เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า (ภาค 2 - วัยชรา)

       thin face painting from huahin 100     เมื่อ 10 ปีที่แล้วผมได้เขียนเรื่อง "เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า "  วันนี้ผมขอเขียนเรื่องนี้ต่อเป็น "ภาค 2 - วัยชรา"

       วันที่ 3 ธันวาคม 2561 ผมรับการฉีดคีโมเข็มที่ 1 ช่วงก่อนหน้านี้ประมาณ  2 สัปดาห์ผมทรมานมากเพราะมะเร็ง   บนเตียงคนไข้ในขณะนั้นจึงคล้ายชั้นเรียนที่มีครูหน้าดุสอนเรื่องมรณะ

          วันนี้ ผมถามหมอตรง ๆ ว่า เชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) ในร่างกายของผมตอนนี้เหลือมากแค่ไหน หมอบอกว่า หลังจากฉีดคีโมไป 16 ครั้ง มันลดไปแล้ว 9 ส่วนเหลือ 1 ส่วน แต่ 1 ส่วนนี่ก็ยังต้องถือว่าเยอะ เรื่องนี้ผมสัมผัสได้ ผลข้างเคียงจากโรคและยาก็คือ ยอก ขัด ตึง เจ็บ ปวด ที่กล้ามเนื้อหรือกระดูกผมก็ไม่แน่ใจนัก บางวันมาก บางวันน้อย แต่บางวันก็ไม่มี อาการมันเกิดตามใจมัน มันไม่ได้ตามใจผม

        พูดง่าย ๆ ว่า มะเร็งมาเยี่ยมเมื่อวัยเกษียณ วันนี้ผมอายุ 60 ปีกับ 60 วัน การที่โรคมาเยี่ยมในวัยชราพร้อมของขวัญคือความทรมานเวอร์ชันพิเศษต้องนับว่าเป็นของแปลกใหม่ในชีวิต  ผมอ่านบทความใน Wikipedia เขาบอกว่าโรคนี้ รักษาได้ แต่ ไม่หายขาด ถ้าไม่รักษาก็ 7 เดือนตาย ถ้ารักษาด้วยวิธีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็จะอยู่ได้อีกประมาณ 4 - 5 ปี  คนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยนี้แหละ เฉลี่ยอายุก่อนตายก็ 64 - 65 ปี

          ผมได้ความรู้ทางใจหลายอย่างจากคุณครูมะเร็งท่านนี้ ผู้ชายวัยขนาด 60 ที่ชอบภาษาไทยและผ่านประสบการณ์ทางโลกมาพอสมควรอย่างผม ก็อยากจะเล่าอะไรบ้าง ไม่ใช่อยากโชว์ความรู้แต่อยากแชร์ความรู้สึกที่เชื่อว่าอาจเป็นประโยชน์บ้าง ฉันเพื่อนคุยกับเพื่อน 

          =||= =||= =||= =||= =||=

          ผมเป็นคนโชคดีที่ไม่มีลูกและ(ยัง)ไม่มีหนี้ และมีภรรยาที่ตามใจอยากจะทำอะไรก็ให้ทำ เธอมีวาจาสุจริตเป็นปกตินิสัย  เท่ากับเธอเป็นครูสอนธรรมะให้ผมโดยไม่ต้องพูดหรือพูดน้อย  เคยได้ยินบางคนพูดว่าผู้ชายเราได้ 2 อย่างนี้ก็พอแล้ว คือได้ทำงานที่ชอบ และได้อยู่กินกับผู้หญิงที่รัก ผมโชคดีได้ทั้ง 2 อย่าง

          ทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตไปวัน ๆ ซึ่งก็คือใช้ชีวิตทีละ 1 วัน ซึ่งก็คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด มีความสุขกับวันนี้ให้มากที่สุด แม้เชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าชาติหน้ามีจริง แต่วันนี้จริงและจับต้องได้มากกว่า ทำอะไรที่อยากทำได้มากกว่า ไม่ต้องรอ

