Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

จะ “พูดภาษา” ให้เก่ง ต้องฝึกดู-ฝึกฟัง-ฝึกอ่าน “ภาษาพูด” ไม่ใช่เอาแต่ท่องศัพท์และแกรมมาร์

 fluencyสวัสดีครับ

       ถ้าจะแบ่งคนไทยโดยใช้การพูดภาษาอังกฤษเป็นเครื่องวัด ผมขอแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1- พวกลูกคนรวย อยู่เมืองนอก เรียนเมืองนอก ตามพ่อแม่ไปทำงานเมืองนอก ตั้งแต่เด็ก  

กลุ่มที่ 2- เรียนเมืองไทย แต่เข้าโรงเรียนอินเตอร์ หรือมหาวิทยาลัยหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือหัวดีได้เข้าโรงเรียนดังมีชื่อว่าภาษาอังกฤษแข็ง

กลุ่มที่ 3- ก็ลูกชาวบ้านธรรมดา ๆ นี่แหละ แต่ชอบและขยันเรียนภาษาอังกฤษ เมื่อเข้าทำงานได้อยู่แผนกที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นประจำ  

กลุ่มที่ 4- เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นประถมตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ ที่ข้อสอบวัดเรื่องแกรมมาร์, ศัพท์ และการอ่าน  ตอนสอบก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้างตามปกติ   แต่จบมัธยมปลายหรือปริญญาตรีมาได้โดยแทบไม่เคยพูดภาษาอังกฤษเป็นกิจจะลักษณะเลย

       คนไทยกลุ่มที่ 1 – 3 มักไม่มีปัญหาในการพูดภาษาอังกฤษ แต่ก็มีจำนวนนิดเดียว  กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มใหญ่สุดและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีปัญหาในการพูดภาษาอังกฤษ เขาอาจจะเป็นคนทำงานออฟฟิศซึ่งถูกเจ้านายกวดขันให้พูดฝรั่งให้ได้,  อาจจะเป็นคนทำงานอิสระที่มีลูกค้าเป็นฝรั่ง เช่นคนขับรถรับจ้าง, คนขายของ, พนักงานโรงแรม, พนักงานนวดไทย,  หรืออาจจะเป็นคนที่กำลังจะสมัครงานซึ่งระบุไว้ว่าจะต้องมี a good  command of spoken English เป็นต้น เขาจึงพยายามที่จะฟิตตัวเองให้พูดภาษาอังกฤษให้ได้

       บทความนี้จะเน้นถึงการพูดภาษาอังกฤษของคนไทยกลุ่มสุดท้ายนี้

วิธีฟิตภาษาอังกฤษของคนไทยที่ “ภาษาอังกฤษอ่อนแอ”

      คำถามแรกที่ต้องตอบก่อนก็คือ เราต้องพูดให้เก่งขนาดไหนจึงจะถือว่าใช้ได้ ขอตอบว่ามี 2 ระดับ คือ

      ระดับ 1 – พูดคล่องได้ทุกเรื่อง เช่น พูดในที่ประชุมต่างประเทศ, พูดกับแขกต่างชาติที่มาเยี่ยมชมสำนักงาน, พูดนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ ฯลฯ  คนที่จะพูดได้ระดับนี้จะต้องดีทั้งทักษะการพูดและการฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสำเนียงอังกฤษของคนต่างชาติที่พูดเร็วและเราไม่คุ้นจะเป็นปัญหามาก เช่น สำเนียงแขก สำเนียงแอฟริกา เป็นต้น

      ระดับ 2 – พูดโต้ตอบในขอบเขตจำกัด คือ dialogue ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อน หรือการพูดกับลูกค้าในเรื่องเจาะจงที่เราต้องขายหรือให้บริการเขา  การพูดอย่างนี้ใช้ศัพท์ไม่เยอะ หรือเป็นศัพท์ที่เราคุ้นเคย และใช้ประโยคไม่ซับซ้อน 

       ผมเข้าใจว่า บทสอนสนทนาภาษาอังกฤษทั้งหลาย ที่สอนฟรี online ทั้งที่เป็นข้อความและคลิป  และคอร์สสนทนาที่โรงเรียนสอนภาษาทั้งหลายจัดขึ้นเพื่อให้คนจ่ายเงินสมัครเข้าเรียน ส่วนใหญ่ก็อยู่ในระดับ 2 นี่แหละครับ ส่วนการพูดคล่องให้ได้ในระดับ 1 นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์ของแต่ละคน

       ปัญหาก็คือ แม้จะพูดง่าย ๆ ในระดับ 2 นี้ คนเป็นจำนวนมากในประเทศไทยก็ยังพูดไม่ค่อยจะได้   และเราจะแก้ปัญหานี้กันยังไง?

