Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

เทคนิคในการทำข้อสอบ Reading

GED-Practice-Questions-Header
       วันนี้ผมไปเจอข้อสอบ GED Reading และ ACT Reading 2 ลิงก์นี้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เตรียมตัวทำข้อสอบภาษาอังกฤษใด ๆ ก็ตาม ซึ่งต้องทำ part - Reading
      ข้อสอบ GED และ ACT reading 2 ลิงก์นี้พิเศษตรงที่ว่า นอกจากเป็น passage ให้อ่านเพื่อทำข้อสอบ reading แบบ multiple choice A B C D และมีเฉลยให้ตรวจแล้ว,  ยังมีคำอธิบายให้ไว้ทุกข้อว่าทำไมจึงเฉลยอย่างนั้น ซึ่งคำอธิบายอย่างนี้ดีมาก หาได้ไม่บ่อยนัก ที่เจอทั่วไปมักมีเพียงเฉลยแต่ไม่มีคำอธิบาย การมีคำอธิบายเช่นนี้ช่วยให้เห็นแนวทางในการทำข้อสอบ Reading ในอนาคตของเรา
      2 ลิงก์นี้ครับ

  1. http://www.gedpracticequestions.com/ged-reading/ 
  2. http://www.crackact.com/act/reading/ 

      โจทย์ของข้อสอบ Reading นั้น มักไม่ถามตรง ๆ ชนิดนำข้อความจาก passage ไปตอบได้เลย แต่มักให้เราวิเคราะห์ ตีความ หรือสรุป เรื่องที่อ่าน ซึ่งอาจจะเป็นคำศัพท์, วลี, ประโยค, หรือความเห็นของผู้เขียน passage ว่า ข้อความอย่างนี้ ๆ แสดงว่าผู้เขียนมีความเห็นอย่างไร

      ข้อสอบ Reading จะยากยิ่งขึ้นถ้าเป็นเนื้อเรื่องที่ไม่คุ้นเคย, ยาวมาก,ศัพท์ยาก  ให้เวลาน้อย(สำหรับเรา) ฯลฯ
      แต่ก็โชคดีครับที่ในเว็บนี้ เขามีลิงก์นี้

     → GED Language Arts Tips
ซึ่งให้แนวทางที่เป็นประโยชน์มากทีเดียวในการทำข้อสอบ GED Reading แต่ผมอ่านดูแล้วก็เห็นว่า มันก็เป็นประโยชน์ต่อการทำข้อสอบ Reading อื่น ๆ ด้วย จึงขอสรุปมาฝากข้างล่างนี้


  Tips to get the most questions correct!

[1] Predict an answer
เมื่ออ่านโจทย์จบก็ให้คิดถึงคำตอบ และเปรียบเทียบคำตอบที่คิดกับคำตอบในข้อ A B C D ทำอย่างนี้จะช่วยให้ไม่เสียเวลามาก
[2] Rephrase complicated questions
ถ้าโจทย์อ่านแล้วสับสนชวนงง ให้ใช้ภาษาใหม่ง่าย ๆ แบบพูดคำถามให้เด็กฟังว่าข้อนี้จริง ๆ แล้วเขาถามอะไร
[3] Put your finger on the answer
เมื่อย้อนกลับไปอ่าน passage เพื่อเอามาตอบคำถาม ให้เอานิ้วชี้จิ้มข้อความสำคัญที่เกี่ยวข้องตรงบรรทัดนั้นไว้เลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลากวาดสายตาหาอีก อย่าเอาแต่เชื่อว่าตัวเองจำได้
[4] Always use process of elimination.
เลือกคำตอบโดยตัดข้อที่ผิดโต้ง ๆ ออกไปก่อน และก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ตัดอีก 2 ข้อ อาจจะเป็นไปได้ว่า ข้อสุดท้ายที่เหลืออยู่(แม้เราจะไม่แน่ใจ)อาจจะเป็นข้อที่ถูกต้องเพราะ 3 ข้อที่ตัดออกไปนั้นมันมีจุดผิดให้เราเห็น
[5] Don’t let the subject-matter confuse you
อย่าปล่อยให้ตัวเองงงเมื่ออ่านโจทย์แล้วกลับมาอ่าน passage เพื่อเอาไปตอบ เพราะถ้ารายละเอียดที่อ่านมันเยอะ ก็ให้พยายามจับจุดที่พอจะเข้าใจได้ เช่น หัวข้อของเรื่องที่อ่าน, ความคิดเห็นโดยทั่วไปของคนเขียน passage, หรือใจความสำคัญของ passage และก็ยึดพวกนี้แหละที่เราพอเข้าใจได้เป็นฐานในการเลือกคำตอบ
[6] The correct answer will always answer the specific question being asked
ข้อความที่ถูกต้องในข้อ A B C หรือ D อาจจะ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องตามที่โจทย์ถาม เพราะฉะนั้น จึงอ่านให้ชัดว่าโจทย์ถามอะไรโดยเจาะจงและก็เลือกคำตอบโดยเจาะจงตามที่โจทย์ถาม
[7] Wrong answer choices are often out of scope
ดูให้ดี คำตอบ A B C D ที่ผิดนั้น อาจจะเป็นข้อความที่เป็นความจริง แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ passage ว่าไว้หรือมีนัยไปถึง จึงเอามาใช้ตอบไม่ได้
[8] Look for the Tone
บาง passage อาจจะถามเราว่าผู้เขียนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ แต่ก็เป็นไปได้ว่า ผู้เขียนให้แต่ข้อมูลเฉย ๆ โดยไม่มีความเห็นอะไรโต้ง ๆ แทรกลงไปเลย ในกรณีอย่างนี้อาจจะตีความยากหน่อย เพราะเราต้อง "อ่านระหว่างบรรทัด" เพื่อตีความความรู้สึกของผู้เขียน
[9] Pause and summarize
ใช้วิธีอ่านไปวิเคราะห์ไป ไม่ต้องรอให้อ่านจบจึงค่อยเริ่มวิเคราะห์ passage ที่อ่าน ก็คือว่า เมื่ออ่านจบแต่ละย่อหน้าให้สรุปและวิเคราะห์ก่อน (หรืออาจจะจดโน้ตสั้น ๆ ไว้นิดนึงก็ได้) การวิเคราะห์ก็คือการถามตัวเองว่า ไอ้ที่อ่านมานี่เขากำลังบอกอะไรเรา หรือมันตีความหรือสรุปใจความว่ายังไง การอ่านไปวิเคราะห์ไปเช่นนี้จะช่วยให้เราแนบชิดติดกับเรื่องที่อ่านไปโดยตลอด

พิพัฒน์

www.facebook.com/en4th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com