Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ฝึกภาษาอังกฤษด้วยหัวใจ สมอง และสายตา ที่แจ่มใส

bigface photoสวัสดีครับ
       ท่านผู้อ่านครับ จากการที่ผมเป็น blogger และ webmaster มาหลายปี มีหลายคำถามที่คนเขียนมาให้ตอบ แต่มีอยู่หนึ่งคำถามที่ดูเหมือนตอบง่าย แต่จริง ๆ แล้วตอบยาก หรือตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ หรือเมื่อคิดดูอีกทีอาจจะไม่ต้องตอบ เพราะคนที่จะตอบได้ชัดเจนที่สุดก็คือคนที่ถามคำถามนั้นแหละ คำถามมักจะออกมาลักษณะนี้

.... เรียนจบมาหลายปีแล้ว แต่ภาษาอังกฤษอ่อน อยากจะฟิตภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อน จะท่องศัพท์หรือฟิตแกรมมาร์ก่อน หรือฝึกพูดฝึกฟังก่อน มี eBook - มีเว็บ - มีแอปป์ให้เรียนมากมายจนเลือกไม่ถูก แต่เรียนไปพักใหญ่แล้วก็ไม่เห็นผลดีขึ้นสักเท่าไหร่ พูดก็ไม่ได้ ฟังก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง อ่านก็เข้าใจลำบาก น่าจะหมดหวังซะแล้ว  ฯลฯ ....

       ถ้าท่านเป็นผมและเจอคำถามทำนองนี้ ท่านจะตอบยังไง?

       ถ้าไม่คิดมาก คำถามอย่างนี้ตอบได้ง่ายมาก ท่านเช็กง่าย ๆ อย่างนี้แล้วกันครับ ลองถามกูเกิ้ลด้วยคำว่า "วิธีฝึกภาษาอังกฤษ" จะมีคำตอบเป็นตัน ๆ ให้ท่านอ่าน → คลิกดู  ท่านลองเข้าไปอ่านสัก 2 - 3 ลิงก์ก็ได้ครับ และก็จะเห็นว่า เออ! เขาตอบเข้าท่าแฮะ แต่ท่านลองถามตัวเองก่อนว่า ท่านอยากทำหรือเคยลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้ มากน้อยเพียงใด และถ้าไม่ค่อยได้ทำ มันเพราะอะไร?

       เมื่อผมมาเป็น webmaster ของ e4thai.com และเจอคำถามนี้บ่อย ๆ ผมก็ได้สำนึกว่า นี่มันเป็นคำถามที่บรมอภิมหาอมตนิรันดร์กาล และเนื่องจากผู้ถามไม่ใช่เด็กนักเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่เป็นคนที่เรียนจบแล้ว และอยูในสถานะอันหลากหลายของการทำงาน มีทั้งคนกำลังหางาน, สมัครงาน, รอเรียกตัวไปสัมภาษณ์, หรือคนที่เพิ่งได้ทำงาน, ทำงานนานแล้ว, กำลังขยายงาน-ปรับงาน-เปลี่ยนงาน, ย้ายงาน และคนหลากหลายกลุ่มเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในลักษณะที่หลายหลากแตกต่างกัน การจะตอบคำถามนี้ด้วยคำตอบอันเดียว โดยคิดว่าคำตอบของตัวเองเป็นเสื้อขนาด free size ใคร ๆ ก็ใส่ได้ คิดอย่างนี้คงไม่เข้าท่านัก

       ถ้าคนถามเป็นเด็กนักเรียนและคนตอบคือครู และ scope ของปัญหาอยู่แค่การสอบในโรงเรียน มันก็ง่าย เพราะครูมีเนื้อหาตายตัวอยู่แล้วที่จะสอน มีเกณฑ์การสอบ-การวัดผลที่แน่นอน และผลสำเร็จของวิชาภาษาอังกฤษก็วัดได้ง่าย ๆ ด้วยผลการสอบ แต่เมื่อคนถามไม่ใช่เด็กนักเรียนที่นั่งอยู่ในห้องแคบ ๆ แต่เป็นคนที่เรียบจบแล้วและนั่ง-ยืน-เดิน-วิ่งอยู่ในโลกใบใหญ่ ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในสารพัดกิจกรรม เมื่อเขาถามคำถามนี้ จะให้ผมให้คำตอบแบบเสื้อขนาด free size ใส่ได้พอดี ไม่ว่าคนถามจะตัวเท่าช้างหรือเท่าหนู มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ

       แต่ยังไงผมก็ต้องตอบ และคำตอบของผมก็คือ ท่านผู้ถามกรุณาตอบคำถาม 4 ข้อของผมนี้ก่อน แล้วผมจะตอบคำถามของท่าน
       คำถาม 4 ข้อของผมก็คือ
      【1】ท่านจะรู้ภาษาอังกฤษไปทำไม
      【2】 อะไรคือเนื้อหาภาษาอังกฤษโดยเจาะจงที่ท่านต้องรู้ ต้องฝึก ต้องเรียน ต้องใช้
      【3】ท่านชอบวิชาหรือการเรียนภาษาอังกฤษมากน้อยแค่ไหน
      【4】 หากตอนนี้ท่านจะเริ่มฟิตภาษาอังกฤษ ท่านมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด

        อันที่จริง ผมสามารถจบบทความนี้ตรงนี้ โดยสรุปว่า ถ้าท่านมีคำตอบที่ชัดเจนต่อคำถามทั้ง 4 ข้อข้างบนนี้ คำตอบของท่านนั่นแหละครับ คือคำตอบของผมที่จะตอบคำถามของท่าน แต่การตอบอย่างนี้ออกจะเป็นการชุบมือเปิบมากไปหน่อย ผมจึงขออนุญาตเพิ่มเติมดังนี้ครับ


 【1】ท่านจะรู้ภาษาอังกฤษไปทำไม?

       นี่ดูเหมือนตอบง่ายและท่านอาจจะตอบได้ทันทีโดยอัตโนมัติ เช่น รู้ภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการทำงาน, เพื่อติดต่อพูดคุยกับลูกค้า, เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ, เพื่อเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ, เพื่อมีเพื่อนเป็นคนต่างชาติต่างภาษา, เพื่อความรู้และความเพลิดเพลินอันมากมายมหาศาลที่สามารถได้จากการอ่าน-การฟังเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษ, หรือถ้าท่านมีหน้าที่ในการให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นครูให้ความรู้แก่ศิษย์, พ่อแม่ให้ความรู้แก่ลูกหลาน, หรือนักวิชาการ-ปัญญาชนให้ความรู้แก่สังคม การรู้ภาษาอังกฤษจะเป็นเครื่องมือให้ท่านใช้ในการทำความดีหรือทำบุญได้มากและสะดวกขึ้น ฯลฯ

       ถ้าที่พูดมานี้คือคำตอบที่ท่านมีอยู่แล้วในใจอย่างชัดเจน ก็นับว่าเยี่ยมมาก แต่ถ้าคำตอบของท่านยังเบลอร์คือไม่รู้ชัดว่าจะรู้ภาษาอังกฤษไปทำไม เห็นเขาเรียนก็เรียนตามเขา เห็นเขาชอบก็ชอบตามเขา อย่างนี้คงไม่เข้าท่าแน่ หรือท่านอาจจะมีความมุ่งหมายหลายอย่างเหลือเกินในการฟิตภาษาอังกฤษ ท่านก็ควรจะจัดความสำคัญในการเรียนเรียงตามลำดับ 1.. 2.. 3... เพราะว่าการไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือการมีเป้าหมายมากเกินไปจนจับต้นชนปลายไม่ถูก มันอันตรายพอ ๆ กัน และการเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลก็อยู่ในลักษณะนี้ คือต้องมีเป้าหมาย และเป้าหมายต้องชัดเจน


 【2】 อะไรคือเนื้อหาภาษาอังกฤษโดยเจาะจงที่ท่านต้องรู้ ต้องฝึก ต้องเรียน ต้องใช้ ?