          บ่อยครั้งที่นึกทบทวนชีวิตที่ล่วงไปแล้ว เมื่อเช็คสต๊อกก็พบว่า  ใน 60 ปีที่ผ่านไปก็ได้ทำอะไรบางอย่างที่ดีพอใช้  คือเมื่อระลึกถึงแล้วชื่นใจ   ส่วนที่ไม่ดีหรือไม่น่าชื่นชมก็คงมีหลายอย่างแต่ไม่รุนแรง    คือไม่ถึงขั้นน่าประณาม   พูดง่าย ๆ ว่าเป็นชีวิตแบบดาด ๆ เกรด C สอบผ่าน ไม่ต้องสอบซ่อมมาก  

          ผมนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่อง ความเพียร  ๔ อย่าง   คืออะไรไม่ดีก็พยายามปิดกั้น, ละ, กำจัด, ส่วนอะไรดีก็พยายามก่อให้เกิดและรักษาไว้  ผมดูแล้วนี่ก็คือ Dos และ Don'ts ของชีวิตนั่นเอง 

          เช้าวันนี้เวลาตี 4 ผมตื่นขึ้นมา  มีความรู้สึกว่า อยากจะใช้เวลาเงียบ ๆ คนเดียวพิจารณาเรื่อง Dos และ Don'ts ของตัวเอง อันที่จริงเรื่องส่วนตัวต้องเก็บไว้กับตัวไม่ใช่นำมาเล่า  แต่ที่ผมนำมาเล่าก็เพราะว่า น่าจะมีคนมากมายในวัยเดียวกัน ที่ได้ทำสิ่งไม่ดีที่ไม่ควรทำ คือ Don'ts  และ  ได้ทำสิ่งดีที่ควรทำ คือ Dos คล้าย ๆ กับผมนี่แหละ ชีวิตของผมที่แชร์ผ่านบทความนี้ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะต่อชีวิตของคนร่วมสังคมร่วมสมัย  ผมแอบหวังว่าท่านผู้อ่านอาจจะได้อะไรติดไปบ้าง

    dont

           เรื่องแรกที่ขอพูดคือเรื่อง Don'ts - เรื่องไม่ดีในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ผมควรเลิกได้แล้ว หรือทำให้น้องลง

         (1) มีนิสัยและอุปนิสัยบางอย่างที่ผมควรเลิก-ละ ที่ชัดที่สุดคือ พูดมากเกินไป พูดเร็วหรือรีบพูดเกินไป พูดบ่อยเกินไป หรือแม้แต่พูดดังเกินไป โดยเฉพาะเมื่อหงุดหงิดหรือร่าเริงกะทันหัน นี่เป็นเรื่องโต้ง ๆ ที่ใคร ๆ ก็เห็น แต่ทำไมต้องรอให้แก่ถึง 60 ปีจึงได้มาตระหนัก  ตอบตรง  ๆ ก็น่าจะเพราะประมาท ละเลย ขี้เกียจ สะเพร่า ยิ่งแก่ยิ่งไม่มีใครกล้าเตือน

          ผมทำงานรับราชการต่างจังหวัด ช่วง 10 ปีแรกเป็นพัฒนากร สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หลังจากนี้ก็เข้ากรุงเทพ โอนเข้าทำงานสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำได้ 22 ปีจนลาออกเมื่ออายุ 55 ปี ได้ทำงานอยู่ 2 กอง คือกองที่รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกองที่รับผิดชอบการส่งเยาวชนไปแข่งขันฝีมือแรงงานระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ ซึ่งต้องใช้ภาษาอังกฤษในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ทั้งในการติดต่อทางจดหมาย แฟกซ์ในสมัยก่อน และอีเมลในสมัยหลัง และเข้าร่วมประชุมที่เขาเดินทางมาที่บ้านเรา และกลุ่มของเราที่เดินทางไปประชุมที่บ้านเขา งานที่เล่ามานี้บังคับให้ผมต้องพูดมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งพูดจริงแบบเป็นทางการ และพูดเล่นแบบไม่เป็นทางการ แต่นิสัยรักจะพูดเล่นมีมากกว่า และการพูดเล่นนี้ถ้าพูดมากหรือเร็วเกินไปจะเผลอพูดพลาดได้ง่าย และผมก็พูดพลาดบ่อย ๆ ที่แย่ก็คือบ่อยครั้งถือดีไม่ยอมถ่อมใจว่าตัวเองพูดผิดเพี้ยนหรือพลาด

