Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ไม่กล้าพูดอังกฤษ! ทำยังไงให้กล้า?

 speaking and listening 290x220

สวัสดีครับ

       หลายครั้งที่ได้ยินผู้รู้แนะว่า ถ้าอยากพูดได้ พูดเก่ง ก็ต้องกล้าพูด ถ้าได้พูดก็จะพูดได้ ถ้าไม่ได้พูดก็จะพูดไม่ได้ กฎการพูดให้ได้มันก็ง่าย ๆ แค่นี้แหละ พูดไปเถอะไม่ต้องกลัวผิดแกรมมาร์หรือกลัวว่าใช้ศัพท์ผิด พูดไปแก้ไป ก็จะค่อย ๆ พูดได้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ได้พูดก็จะไม่ได้แก้ และพูดไม่ได้

       คำแนะนำเช่นนี้ถูกต้อง 100%  แต่คนมากมายที่อยากพูดอังกฤษเก่งก็ไม่ทำตาม ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เพราะกลัว กลัวอะไร? กลัวพูดผิด กลัวคนแซว กลัวสื่อสารไม่รู้เรื่อง หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลัวอะไร เอาเป็นว่ากลัวแล้วกัน และจบลงด้วยการไม่พูด

       มีคลิปออกมาเนือง ๆ ที่โชว์เด็กซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ทั้ง ๆ ที่อายุนิดเดียว เรียนโรงเรียนธรรมดา พ่อแม่เป็นไทย และไม่เคยไปเมืองนอก ผมไม่แน่ใจว่าคลิปพวกนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนไทยกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้นหรือเปล่า  เขาอาจจะคิดว่าเป็นพรที่สวรรค์ยื่นให้เฉพาะเด็กบางคนเหมือนถูกหวย ใครโชคไม่ดีก็ทำไม่ได้ และก็อย่าไปฝึกทำให้เสียเวลา  เหนื่อยเปล่า!

       บ่อยครั้งที่ผมมานั่งนึกถึงปัญหานี้ แล้วก็สงสัยว่า คนไทยเรานี้ไม่มีทางก้าวข้ามปัญหานี้ได้เลยหรือ ใน 9 ประเทศอาเซียนเพื่อนบ้านของไทยผมไปมาหมดแล้ว และก็ได้ข้อสรุปอย่างที่เขาสรุปกัน คือคนไทยพูดภาษาอังกฤษได้แย่ที่สุด แต่... แต่ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นด้วยล่ะ? เรื่องอื่น ๆ ที่ขึ้นเวทีแข่งกันเราก็สู้เขาได้ แต่ทำไมเรื่องพูดภาษาอังกฤษเราชอบครองแชมป์บ๊วย มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น

       ผมจึงมานั่งตั้งโจทย์ให้ตัวเองตอบ  คำถามมีว่า ดช. ก, ดญ. ข, นาย ค, นางสาว ง เป็นคนไม่ขี้เกียจ แต่เพราะอายจึงไม่พูดภาษาอังกฤษ ทำยังไงจึงจะทำให้เขาฝึกพูดโดยไม่รู้สึกอาย เพราะเรารู้ว่าเมื่อเขาฝึกพูดเรื่อย ๆ เขาก็จะค่อย ๆ พูดได้ และพูดคล่องในที่สุด แต่อันดับแรกสุด ต้องไม่อายที่จะพูด

      โจทย์ข้อนี้จะตอบยังไง?

       พอคิดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงเด็ก ๆ ที่หัดพูด เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้คำศัพท์ทีละคำสองคำ เขาจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจากพูดได้ทีละคำ ต่อมาก็พูดได้ยาวขึ้นเป็นวลี เป็นประโยค เป็นหลาย ๆ ประโยค โดยรู้ว่าแต่ละคำต้องออกเสียงยังไง และเมื่อเอาหลายคำมารวมกันเป็นประโยค ก็รู้ว่าต้องออกเสียงสูงต่ำขึ้นลงอย่างไร พูดง่าย ๆ ก็คือ เด็กไทยที่หัดพูดเรียนรู้ทั้งสำนวนและสำเนียงไปพร้อมกัน เป็นการเรียนธรรมชาติ ไม่ต้องผ่านทฤษฎี   เรียนโดยผ่านการฟัง

       และถ้ามีผู้ใหญ่บางคนไปพูดกับเด็กโดยใช้ศัพท์สูง ๆ ผูกประโยคด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อน เด็กก็จะไม่รู้เรื่องว่าผู้ใหญ่พูดอะไร  สรุปก็คือ ในการหัดพูดของเด็กนั้น เขารู้แค่ไหนเขาก็พูดแค่นั้น  และสิ่งที่เขารู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศัพท์สำนวนหรือสำเนียง เขาได้มาจากการฟังทั้งสิ้น