คนไทยเราเรียนภาษาอังกฤษกันยังไง จึงพูด ไม่ได้สักที?

      ที่บอกว่าพูดไม่ได้นี้ ผมใช้เกณฑ์ง่าย ๆ ในการวัด คือ เมื่อมีคนต่างชาติมาถามทาง และต้องโต้ตอบซักถามกันบ้าง  หรือเราเห็นคนต่างชาติเก้ ๆ กัง ๆ ท่าทางงงในการต่อรถ  เราไม่สามารถตอบหรือไม่กล้าเสนอตัวเข้าไปอธิบาย, เมื่อมีคนต่างชาติโทรศัพท์เข้ามาในที่ทำงาน หากพนักงานประจำที่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่อยู่ คนอื่นก็ตอบแทนได้, เมื่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่นวัด หรือโบราณสถาน และเจอนักท่องเที่ยวอิสระ(ไม่ได้เที่ยวกับทัวร์) แม้เราสามารถให้คำอธิบายบางอย่างแก่เขาได้ในฐานะเจ้าของประเทศ แต่เราก็ไม่กล้าพูด

      หรือตัวอย่างที่เป็นการเป็นงานมากกว่านี้ก็เช่น มีคณะต่างชาติมาดูงานที่หน่วยงานของเรา หรือคณะของเราเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ ท่านเคยเจอไหมครับที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือเพียง 2 คนต้องรับหน้าที่ในการพูด โต้ตอบ นำเสนอ ซักถามแทนคนทั้งกลุ่ม ทั้ง ๆ ที่คนอื่น ๆ ก็รู้ข้อมูลเหมือนกัน แต่ไม่มีใครพูด เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือไม่กล้าพูด

      การพูดไม่ได้ที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ หลายท่านที่อยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ก็อยากจะพูดได้  จึงฝึก ผมขอยกตัวอย่างการฝึกที่ทำกันอยู่ในเมืองไทย  ดังนี้ครับ

(1) เข้าคอร์สฝึกพูดภาษาอังกฤษ

      อาจจะจ่ายเงินเองหรือหน่วยงานจ่ายให้, คอร์สเรียนเดี่ยวหรือเรียนกลุ่มย่อย/กลุ่มใหญ่, คอร์สที่ครูฝรั่งสอนหรือครูไทยสอน

      คอร์สพวกนี้จะให้แนวทางในการพูดภาษาอังกฤษ  และก็ให้ฝึกพูดบ้างเท่าที่เวลาอำนวย อาจจะพูดกับครูหรือพูดกับเพื่อนในชั้นเรียน  แต่ข้อจำกัดของคอร์สพวกนี้ก็คือ  ถ้าไม่ได้นำสิ่งที่สอนหรือฝึกในชั้นเรียนไปฝึกต่อด้วยตัวเอง มันก็ลืมหมด ได้เรียนก็เหมือนไม่ได้เรียน ทักษะการพูดภาษาอังกฤษมันไม่เหมือนว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน เป็นแล้วเป็นเลยไม่ลืม  แต่เพราะเราเป็นคนต่างชาติซึ่งภาษาอังกฤษไม่ได้ฝังอยู่ในเซลล์มาตั้งแต่เกิด  ถ้าฝึกยังไม่เข้าไส้มันก็ลืมหรือเลือน  และถ้างานที่เราทำนาน ๆ จะพูดภาษาอังกฤษสักที  และเราก็ไม่ได้ฝึกเอง พอถึงวันที่ต้องพูดจึงไม่มั่นใจและไม่พูด นานวันเข้าก็พูดไม่ได้จริง ๆ 

       ที่พูดมานี้ท่านจะเห็นชัดว่า คอร์สพูดภาษาอังกฤษที่เรียนกับครูหรือโรงเรียนดัง ๆ แม้มีประโยชน์แต่ก็ไม่ใช่ยาวิเศษ  ถึงจะกินเข้าไปเม็ดเดียวหรือหลายเม็ดก็ไม่ได้ช่วยให้พูดภาษาอังกฤษได้อย่างถาวร แต่การจะกินยาทุกวันหรือเข้าคอร์สเรียนทั้งปีทั้งชาติมันก็เป็นไปไม่ได้

(2) การฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

      เรื่องสำคัญที่ผมต้องการจะพูดก็คือ การจะฝึกให้พูดอังกฤษได้! คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่การฝึกด้วยตัวเองครับ  แต่จะฝึกยังไงให้ได้ผลคือพูดได้  นี่แหละครับคือประเด็นที่ต้องตีให้แตก

