ดิกที่เป็นเสมือนสมุดจดศัพท์ส่วนตัวสุดพิเศษ

สวัสดีครับ
         แม้ทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วย แต่การจำศัพท์โดยจดลงสมุดโน้ตและท่อง ก็น่าจะยังเป็นวิธีที่หลายคนใช้อยู่ ผมเองใช้วิธีนี้มาตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษชั้น ป.4 เรื่อยมาจนถึงเรียนมหาวิทยาลัย คุณครูมักสอนว่า อย่าจดแต่คำศัพท์+คำแปล ให้หาประโยคตัวอย่างใส่ลงไปด้วย จะได้ศึกษาโครงสร้างและลีลาของภาษาจากประโยคตัวอย่างนี้ แต่เรื่องของเรื่องก็คือ มันเสียเวลาหาและขี้เกียจเขียน ทำไปทำมาสมุดจดศัพท์สุดรักก็มีแค่คำศัพท์กับคำแปล ใช้ศึกษาอะไรไม่ได้นอกจากท่องอย่างเดียว
         ตอนที่ผมรู้จัก learner's dictionary ของ Oxford ใหม่ ๆ ผมชอบใจมาก เพราะมันมีประโยคตัวอย่างสั้น ๆ ที่ไม่ยากนักให้ฝึกอ่าน ผมถึงขั้นวางแผนเลยว่า จะอ่านดิก Oxford วันละ 3 หน้า และไม่ถึงปีก็จะอ่านจบเล่ม แต่ครั้นอ่านไปได้ไม่กี่วันก็สำนึกว่าแผนนี้คือฝันหวาน เพราะดิกทั้งเล่มมีศัพท์เกือบครึ่งแสนคำ และศัพท์จำนวนมากเราไม่เคยเจอมาก่อน-และแม้ชาตินี้หรือชาติไหน ๆ ก็คงไม่มีโอกาสเจอ ดิกชันนารีจึงไม่ใช่หนังสือที่มีไว้ให้ลุยอ่าน
        แต่ ณ วันนี้ที่ผมกำลังคุยกับท่านผู้อ่าน ต่างจากหลายสิบปีก่อนโน้น เพราะทุกวันนี้มี learner's dictionary ดี ๆ ที่คัดเลือกเฉพาะคำศัพท์สามัญที่ทุกคนควรรู้ ซึ่งไม่มากเกินไป มารวมไว้ในดิกเล่มไม่หนาเกินไป ทำให้ดิกทั้งเล่มเป็นสมุดจดศัพท์ส่วนตัวของเราได้อย่างสบาย ๆ คือมันมีศัพท์ไม่มากเกินไป ทุกคำเราลงทุนจดจำได้และจะไม่ขาดทุนเด็ดขาด เพราะ 99 % ของคำศัพท์เรามีโอกาสใช้แน่ ๆ
        และในดิกที่ว่านี้ก็มีครบทั้งคำศัพท์-คำแปล(ความหมาย)-คำอ่าน-ประโยคตัวอย่าง ถึงแม้ไปเจอคำที่ไม่เคยเจอ ก็แน่ใจได้ว่า ถ้ารู้และจำไว้จะให้ประโยชน์จริง ๆ เหมือนยาในตู้ยาสามัญประจำบ้าน หรือเครื่องแกงสามัญประจำครัว มีติดไว้ได้ใช้แน่ ๆ
        ผมขอแนะนำดิกชันนารีที่ทุกท่านสามารถใช้เป็นตู้ศัพท์ส่วนตัว คลิกใช้ได้โดยสะดวก 2 เล่มข้างล่างนี้ ซึ่งผมได้ทำ Bookmarks ให้ท่านคลิกไปยังคำที่ขึ้นต้นด้วย A B C ... X Y Z ไว้เรียบร้อยแล้ว
เล่มที่ 1

longmandictET

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Longman Basic English-Thai Dictionary (ศัพท์ประมาณ 12,000 คำ)
ศัพท์แทบทุกคำจะประกอบด้วย 6 ส่วน คือ (1)คำศัพท์ (2)คำอ่าน (3)ชนิดของคำ หรือ part of speech (4)คำแปล (5)ประโยคตัวอย่าง (6)คำแปลประโยคตัวอย่าง จะมีเฉพาะบางคำเท่านั้นที่ไม่มีประโยคตัวอย่างให้มา ดังภาพข้างล่างนี้

loud
  → คลิกดาวน์โหลด 
      อ้อ! เกือบลืมไป สำคัญมากซะด้วย
เรื่องที่ 1:

