Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

การฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ จากประสบการณ์ของ webmaster และวิธีฝึกที่ท่านทำได้ง่ายกว่า

 สวัสดีครับ

       สมัยที่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม ประมาณ 40 ปีที่แล้ว (2517) คุณครูสอนว่าดิกอังกฤษดีกว่าดิกไทย ใช้แล้วจะเก่งอังกฤษ ผมอยากเก่งก็เลยวานคุณครูซื้อให้เล่มหนึ่งตอนที่ท่านมีธุระเข้ากรุงเทพ ราคา 70 บาท หน้าตาดิกเป็นอย่างนี้ครับ

   hornby

       ก่อนหน้านี้ผมดิกอังกฤษ – ไทย ฉบับตั้งโต๊ะของสอ เสถบุตร ซึ่งเป็นดิกเล่มใหญ่มากสำหรับนักเรียนบ้านนอกตัวเล็ก ๆ อย่างผม  และเมื่อได้ดิกอังกฤษ-อังกฤษมาใช้ มันก็ทำให้ผมรู้ว่า มีหลายอย่างที่ดิกอังกฤษ-อังกฤษ  ดีกว่าดิกอังกฤษ-ไทย  เช่น

     A: ดิกอังกฤษ-ไทย อาจารย์สอ เสถบุตร ท่านเรียบเรียงไว้สมัยที่ท่านเป็นนักโทษที่เกาะตะรุเตา (คลิกอ่าน) ศัพท์ใหม่ ๆ หลายคำจึงไม่มี ศัพท์และความหมายที่มีบ้างก็เก่าจนเลิกใช้หรือความหมายเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อติดศัพท์และเปิดดิกเล่มนี้จึงไม่ได้คำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำประเภท two-word verb  หรือสำนวนภาษาพูด หรือศัพท์ใหม่ ๆ ที่ใช้เขียนข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

so e t yes

     B: ดิกอังกฤษ – อังกฤษ มีประโยคตัวอย่างให้มาด้วย เขาเรียกว่าเป็น learner’s dictionary และบางคำก็อธิบายการใช้คำศัพท์เมื่อจะแต่งประโยค พูดง่าย ๆ ว่าดิกอังกฤษ-อังกฤษช่วยให้ทั้งเข้าใจและใช้เป็น แต่ดิกอังกฤษ-ไทย ช่วยให้เข้าใจคำศัพท์อย่างเดียว และก็ไม่สมบูรณ์นัก

       ผมก็ฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษมาเรื่อย ๆ จนเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 – ปี 2 ก็ยังใช้อยู่ ควบคู่กับดิกอังกฤษ-ไทย และต่อมาจึงใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษเพียงอย่างเดียว

      ปัญหาที่พบตอนฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษก็คือ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง อย่างเช่นคำว่า dog แปลว่า สุนัข หรือ หมา แต่ความหมาย หรือ definition ที่อธิบายคำว่า dog มันยากกว่าคำว่า dog เสียอีก เลยกลายเป็นว่า ถ้าจะให้รู้เรื่อง เมื่อเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษแล้ว ยังต้องเปิดดิกอังกฤษ-ไทยอีก 1 เล่ม มันเป็นการเรียนรู้คำศัพท์ที่งุ่มง่ามน่ารำคาญจริง ๆ

      ผมก็ทนตื๊อศึกษาแบบนี้อยู่ 3 – 4 ปี และก็ได้พบสัจธรรมว่า ผมได้อะไรหลายอย่างที่มีคุณค่ามาก ๆ จากการฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ เช่น

       A: ได้ฝึกอ่านทำความเข้าใจและตีความ เพราะศัพท์แต่ละคำจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ (1)คำศัพท์  (2)ความหมาย  (3)ประโยคตัวอย่าง  ศัพท์แต่ละคำจึงกลายเป็นแบบฝึกหัดบทสั้น ๆ ที่ต้องตีความให้เข้าใจ ซึ่งก็พอทนไหวเพราะมันไม่ยาวนัก สำหรับศัพท์บางคำที่มีหลายความหมาย เขามักจะเรียงให้ความหมายที่ใช้บ่อยอยู่ต้น ๆ พูดได้ว่า reading skill ของผมพัฒนาขึ้นเพราะเปิดอ่านดิกอังกฤษ-อังกฤษบ่อย ๆ นี่แหละครับ

