ประโยชน์ของ phrasal verb และการฝึกเพื่อนำไปใช้ในการพูด

phrasalverbs
สวัสดีครับ
     ถ้าผมเดาไม่ผิด เราคนไทยนี่คุ้นกับการจำศัพท์หรือท่องศัพท์คำเดี่ยว ๆ มากกว่า 2 คำติดกัน เช่น call เราก็จำว่ามันแปลว่า "เรียก" หรือ "โทรศัพท์ถึง"
     แต่เราก็ไม่ค่อยคุ้นที่จะจำ "call back" แปลว่า "โทรกลับ" หรือ "โทรหาอีกครั้ง", "sit" เราแปลว่า "นั่ง" แต่เมื่อไปเจอประโยค "We cannot just sit by and watch this tragedy happen." เราก็อาจจะพอเดาออกว่า "sit by" แปลว่า "นั่งเฉย ไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันเรื่องร้ายไม่ให้เกิดขึ้น" แต่ศัพท์ 2 ตัวอยู่ติดกันนี่บางทีก็เดายาก เช่น "I can't understand what you see in her." ในที่นี้ ท่านจะแปล "see in" ว่าอะไร ( มันแปลว่า เห็นว่าน่าสนใจหรือน่าดึงดูดใจ)
    หรือบางทีคำเดียวกัน แต่ความหมายต่างกัน เช่น "go by" ในประโยคนี้ "Things will get easier as time goes by." "go by" ตัวนี้ แปลว่า "ผ่านไป" แต่ในประโยคนี้ "Only a fool goes by the rules all the time." "go by" ตัวนี้ แปลว่า "ยึดตามระเบียบ"
    ศัพท์ 2 ตัว คือ verb + preposition ที่เราเรียกว่า phrasal verb นี้ ถ้าเป็นนักเรียนอาจจะสนใจเพราะครูมักหยิบมาออกข้อสอบ แต่สำหรับคนที่ต้องพูดภาษาอังกฤษในการทำงาน phrasal verb มีประโยชน์ตรงที่ว่า มันเป็นการใช้ศัพท์สำนวนที่เป็นธรรมชาติ เป็นกันเอง ไม่แข็งเกินไป และบางทีจะสื่ออารมณ์ได้ดีกว่าการใช้ศัพท์คำเดียวซะอีก
     และเราจะฝึกยังไงเพื่อแทรก phrasal verb เข้าไปในบทสนทนาของเรา ในเรื่องนี้ผมมีความเห็นดังนี้ครับ
[1] เราไม่ต้อง serious ตั้งหน้าตั้งตาท่อง phrasal verb อัดเข้าไปในสมองหรอกครับ, วิธีที่เป็นธรรมชาติที่สุดก็คือ พยายามอ่านและฟังภาษาอังกฤษบ่อย ๆ และเมื่อเจอ verb, preposition , adverb วางอยู่ติดกันหรือใกล้ ๆ กัน ก็ให้จับตาสังเกตมันหน่อย ภาษาแกรมมาร์เขาจะเรียกมันว่า "Phrasal Verb" หรือ "Prepositional Verb" ก็ช่างมันเถอะครับ เอาเป็นว่า ถ้าเจอมันอยู่ด้วยกันก็สังเกตมันหน่อย เมื่อสังเกตบ่อย ๆ ก็จะจำมันได้ → แปลได้ → และหยิบไปใช้พูดหรือเขียนได้ นี่เป็นวิธีศึกษาที่เป็นธรรมชาติที่สุด คือ "อ่าน+ฟังบ่อย ๆ → สังเกต → จดจำ → นำไปใช้"
[2] ตอนโน้นเราอาจจะสนใจเรื่อง phrasal verb นี้น้อยไปหน่อย แต่ตอนนี้เราโตแล้ว เรียนลัดบ้างก็ดีครับ วิธีเรียนลัดแบบง่าย ๆ ก็คือ ศึกษา phrasal verb จากหนังสือหรือเว็บที่เขารวบรวม phrasal verb ที่เขาบอกว่าใช้บ่อย โดยเนื้อหาที่เขารวบรวมไว้นี้ ที่ phrasal verb แต่ละคำมักจะมี 3 ส่วน คือ