       ครั้นพอเด็กเข้าโรงเรียน ครูสอนให้อ่านหนังสือ เขาก็เริ่มรู้จักศัพท์สำนวนใหม่ ๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยได้ยินผ่านหู เพราะฉะนั้นศัพท์สำนวนใหม่ ๆ ที่เขาได้รับนี้ เขาได้รับผ่านช่องทางใหม่ คือผ่านตา เพิ่มเติมจากช่องทางเดิมที่ได้รับผ่านหูอย่างเดียว เด็กจึงมีศัพท์สำนวนมากขึ้นสำหรับการพูด

       คราวนี้ย้อนมาดูการฝึกพูดภาษาอังกฤษของเด็กไทยบ้าง  สำนวนและสำเนียงภาษาอังกฤษ อันเป็นสองสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการพูด เด็กได้มาจากไหน และได้มาเพียงพอหรือเปล่า?

       ขอว่าเรื่องศัพท์สำนวนก่อน เด็กแต่ละคน แต่ละโรงเรียน อาจจะรู้ศัพท์จำนวนไม่เท่ากัน แต่ไม่ใช่ว่าเด็กจะต้องรู้ศัพท์เยอะ ๆ จึงจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะอย่างเด็กไทยหัดพูดภาษาไทย รู้แค่ไหนเด็กก็พูดแค่นั้น ไม่ใช่พูดไม่ได้

        แต่ที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องสำเนียง ซึ่งต้องได้มาจากการฟังเท่านั้น ไม่สามารถได้มาจากการอ่าน การรู้และเข้าใจสำเนียงหมายความว่าอย่างไร? มันหมายความว่า...

  1. เมื่อได้ยินคนอื่นพูดคำนั้น เด็กฟังและเข้าใจ
  2. เมื่อจะพูดคำนั้นบ้าง เด็กก็พูดได้ทันที พูดได้อย่างมั่นใจ อย่างไม่กลัวผิด
  3. นอกจากพูดเป็นคำ ๆ แล้ว เด็กยังสามารถนำคำนั้นไปผูกเป็นประโยคหรือวลีเพื่อใช้พูดได้อีกด้วย ความสามารถเช่นนี้มาจากการได้ฟังผู้ใหญ่พูด และเขาก็พูดตาม และต่อมาก็ดัดแปลงผูกประโยคของตัวเอง  เขาทำได้อย่างนี้ก็เพราะเขาฟังมาเยอะ จนซึมเข้าไปในไส้  และพูดได้โดยไม่ต้องคิด

       พอมาถึงตรงนี้ ท่านจะเห็นชัดว่า การที่เด็กไทยหรือคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ทั้ง ๆ ที่เรียนวิชาภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก ปัญหามันไม่ใช่เพียงแค่ครูเน้นเรื่องแกรมมาร์มากเกินไปอย่างที่ชอบอ้างกัน  แต่เป็นเพราะเราฝึกให้เด็กฝึกพูดน้อยเกินไปจนเด็กไม่ได้พูด และพูดไม่ได้ และไม่กล้าพูด ทั้ง ๆ ที่ก็รู้ศัพท์สำนวนมากพอสมควร รู้แกรมมาร์เยอะ ซึ่งได้มาจากการอ่าน ไม่ใช่ได้มาจากการฟัง

       เพราะเด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กฝึกฟังน้อยเกินไป น้อยมาก เด็กจึงขาดเรื่องสำเนียง คือฟังสำเนียงที่คนต่างชาติพูดมาก็ไม่รู้เรื่อง และพูดออกไปด้วยสำเนียงที่คนต่างชาติฟังไม่รู้เรื่อง หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ ไม่กล้าพูดด้วยซ้ำ

       ทุกวันนี้มีเน็ตใช้ มีมากมายหลายเว็บที่สอนคนไทยพูดภาษาอังกฤษ โดยนำประโยคภาษาอังกฤษที่ใช้พูดในสถานการณ์ต่าง ๆ มาสอน  แถมยังแปลเป็นภาษาไทยให้อ่านอีกด้วย ปัญหาก็คือ เมื่อถึงโอกาสที่ต้องพูดจริง ๆ กับคนต่างชาติ  ถ้าเราจำประโยคพวกนี้ไม่ได้ หรือจำได้แต่ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์เฉพาะหน้า เราจะทำยังไง?