      B: ดิกอังกฤษ-อังกฤษสมัยนั้น  เขาก็มีคำอธิบายในการใช้คำศัพท์ หรือ usage ให้ไว้ด้วย (แต่ดิกรุ่นใหม่ทุกวันนี้ดีกว่าเยอะ) และทุกครั้งที่ผมสงสัยการแต่งประโยค ก็จะเปิดเพื่อดูประโยคตัวอย่างหรือคำอธิบายที่เขาให้ไว้ จะเรียกว่าผมมีดิกอังกฤษ-อังกฤษเป็นอาจารย์ส่วนตัวก็ได้

       ทุกวันนี้ผมจึงเขียนลุ้นบ่อย ๆ ให้ทุกท่านที่ต้องการเก่งอังกฤษ อย่าเอาแต่พึ่งดิกอังกฤษ-ไทย ให้พยายามฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษให้คล่อง  และดิกอังกฤษ-อังกฤษ หรือ learner’s dictionary ทุกวันนี้คุณภาพดีกว่าสมัยก่อนเยอะ ท่านจะได้อะไรจากมันเยอะทีเดียว และเก่งอังกฤษมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

       และผมขอบอกว่า ท่านโชคดีที่ยุคนี้มีอินเทอร์เน็ต ท่านไม่ต้องฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ อย่างงุ่มง่ามอย่างที่ผมต้องทนฝึกในสมัยก่อน   

       ผมขออธิบายโดยยกตัวอย่างจริงให้ท่านดูเลยดีกว่า  ตามขั้นตอนดังนี้ครับ 

       [1] ให้ท่านเปิดหน้าเว็บ Cambridge Dictionary  English -Thai

http://dictionary.cambridge.org/dictionary/english-thai/

       [2] ให้พิมพ์คำที่สงสัย หรือคำที่ต้องการศึกษาลงไป, Enter ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคำว่า love 

http://dictionary.cambridge.org/dictionary/english-thai/love_1

       [3] ที่กลางหน้า ท่านจะเห็นคำว่า love ที่เป็นคำนาม (noun) ซึ่งมีหลายความหมาย โดยความหมายที่เจอบ่อยจะอยู่บนสุด   เรียงลงไปจนถึงความหมายสุดท้ายที่เจอบ่อยน้อยลงไปตามลำดับ

       [4] แต่ละความหมายจะมีคำแปลสั้น ๆ ให้ไว้ ขอเรียนว่า คำแปลนี้เป็นเพียงความหมายเลา ๆ เท่านั้น  สิ่งที่ท่านต้องทำก็คือ อ่านคำนิยาม (ตัวดำ) และอ่านประโยคตัวอย่าง (ตัวเอน) และพยายามตีความและทำความเข้าใจ

       [5] ถ้าท่านไม่ทราบคำแปลของศัพท์คำใด (ทั้งตัวดำ และ ตัวเอน) ก็ดับเบิ้ลคลิกคำ ๆ นั้น มันจะเป็นลิงก์นำไปสู่คำแปลเป็นภาษาไทย, เมื่อดูเสร็จแล้วก็คลิก BACK < --- กลับมายังคำศัพท์ที่ท่านกำลังศึกษา  หรือท่านจะศึกษาคำใหม่เดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้

       [6] ศัพท์บางคำ เช่น children เมื่อดับเบิ้ลคลิกแล้ว มันจะเป็นลิงก์แสดงความหมายจากหน้าดิกอังกฤษ-อังกฤษ จากเว็บ Cambridge Dictionary (ไม่มีคำแปลไทย) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า คำว่า children ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลของ English – Thai Cambridge Dictionary หากเจออย่างนี้ให้ท่านไฮไลท์ที่รากของคำศัพท์ คือไฮไลท์แค่คำว่า child และคลิก Definition ท่านก็จะเห็นคำแปลของ child ซึ่งเป็นนามเอกพจน์ของ children

       กรณีอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน เช่น เจอคำว่า looked ก็ให้ไฮไลท์แค่ look   เป็นต้น

       [7] สำหรับศัพท์ยากที่ไม่มีอยู่ใน database ของ English – Thai Cambridge Dictionary ยกตัวอย่างคำว่า abnegate, เว็บจะแสดงความหมายจาก database ของดิกอังกฤษ-อังกฤษ แทน [คลิกดู] ท่านก็ศึกษามันแล้วกันครับ