        จากข้อ 1 เมื่อเรารู้แล้วว่า เราจะรู้ภาษาอังกฤษไปทำไม มาถึงข้อนี้เราก็ต้องรู้ให้ลึกลงไปอีกว่า เนื้อหาที่เราต้องรู้มันคืออะไร
        คือเราจะต้องมองให้ออก ตีให้แตกว่า ภาษาอังกฤษที่เราต้องใช้ ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ ฟัง - พูดคุย - อ่าน - เขียน นั้น เนื้อหาของมันคืออะไร และมากน้อยขนาดไหน ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ อย่างนี้ครับ

        ถ้าท่านเป็นคนขับแท็กซี่, เจ้าของร้านขายอาหาร, ขายของที่ระลึก, พนักงานบริการประจำเคาน์เตอร์, พนักงาน call center ฯลฯ
ทักษะภาษาอังกฤษจะต้องเน้นที่การพูดคุยและฟังข้อความสั้น ๆ (ไม่ใช่ฟังข้อความยาว ๆ แบบเล็กเชอร์) ในกรณีอย่างนี้ คำศัพท์ที่ท่านใช้จะจำกัดอยู่ในแวดวงหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ ท่านไม่จำเป็นต้องไปฝึกคำศัพท์ 108 - 1009 ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานของท่าน และประโยคที่ท่านใช้พูด ก็สามารถใช้ประโยครูปแบบเดิม ๆ เช่น อาจจะสัก 100 ประโยค เพียงเท่านี้ท่านก็สามารถทำมาหากินได้แล้วอย่างคล่องแคล่ว มีเงินทองใช้

       ประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว ผมได้รับคำขอร้องจากเจ้าของร้านขายกาแฟสดจากจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ ให้ผมช่วยแต่งประโยคที่เขาจะใช้คุยกับลูกค้าซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นคนต่างชาติ ผมก็ขอให้เขารวบรวมประโยคสามัญพวกนั้นเป็นภาษาไทยมาให้ผม โดยผมบอกว่าคุณถามมาอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เมื่อผมแปลเสร็จก็จะโพสต์ลงเว็บ เจ้าของร้านขายกาแฟสดที่อื่น ๆ จะได้เอาไปใช้ได้ด้วย แต่เขาก็เงียบหายไปเลย

       และผมจึงได้ความคิดว่า หน่วยราชการไทยหลายหน่วย ไม่ว่าจะประจำอยู่ในส่วนกลางคือกรุงเทพ หรือส่วนภูมิภาคในจังหวัดต่าง ๆ เช่น โรงเรียนมัธยม, มหาวิทยาลัย, หน่วยงานภูมิภาคสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ กสท ฯลฯ สามารถช่วยผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนที่ต้องติดต่อกับลูกค้าต่างชาติในลักษณะนี้ คือการช่วยจัดทำกลุ่มคำศัพท์หรือประโยค เช่น อาชีพละ 100 ประโยค เพราะว่าความจำเป็นในการใช้งานของเขามันไม่ได้ครอบจักรวาลแบบ CEO ระดับร้อยล้านพันล้านที่ต้องพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วทุกเรื่องในห้องประชุมติดแอร์

       ถ้างานของท่านจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษที่กว้างขวางกว่าข้างต้น คือต้องทั้งฟัง-พูด-อ่าน-เขียน เช่น ต้องรับแขกต่างประเทศ เจรจาธุรกิจหรืองานราชการในห้องประชุม ไปประชุมต่างประเทศ หรือเขียน speech ให้ผู้บังคับบัญชา โต้ตอบอีเมล ฯลฯ งานทำนองนี้ผมเคยทำมาแล้วทั้งนั้นตอนที่ยังไม่ได้เกษียณ ผมมีคำแนะนำเล็กน้อยสำหรับท่านที่อยู่ในองค์กรและต้องรับผิดชอบให้ทำงานอย่างนี้ และรู้สึกว่ามันยาก ทำไม่ค่อยได้ และหนักใจ