      วันนี้ผมขอพูดเรื่องนี้ให้ชัด โดยเจาะลงว่าเป็นการฝึกพูดภาษาอังกฤษผ่านเน็ต โดยใช้ PC, tablet  หรือ smartphone

      ท่านอาจจะถามว่า ผลต่างกันไหมระหว่างเรียนผ่าน PC, tablet หรือ smartphone ขอตอบว่า ท่านสามารถฝึกอ่านนาน ๆ, หรือฝึกฟังนานๆ, ดูนาน ๆ  ผ่าน 3 อย่างนี้ได้หรือไม่? ถ้าได้... ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าไม่ได้... ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ อย่างเช่น ให้ท่านนั่งอ่าน story หรือข่าวสัก 1 ชั่วโมงผ่าน smartphone ถ้าท่านทำได้ก็โอเค  ถ้าทำไม่ได้ก็ถือว่า smartphone เป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ในการฝึกอ่าน, ในการฝึกฟัง story ผ่านคลิปเช่น YouTube ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น ท่านต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้ท่านฝึกภาษาอังกฤษผ่านเน็ตได้โดยสะดวก  เลือกเอาเองแล้วกันครับ!

      เอาละครับ คราวนี้มาดูกันว่า มีอะไรบ้างในเน็ตที่ช่วยให้เราฝึกพูดภาษาอังกฤษ?   หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในการฝึกพูดภาษาอังกฤษผ่านเน็ต เราจะฝึกยังไงให้ได้ผล?

      ก่อนอื่น ผมขอรวบรวมเว็บไทยที่มีคนจำนวนมากเข้าไปเรียนภาษาอังกฤษมาให้ท่านดูก่อน  ผมเชื่อว่าท่านที่ฟิตภาษาอังกฤษต้องผ่านตาเว็บพวกนี้มาบ้าง

และก็ได้รวบรวมเว็บฝรั่งสอนภาษาอังกฤษไว้ด้วย

       ในฐานะ webmaster ของ e4thai.com ซึ่งมีหน้าที่หาเนื้อหาดี ๆ มาให้คนไทยใช้ฝึกภาษาอังกฤษ ผมมานั่งวิเคราะห์ดูว่า เว็บไทยทั้งหลายแหล่ที่ให้คนเข้าไปเรียนภาษาอังกฤษนั้น ส่วนใหญ่มักจะสอนอะไรบ้าง ก็ได้ข้อสรุป ดังนี้

{1} ศัพท์, วลี, ประโยค ที่ใช้ในการสนทนาในสถานการณ์ต่าง ๆ ... เนื้อหาทำนองนี้มีหลายสิบเปอร์เซนต์ทีเดียว และรู้สึกว่าจะเป็นที่นิยมของคนไทยด้วย มีทั้งที่เป็นข้อความและเป็นคลิป

{2} รวบรวมรายการคำศัพท์ภาษาอังกฤษ แปลไทย

{3} ประเภท “ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร” คือ ตั้งต้นด้วยวลีหรือประโยคสนทนาภาษาไทย และถามว่า ฝรั่งพูดว่าอย่างไร ประเภทนี้ อ.อดัม ทำไว้เยอะทีเดียว

      จาก 3 ประเภทข้างต้นนี้ ท่านจะเห็นได้ชัดว่า เนื้อหาพวกนี้จัดทำขึ้นเพื่อบริการคนไทยที่ต้องการพูดภาษาอังกฤษ เพราะบางท่านอาจะไม่สะดวกที่จะเข้าไปอ่านเนื้อหาในเว็บฝรั่งที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ จึงนำมาแนะนำหรือย่อยเพื่อให้คนไทยเข้าใจได้ง่ายขึ้น

{4} เว็บที่อธิบายแกรมมาร์ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมาก ๆ

{5} เว็บซึ่งมีเนื้อหาภาษาอังกฤษ และแนบคำแปลภาษาไทย เช่น story, ข่าว, คำคม เป็นต้น

      คราวนี้ผมขอถามท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ผมเข้าใจว่า หลายท่านน่าจะปลีกเวลาทุกวันเพื่อฟิตภาษาอังกฤษผ่านเว็บไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง speaking หรือการสนทนา และตอนนี้ผมขออนุญาตเล่นสนุกมอบ assignment ให้ท่านปฏิบัติเกี่ยวกับการสนทนาภาษาอังกฤษ ดังนี้

