Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

"Better Sentence Writing in 30 Minutes a Day" & วิธีฝึกเขียนภาษาอังกฤษ

Better Sentence Writing in 30 Minutes a Day
แบบฝึกหัดฝึกเขียนภาษาอังกฤษ, และศึกษาจากเฉลย
วันนี้ผมมีหนังสือเล่มนี้มาแนะนำ

คลิกอ่าน/ดาวน์โหลดBetter Sentence Writing in 30 Minutes a Day
better write
eBook เล่มนี้มี 166 หน้า - 6 บท ดังนี้

  • Chapter 1 Introduction to Sentence Structure
  • Chapter 2 Sentence Combining: Basic Strategies and Common Problems
  • Chapter 3 Punctuating Sentence Combinations
  • Chapter 4 Revising SentencesChapter 5 Free Exercises in Sentence Combining
  • Chapter 6 Revising at the Word Level

       แต่ละบทจะมีคำอธิบายแบ่งเป็นหลายหัวข้อย่อย แต่ละหัวข้อย่อยจะมี Exercise ให้ทำ และมีเฉลยอยู่ท้ายเล่ม
       จุดที่ดีมาก ๆ เกี่ยวกับ Exercise ก็คือ เมื่อคลิกตัวเลขข้อที่หน้า Exercise, ตัวอย่างในภาพข้างล่างนี้ คือ เลข 1
คลิกภาพเพื่อขยายเห็นชัด ↓↓↓
 exercise 4.2
มันจะวิ่งไปที่เฉลย,
คลิกภาพเพื่อขยายเห็นชัด ↓↓↓
answer 4.2 
       และเมื่อคลิกตัวเลขข้อที่หน้าเฉลย ตัวอย่างในภาพข้างบนนี้ คือ เลข 1 มันจะวิ่งกลับมาที่หน้า Exercise, กลับไป-กลับมาอย่างนี้ เราจึงสามารถตรวจคำตอบที่เราทำกับเฉลยได้อย่างสะดวก, และเมื่อต้องการจะอ่านคำอธิบาย ก็คลิกขึ้นไปที่หน้าเหนือ Exeecise และอ่านตรงนั้น

       รวม Answer Key ของ eBook อยู่ที่หน้า 128-156/166
       แต่ละท่านอาจจะมีวิธีใช้หนังสือเล่มนี้แตกต่างกันไปตามอัธยาศัย แต่สำหรับผม ผมทำอย่างนี้ครับ
      [1] ผมไปที่หน้า Answer Key ซึ่งก็คือหน้าเฉลยแบบฝึกหัดของ eBook ซึ่งอยู่ที่หน้า 128/166, และก็เลือกคลิก Chapter ที่ผมสนใจจะฝึกทำมากเป็นพิเศษ ก็คือ Chapter 4, 5, 6
      [2] แล้วก็เลือกสัก 1 Exercise ใน Chapter นั้น โดยคลิกที่ข้อแรก หรือเลข 1 ของ Exercise นั้น, เมื่อคลิกแล้วมันก็จะวิ่งไปที่หน้าที่เป็นโจทย์, ก็เริ่มลงมือทำได้เลย
      ตอนนี้ขอบอกสักนิดกันการงุนงง, ก่อนจะคลิกให้ท่านดูให้ดีว่า มันเป็น Exercise หมายเลขอะไร เช่น ตามตัวอย่างในภาพข้างบน มันคือ Exercise 4.2, ตอนที่คลิกลิงก์และมันวิ่งไปที่หน้านั้น หน้ามันอาจจะเหลื่อมขึ้นหรือเหลื่อมลงเล็กน้อย ทำให้มองพลาด เพราะฉะนั้นให้หมายตาตัวเลขที่หลังคำว่า Exercise ไว้ก่อน, จะได้ไม่พลาด

       เรื่องที่ผมจะแนะนำเกี่ยวกับการใช้หนังสือ Better Sentence Writing in 30 Minutes a Day ก็คงจะมีเท่านี้ แต่ผมมีเรื่องที่อยากจะคุยด้วยเกี่ยวกับการเขียนภาษาอังกฤษอีกสักเล็กน้อย  ถ้าท่านยังไม่รีบไปไหนก็เชิญครับ ข้างล่างนี้

