Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

Reading Practice: อ่านเรื่องดัง ที่ไม่สนใจ - ไม่เห็นด้วย - ไม่ค่อยรู้เรื่อง

readBOOK
สวัสดีครับ
       English Reading skill เป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อเราอ่านเราจะได้ข้อมูล และข้อมูลนี้จะนำมาซึ่งความรู้, ความเพลิดเพลิน, คำแนะนำ, แนวทาง ฯลฯ มากมาย ปราชญ์จึงยกย่องว่าการอ่านเป็นอัญมณีของชีวิต
       คุณประยูร จรรยาวงษ์ "ราชาการ์ตูนไทย" (2458-2535) ได้เขียนไว้ในหนังสือวันเด็กปีหนึ่ง เรื่อง "เรียนเก่งเรียนอย่างไร" ซึ่งท่านได้แนะว่า ให้เรียนด้วยการอ่านอย่างใฝ่รู้และเพลิดเพลิน
"เรียนเก่งเรียนอย่างไร เรียนด้วยใจหิววิชา
อยากรู้ดูตำรา ยิ่งค้นคว้ายิ่งพาเพลิน
ยิ่งเรียนยิ่งสนุก ผลักความทุกข์พ้นทางเดิน
ไม่หิวไม่อิ่มเกิน ไม่ห่างเหินไม่โหมเอย"
       ในฐานะ webmaster ของ e4thai.com ผมมาพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า สำหรับคนไทยแต่ละคน ทักษะภาษาอังกฤษก็มีประโยชน์และความจำเป็นมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ English Reading skill นอกจากทำให้เรียนเก่ง ยังเป็นทางมาของความรู้และความเพลิดเพลินอันไม่รู้จบ
       เท่าที่เคยได้ยินได้อ่าน เขามักแนะว่า ให้อ่านเรื่องที่ตัวเองชอบหรือสนใจ
       แต่ผมมาพิจารณาดูก็พบจุดโหว่ของคำแนะนำนี้ คือผมไม่แน่ใจใน 2 - 3 ข้อนี้
       [1] คนไทยรักการอ่านเพื่อแสวงหาความรู้มากน้อยแค่ไหน พูดง่าย ๆ ก็คือ คนไทยแต่ละคนอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยวันละกี่หน้า คำถามนี้ถามเรื่อง "ปริมาณ"
       [2] หนังสือที่คนไทยโดยทั่วไปชอบอ่าน มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร มันเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตหรือการทำงานมากน้อยเพียงใด ที่ผมสงสัยข้อนี้ก็เพราะว่า เราพูดกันว่าคนไทยมีนิสัยรักสนุก ไม่ซีเรียส จึงชวนให้สงสัยว่า ถ้าเป็นหนังสือดีมีประโยชน์ แต่อ่านแล้วไม่ค่อยสนุกหรือออกจะซีเรียสสักหน่อย, ถ้าไม่ใช่นักศึกษาที่อาจารย์สั่งให้อ่าน, หรือไม่ใช่คนทำงานที่หัวหน้าสั่งให้อ่าน,  หนังสืออย่างนี้จะมีคนไทยสักกี่ % ที่อ่านโดยสมัครใจ คำถามนี้ถามเรื่อง "คุณภาพ" ครับ
       [3] และคำถามสุดท้ายก็คือ และถ้าหนังสือดีมีประโยชน์นั้นมันเป็นภาษาอังกฤษล่ะ คนไทยสักกี่ % จะหยิบขึ้นมาอ่าน
       พูดมากก็ยาวความ ผมขอให้ความเห็นสั้น ๆ อย่างนี้ว่า ถ้าเราเป็นคนรักความรู้ เราก็น่าจะอ่านอย่างเปิดใจ
       หนังสือภาษาอังกฤษที่เราหยิบขึ้นมาอ่านนั้น อย่าอ่านเพียงเรื่องที่เราสนใจ, เห็นด้วย, หรืออ่านรู้เรื่อง
       แต่ควรอ่านเรื่องที่เราไม่สนใจ, เรื่องที่เราไม่เห็นด้วย, หรือเรื่องที่เราอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ด้วย
       โดยวิธีคัดเลือกอย่างง่าย ๆ ก็คือ เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียง, เป็น bestseller ระดับสากล, หรือเป็นหนังสือ classic หรืออมตะมาแต่อดีต เพราะนี่แสดงว่า อย่างน้อยหนังสือพวกนี้มันต้องมีดีอะไรสักอย่างที่ทำให้คนทั่วโลกชอบอ่านกันเยอะ ทั้งหนังสือประเภท fiction และ nonfiction
       ท่านผู้อ่านอาจจะถามผมว่า ถ้ามันเป็นเรื่องที่เราไม่สนใจ - ไม่เห็นด้วย - หรืออ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง จะให้อ่านไปทำไม? ขอตอบอย่างนี้ครับ
       คือถ้าเราเห็นว่า ความรู้เป็นอัญมณีของชีวิต เราก็อย่าได้จำกัดตัวเองอยู่เฉพาะกับความรู้ที่เราชอบ, ที่เราเห็นด้วย, หรือกับเรื่องที่เราอ่านรู้เรื่อง

       ถ้าเรายอมเปิดใจให้กว้าง ยอมอ่านเรื่องที่เราไม่ชอบ, เรื่องที่เราไม่เห็นด้วย, หรืออ่านภาษาอังกฤษที่เราอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ลองอ่านไปสักระยะหนึ่ง, สักบทหนึ่ง, สักเรื่องหนึ่ง เหมือนกับอาหารประเภทที่เราไม่สนใจจะกิน เพราะไม่ชอบรส - ไม่ชอบกลิ่น - ไม่ชอบเครื่องปรุงของมัน แต่ถ้าท่านลองกินสัก 3 - 4 คำ  สัมผัสรสชาติพอเป็นความรู้แม้รสชาติจะไม่ถูกปากหรือแปลกลิ้น สติปัญญาของเราก็จะกว้างขวางขึ้น

       การกินอาหารเป็นอย่างไร การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษก็เป็นอย่างนั้น เมื่อกินแล้ว-อ่านแล้ว, จะเลิกกิน-เลิกอ่าน, หรือ กินต่อ-อ่านต่อ ก็แล้วแต่อัธยาศัย แต่ไม่ควรปฏิเสธ ตั้งแต่ยังไม่ได้กิน-ยังไม่ได้อ่าน, หรือคายตั้งแต่ยังไม่ได้เคี้ยว


       ผมไปเจอหนังสือ 3 เล่มนี้ จึงนำมาให้ท่านชิมดู

BriefHistoryTime
เล่มที่ 1(nonfiction): "A Brief History of Time" โดย สตีเฟน ฮอว์คิง ตีพิมพ์ปี 1988

Universe in a nutshell

เล่มที่ 2 (nonfiction): "The Universe in a Nutshell" โดย สตีเฟน ฮอว์คิง ตีพิมพ์ปี 2001

once

เล่มที่ 3 (fiction): The Wizards of Once โดย Cressida Cowell

ขอบคุณคุณน่อยครับที่แนะนำเล่มนี้

พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com