          เรื่องพูดเป็นเรื่องในชีวิตการทำงานที่ผมพลาดมาเยอะ และโดยทั่วไปก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มันเริ่มจากทิฐิความถือดีและใจร้อน พยายามหาเหตุผลมาพูดเอาชนะ ถามว่าทำไมเบื้องต้นจึงใจร้อน ใจร้อนก็เพราะเราไปตั้งอคติไว้ก่อนว่าไอ้คน ๆ นี้หรือท่านนี้ เป็นคนไม่ดีเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอเขาเสนอให้เราทำอะไร เราก็มักจะตั้งแง่คัดค้านไม่ยอมรับไว้ก่อน หรือถ้าเราต้องรับคำสั่งก็จะรู้สึกหงุดหงิดอึดอัดไปตลอด เมื่อสายตาไม่สว่างอย่างนี้จึงไม่ได้มองแง่ดี คือคนนั้นเขาก็มีแง่ดีบางแง่ที่เราสามารถเข้าไปพูดคุยสัมพันธ์ได้ หรืองานชิ้นนั้นมันก็มีแง่ดีให้เราเริ่มทำเพื่อทำประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปได้ การใจร้อนจึงเป็นการปิดใจ - ปิดตา - ปิดสมอง ปิดหนทางที่จะก้าวเดินต่อไป

         แต่แม้จะสรุปเป็นคติอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับวา ผมเป็นข้าราชการที่โชคไม่ดีนัก ได้พบเห็นและสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชาที่คอร์รัปชันเป็นกิจวัตร มีทั้งเก็บอาการอย่างมิดชิดและออกอาการอย่างเปิดเผย และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่ประเทศไทยยังจ่อมจมอยู่ที่เดิมขยับยากก็เพราะมีทากอาวุโสพวกนี้อยู่เยอะในระบบราชการ และเมื่อต้องทำงานด้วยจึงอดไม่ค่อยได้ที่จะมีอคติ ณ เวลานี้ผมยังคิดไม่ออกเลยว่า ณ เวลานั้้นผมสามารถหรือไม่ที่จะทำอะไรให้ดีกว่านั้น นอกจากรับคำสั่งจากเจ้านายเลว ๆ คำสั่งสีเทาที่ไม่ผิดระเบียบจัง ๆ แต่ก็เบียดบังผลประโยชน์จริง ๆ ที่ควรตกไปสู่ชาวบ้าน

        แต่ผมก็ยังยืนยันว่า เรื่องใจร้อน คิดลวก ๆ และปากไว พูดเร็วและพูดมากเกินไป เป็นเรื่องไม่ดี  แต่อาการที่เมื่อถึงเวลาควรพูดกลับไม่พูด  หงอหรือจำนนต่อระบบที่เลวลึก ก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน เมื่อมองดูข้าราชการทุกวันนี้ ผมเห็นว่าเขามีโอกาสทำอะไรได้มากกว่าคนรุ่นผม สิ่งหนึ่งที่เขาทำได้ง่ายกว่า คือ การเป็นนักแฉเรื่องเลวร้ายในองค์กรให้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้จัดการ หรือให้สาธารณชนได้รับทราบ ที่ศัพท์ฝรั่งเรียกว่า  whistle-blower  นั่นแหละครับ แต่ก็ต้องทำอย่างใจเย็น คิดรอบคอบ และพูดรัดกุม อย่าพูดเร็วหรือพูดมากเกินไป อย่าเอาเรื่องที่ไม่แน่ใจ ไม่มีหลักฐาน มาแฉ และถ้าจะเสนอให้สาธารณชนจับตาดูในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็น่าจะเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกต ไม่ใช่การกล่าวหา สื่อทางสังคม หรือ social media นั้นมีประโยชน์มาก มันเหมือนมีดคม ถือไม่ระวังก็บาดคนอื่นและตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าใช้ไม่เป็นก็อย่าใช้ ใช่แล้วครับ อย่าใช้ ! ให้ปรึกษาผู้รู้ก่อน คือให้ผู้รู้บอกแนวทางในการแฉความเลวร้ายในองค์กร และเราก็ คิดอย่างใจเย็น ทำอย่างรอบคอบ และพูดอย่างรัดกุม

