Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

วิธีอ่านนิยาย bestseller ให้จบสัก 1 เล่ม ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยรู้ศัพท์

bestsellerสวัสดีครับ
        ผมเชื่อว่า หลายท่านที่ฝึกภาษาอังกฤษ ต้องการอ่านนิยาย bestseller ฉบับจริง (ไม่ใช่ฉบับ simplified) ที่ตัวเองชอบให้จบสัก 1 เล่ม เพื่ออะไร? ก็เพราะว่า นี่เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง และก็เป็นแรงบันดาลใจด้วย เพราะถ้าได้อ่านจบเล่มที่ 1 ก็จะมีแรงให้อ่านจบเล่มที่ 2 เล่มที่ 3 ต่อไปได้เรื่อย ๆ
       แต่ท่านที่เคยลองอ่านอาจจะเจอด้วยตัวเองแล้วว่า มันอ่านยาก ปัญหาใหญ่สุดก็คือไม่รู้ศัพท์ ยิ่งอ่านยิ่งไม่รู้เรื่อง จึงเลิกอ่านหลังจากเริ่มอ่านไปได้ไม่กี่หน้า
       ผมอยากจะบอกทุกท่านที่รักในการฝึกภาษาอังกฤษ และอยากได้ความเพลิดเพลินและความรู้จากการอ่านนิยายว่า อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะมันมีวิธีที่จะช่วยให้ท่านอ่านนิยายต้นฉบับภาษาอังกฤษได้จบเล่ม และรู้เรื่องมากพอสมควร
      เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ผมไปที่ตลาดนัดใกล้บ้าน เจอนิยาย bestseller ของ John Grisham เรื่อง The Rainmaker (มีแปลเป็นไทย ชื่อ "หักเขี้ยวเสือ") ราคาแค่ 50 บาทเลยซื้อไว้ เล่มนี้ถ้าเป็นหนังสือใหม่ขายในร้านหนังสือคงราคาหลายร้อย
      เมื่อมาดูที่เว็บ www.e4thai.com  ก็เจอว่า เล่มนี้ของนักเขียนคนนี้ มี eBook ให้ดาวน์โหลด → คลิก  
      ผมเริ่มอ่านแลัวก็รู้สึกว่าสนุก สมชื่อหนังสือ bestseller แล้วก็นึกถึงท่านผู้อ่าน
      เนื้อหาที่จะเขียนต่อไปนี้ โดยสรุปผมต้องการจะบอกทุกท่าน ดังนี้ครับ
【1】นิยาย bestseller ของฝรั่งหลายเล่มเขาเขียนได้ดีจริง ๆ คือเขานำเหตุการณ์จริง ๆ มาจำลองเป็นนิยาย เมื่ออ่านเราไม่ได้แค่สนุกแต่ยังได้ความรู้อีกด้วย และก็ไม่ใช่ความรู้อย่างในตำราวิชาการ แต่เป็นความรู้ที่เห็นภาพชัดเจนเพราะมีตัวตนแสดงให้ดู มีคำพูดใต้ตอบและบอกเล่าให้คิดตาม
【2】เพราะฉะนั้น ตอนผมจะหยิบนิยายภาษาอังกฤษมาอ่านสักเรื่อง เกณฑ์แรกง่าย ๆ ที่ผมใช้ในการเลือกก็คือ ต้องเป็นนิยาย bestseller เพราะมันเท่ากับเป็นการกรองขั้นแรกว่า เรื่องที่จะหยิบขึ้นมาอ่านนี้คุณภาพใช้ได้ โดยถ้านิยายเล่มใดเป็น bestseller เขาจะพิมพ์ไว้ที่หน้าปก ทำนองนี้  คลิกดู 
        แต่ทั้งนี้แต่ละคนก็ควรหา bestseller แนวที่ตัวเองชอบ เพราะถ้าไม่ใช่แนวที่เราชอบ ต่อให้เป็น bestseller เราก็ไม่อยากอ่าน
        อย่างผมเอง ชอบอ่านนิยายแนว suspense หรือ thriller ของนักเขียน 3 คนนี้
john-grisham 
dan-brown  
sidney-sheldon 
        ท่านเองก็เช่นครับ ก็น่าจะลองหาให้พบว่า ท่านชอบนิยายแนวไหน เล่มใด ของนักเขียนคนใด จะได้เลือกอ่านเล่มที่อ่านแล้วมีความสุข