[1] ท่านกำลังอยู่ที่ในที่ประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ของสำนักงานของท่านและคณะผู้มาเยือนจากต่างประเทศ ประธานในที่ประชุมคือผู้อำนวยการหรืออธิบดีของท่านขอให้ลูกทีมแต่ละคนแนะนำตัวเอง ซึ่งก็คือหน้าที่การงานในปัจจุบันและประสบการณ์การทำงานอย่างค่อนข้างละเอียด เพราะเมื่อจบการแนะนำ จะเปิดให้ผู้มาเยือนได้ซักถามรายละเอียดของแต่ละคน ผมขอให้ท่านแนะนำตัวเองตามที่ว่ามานี้ครับ

[2] นิทานอีสปเรื่องกระต่ายกับเต่าท่านได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ขอให้ท่านเล่าเป็นภาษาอังกฤษครับ

[3] ตอนอยู่ชั้นประถมในชั่วโมงวิชาภาษาไทย คุณครูคงเคยให้ท่านเขียนเรียงความเรื่อง “ครอบครัวของฉัน”  เพราะทุกคนรู้จักตัวเองดีจึงน่าจะเขียนได้ไม่ยาก ผมขอให้ท่านเล่าเป็นภาษาอังกฤษ ความยาวสัก 5 นาทีครับ

      เรื่องที่ให้พูดทั้ง 3 ข้อนี้ ท่านไม่ต้องกังวลเรื่องแกรมมาร์หรือความสละสลวย จะใช้ศัพท์อะไรก็ได้ ผิด ๆ ถูก ๆ ก็ไม่ว่า หรือพูดซ้ำ ๆ วนไปเวียนมา หรือเยิ่นเย้อ ยังไงก็ได้ครับ ขอให้ท่านพูดออกมาเถอะ ถ้าในที่สุดสามารถสื่อเนื้อหาได้ ก็ถือว่าใช้ได้

  •       ท่านมีปัญหาในการพูดไหมครับ?
  •       ถ้ามี อะไรคือปัญหาที่ทำให้พูดไม่ได้?
  •       การฟิตภาษาอังกฤษที่ท่านฝึกผ่านเว็บไทยมานานพอสมควรนั้น ท่านนำมาใช้ในการพูด 3 เรื่องนี้ไม่ได้เลยหรือครับ?

      ท่านอาจจะบอกว่า ท่านไม่รู้ศัพท์ หรือแม้รู้ก็ผูกประโยคไม่ได้  ผมก็บอกว่า ประโยคไม่ต้องซับซ้อน ประธาน+กริยา+กรรม สั้น ๆ ก็ใช้ได้ประโยคไม่ต้องหรูหรา ท่านก็บอกว่า ประโยคง่าย ๆ ก็คิดไม่ออก ผมขอถามว่า ทำไมถึงคิดไม่ออก  ก็เนื้อหาที่จะพูดก็มีอยู่แล้วเพราะเรื่องของตัวเองทั้งนั้น, อนุญาตให้ใช้ศัพท์อะไรก็ได้, จะแต่งประโยคยังไงก็ได้.... แล้วทำไมยังพูดไม่ได้?

 -----

      ท่านผู้อ่านครับ ตอนนี้ผมขอให้ท่านลืมเรื่องที่เราคุยกันนี้ก่อนก็ได้ ผมมีนิทานเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง

      เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วตอนที่หลานของผม (ชื่อ “เจน”)ยังเล็กอยู่ขนาดเดินเตาะแตะ  ค่ำวันนั้นฝนตกหนัก หลังฝนตกอึ่งอ่างใกล้บ้านร้องกันระงม พอถึงเวลานอนเจนก็นอนไม่หลับเพราะเสียงอึ่งอ่าง   เขาพยายามบอกแม่แต่ไม่รู้จะบอกยังไง  เพราะ “รู้ศัพท์น้อย” และ “แต่งประโยคไม่เป็น”  ขณะนั้นอยู่บนที่นอน เจนดึงมือแม่ของเขาซึ่งก็คือพี่สาวของผมมาปิดที่หูของเขา แล้วก็พูดว่า “แม่ เจนไม่เอาไอ้นี่”  

      ข้อสรุปของผมก็คือ เจนสื่อสารได้แม้ว่าจะรู้ศัพท์น้อยและแต่งประโยคยาก ๆ ไม่เป็น

      ผมขอบอกว่า พวกเราที่เรียนภาษาอังกฤษ  แม้บางคนจะสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษจากชั้นมัธยมหรือมหาวิทยาลัยมาอย่างร่อแร่ ก็สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ด้วยลักษณะเดียวกับที่เจนสามารถสื่อสารให้แม่รู้เรื่อง

      ผมเข้าไปที่เว็บไซต์ อ. อดัม ซึ่งมีหลายบทความที่ท่านอธิบายว่า ภาษาไทยพูดว่ายังงี้-ยังงั้น-ยังโง้น.... ภาษาอังกฤษพูดว่ายังไง? บทความทำนองนี้มีประโยชน์มาก ใครจำได้ยิ่งเยอะยิ่งดี   แต่ผมก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า  แล้วถ้าจำไม่ได้ล่ะ ก็พูดไม่ได้ซี?