ตอนศึกษาคำศัพท์ เมื่อสายตาของท่านกระทบคำศัพทื์ตัวดำที่เป็น headword แล้ว ขอให้ท่านบังคับสายตาให้ดูที่ตัวเอนที่เป็นประโยคตัวอย่าง และพยายามอ่านทำความเข้าใจ ต่อจากนี้จึงค่อยเลื่อนสายตาไปดูคำแปลไทย หรือความหมายเป็นภาษาอังกฤษ การฝึกแบบนี้มีประโยชน์มาก ได้ทั้งทักษะการอ่าน การเดา การตีความ เพราะเราบังคับให้สมองออกกำลัง ไม่ใช่นอนรอรับข้อมูลอย่างหมดแรง
เรื่องที่ 2:

ส่วนที่ (2) คือคำอ่านที่ดิกให้เป็นโฟเนติกส์ไว้นั้น เขาเทียบเสียงเป็นภาษาไทยให้เราดูที่หน้า 571-572/577 ของไฟล์ pdf หรือก็คือหน้า 578-579 ของหน้าหนังสือ ในครั้งแรก ๆ ถ้ายังไม่คุ้นอาจจะงงนิดหน่อย แต่ถ้าเทียบไปสักพักเดียวก็จะเข้าใจและจำได้ ขอบอกว่าสัญลักษณ์โฟเนติกส์พวกนี้เรียนรู้ไว้เถอะครับ มีประโยชน์มาก เพราะถ้าเราอ่านโฟเนติกส์ออก แม้ไม่ได้ยินเสียงด้วยหู เราก็รู้ว่ามันออกเสียงยังไง
เล่มที่ 2

Basic.fm
Easier English Basic Dictionary (ศัพท์ประมาณ 10,000 คำ)
เล่มนี้ดีกว่าเล่มที่ 1 ตรงที่ว่า นอกจากศึกษาคำศัพท์ไปเรื่อย ๆ ตามที่ต้องการแล้ว ท่านยังสามารถใช้วิธีค้นแบบเจาะจงอีกด้วย โดยใช้ Control+F เช่น

  • พิมพ์คำว่า walked ก็จะพบคำว่า walked ที่เป็น example sentence ถึง 40 ประโยค
  • พิมพ์คำว่า verb to ก็จะพบ verb กว่า 900 ตัว ที่มีความหมายเดียว
  • พิมพ์คำว่า verb 1. ก็จะพบ verb กว่า 600 ตัว ที่มี 2 ความหมายขึ้นไป
  • พิมพ์คำว่า adjective ก็จะพบ adjective กว่า 1,100 คำ
  • พิมพ์คำว่า phrasal verb ก็จะพบ phrasal verb กว่า  280 ตัว
  • พิมพ์คำว่า adverb ก็จะพบ adverb adverb ทั้งเล่ม 390 ตัว
  • พิมพ์คำว่า preposition ก็จะพบ preposition ทั้งเล่ม กว่า 60 ตัว
  • พิมพ์คำว่า conjunction ก็จะพบ conjunction ทั้งเล่ม กว่า 30 ตัว

นับว่าสะดวกมาก ๆ แม้มีดิกเป็น book ก็ยังค้นแบบ eฺBook ลักษณะนี้ไม่ได้เลยครับ
    → คลิกดาวน์โหลด 
       ส่วนวิธีบังคับสายตาในการอ่าน ก็ทำตามที่แนะข้างบนนะครับ
       ท่านผู้อ่านครับ ผมขอเชิญชวนให้ท่านทำความสนิทสนมคุ้นเคยกับดิก 2 เล่มนี้ ตามวิธีที่ว่ามานี้ ขอรับรองว่า ท่านจะได้รับประโยชน์คุ้มค่ากับความพยายาม
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/