       ผมตั้งคำถามไว้อย่างนี้และก็เชื่อว่า  มีผู้รู้สามารถให้คำแนะนำดี ๆ มากมาย ซึ่งแปลว่า เราคงต้องฝึกหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้

       แต่ในที่นี้ผมขอแนะนำข้อเดียวเท่านั้น  คือ ต้องฝึกสิ่งที่เราไม่ได้ฝึกมาตั้งแต่ต้น หรือฝึกมาน้อยเกินไป ตั้งแต่สมัยเราเป็นเด็ก นั่นคือ ฝึกฟัง!

       ทำไมเมื่อจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้ การฝึกฟังเป็นงานแรกที่ต้องทำ?  ก็เพราะว่า

เมื่อฝึกฟัง เราจะได้ยินสำเนียง  และลีลาหนักเบาสูงต่ำของภาษาพูด เรื่องนี้ท่านจะเรียนจากการอ่านหนังสือก็ได้ แต่การอ่านไม่ช่วยให้การรู้จักสำเนียงซึมเข้าไปในตัวท่านได้ลึกเท่ากับการฟัง เพราะฉะนั้น...

[1] ท่านต้องฟัง

    ---> เมื่อท่านฟัง ท่านจะรู้จักวิธีออกเสียงเป็นคำ ๆ คุ้นเคยกับลีลาของภาษาเรื่องความสูงต่ำหนักเบาของเสียง แม้ว่าท่านจะไม่สามารถพูดได้เหมือนฝรั่ง (ซึ่งก็ไม่จำเป็นเลยที่ต้องพูดให้เหมือน) แต่ท่านจะสามารถพูดอังกฤษสำเนียงไทยที่คนต่างชาติไหน ๆ ก็ฟังรู้เรื่อง  นี่ต่างหากที่เราต้องการฝึก คือฝึกปากให้พูดสื่อสารรู้เรื่อง ไม่ใช่ฝึกพูดให้เหมือนฝรั่งให้ได้

    ---> เมื่อท่านฟัง ท่านจะค่อย ๆ คุ้นเคยกับสำเนียง ซึ่งจะช่วยให้ท่านเข้าใจเมื่อฟังคนต่างชาติพูด นี่คือการฝึกหูให้ฟัง

    ---> เมื่อท่านฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟังเพื่อเป็นพื้นฐานของการฝึกพูด ท่านควรฟังเรื่องที่ท่านชอบ สนุก สั้น และง่าย (เรื่องที่ยากและยาวนั้นเอาไว้ฝึกทีหลัง) ทำไมต้องเลือกเรื่องอย่างนี้สำหรับการฝึก เพราะว่าท่านจะได้มีแรง กำลัง energy สำหรับการเรียนรู้ดูดซึมสำเนียง และลีลาของศัพท์ สำนวน โครงสร้างภาษา ได้เยอะและอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ต้องหมดแรงไปกับการทำความเข้าใจเรื่องยาก ๆ มากเกินไป จนการฝึกฟังไม่มีประโยชน์ต่อการฝึกพูด

       อะไรคือคลิปที่สนุก สั้น และง่าย เท่าที่ผมสำรวจดูก็ไม่พ้น story ที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็ก ๆ ถ้าท่านรู้สึกว่าตัวเองโตเกินไปสำหรับเรื่องพวกนี้ หรือเรียนถึงหรือจบชั้นมหาวิทยาลัยแล้วไม่ใช่เด็กชั้นประถม  ก็ขอให้ถ่อมใจสักนิดและถือว่านี่เป็นเส้นทางของการศึกษา

       ลองดูข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างครับ

  1. stories for kids in english
  2. stories for kids in english "level 1"
  3. aesop stories in english
  4. english cartoons for learning english
  5. easy english learning cartoons
  6. easy english bedtime stories
  7. "for kids" OR easy english Buddhist  stories
  8. fairy tales for children in english

   ถ้ายังไม่ถูกใจ ลองเข้าไปหาเพิ่มเติมนะครับ มีเยอะครับ

       แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าบางท่านรู้สึกว่าตัวเองเมื่อฝึกฟังเรื่องที่ยากมันเป็นประโยชน์ต่อการฝึกพูด ก็เชิญดำเนินไปตามสะดวกครับ จะดูหนัง ฟังเพลงฝรั่ง ดูสารคดี ฟังเล็กเชอร์ ฟังออดิโอบุ๊ก ฯลฯ เชิญได้ตามสะดวกครับ