 =||= =||= =||= =||= =||=

          ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า ในปุถุชนคนดีสามัญที่ไม่ค่อยได้ทำร้าย เบียดเบียน เอาเปรียบคนอื่นนั้น ในศีล 5 ข้อ คือ ข้อ 1 เว้นจากการฆ่าและทำร้ายร่างกาย, ข้อ 2 เว้นจากการลัก-โกง-เอาเปรียบ, ข้อ 3 เว้นจากการล่วงละเมิดทางเพศหรือของรักของหวงของคนอื่น, ข้อ 4 เว้นจากการเบียดเบียน-ทำร้าย-เอาเปรียบคนอื่นด้วยคำพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการพูดโกหกหรือให้ร้าย, และข้อ 5 เว้นจากการกินเหล้าทำร้ายสติของตนเองจนเป็นเหตุให้ไปทำร้ายคนอื่น, ในศีลทั้งหมด 5 ข้อนี้, ข้อ 4 คนทำผิดมากที่สุด บ่อยที่สุด และมักจะไม่ค่อยรู้ตัวด้วยซ้ำ การให้ร้าย โกหก ยกตน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำกันโดยทั่วไป ด้วยความหวังดี ถือตัว หรือเพลิดเพลิน  ตัวอย่างในชีวิตการทำงานของผมเองนี่แหละชัดที่สุด

            ก่อนนั้นเมื่อยังทำงานอยู่ในเหตุการณ์บังคับ ผมเคยสงสัยว่าถ้าเเพื่อนใกล้ชิดพูดจานินทาว่าร้ายคนอื่นลับหลังและคาดหวังให้เราพยักหน้าหรือเอ่ยปากเออออเห็นด้วย ถ้าเราเงียบปากและนิ่งหน้า และทำอย่างนี้แทบทุกครั้ง  เป็นไปได้ไหมว่า เขาจะนับเราเป็นพวกน้อยลง หรือหยิบยื่นผลประโยชน์บางอย่างที่คนเป็นพวกมักได้รับให้เราน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า หรือมีอำนาจในองค์กรมากกว่าเรา 

             ณ วันนี้ที่เกษียณแม้ไม่อยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นแล้ว  แต่ผมก็มีคำตอบที่มั่นใจว่าถูกต้อง  กล่าวคือ มันเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบ คือ (1)บางคนยอมรับได้ว่าเราเป็นอย่างนี้  (2)แต่บางคนก็ยอมรับไม่ได้ แต่การที่เขาจะยอมรับหรือไม่ยอมรับเรามันไม่สำคัญนักหรอก  สิ่งที่สำคัญกว่าและสำคัญที่สุดก็คือ เราสามารถยอมรับตัวเองได้หรือเปล่า ถ้าเราเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า การไม่เบียดเบียน-ไม่เอาเปรียบ-ไม่ทำร้าย คือชีวิตที่มีคุณค่าซึ่งก่อปีติให้ชีวิตเป็นนิตย์ เขาจะพูดอะไรก็เรื่องของเขา เขาจะไม่นับว่าเราเป็นพวกวงในก็เรื่องของเรา แต่ถ้าเราปฏิบัติแบบเดียวกันกับทุกคน  ทุกพวกที่ชวนเราเข้าวงนินทา เขาก็ต้องยอมรับในความบริสุทธิ์ของเรา อย่างน้อยก็ในใจของเขา แม้ทางวาจาเขาจะพูดเป็นอย่างอื่นก็เรื่องของเขา  เราบังคับปากใครไม่ได้