       ก็คือว่า ท่านเคยฝึกภาษาอังกฤษด้วยวิธีไหนที่ได้ผล ก็ฝึกต่อไปตามเดิมอย่างนั้นแหละครับ แต่ที่ผมขอแนะนำเพิ่มเติมก็คือ ให้หาตัวอย่างเนื้อหาของงานเดิมที่ดี ๆ มาศึกษา เพื่อให้รู้ศัพท์และโครงสร้างประโยคที่มักปรากฏในงาน เช่น เอกสารเก่า ๆ, อีเมลเก่า, speech เดิม ๆ, รายงานการประชุมเดิม ๆ, ระเบียบ-กฎ-กติกา-มารยาท ภาษาอังกฤษที่อยู่ในแฟ้ม, report ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคลิปหรือไฟล์ mp3 ที่เคยอัดไว้ หรือเนื้อหาใด ๆ ก็ตามซึ่งมันคล้ายกับงานที่เรารับผิดชอบที่อยู่ตามเว็บต่าง ๆ หรือ YouTube ขอให้พวกเรามุ่งไปที่เนื้อหาพวกนี้ก่อน อย่าเพิ่งไปศึกษาเรื่องอื่น ๆ อย่างสะเปะสะปะ โดยตอนศึกษาให้เพ่งใปที่ 3 เรื่อง คือ
[1] เนื้อหา
[2] คำศัพท์สำคัญ และการนำคำศัพท์ไปแต่งประโยค
[3] โครงสร้างประโยคที่มักใช้บ่อย ๆ ในการสื่อเนื้อหา
       การศึกษาในลักษณะนี้ จะช่วยให้การฝึกของเราแคบลง ไม่ใช่กว้างขวางไร้ขอบเขต เพราะการไปฝึกเรื่องที่ไม่ได้ใช้เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า
       นี่เป็นคำแนะนำของผมต่อท่านเป็นรายบุคคล และต่อแผนกที่รับผิดผิดชอบต่อการพัฒนาบุคลากรด้วยครับ


 【3】ถ้าคะแนน 10 คือ รักมากที่สุด, คะแนน 1 คือ รักน้อยที่สุด ตัวท่านเองให้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษกี่คะแนน ?

      นี่เป็นเรื่องของอารมณ์ซึ่งบังคับกันไม่ได้ และครูมักจะบอกว่าให้มีฉันทะคือรักที่จะเรียนภาษาอังกฤษ เมื่อมีฉันทะนำหน้า อีก 3 ตัวคือ วิริยะ(ความขยัน/อดทน), จิตตะ (ความเอาใจจดจ่อ/สมาธิ), และวิมังสา(ความใคร่ครวญ/ไตร่ตรอง) ก็จะตามมาเอง
      แต่เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้ามันไม่รัก มันเกลียดมาตั้งแต่เด็ก (ด้วยสาเหตุใดก็ตามเถอะ) ทำให้พื้นแย่มาตั้งแต่อายุเยาว์ จะข่มใจให้รัก ทำได้ยากนะ !!
      ผมมีความรู้สึกว่า คำแนะนำหรือการหว่านล้อมใด ๆ ก็ตาม ให้เห็นประโยชน์ของการฝึกภาษาอังกฤษ จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงถ้าพูดกับคนที่ไม่มีใจให้ และก็ไม่ใช่ความผิดของเขาที่ไม่รักภาษาอังกฤษ มีคำพูดหนึ่งที่ท่านอาจจะคุ้นเคย "ความรักไม่ใช่ความผิด" ผมขอเพิ่มว่า "ความไม่รักก็ไม่ใช่ความผิด"
      ผมเชื่อว่าตัวเองเข้าใจคนที่เกลียดภาษาอังกฤษ (และอย่างที่บอกแล้ว จะด้วยสาเหตุใดก็ตามเถอะ) เรื่องนี้ทำให้นึกถึงตัวเองตอนที่ยังทำงาน ผมเกลียดงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวเลข การเงิน หรืองบประมาณ รู้สึกไม่ถูกชะตากับงานพวกนี้เลย ถ้าต้องรับผิดชอบจะหงุดหงิดขึ้นมาทันที และมักวานให้รุ่นน้อง หรือใช้ให้ลูกน้องทำแทน ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องดี เพราะงานการเงินหรือตัวเลขมันก็มีประโยชน์เหมือนกันถ้าทำได้
      ในฐานะ webmaster ของ e4thai.com ซึ่งมีหน้าที่เชียร์แขก ให้คนเข้ามาเรียนภาษาอังกฤษ ผมก็ขอชวนเบา ๆ ว่า ท่านลองหาเรื่องเล็ก ๆ ของภาษาอังกฤษที่ท่านแตะต้องแล้วรู้สึกสนุก หรือหงุดหงิดไม่มาก เหมือนคนที่ไม่ชอบกินผัก ถ้าได้ลองหัดกินทีละหน่อย และกินเรื่อย ๆ และเริ่มกินได้โดยไม่เกลียด และสามารถกินเพิ่มได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเห็นประโยชน์ของผัก ผมอยากให้คนที่เกลียดภาษาอังกฤษได้รับประโยชน์จากภาษาอังกฤษ เพราะทนกินทีละหน่อย เพราะแท้จริงแล้วประโยชน์ของภาษาอังกฤษเป็นของจริงที่ทุกคนสัมผัสได้ ไม่ใช่ภาพลวงตา ขอเพียงเราเปิดใจให้กว้างอีกสักนิดเท่านั้นเอง
       ส่วนท่านที่รักภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ผมขอลุ้นให้ท่านขยายความรักให้กว้างใหญ่ไพศาล เช่น บางคนชอบอ่านแต่ไม่ชอบฟัง, บางคนชอบฟังแต่ไม่ชอบอ่าน, บางคนชอบฟังและชอบอ่านแต่ไม่กล้าพูด, บางคนกล้าพูดชอบฟังแต่เกลียดการอ่าน .... ก็ขอให้ทุกท่านเปิดใจรักการฝึกทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการอ่านด้วยตา, ฟังด้วยหู, พูดด้วยปาก, หรือเขียนด้วยมือ ให้ทุกอวัยวะที่ธรรมชาติสร้างมาได้ฝึกภาษาอังกฤษตามศักยภาพของมัน อย่าใช้เพียงแค่อวัยวะโปรดเลยครับ


