Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

Tip ในการอ่านข่าวภาษาอังกฤษ

newstips

สวัสดีครับ
       บ่อยครั้งที่ผมแนะให้พัฒนา reading skill โดยฝึกอ่านข่าวภาษาอังกฤษ เพราะเราจะได้ทั้งข่าวสารความรู้ ศัพท์และภาษาที่ใช้กันทั่วไป และนี่ก็จะช่วยให้การฝึกฟัง-พูด-เขียน ของเราง่ายขึ้นด้วย
       แต่ภาษาอังกฤษในข่าว ก็มีบางอย่างที่ต่างจากภาษาที่เขียนนิยาย, บทความ, จดหมาย, การ์ตูน, โฆษณา, ตำรา ฯลฯ ที่เด่นที่สุดคือ เขามักจะพยายามเขียนให้กระชับและกระจ่าง (concise & clear) ซึ่งท่านที่อ่านข่าวอยู่เป็นประจำก็จะสังเกตได้ไม่ยาก
       ผมขอยกตัวอย่างลักษณะของภาษาอังกฤษที่มักเจอเสมอในเนื้อข่าว ดังนี้
【1】 กลุ่มคำนาม:
คือ จะมีคำนามหลักเป็นคำสุดท้าย และวางคำอื่น ๆ ไว้หน้าคำนามนี้เพื่อขยาย (เป็นการเขียนแบบไม่เปลืองพื้นที่) มันอาจจะ

  • เป็น noun ด้วยกัน,
  • เป็น adjective,
  • เป็น adverb ขยาย adjective,
  • เป็น verb+ing, หรือ
  • เป็น verb+ed

       เพราะฉะนั้นเวลาที่อ่านท่านจะต้องดูคำนามหลัก และกวาดสายตามองให้เห็นคำอื่น ๆ ทั้งกลุ่มที่ขยายคำนามหลัก โดยทั้งกลุ่มนี้ อาจจะเป็นประธาน, เป็นกรรม, หรือเป็นส่วนขยายก็ได้
【2】 คำขยายที่ต่อท้ายคำที่ถูกขยาย:
       นี่เป็นลักษณะเด่นของการเขียนข่าว คือเพื่อประหยัดเนื้อที่ เมื่อจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมก็จะนำมาเรียงต่อเลย วิธีเรียงต่อเด่น ๆ ก็คือ
       ► คำที่นำมาต่อเป็นอนุประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำพวกนี้ คือ what, when, where, why, who, which, that, และ how ตอนเราแปลเป็นภาษาไทย ก็มักจะตรงกับคำว่า ที่, ซึ่ง, อัน ถ้ากลุ่มคำขยายอยู่ต่อท้ายติดกันทันทีก็คงไม่งง, แต่ถ้ามีการเว้นห่าง บางทีก็ชวนให้งงว่า อะไรมันขยายอะไรกันแน่
      ► นำวลีมาต่อท้ายคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุพบทวลี (วลีที่นำหน้าด้วยบุพบท) เช่น in the meeting room, with a beautiful garden, of the danger of the AIDS virus วลีพวกนี้ถ้ายาวมาก ๆ หรือพ่วงด้วยอนุประโยค ก็ชวนให้งงได้ง่าย ๆ
      ► บางทีก็นำกลุ่มคำที่ขยายมาต่อท้ายง่าย ๆ โดยคั่นด้วยเครื่องหมายคอมม่าเท่านั้นเอง เช่น ในข่าวนี้เมื่อพูดถึงเบื้องหลังของคุณมีชัย วีระไวทยะ "Some may call him Kobori, the leading man of the 1970 melodrama Sunset In Chaophraya, which he starred in."
【3】 passive voice:
       ในข่าวมักเขียนโดยใช้ passive voice บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานไม่สำคัญ หรือไม่รู้ว่าใครเป็นประธาน หรือไม่ต้องการระบุประธาน และบางทีการเขียน verb ในรูป past participle ก็คล้าย ๆ passive voice ที่เอา verb to be ออก หรือการเขียนพาดหัวข่าวบ่อยครั้งก็นำ verb to be ออก ให้คนอ่านเข้าใจเอาเอง เช่น Royal cremation (was) set for Oct 26
【4】 tense ที่ใช้บ่อย ๆ ในการเขียนข่าว:
       ข่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ตามทฤษฎีจึงต้องเล่าด้วย past tense (past simple, past continuous, past perfect) แต่ก็มี tense อื่น ๆ ปนอยู่บ้าง เช่น พาดหัวข่าวใช้ present tense เพื่อให้ความรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ใหม่ ๆ, หรือถ้าอยู่ในเครื่องหมาย "....." คือเป็นคำพูดของบุคคลในข่าว ก็ใช้ tense ให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่เขาพูด
【5】 ผมพูดบ่อย ๆ ให้ท่านสังเกตภาษาในการเขียนข่าว และก็ขอพูดคำเดิมนี้อีกครั้ง เช่น
       ► ต้องแยกแยะให้ออกว่า คำศัพท์ที่ใช้ในข่าวเป็นคำอะไร เช่น light N = แสงสว่าง, V = จุดไฟ, Adj = (น้ำหนัก)เบา, (สี)จาง; form N= รูปทรง, V = ก่อรูป ; found ถ้าเป็น verb ช่อง 2 ของ find แปลว่า พบ แต่ถ้าเป็น verb ช่อง 1 ซึ่งช่อง 2 คือ founded ก็แปลว่า ก่อตั้ง การแยกแยะอย่างนี้มีประโยชน์มาก เพราะบางทีเราไปเจอศัพท์ที่เราไม่รู้จักความหมาย แต่ถ้าเรามองออกว่ามันเป็น verb หรือ noun การจะเดาความหมายก็ง่ายขึ้น
      ► คำที่เป็น verb + preposition ไม่ว่ามันจะ

  • เป็น phrasal verb,
  • เป็น idiom,
  • เป็น collocation,
  • เป็น verb + preposition ธรรมดา ๆ

ก็ขอให้สังเกตการใช้ของมันสักหน่อย เมื่อสังเกตบ่อย ๆ เราจะนำไปใช้พูดหรือเขียนได้ถูกโดยไม่ต้องท่อง
       นี่เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการอ่านข่าวภาษาอังกฤษ
       ผมขอให้ท่านลองอ่านข่าวนี้จาก นสพ Bangkok Post ซึ่งพูดถึงโรงเรียนทางเลือกที่คุณมีชัย วีระไวทยะ ไปสร้างไว้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ. 2551 ลองใช้ Tip ที่ผมแนะนำในการอ่านข่าวนี้ดูซีครับ

       ▬►   คลิก

ศึกษาเพิ่มเติม

  1. วิธีอ่านภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง โดยไม่งงกับ "ที่, ซึ่ง, อัน" ในประโยค
  2. เทคนิคการอ่าน นสพ.ฝรั่งให้รู้เรื่อง

พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com