       ถึงบรรทัดนี้ ผมมีคำแนะนำ 4 ข้อ

✪ ถ้าฟังคลิปใดไม่รู้เรื่องเลย คือมันยากเกินพิกัด ให้เปลี่ยนคลิปใหม่ที่ง่ายและฟังรู้เรื่องมากขึ้น

การฟังไม่เข้าใจ 100% ไม่ใช่เรื่องที่ต้องโศกเศร้าเสียใจ แต่ขอให้เรามีสมาธิ 100% ในการฟัง ส่วนที่เราไม่เข้าใจและหลุดไปนั้น คือศัพท์และสำนวน แต่ด้วยสมาธิ 100% เราก็จะได้สำเนียง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพูด และช่วยให้การฟังครั้งต่อ ๆ ไปง่ายขึ้น

✪ การฟังซ้ำด้วยสมาธิ 100% ทุกครั้งที่ฟัง คือเรื่องที่ต้องฝึกให้เป็นนิสัย เมื่อเราฟังครั้งหลัง ๆ เราอาจจะแปลกใจว่า มันก็เรื่องเดียวกัน เมื่อคราวที่แล้วประโยคนี้ทำไมเราฟังไม่รู้เรื่อง นี่คือพัฒนาการครับ และผมอยากชักชวนให้ท่านฝึก จนพบพัฒนาการเช่นนี้ด้วยตัวเอง

✪ Subtitles ที่ขึ้นบนจอ หรือ Transcript ที่บาง story มีให้ท่าน แม้มีประโยชน์ที่ช่วยให้เราเข้าใจศัพท์สำนวนได้ง่ายและมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า ขณะนี้เรากำลังฝึกฟัง ซึ่งเน้นเรื่องสำเนียง ท่านอย่าปล่อยให้การเรียนรู้ศัพท์สำนวน มาขัดขวางการฝึกฟังสำเนียง ซึ่งเป็นงานที่ต้อง train your ears 100%

[2] อีกเรื่องที่ผมขอเน้นเป็นพิเศษก็คือ การฟังรู้เรื่องจะช่วยสร้างความมั่นใจ และความมั่นใจในการฟังนั้น จะนำไปสู่ความมั่นใจในการพูด ถ้าเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เราก็จะไม่ค่อยมั่นใจในการพูดของเรา ทำให้พูดอย่างยั้ง ๆ แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเราฟังเขาพูดรู้เรื่อง เราก็จะมั่นใจในการพูดของเรามากขึ้น ถ้าสำเนียงพูดภาษาอังกฤษของเราไม่หรูหรา ก็เป็นหน้าที่ของคุณที่ฟังฉันพูดต้องพยายามเอาบ้าง จะให้ฉันพยายามอยู่คนเดียวได้ยังไง (ฮา!)

       ท่านผู้อ่านครับ อย่างที่ผมบอกแล้วว่า การฝึกให้พูดภาษาอังกฤษได้ต้องทำหลายอย่าง การฝึกฟังที่ผมเน้นเท่าที่คุยมานี้ เป็นอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้และต้องทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง ถ้าเราฝึก ๆ หยุด ๆ ทักษะที่ได้จากการฝึกมันก็อาจจะเสียไป พอมาฝึกใหม่ก็ต้องเริ่มจาก step one อีก จึงเสียเวลา เหมือนดาวน์โหลดไฟล์ RAR ขนาดใหญ่  ถ้าไม่ดาวน์โหลดต่อเนื่องให้เสร็จไปเลย แต่ shut  down เสียก่อน พอมาดาวน์โหลดใหม่ก็ต้องเริ่มจาก byte ที่ 1  จึงเป็นการฝึกที่เสียเวลาและไร้ผล การทำอะไรให้สำเร็จ ความพยายามนั้นจำเป็น และต้องเป็นความพยายามที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่พยายามครึ่ง ๆ กลาง ๆ

       ผมขอย้อนกลับมาตอบปัญหาที่ตั้งไว้เป็นหัวเรื่อง “ไม่กล้าพูดอังกฤษ!  ทำยังไงให้กล้า?” คำตอบสั้น ๆ ก็คือ ขอให้ท่านฝึกฟังจนเข้าไส้เถอะครับ และเมื่อถึงคราวที่จะพูดภาษาอังกฤษ ท่านจะกล้าพูดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ

       คนกล้า ทำอะไรก็สำเร็จ แต่ก่อนที่ท่านจะกล้าพูด ท่านต้องกล้าฝึกฟัง และไม่เกลียดความสำเร็จที่มาช้า ไม่ทันใจท่าน

พิพัฒน์ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com