      ผมขอยกตัวอย่างให้ท่านดูสัก 6 สำนวน

  1. ฉันสังหรณ์ใจว่า... พูดภาษาอังกฤษว่ายังไง---> คลิกดู
  2. โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ ... พูดภาษาอังกฤษว่ายังไง---> คลิกดู 
  3. ทำบุญ ... พูดภาษาอังกฤษว่ายังไง---> คลิกดู
  4. เกรงใจ ... พูดภาษาอังกฤษว่ายังไง---> คลิกดู
  5. น้อยใจ ... พูดภาษาอังกฤษว่ายังไง---> คลิกดู
  6. กวนตีน ... พูดภาษาอังกฤษว่ายังไง---> คลิกดู

      คราวนี้ผมขอถามท่านว่า ถ้าท่านต้องพูดถ้อยคำทำนองนี้กับเพื่อนหรือแฟน และท่านก็ลืมสำนวนที่ อ. อดัมสอน ท่านจะสามารถสื่อความที่ต้องการพูดได้มั้ย?

      ผมขอตอบว่า  ได้ครับ!   ได้แน่ๆ! ผมเชื่อว่าต่อให้เรารู้ศัพท์ภาษาอังกฤษได้แค่ไม่กี่ร้อยคำ เราก็สามารถสื่อสารได้แทบจะทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ แม้คำศัพท์มันจะไม่ตรงเด๊ะตามพจนานุกรม หรือประโยคจะไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ก็ตาม  เพราะขณะที่พูดกับคู่สนทนานั้น ท่าทาง หน้าตา อารมณ์ มันสื่อความไปกว่าครึ่งแล้ว เราเพียงเติมคำในช่องว่างลงไปนิดหน่อยก็เข้าใจแล้ว  เช่น ตัวอย่างข้างบน

  1. ฉันสังหรณ์ใจว่า... --- > I feel that
  2. โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ  --- >My telephone... no sound
  3. วันนี้ฉันจะไปทำบุญที่วัด --- > I will go to  วัด xxx to give food.
  4. ไม่ต้องเกรงใจหรอก กินได้ตามสบาย --- >Don't worry. Please eat.
  5. คุณพูดอย่างนี้ ฉันน้อยใจนะ  --- >You say this, I am sad.
  6. หยุดพูดกวนตีนฉันได้แล้ว  --- > You stop now. Enough.

      “เพราะฉะนั้น ถึงจะรู้ศัพท์น้อย ผูกประโยคได้แบบเด็ก ๆ ก็สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อยู่นั่นเอง  ไม่ต้องฝึกอะไรมาก

      ท่านผู้อ่านครับ ถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดที่ไฮไลท์สีเหลืองข้างบนนี้ถูกหรือผิด

      ถูกครับ  แต่ไม่ถูกทั้งหมด 

      ผมขออนุญาตขยายความ  ท่านอ่านต่ออีกสักนิดนะครับ

      เราคนไทยที่ฝึกพูดภาษาอังกฤษ  มักให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับศัพท์และแกรมมาร์  เหมือนจะแกงสักหม้อ ศัพท์เหมือนเครื่องปรุง แกรมมาร์เหมือนวิธีปรุง แต่ทำไม่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้ทั้งศัพท์และแกรมมาร์ กลับพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เหมือนมีเครื่องปรุงครบ-ตำราพร้อม แต่ก็ยังแกงไม่เป็น!

      มาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าหลายท่านมีคำตอบทันที ... ก็ไม่มีโอกาสพูด มันจะพูดได้ยังไง!....  คำตอบนี้ถูกต้องตรงเป๊ะเลยครับ

      แต่ปัญหาถาวรของเราก็คือ เรารู้ว่า ถ้ามีโอกาสได้ใช้-ได้พูด-ได้ฝึก ภาษาอังกฤษ เราก็จะพูดได้และไม่ลืม แต่ถ้าไม่มีโอกาสได้ใช้ มันก็ต้องลืมเป็นธรรมดา ไอ้ครั้นจะให้ฝึกแบบพูดคนเดียว หรือฝึกอ่านออกเสียงทุกวัน (ซึ่งผมขอรับรองว่าได้ผล) คน ๆ นั้นจะต้องมีฉันทะและวิริยะในการฝึกชนิด Extra ซึ่งหลายคนไม่มี

      พอพูดมาถึงตรงนี้เหมือนกับไม่มีทางออก และปัญหาคนไทยพูดอังกฤษไม่ได้คงดำรงไปอีกนาน

      ไม่หรอกครับ! ท่านอย่าเพิ่งท้อเลยครับ วิธีฝึกที่ได้ผลนั้นมีอยู่ เป็นวิธีที่ไม่ต้องออกแรงมาก แต่ขอให้ฝึกทุกวันเท่านั้นแหละ

      ต้องฝึกยังไง? ผมขอสรุปการแก้ปัญหาตามความเชื่อของผม  ตามชื่อของบทความในวันนี้ 

fluency

จะ “พูดภาษา” ให้เก่ง ต้องฝึกดู-ฝึกฟัง-ฝึกอ่าน “ภาษาพูด” ไม่ใช่เอาแต่ท่องศัพท์และแกรมมาร์

      ขอขยายความดังนี้ครับ

[1] การฝึกตัวเองให้พูดภาษาอังกฤษ  ไม่ต่างจากสอนทารกให้พูดภาษาไทย คือ ต้องเน้นที่การฟัง

       ทำไมทารกจึงพูดสำเนียงภาษาไทยได้ชัดเจน? ก็เพราะเขาฟังมาตั้งแต่เด็ก ก่อนที่เขาจะพูดคำว่าแม่ แม่ออกเสียงให้เขาได้ยินคำว่าแม่เป็นร้อย ๆ ครั้ง เขาจึงค่อย ๆ พูดคำว่าแม่ได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ

      และทำไมเด็กจึงพูดเป็นประโยคได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครสอนแกรมมาร์หรือไวยากรณ์  ก็เพราะเขาลอกเลียนแบบลีลาทางภาษาจากแม่และคนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว  และจำสไตล์การแต่งประโยคได้เองอย่างถูกต้องและมั่นใจ

      การพูดได้จึงเป็นเรื่องของการ “จำขี้ปาก” โดยแท้

      คนที่ไปอยู่เมืองนอก  เรียนเมืองนอก  เรียนโรงเรียนหรือหลักสูตรอินเตอร์ในเมืองไทย  และออกสำเนียงและแต่งประโยคได้อย่างมั่นใจไม่ผิดพลาดอย่างเป็นธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องของการ “จำขี้ปาก” เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้เริ่มจำเมื่อวัยทารก แต่มาเริ่มจำเมื่อเข้าวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่

      และก็มาถึงยุคนี้ซึ่งมีอินเตอร์เน็ต มี YouTube ซึ่งทำให้การฝึกฟังเพื่อ “จำขี้ปาก” เป็นเรื่องง่ายกว่ายุคก่อนหลายร้อยเท่า  ทำให้เรามีโอกาสฟังฝรั่งพูดทุกวัน  ทุกเวลาที่เราต้องการ  แม้ว่าจะนั่งอยู่ในห้องที่บ้านของเราเอง

      คนที่ตั้งหน้าตั้งตาฝึกพูด พูด... พูด... พูด.... โดยไม่ยอมฟังให้มาก  ไม่ยอมเรียนรู้ตามวิธีธรรมชาติด้วยการ “จำขี้ปาก” จึงพลาดเรื่องนี้ไปอย่างช่วยไม่ได้

     เราต้องฝึกฟังอย่างไร?

     ต้องฟังเรื่องง่าย ๆ ศัพท์ง่าย ๆ ประโยคง่าย ๆ ที่เราเข้าใจได้แทบทั้งหมด  เหมือนที่ทารกฟังแม่พูด การฝึกฟังเพื่อนำไปสู่การฝึกพูดนั้น ต้องฟังเรื่องง่าย ๆ อย่างนี้ เพราะถ้าเราฟังเรื่องที่ยากจัด  มันจะเป็นการฝึกฟังเพื่อทำความเข้าใจ  แต่ให้ประโยชน์น้อยในเรื่องการฝึกพูด เพราะเรื่องที่ง่ายและเข้าใจได้ทันทีนั้น เราจะจับได้ทันที ทั้งการลอกเลียนสำเนียง, จับความหมายของคำศัพท์หรือสำนวน, และลีลาการแต่งประโยค