 【4】 หากตอนนี้ท่านจะเริ่มฟิตภาษาอังกฤษ ท่านมีความพร้อม มากน้อยเพียงใด ?

        นี่เป็นเรื่องที่ผมได้ยินคนบ่นด้วยความท้อแท้หรือน้อยใจมากทีเดียว คือเขาบอกว่า ที่ภาษาอังกฤษของเขาอ่อนแอทุกวันนี้ เพราะเขาได้เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยเด็กด้วยความไม่พร้อม คือ ครูก็ไม่ค่อยเก่ง, เนื้อหาก็เน้นแต่แกรมมาร์ เรื่องพูดหรือฟังสอนน้อยมาก, โอกาสที่จะได้เจอและพูดกับครูหรือชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษแทบไม่มีเลย, และก็เรียนจบมาด้วยทักษะภาษาอังกฤษอย่างแกน ๆ, ครั้นเมื่อทำงานจะไปเรียนพิเศษคอร์สสนทนาภาษาอังกฤษก็ไม่สะดวกเพราะราคาแพง, ส่วนที่ทำงาน เวลาจะส่งคนไปอบรมหรือดูงานต่างประเทศก็มักคัดเลือกโดยการสอบ และคนที่ได้ไปก็คือคนที่เก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ทำงานเต็มเวลาตั้งแต่เช้ายันเย็น จะแบ่งเวลาตรงไหนไปเรียนภาษาอังกฤษได้อีก รู้อยู่หรอกว่าภาษาอังกฤษมีประโยชน์ แต่ปัจจัยสนับสนุนไม่มีเลย ไม่ใช่เพิ่งไม่มี แต่ไม่มีมานานแล้ว การเก่งอังกฤษให้ได้จึงเป็นเพียงความฝันแห้ง ๆ และแม้ทุกวันนี้จะมีเน็ตให้ฝึกภาษาอังกฤษได้จากที่บ้านฟรี ๆ หรือผ่าน smartphone ขณะเดินทาง ก็ทำได้อย่างแกน ๆ แค่น ๆ เพราะตอนสงสัยก็ไม่มีครูให้ถาม ฝึกพูดออกไปก็ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า เพื่อนจะร่วมเรียนด้วยพอให้มีกำลังใจก็ไม่มี .....
        ท่านผู้อ่านครับ ทุกคำทุกวรรคในย่อหน้าข้างบนนี้ ถ้ามีใครพูดและรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ก็ชี้ชัดว่า เขาพร้อมจะยอมแพ้และจึงหมดแรง ไม่ใช่ เขาหมดแรงจึงยอมแพ้ คนที่ไม่ยอมแพ้จะไม่หมดแรง จริงอยู่ ทางวัตถุหรือทางกายเราอาจจะไม่พร้อม แต่ถ้าใจเราไม่ยอมแพ้ เราจะไม่หมดแรง และเราจะสร้างความพร้อมได้ใหม่ทุกเมื่อ


          ผมหวังว่า ท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ จะสามารถฝึกภาษาอังกฤษด้วยหัวใจ สมอง และสายตา ที่แจ่มใส

             มองโลกในแง่ดี มีความหวังดีต่อตัวเอง ต่อโลก และมีความสุขครับ

พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com