♠ ♠ ♠ ♠ ♠
     คือผมมีความรู้สึกว่า เรื่องการเขียนภาษาอังกฤษนี้ เป็นเรื่องที่คนไทยซึ่งต้องใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน รักน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า การเขียนภาษาอังกฤษให้ถูกต้องและดีนั้น ต้องอาศัยอะไรหลายอย่าง ทั้งแกรมมาร์, ศัพท์, สำนวน, ลีลา, ท่วงทำนอง และอารมณ์ของภาษา จนทำให้หลายคนเบื่อไม่อยากยุ่งกับมัน และสำหรับคนทำงานในสำนักงาน บางคนขี้กลัวมาก กลัวยิ่งกว่าการพูดเสียอีก เพราะการพูดนั้น ถ้าพูดสื่อสารได้ตรงตามที่ต้องการสื่อ ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าเป็นภาษาเขียนมันสามารถเหลือหลักฐานให้คนอื่นค่อนแคะได้ว่าผิดตรงนั้นตรงนี้ ความขี้กลัวก็เลยพาลให้ขี้เกียจเขียน

     แต่ถ้าท่านผ่านด่านนี้ไปได้ ท่านจะมีทักษะที่โดดเด่นครับ เพราะทำได้ในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ค่อยได้หรือไม่อยากทำ - ไม่อยากฝึก
     และเรื่องนี้ก็สอนกันยากเล็กน้อย เพราะมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นศาสตร์ก็เพราะว่ามันมีทฤษฏีและหลักเกณฑ์ให้เรียน มีตำราให้อ่านศึกษา แต่มันก็เป็นศิลป์ด้วย เหมือนการทำอาหารนั่นแหละครับ  กางตำราเล่มเดียวกันทำ บางคนทำอร่อย บางคนทำพอกินได้ แต่บางคนทำแล้วไม่มีคนอยากกิน แม้แต่คนทำเอง

     ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้พูดให้หมดกำลังใจ แต่ต้องการบอกว่า ศิลป์หรือพรสวรรค์ในการเขียนที่เราอาจจะรู้สึกว่าเรามีน้อยนั้น มันฝึกให้มากขึ้นได้ถ้าพยายามมาก ๆ และก็อย่าไปท้อถ้าพยายามแล้วมันเห็นผลช้า
      ปัญหาเรื่องการฝึกเขียนภาษาอังกฤษนี่มันมีมาตั้งแต่เราอยู่โรงเรียน เพราะข้อสอบภาษาอังกฤษนั้น แม้แต่ข้อสอบ writing ก็ให้เราติ๊กเลือก A B C D เราแทบไม่มีโอกาส train & test ตัวเองในการเขียนภาษาอังกฤษอย่างจริง ๆ จัง ๆ อย่างมากที่สุด เราก็แค่ตอบว่า อันนั้นผิด อันนั้นถูก แต่เราก็มีโอกาสน้อยในการลงมือเขียนเอง เมื่อฝึกเขียนน้อยก็เขียนฝืดเป็นธรรมดา

      ตอนที่ทำงาน บ่อยครั้งที่ผมมอบหมายให้ลูกน้องเขียนงานภาษาอังกฤษ เช่น จดหมาย อีเมล หรือบันทึกอะไรสักอย่าง บางคนแม้ว่าจะจบเมืองนอกก็ยังเขียนผิดเยอะ และสำหรับหัวหน้าซึ่งมีหน้าที่ตรวจการเขียนและแนะนำให้แก้ มันเป็นงานหนักยิ่งกว่าต้องเขียนเองทั้งหมดซะอีก

      เรื่องการเขียนนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐของหน่วยงานในบางประเทศอื่น ๆ ของอาเซียนที่ผมติดต่อด้วย ก็มีปัญหาคล้าย ๆ คนไทย บางครั้งผมเดาไม่ออกว่าเขาต้องการเขียนบอกอะไร เรื่องง่าย ๆ บางเรื่องต้องเขียนถาม-ตอบ กลับไปกลับมาตั้งสามสี่ครั้ง