         ตัวอย่างที่คล้าย ๆ กันก็คือ ตอนที่เป็นพัฒนากรต่างจังหวัด ผมถูกชาวบ้านและเพื่อนร่วมงานชวนบ่อยมากให้กินเหล้า ผมไม่กิน ชวนยังไงก็ไม่กิน ถูกแซว ถูกยั่ว ถูกล้อเลียน ก็ไม่ยอมกิน เขาถามว่าทำไมไม่กิน ผมมักตอบว่า   (1) ไม่กินเพราะไม่อยาก หรือ(2) ไม่กินเพราะไม่ชอบ หรือ(3)ตอบไปดื้อ ๆ ว่า  ไม่กินก็เพราะไม่กิน แต่ผมไม่ยอมพูดว่าเหล้าไม่ดี หรือคนกินเหล้าไม่ดี บางครั้งถูกชาวบ้านขอเงินซื้อเหล้า  ผมก็ใจอ่อนให้ไป แต่ไม่บ่อย 

          แม้ไม่กินเหล้าแต่ก็ทำงานได้ ความตั้งใจทำงานอย่างตั้งใจและสุจริต เป็นโล่ที่แข็งแกร่งในการทำงานในองค์กรหรือในหมู่คณะ ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัวที่หมองด้วยศีล ย่อมทำให้ในใจลึก ๆ เรานับถือตัวเองได้ไม่เต็มที่  หลักที่ต้องจับก็คือ ถ้าเราคนเดียวสามารถนับถือตัวเองได้ ย่อมดีกว่ามีคนอื่นมากมายที่วาจามัวหมองมานับถือ แต่หลักนี้ก็ไม่ต้องจับแน่นเกินไปจนเพี้ยนอย่างผม  มีอยู่ครั้งหนึ่งผมถูกพูดยั่วมากเรื่องไม่กินเหล้า ผมหลุดพูดตอบไปว่า "คุณสมศักดิ์ (นามสมมุติ) ผมเป็นคนดีนะ และผมก็ไม่เขินด้วย ตอนถูกคนชั่วแซว "    เรามันบ้ามากเกินไปที่ยัวะตอบเขาไปอย่างนั้น !

           หมายเหตุ : เมื่ออ่านถึงบรรทัดนี้  ท่านย่อมสรุปได้โดยไม่ยากว่า สมัยเมื่อทำงานผมไม่ใช่คนวาจาบริสุทธิ์ บ่อยครั้งที่ผมขาดสติกล่าวคำบาปต่อเนื่อง ทั้งพูดให้ร้าย-พูดโกหก-พูดยกตน โดยไม่ผิดกฎหมายแบบที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่เมื่อนึกถึงคราวใดใจตัวเองก็เดือดร้อนคราวนั้น 

 =||= =||= =||= =||= =||=

          (2) สนใจมากเกินไปกับความรู้หรือข้อมูลที่เป็นส่วนเกินของชีวิต ที่รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะชีวิตมีเวลาจำกัด ทำให้เวลาที่สามารถใช้หาความรู้หรือสิ่งที่จำเป็นมีประโยชน์มากกว่า หดไปอย่างน่าเสียดายและไม่รู้ตัว  การ browse ข้อมูลผ่านเน็ตโดยไม่มีเป้าหมายที่ดีพอและเจาะจง คือตัวอย่าง Don'ts ที่ผมทำบ่อย ๆ 