  • (1) phrasal verb
  • (2) ความหมาย หรือ definition
  • (3) ประโยคตัวอย่างที่ใช้ phrasal verb

      และวิธีศึกษานั้น แรกสุด ให้ดูที่ (3) คือประโยคตัวอย่าง อ่านแล้วเราเข้าใจไหมว่ามันแปลว่าอะไร
     โดยตามทฤษฎีนั้น เขาบอกว่า phrasal verb นั้น ความหมายรวมของ 2 คำนี้มันไม่ได้ตรงตัว เช่น see off, see = เห็น, off = ออกไป, พอรวมกัน see off = ไปส่ง (เช่น → My parents came to the airport to see me off. พ่อแม่มาสนามบินเพื่อส่งฉันขึ้นเครื่องบิน)
     ท่านจะสังเกตได้ว่า ความหมายของ phrasal verb แต่ละตัวที่เราศึกษาก็จะมีลักษณะนี้ คือ เราเดาออกได้เยอะ, เดาออกได้บ้าง, เดาออกได้น้อย, หรือ เดาไม่ออกเลย ต่างกันไปในแต่ละคำ
     เมื่อเราไปเจอ phrasal verb ในหนังสือพวกนี้ เราก็ศึกษาไว้ทั้งหมดนั่นแหละครับ เพราะว่าเมื่อเราได้อ่าน ได้ยิน ได้พูดกับใคร เราจะได้เข้าใจ แต่การที่เราจะหยิบไปใช้พูดก็ดูสักหน่อย คือ ถ้าพูดกับฝรั่งที่เป็นเจ้าของภาษา หรือคนที่รู้ภาษาอังกฤษดี ก็หยิบไปพูดได้เลย แต่ถ้าพูดกับคนที่รู้ภาษาอังกฤษไม่ค่อยดี เช่น คนเอเชียบางชาติที่เราไม่แน่ใจในทักษะภาษาอังกฤษของเขา ถ้าใช้ phrasal verb ที่ใคร ๆ ก็เดาออกแม้จะได้ยินเป็นครั้งแรก อันนี้ก็ปลอดภัย เช่น "believe in - I don't believe in ghosts." ฉันไม่เชื่อว่าผีมีจริง แต่ถ้าเป็น phrasal verb ที่เดายาก อันนี้ก็ต้องดูให้ดีก่อนใช้ว่าเราพูดกับใครและเขาจะเข้าใจไหม เช่น "He had to give up drinking alcohol because it made him ill." ในที่นี้ "give up" แปลว่า "เลิกสิ่งที่ไม่ดี" ถ้าเราไม่แน่ใจ ก็ใช้คำว่า "stop" ก็ได้
     4 ลิงก์ข้างล่างนี้ คัดเลือก phrasal verb ที่ใช้บ่อยมาให้เราศึกษา อย่าลืมนะครับ ตอนที่ดู phrasal verb แต่ละตัว ให้ดูที่ประโยคตัวอย่างก่อน และฝึกเดา - ฝึกตีความ แล้วจึงค่อยเหลือบไปดูความหมายของมัน การฝึกอย่างนี้ นอกจากมีประโยชน์ในการเพิ่ม phrasal verb ให้ตัวเอง ยังช่วยพัฒนาทักษะการเดา-การตีความ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นและมีประโยชน์มากในการฝึกภาษาอังกฤษ
     เชิญครับ

  1. 50-common-English-phrasal-verbs translation เล่มนี้ ผมแทรกคำแปลไทยสั้น ๆ ไว้ให้ด้วย
  2. the-50-most-common-phrasal-verbs 
  3. Complete Phrasal Verbs List 
  4. Work on Your Phrasal Verbs Master the Most Common Phrasal Verbs 

พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/