      มาถึงตรงนี้ท่านอาจจะถามผมว่า แล้วจะฝึกเขียนยังไงให้เขียนได้ดี คำตอบของผมไม่ต่างจากที่ผมตอบคำถามนี้ : "จะฝึกพูดอย่างไรให้พูดได้ดี ?"
ข้อ 1:
       ก่อนจะพูดได้ดีก็ต้องฝึกฟังเยอะ ๆ, ก่อนจะเขียนได้ดีก็ต้องฝึกอ่าน(สิ่งที่คนอื่นเขียน)เยอะ ๆ, ภาษานั้นเป็นเรื่องของการ "เลียนแบบ" → "เรียนรู้" และ → "รู้" ยากนักหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราจะรู้โดยไม่ต้อง "เลียน" หรือไม่ต้อง "เรียน"

ข้อ 2:
       เมื่ออ่านเรื่องทั่ว ๆ ไปที่เราสนใจแล้ว ต่อไปก็จำกัดวงเรื่องที่อ่านให้แคบลง คือ ถ้างานที่เราต้องเขียนมันเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็หาเอกสารที่เขียนดี ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาศึกษา ถ้ายกตัวอย่างเกี่ยวกับการพูดก็ต้องบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่คนใดคนหนึ่งจะพูดเก่งได้ทุกสไตล์ พูดแบบพระเทศน์ก็ได้, พูดแบบเซลส์แมนก็ได้, พูดแบบนักการเมืองก็ได้, พูดแบบโฆษกงานวัดก็ได้, พูดแบบนักพากย์มวยหรือแข่งเรือก็ได้ แต่ที่เราทำได้ก็คือพูดให้เก่งสักเรื่องหนึ่ง การฝึกเขียนก็ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราทำงานในสำนักงานก็ควรมุ่งฝึกให้เขียนเก่งในเรื่องหรือแนวใดแนวหนึ่ง เราอาจจะเขียนเนื้อหาทั่ว ๆ ไปได้ในทุกเรื่อง แต่เรื่องที่จะเขียนได้ดีเลิศคงมีน้อยเรื่อง  และต้องฝึกมากหน่อย

ข้อ 3:
       "ผิดเป็นครู" - คำนี้แปลว่า (1) เมื่อเขียนผิดก็ไม่ต้องท้อหรือแหย แต่พยายามศึกษาว่ามันเขียนผิดหรือไม่ค่อยดีที่ตรงไหน และ (2) ต้องฝึกเขียนเยอะ ๆ เพราะถ้าเราฝึกเขียนน้อยเราก็จะเขียนผิดน้อย และเรียนรู้น้อย หรือถ้าไม่ฝึกเขียนเลยก็จะไม่เขียนผิดเลย ซึ่งก็คือเขียนไม่เป็นเลย เพราะไม่ได้ฝึกเขียน

ข้อ 4:
       "แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราเขียนผิด หรือเมื่อรู้ว่าเขียนผิดหรือเขียนได้ไม่ค่อยดี ถ้าไม่มีครูช่วยแนะ ก็คงผิดอยู่อย่างนั้นแหละ !!! "
        ผมอยากให้คนไทยที่ฝึกภาษาอังกฤษ ก้าวพ้นจากกรอบความคิดที่แคบ ๆ อย่างนี้ซะที คือความคิดที่ว่า ถ้าไม่มีครูตัวเป็น ๆ มายืนสอนเปล่งเสียงอยู่ข้างหน้า เราไม่มีทางเรียนได้รู้เรื่องดี  เพราะจริง ๆ แล้ว ตาและหูนั่นแหละครับคือคุณครูที่เที่ยงแท้แน่นอนและเป็นที่พึ่งได้ การได้อ่านและฟังเรื่องดี ๆ เยอะ ๆ บ่อย ๆ จะค่อย ๆ สอนให้เรา "จับ" ได้เองแหละว่า อะไรถูก อะไรผิด ควรพูดอย่างไร เขียนอย่างไร นี่คือการเรียนภาษาอังกฤษอย่างผู้ใหญ่ที่พึ่งตัวเองได้ในโลกทุกวันนี้ ถ้าเรายังยึดติดกับภาพของครูอย่างในอดีตและยืนกรานจะเป็นศิษย์ติดครู เราก็คงไม่ต่างจากคนที่ยืนยันจะนั่งวีลแชร์รอให้คนอื่นเข็น ทั้ง ๆ ที่ยังหนุ่มสาวมีกำลังและขาไม่ง่อย
      พิพัฒน์
      www.facebook.com/en4th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com