List_of_best-selling_books
List_of_best-selling_fiction_authors

【3】ประเด็นต่อไปที่ขอแนะนำก็คือ ท่านต้องการรู้เรื่องย่อของนิยายก่อนที่จะอ่านต้นฉบับหรือเปล่า? ถ้าต้องการรู้ก็อาจจะหาเรื่องนั้นที่แปลเป็นภาษาไทยมาอ่าน ซึ่งนิยาย bestseller ของนักเขียนชื่อดังของฝรั่งมีแปลเป็นภาษาไทยเยอะทีเดียว แต่ถ้าท่านหาไม่เจอหรือไม่มีเวลาไปหา ท่านอาจจะหาอย่างง่าย ๆ โดยกูเกิ้ลด้วยคำว่า เรื่องย่อและต่อด้วยชื่อหนังสือ เช่น นิยายเรื่อง The Rainmaker ของ John Grisham
→  เรื่องย่อ the rainmaker   
แต่ถ้าท่านพิมพ์คำค้นเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะมีให้ท่านอ่านมากกว่ากันเยอะเลย
→  summary the rainmaker  
【4】เอาละ คราวนี้มาถึงประเด็นสำคัญที่จะพูดในวันนี้ คือ เมื่อเราลงมืออ่านต้นฉบับนิยายภาษาอังกฤษ เราอาจจะรู้สึกกลัวว่า หนังสือเล่มหนา ใช้ศัพท์ยาก อ่านไม่รู้เรื่อง ผมขอบอกว่าท่านอย่าไปกลัวมันมากเกินไป จริง ๆ แล้วการอ่านนิยายง่ายกว่าการอ่านข่าวหรือบทความภาษาอังกฤษเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นนิยายแนวที่เราชอบจะอ่านสนุกมาก และยังได้ฝึก reading skill มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว
          ประเด็นเรื่องไม่รู้ศัพท์ทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง ผมขอบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายของศัพท์ชนิดชัดเจนแจ่มแจ้ง เราเพียงรู้แนวทางของความหมายหรือคำแปลของศัพท์คำนั้นหรือกลุ่มนั้น ก็เพียงพอแล้วที่เราจะอ่านไปได้อย่างลื่นไหลและมีรสชาติ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการ "เดา" อย่างมีหลักการ ไม่ใช่เดามั่ว
       เรื่องนี้ มี 3 ประเด็นที่ผมขอพูดชัด ๆ
【1】ท่านต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่อง part of speech หรือชนิดของคำ อย่างชัดเจน ( คลิกดู ) คือขณะที่อ่าน ท่านจะต้องมองให้ออกว่า คำ(หรือกลุ่มคำ)ไหน เป็น noun, เป็น verb, หรือเป็น adjective/adverb

  • เมื่อมองออกว่า มันเป็น noun เราก็มองต่อว่า มันเป็น คน, สัตว์,สิ่งของ, นามธรรม, ความรู้สึกนึกคิด, การกระทำ ฯลฯ
  • เมื่อมองออกว่า มันเป็น verb ถ้าเราไม่รู้คำแปล แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่า มันเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น  ถ้ามันเป็น verb ที่คนแสดง มันก็ต้องเป็น verb ที่แสดง action อย่างใดอย่างหนึ่ง, หรือเป็นการพูด อย่างใดอย่างหนึ่ง, หรือเป็นการรู้สึก-นึก-คิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ; แต่ถ้ามันเป็น verb ที่สิ่งของแสดง (เช่น รถยนต์)  แม้เราอาจจะไม่รู้จัก verb ตัวนั้น  แต่เราก็น่าจะเดาความหมายไปในแนวที่เป็นอาการของรถยนต์  และยิ่งถ้ามีคำขยายอื่น ๆ มาต่อท้าย  การเดา verb ตัวนี้ก็จะง่ายขึ้นอีก   เป็นต้น
  • เมื่อมองออกว่า มันเป็น adjective ที่เป็นคำขยาย เราก็ต้องมองให้ออกว่า มันขยาย noun ที่เป็นประธานหรือกรรมตัวไหน, หรือถ้าเป็น adverb มันขยาย verb ตัวไหน หรือขยายประโยคใด

【2】 บ่อยครั้งที่คำที่ทำหน้าที่เป็น noun, verb, adjective, adverb นี้ มันไม่ได้เป็นคำเดี่ยว แต่มันอยู่เป็นกลุ่มคำ เราก็ต้องมองให้ออกว่า

  • นี่กลุ่ม noun ที่ทำหน้าที่เป็นประธาน หรือเป็นกรรม,
  • นี่กลุ่ม verb,
  • นี่กลุ่ม adjective หรือ adverb ที่เป็นส่วนขยาย,

       และในกลุ่มหนึ่งที่มีหลายคำนี้ บางคำเราก็รู้จัก บางคำเราก็ไม่รู้จัก แต่จากตำแหน่งของคำ เราก็ต้องพยายามตีให้ออกว่า คำใดสำคัญจำเป็นต้องรู้ คำใดไม่สำคัญยังไม่ต้องรู้ก็ได้ หรือคำใดที่สำคัญสุด ๆ ควรจะต้องเปิดดิกทันที
【3】คราวนี้มาถึงเรื่องที่สำคัญที่สุด คือการเดาอย่างมีหลักการ คือ เมื่อเรามองออกว่า มันเป็นคำอะไร - ทำหน้าที่อะไร คือเป็น noun, เป็น verb, เป็น ส่วนขยาย, เป็นประธาน, เป็นกรรม ฯลฯ ซึ่งมีทั้งคำที่เรารู้และไม่รู้คำแปล เราก็ต้อง
     A: อาศัยคำที่เรารู้ นำไปแปลคำที่เราไม่รู้
     B: อาศัยการเดาโดยใช้ตำแหน่งของคำเป็นตัวชี้บอก เช่น