          การใฝ่รู้อย่างสะเปะสะปะนี้อาจจะเป็นเพราะในช่วงต้นถึงช่วงกลางของชีวิต นอกจากการทำงานหาเลี้ยงตัวเองตามอาชีพ ผมก็ไม่รู้ชัดว่า --> เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เกิดมาทำไม อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดหรือมีคุณค่าสูงสุดของชีวิต  <--     เพราะถ้ารู้ก็จะได้แสวงหาความรู้อย่างมีทิศทาง คือความรู้เพื่อชีวิต... ชีวิตที่เพิ่งรู้ว่ามันสั้นนิดเดียว

           calmandkind

          (3) ความอยากจะเปลี่ยนคน คืออยากจะทำให้คนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราสนิท คนที่เรารักหวังดี ญาติผู้ใหญ่ คนใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแก่ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้เขาเปลี่ยนการกระทำ - คำพูด - ความรู้สึกนึกคิด ทั้ง ๆ ที่เขาเปลี่ยนยากหรือเปลี่ยนไม่ได้เพราะมันแน่นแล้ว ก็ยังจะไปหวังไปพูดให้เขาเปลี่ยน และบ่อยครั้งก็ทำให้หงุดหงิดทั้งตัวเขาและตัวเรา ผมหงุดหงิดที่เห็นว่าเขาเรื่องมาก แต่การที่ตัวเองหงุดหงิดและพูดมากก็เพิ่มคนเรื่องมากขึ้นมาอีก 1 คน คือตัวเองนี่แหละ  นี่ก็เป็นอีก 1 Don'ts  ที่ผมกำลังฝึกในวัยชรา       

          (4) เรื่องไม่ยอมรับว่ามีบางสิ่งในโลกนี้ ที่มันต้องเป็นของมันอย่างนั้น เราไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ จึงไม่ต้องไปเสียเวลากับมัน ปล่อยว่าง ช่างหัวมัน ไม่ต้องไปสะสางหรือตัดสินทุกเรื่องราวในโลกนี้ 

           เรื่องความอยากจะเปลี่ยนคนหรือเปลี่ยนสิ่งที่เห็นชัดว่าเปลี่ยนไม่ได้ เป็นเรื่องใกล้ ๆ กัน ขอพูดรวม ๆ กันไปแล้วกันครับ

           ผมเชื่อว่ามันเป็นกรรมที่ทำให้เราเกิดมาและใช้ชีวิต (1) ร่วมบ้าน (2)ร่วมที่ทำงาน  และ(3)ร่วมประเทศ กับคนอื่น และการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นทำให้กระทบใจกลายเป็นรักหรือชัง เราจึงคิดอยากให้คนอื่นเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนคำพูด ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ  ณ วันนี้ในวัยชราผมได้ข้อสรุปอันเด็ดขาดว่า อย่าไปฝันหวานเลยครับ ย้ายภูเขายังง่ายกว่าเปลี่ยนใจคน และเมื่อเขาไม่เปลี่ยนใจ เขาก็ยังทำเหมือนเดิมพูดเหมือนเดิม เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าต้องอยู่บ้านเดียวกับเขา อยู่ที่ทำงานเดียวกับเขา หรือแม้แต่อยู่ร่วมประเทศเดียวกับเขา เราจะอยู่ยังไงให้ชีวิตพอดำเนินไปได้และใจก็สงบด้วย  

          ผมขอยกตัวอย่างการสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานเดียวกันซึ่งมีนิสัยตระกูลขี้ที่น่ารังเกียจ คือ ขี้โกง(คอร์รัปชัน), ขี้นินทาว่าร้าย, และ ขี้เกียจไม่รับผิดชอบเต็มที่ในหน้าที่การงานของตนเอง, คนตระกูลขี้เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องก็น่ารังเกียจทั้งนั้น แต่ถ้าเราต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเขาทุก ๆ วัน เราจะทำยังไง 

