Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

3 คำแปลหลัก ของ verb+ed

-ed
Verb ในภาษาอังกฤษ ที่ต่อท้ายด้วย -ed โดยทั่วไปสามารถแปลเป็นไทยได้ 3 อย่าง ดังต่อไปนี้
【1】 แปลว่า "ได้" หรือ "แล้ว"
       นี่ก็คือ verb ของการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีต คือช่อง 2 หรือช่อง 3 นั่นแหละครับ แต่เวลาที่แปลเป็นไทยจริง ๆ ถ้าเป็นที่เข้าใจกัน เราก็มักไม่ได้แปลว่า "ได้" หรือ "แล้ว" ตรง -ed เพื่อเจาะจงว่ามันเป็นการกระทำที่ได้ทำแล้วในอดีต, เราอาจจะรู้สึกว่ามันเยิ่นเย้อ รุงรัง หรือไม่จำเป็น, แต่ในรูปศัพท์ของภาษาอังกฤษมันบอกอย่างนั้น
เช่น

  • He changed his name.- เขา(ได้)เปลี่ยนชื่อของเขาแล้ว
  • He walked home from school. - เขา(ได้)เดินกลับบ้านจากโรงเรียน
  • He smiled with relief. - เขา(ได้)ยิ้มด้วยความโล่งใจ
  • He played well, though his team lost. - เขา(ได้)เล่นดี แม้ว่าทีมเขาจะแพ้
  • I kicked the ball as hard as I could. - ผม(ได้)เตะลูกบอลสุดแรงเกิด

       การเติม -ed ที่ verb เพื่อระบุว่า มันได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นหลักแกรมมาร์ที่ภาษาไทยไม่มี ตอนคนไทยใช้ verb เล่าเหตุการณ์ในอดีต จึงมักเผลอไม่พูดออกเสียง -ed หรือไม่ใช้ verb ช่อง 2 แต่ถ้าเราหวังจะพูดภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น เราก็น่าจะระวังเรื่องนี้ไว้บ้าง
【2】 แปลว่า... ถูก(กระทำ) หรือ "ได้รับ (การกระทำ)"
นี่คือหลักแกรมมาร์ที่เราเรียกกันว่า passive voice คือประธาน "ถูกกระทำ" อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในภาษาไทยถ้าเป็นเรื่องดี ๆ ก็มักจะแปลว่า "ได้รับ (การกระทำ)" โดยรูปแบบที่เจอบ่อยก็คือ verb_to_be + verb_ed

  • He was promoted to the rank of captain. - เขาได้รับการเลื่อนยศสูงขึ้นเป็นร้อยเอก
  • I'm afraid I wasn't invited. - ฉันกลัวว่าฉันคงไม่ได้รับเชิญ
  • She was constantly harassed by the other students. - เธอถูกนักศึกษาคนอื่น ๆ ล่วงเกินเป็นประจำ

แต่ การถูกกระทำที่เป็น passive voice นี้ อาจจะเป็น present tense ก็ได้ เช่น

  • The water is alleged to be polluted with mercury. - น้ำถูกกล่าวหาว่าถูกปนเปื้อนด้วยสารปรอท
  • Somsak is both honest and diligent and he is praised by all workers. - สมศักดิ์ทั้งซื่อสัตย์และขยัน และเขาได้รับการยกย่องโดยคนงานทุกคน

【3】แปลว่า... รู้สึก
มี verb อยู่กลุ่มหนึ่งที่ใช้รูปแบบนี้: verb to be + verb+ed (+ preposition)
ความหมายจะเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่เวลาแปลเป็นภาษาไทย มักจะตัดคำว่า รู้สึก ทิ้งไป เพราะเข้าใจกันอยู่แล้ว เช่น

  • be interested (in ) (รู้สึก)สนใจ
  • be pleased (with) (รู้สึก)ยินดี
  • be delighted (at, with) (รู้สึก)ชื่นชมยินดี
  • be satisfied (with) (รู้สึก)พอใจ

สิ่งที่ห้ามลืมก็คือ รูปแบบของมัน คือ verb to be + verb+ed (+ preposition)
ถ้าพูดว่า ฉันสนใจในผลงานของเขา ก็ต้องพูดว่า I am interested in his work. อย่าเผลอไปพูดว่า I interest in his work. หรือ I interest his work.
→ คลิกดูตัวอย่างเพิ่มเติม 
 หมายเหตุ: ดิกดัง ๆ เช่น Oxford, Longman เขาจัดคำพวกนี้เป็น adjective ไปเลย, ท่านจะจำแบบนั้นก็ได้ 

     เอาเป็นว่าคงพอจำได้นะครับ verb+ed แปลได้ 3 อย่าง
[1] แปลว่า...'ได้' หรือ 'แล้ว'
[2] แปลว่า... 'ถูก(กระทำ)'
[3] แปลว่า... 'รู้สึก'
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com