        [8] คราวนี้ขอให้กลับมาดูคำหลักที่ผมกำลังยกตัวอย่าง คือคำว่า --- > love

             ขอให้ท่านเหลือบไปดูที่คอลัมน์ขวามือ ท่านจะเห็น 2 บรรทัดนี้ซึ่งเป็นลิงก์

       นี่ก็เพราะว่าศัพท์คำหนึ่ง ๆ อาจจะเป็นได้หลายอย่าง เช่น love เป็นทั้ง  noun และ verb  และเมื่อคลิก   See all meanings >  ก็ยังเจอวลีและสำนวนอื่น ๆ อีก ให้ท่านคลิกที่นั่นเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

       [9] เนื่องจาก English – Thai Cambridge Dictionary ไม่มีปุ่มให้คลิกฟังเสียงอ่านคำศัพท์(และฝึกพูดตาม) ผมจึงขอแนะนำให้ท่านเปิด --- > Cambridge Learner’s Dictionary  ขึ้นอีก 1 tab และพิมพ์คำศัพท์ที่ท่านกำลังศึกษาที่นั่น เพื่อคลิกฟังเสียงอ่าน ซึ่งมีทั้งสำเนียงอังกฤษและอเมริกัน

       [10] เมื่อท่านฝึกใช้ English – Thai Cambridge Dictionary ซึ่งมีคำแปลให้จนคล่องแล้ว  ขอแนะนำให้ฝึกกับ Cambridge Learner’s Dictionary  ซึ่งไม่มีคำแปลให้เป็น step ถัดไป


          ท่านผู้อ่านครับ การฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษที่เว็บ Cambridge Dictionary ตามที่แนะนำมานี้ ผมเชื่อว่า ถ้าท่านฝึกจริงจังต่อเนื่อง ท่านจะได้รับประโยชน์เยอะทีเดียว เช่น

       A: ฝึกการใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ซึ่งถ้าสามารถใช้จนคล่องแคล่ว ในอนาคตท่านจะไม่มีวันจนแต้มเรื่องคำศัพท์ เพราะดิกอังกฤษ-อังกฤษ ที่มีให้ใช้ free online นั้นมีมากมาย และเขาก็มักจะ update หรือ revise บ่อยมาก ส่วนดิกอังกฤษ-ไทย นั้นมักจะตามไม่ทันในเรื่องนี้  เราจึงหวังพึ่งไม่ค่อยได้

       B: ท่านจะได้ฝึกอ่านภาษาอังกฤษกับประโยคสั้น ๆ ที่เป็น definition และ example sentence การฝึกทำความเข้าใจและฝึกตีความเช่นนี้ จะช่วยเพิ่ม reading skill ให้ท่านโดยไม่รู้ตัว  และก็ไม่น่าเบื่อมาก เพราะมันสามารถจบเป็นคำ ๆ ในเวลาสั้น ๆ ไม่เหมือนกับการอ่าน story หรืออ่านข่าวหรือบทความยาว ๆ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบแต่ละชิ้น แต่การฝึกอ่านอย่างนี้ ท่านอาจจะตั้งเป้าไว้ง่าย ๆ ก่อน เช่น ตอนเริ่มก็ตั้งเป้าวันละสัก 10 คำ  และวันต่อ ๆ ไปค่อยเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ  โดยเริ่มจากศัพท์ที่ท่านรู้แล้ว เขยิบไปหาศัพท์ยากที่ท่านยังไม่รู้ เช่น ศัพท์ TOEIC หรือ TOEFL

       C: ประโยคตัวอย่างที่ท่านได้ศึกษานั้น จะเป็นพื้นฐานอย่างดีในการเรียนรู้ลีลาของภาษาเพื่อนำไปใช้ในการพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษ

       D: สุดท้าย ท่านอย่าลืมฝึกฟังเสียงคำศัพท์พร้อมทั้งฝึกพูดตาม จากประสบการณ์ของผม ศัพท์คำใดก็ตามที่เราไม่สามารถเปล่งออกเสียงอย่างมั่นใจด้วยปากของเราเอง ก็ยากนักที่เราจะจำศัพท์ตัวนั้นและนำเอาไปใช้ในการพูดหรือเขียนได้ เพราะฉะนั้น ศัพท์ทุกคำที่เราฝึก นอกจากฝึกอ่านแล้ว ยังต้องฝึกฟัง และฝึกออกเสียงด้วย

       ลองฝึกดูนะครับ ผมเชื่อว่าท่านจะเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้นแน่ ๆ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com