  • -เรามองออกว่า กลุ่มประธานนี้ เป็นคน ซึ่งประกอบด้วยคน และคำที่เป็นส่วนขยายคน ถ้ามันมีบางคำที่เราไม่รู้จักและดูแล้วถึงไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ก็ไม่ต้องไป serious กับมัน
  • -และให้มองต่อไปว่า กลุ่ม verb ของประธานตัวนี้คืออะไร ถ้าเราอ่านแล้วแปลไม่ออก อย่างน้อยก็ให้พยายามตีให้ออกว่า มันเป็น verb ที่เป็นการเคลื่อนไหวทางร่างกาย, หรือเป็นการพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง, หรือเป็นการคิดหรือรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้า verb นี้มีคำหรือกลุ่มคำเป็นกรรมมารับ ก็จะช่วยให้เราเดาได้ง่ายขึ้น ว่า ประธาน+กริยา+กรรม นี้มันแปลว่าอะไร อย่างที่บอกแล้ว เราใช้คำที่รู้ไปเดาหรือตีความคำที่เราไม่รู้ โดยอาศัยดูจากเนื้อเรื่องด้วยว่า ตัวแสดงในนิยายกำลังพูดหรือแสดงอะไรกันอยู่
  • -ลักษณะหนึ่งของการเล่าเรื่องในนิยายก็คือ คนแต่งจะค่อย ๆ เพิ่มข้อมูลหรือเรื่องราวให้แก่ตัวแสดง, สถานที่, สิ่งของ, เนื้อหา, และนี่เป็นสิ่งที่เราต้องจับให้ได้ว่า คำหรือกลุ่มคำที่เขาค่อย ๆ เล่าเพิ่มเติมนี้ หมายถึงอะไรที่เขาได้เล่าไปแล้ว

       ท่านผู้อ่านครับ วิธีการเดาตามที่ผมแนะนี้ ปกติท่านก็ใช้อยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่น ท่านอ่านหนังสือนอกเวลา Level ต่ำ ๆ → คลิกเข้าไปดู   เขาใช้ศัพท์และโครงสร้างประโยคง่าย ๆ ท่านก็มองออกทันทีว่า คำหรือกลุ่มคำใดเป็น ประธาน-กริยา-กรรม, หรือว่า เป็น noun-verb-adjective-adverb แต่เมื่อมาอ่านนิยายที่ใช้ศัพท์และโครงสร้างประโยคที่ยากขึ้น ท่านก็ใช้วิธีเดาอย่างเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่เดาแล้วมันอาจจะไม่กระจ่าง 100% ซึ่งก็ไม่เป็นไร มันอาจจะกระจ่างแค่ 50-60-70 % ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เราจับให้ได้ว่า เนื้อเรื่องมันดำเนินไปในแนวไหน ก็ถือว่าใช้ได้ เช่น
       Mrs. A กำลังเคลื่อนตัวจาก จุดที่ 1 ไปยังจุดที่ 2 คนแต่งอาจจะไม่ใช้คำว่า walk แต่อาจจะใช้ศัพท์ตัวอื่นเดี่ยว ๆ เพื่อบรรยายลักษณะท่าท่างของการเปลี่ยนสถานที่ เช่น  ใช้คำศัพท์เหล่านี้  คำที่ผู้แต่งเลือกใช้นี้ ถ้าเราอ่านแล้วไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นไร แต่ด้วยการวิเคราะห์ชนิดของคำ, ประธาน-กริยา-กรรม-ส่วนขยาย ดังที่ว่ามานี้ ถ้าเรามองออกว่า Mrs. A กำลังเคลื่อนตัว ก็ถือว่าใช้ได้ โดยไม่ต้องเปิดดิกซึ่งจะทำให้การอ่านของเราสะดุด และก็ไม่ต้องหงุดหงิดถ้าเราเข้าใจไม่ชัด 100 %
       ท่านผู้อ่านครับ ศิลปะในการเดาความหมายของศัพท์จากประโยคแวดล้อมนั้น มีสอนกันเยอะ ทั้งในเว็บไทยและเว็บอังกฤษ แต่คำสอนทั้งหลายแม้มากมายและมีประโยชน์ปานใด ก็เป็นเพียงแผนที่หรือหนังสือคู่มือ ความชำนาญในการเดาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราฝึกด้วยตัวเอง และในวันนี้ผมจึงขอแนะนำให้ท่านฝึกกับการอ่านนิยาย bestseller เล่มที่ท่านชอบ
       สำหรับนิยาย bestseller มือสองราคาถูก ๆ นี้ (เช่น เล่มละ 50 บาท) ผมก็เห็นบ่อย ๆ ตามตลาดนัดข้างบ้าน, กระบะเลหลังขายหนังสือในห้างหรืองานสัปดาห์หนังสือ, หรือที่จตุจักรก็น่าจะมี ถ้ามีโอกาสก็ลองหาดูนะครับ
       ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษนั้น มีประโยชน์มาก ๆ และการฝึกให้อ่านเก่ง อ่านคล่อง ก็ต้องอาศัยหลาย ๆ วิธี ให้โอกาสแก่ตัวเองเถอะครับ

พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com