงขึ้นอีกเยอะ
บทเรียนชุดนี้ เป็นการฝึกโดยใช้สมาธิแบบนิ่งและเงียบ
ในการฝึกภาษาอังกฤษนั้น บางเวลาเราต้องใช้หูที่เป็นสมาธิเพื่อฟังเสียงดัง (listening), บางเวลาเราต้องใช้ปากที่เป็นสมาธิเพื่อเปล่งเสียงออกไปดัง ๆ (speaking) แต่บางเวลาเราก็ต้องใช้ความคิดที่นิ่งและเงียบ ไม่ต้องมีเสียงดังใด ๆ ทั้งสิ้น ก็คือ บทที่เรากำลังฝึกกับดิกนี่แหละครับ
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า อ้าว! แล้วดิกประเภทที่ 1 (อังกฤษ-ไทย) และประเภทที่ 2 (อังกฤษ-อังกฤษ) นั้น เอามาพูดทำไม? คำตอบก็คือ แบบฝึกหัดใช้ดิกนี้ ถ้ามันยากและหาคำตอบไม่ได้ ก็ไป search หาเฉลยในดิกประเภทที่ 1 และ 2 นั้นแหละครับ