      เรื่องง่าย ๆ ที่ควรฝึกฟังมีดังต่อไปนี้

[A] เรื่องง่าย ๆ ที่เป็น story มีตัวแสดง จะเป็นการ์ตูนหรือคนจริง ๆ ก็ได้ นี่เป็นเรื่องทางจิตวิทยาอยู่เหมือนกันครับ เพราะใน story นั้นจะมีทั้งบทสนทนา (dialogue) และบทเล่าเรื่อง (narrative)  และในชีวิตของคนเราจริง ๆ ส่วนใหญ่เราก็พูดอยู่ 2 อย่างนี้ คือ พูดโต้ตอบกับพูดเล่าเรื่อง การดูคลิปที่เป็น story ในแง่หนึ่งจึงเหมือนได้ใช้ชีวิตพูดคุยกับคนต่างชาติจริง ๆ ยิ่งถ้าในคลิปมีบทพูดให้เราได้เห็นปากคนพูด (ไม่ว่าจะเป็นคนจริง ๆ หรือการ์ตูน) ความรู้สึกเรียนรู้อย่างใกล้ชิดเช่นนี้จะยิ่งรุนแรง เราจะได้อารมณ์ในเรื่องการจำขี้ปากหรือเลียนแบบ ช่วยให้เกิดความมั่นใจและแรงบันดาลใจในการฝึกพูด

       การที่ได้ฟังด้วยหู - ได้ดูด้วยตา คลิป story ง่าย ๆ ที่เรารู้เรื่อง และฝึกพูดตามบางประโยคใน story ไปด้วยเป็นระยะ ๆ  ถ้าฝึกอย่างนี้บ่อย ๆ  จะช่วยสร้างความมั่นใจในเวลาที่เราจะต้องพูดภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติจริง ๆ แม้ว่าเราจะมีประสบการณ์น้อยมากในการพูดภาษาอังกฤษกับคนเป็น ๆ  - ผมขอรับรองคำพูดนี้  ท่านเชื่อได้เลยครับ 

       วิธีหาคลิป story มาฝึกฟัง(เพื่อนำไปสู่การฝึกพูด)ทำได้ง่าย ๆ โดยเข้าไปที่เว็บ YouTube และพิมพ์คำค้นทำนองนี้

--- > easy stories for kindergarten

--- > ละคร 42 ตอนจบ เรื่อง 'Sisters and Brothers'

--- > “ชุมชนชาวแฟลต” หรือ “The Flatmates”

--- > easy story for children

--- > easy story for kids

--- > aesop fables for children in English

--- > moral stories for children in english with subtitles

แถม --- > การ์ตูนสนุก ๆ เพื่อฟิตภาษาอังกฤษแบบเด็ก ๆ

      ถึงตอนนี้ ผมมีบางอย่างที่อยากบอก คือ

ก. ท่านอย่านึกอายว่าฟังเรื่องเด็ก ๆ ขอย้ำว่า นี่เป็นการฝึกฟังเพื่อนำไปสู่การฝึกพูด  เราจะได้ฝึกทั้งเรื่องศัพท์ สำนวน สำเนียง และลีลาการแต่งประโยค และเป็นการฝึกบ่อย ๆ ฝึกทุกวัน ที่เป็นการ “ซึมลึก”  ไม่ใช่การท่องคำศัพท์อัดเข้าไป ซึ่งเป็นการ “ซึมตื้น”

ข. ไม่เป็นไรหรอกถ้าเราฟังไม่รู้เรื่อง 100 %   แต่ถ้ารู้เรื่องน้อยเกินไปก็ควรเปลี่ยนเรื่องฟัง

ค. คลิปหนึ่ง ๆ ดูหลาย ๆ ครั้งก็ได้ หรือพูดชัด ๆ ก็คือ การดูซ้ำหลาย ๆ เที่ยว หรือหลายสิบเที่ยว มีประโยชน์ จำเป็น และอย่าไปเบื่อมัน

ง. ฝึกพูดตามประโยคนั้น ประโยคนี้บ้าง อย่าเอาแต่ฟังอย่างเดียว

[B] นอกจากคลิป story, คลิปข่าวง่าย ๆ ก็น่าฝึกฟัง เพราะมันก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการพูดเล่าเรื่อง  ซึ่งเราสามารถนำคำศัพท์, ลีลาภาษา  และสไตล์การผูกประโยค มาใช้ในการพูดเล่าเรื่องของเราได้ ถ้าอ่านบ่อย ๆ จะมีประโยชน์มาก

       ผมขอแนะนำสัก 2 ลิงก์

--- > VOA Learning English

--- > news in levels เลือก Level ที่ต้องการ

[2] การฝึกอ่าน “ภาษาพูด” ช่วยในการฝึก “พูดภาษา”

      โดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าเราจะอ่านอะไรมันก็เป็นประโยชน์ต่อการพูดทั้งนั้น เพราะเราจะได้เห็นการใช้คำศัพท์จริง ๆ ในประโยคที่เราอ่าน  และสามารถจดจำเลียนแบบไปใช้ในการพูดได้  แต่การอ่าน “ภาษาพูด”  เช่น story หรือข่าวที่เขียนง่าย ๆ ซึ่งมีบทพูดโต้ตอบและบทเล่าเรื่องอยู่ในนั้น ย่อมมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้พูดจาจริง ๆ ได้มากกว่าการอ่านข้อเขียนจำพวกงานวิจัย, หรือบทความ ซึ่งใช้ภาษาที่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่า “ภาษาเขียน”  หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ   “ภาษาพูด”  ช่วยในการพูดได้มากกว่า “ภาษาเขียน”    

      ข้อเขียนที่เป็นภาษาพูดอยู่ที่ไหนบ้าง?  ในเว็บ e4thai.com นี้ก็มีอยู่มากพอสมควร เช่นในลิงก์ story ข้างล่างนี้

      มีเรื่องหนึ่งที่ผมพูดแล้วพูดอีก และวันนี้ก็ขอพูดอีกครั้ง คือการอ่าน story ซึ่งเป็นภาษาพูดที่เต็มไปด้วยบทพูดและบทเล่าเรื่องเช่นนี้ จะช่วยให้เราได้ทั้งศัพท์สำนวนและลีลาการแต่งประโยค เมื่อเราอ่านมาก ๆ อ่านบ่อย ๆ มันจะค่อย ๆ ดูดซึมเข้าไปในสมอง  พอถึงเวลาที่เราจะพูด  เราก็สามารถดึงศัพท์และลีลาการแต่งประโยคพวกนี้ ไปแต่งประโยคใหม่ที่เราจะพูด 

      หลายท่านอาจจะสงสัยว่า จะไม่ง่ายกว่าหรือหากเราจะท่องศัพท์สัก 1000 คำและเรียนแกรมมาร์เรื่อง โครงสร้างประโยค หรือ sentence structure   พอเราจะพูด ก็แต่งประโยคตามแกรมมาร์และศัพท์ที่ท่องไว้ 

       ผมขอบอกว่าศัพท์และแกรมมาร์ที่ได้จากการท่อง  มันสู้ไม่ได้กับคำศัพท์และแกรมมาร์ที่เราเจอจริง ๆ ใน story เพราะมันเป็นธรรมชาติมากกว่า มันมีชีวิตชีวาจริง ๆ อยู่ใน story เมื่ออ่านบ่อย ๆ เราจะสามารถดูดซึมนำเอาไปพูดแต่งประโยคใหม่ได้โดยไม่รู้ตัว  

       และผมขอรับรองว่า แม้ว่าบางเรื่องเราอาจจะไม่รู้จักศัพท์ที่จะใช้เล่าหรือโต้ตอบ แต่หากเราคุ้นเคยกับลีลาง่าย ๆ ของภาษาที่ได้มาจากการฝึกตามที่แนะนำมานี้  เราก็ย่อมสามารถใช้ศัพท์เพียงเท่าที่เรารู้ในการพูดคุยได้  มันอาจจะไม่ใช่ศัพท์สำนวนที่หรูหราถูกต้องทุกถ้อยคำ  แต่มันสื่อสารให้คนเข้าใจได้แน่ ๆ 

       ท่านผู้อ่านครับ วิธีฝึกพูดโดยฝึกฟัง-ฝึกอ่าน “ภาษาพูด” จาก story และข่าวง่าย ๆ ที่ผมแนะนำมานี้ เป็นวิธีธรรมชาติที่ต้องอาศัยเวลาและวิริยะในการฝึก  แต่คนเราโดยทั่วไปคงยากที่จะมีวิริยะติดต่อกันเนิ่นนานถ้าไม่มีฉันทะหรือความรักในเรื่องที่ฟังหรืออ่าน ถ้าไม่รักที่จะฟัง,  ไม่รักที่จะอ่าน คงก็ไม่รักที่จะฝึก และเลิกฝึกในที่สุด

       บทสรุปของผมก็คือ ฉันทะและวิริยะ   ความรักและความเอาใจใส่ เป็นบันไดให้เราก้าวเดินขึ้นไปสู่ความสำเร็จ  หากไม่มีใจ แม้รู้ว่าควรทำอย่างไร ก็คงทำอะไรไม่สำเร็จ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com