        วิธีแก้ต้องแก้ที่ใจเราก่อน  คือ ต้องยอมรับว่ามันเป็นกรรมที่นำพาเราและเขาให้มาพบกัน จึงไม่ต้องคิดมาก   และเรื่องที่ควรฝึกเป็นนิจก็คือ มองเหตุการณ์อย่างมีความหวัง  และ --> มองผู้คนในแง่ดี ให้โอกาส  ให้อภัยก่อนใช้อคติตัดสิน   <-- พูดอย่างนี้ง่ายแต่ทำคงยากกว่า แต่ผมเชื่อว่าก็พอทำได้ ถ้าเราเป็นคนทำงานอย่างรับผิดชอบและซื่อสัตย์สุจริต เมื่อต้องพูดจากับคนพวกนี้ก็ให้ทำใจเหมือนภูเขา คือสงบ ไม่กลัว และไม่เกลียด  พูดด้วยใจเช่นนี้ไม่ว่าเขาจะเป็น เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง ถ้าฝ่ามือเราไม่เป็นแผลถึงใครยัดเยียดผงพิษใส่มือก็ไม่ตายหรอก กายวาจาที่สุจริตและใจที่มีเมตตาอภัยจะเป็นเกราะคุ้มกันภัยทั้งปวง ผมเชื่ออย่างนั้น 

         ในช่วงชีวิตกว่า 30 ปีที่ทำงาน ผมเสียสุขภาพจิตไปเยอะกับการคิดที่จะให้คนอื่นเปลี่ยนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ คำตอบที่ให้ตัวเองก็คือ อะไรที่ทำไม่ได้ก็อย่าไปคิดทำ แต่ให้เริ่มทำสิ่งดีมีประโยชน์ที่พอจะจับทำได้ เริ่มเล็ก ๆ ตรงนั้นก่อน แม้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราชอบหรือถนัด แต่ถ้ามันเป็นผลดีต่อประชาชนก็ทำไปเถอะ 

Doooo

          เรื่องที่สองที่ขอพูดคือเรื่อง Dos - เป็นเรื่องที่ควร เริ่ม - เร่ง    ซึ่งผม Do น้อยเกินไป - Do ช้าเกินไป หรือบางเรื่องยังไม่ได้เริ่ม Do ด้วยซ้ำ

          (1) การทำตามมงคล ๓๘ ข้อแรก ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอน เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง 42 คติธรรม – หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ข้อ ที่ ๑. คือคิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดี   การคบคนดีและไปสู่สถานที่ดี ก็คือมงคลข้อ ๒ และ ๔

          การคบคนดีนี้มันมากกว่า การฟังธรรมหรืออ่านคำสอนของพระภิกษุหรือฆราวาสผู้รู้ดีปฏิบัติดี แต่มันหมายถึงว่า ผมควรจะเดินทางไปพบและเห็นหน้าเห็นตาเพื่อฟังท่านพูดด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เราได้สอบถาม ใกล้ชิด สนิทสนม เป็นญาติกับชุมชนทางธรรมชาวพุทธ และได้กัลยาณมิตรตัวเป็น ๆ เกิดความกระจ่าง กำลังใจ และความมั่นใจในการปฏิบัติมากขึ้น ผมมักจะแก้ตัวว่ายังไปไม่ได้เพราะไม่มีเวลา แต่ถ้าเป็นกิจกรรมเพลิน ๆ  ผมกลับมีเวลาให้แบบไม่ต้องเตรียมตัว  แต่เรื่องคบหาบัณฑิตนี้แม้มีเวลาเตรียมตัวกลับติดขัดทุกครั้ง นี่ผมตั้งใจว่าถ้าร่างกายทุเลามากกว่านี้จะเดินทางไปนมัสการพระอาจารย์ชยสาโรที่สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี ปากช่อง โคราช สักครั้ง ผมโชคดีที่วัยนี้ได้พบธรรมะที่ชอบใจที่ท่านสอน  หลังจากมีโชคตอนหนุ่มที่ได้อ่านหนังสือธรรมะของท่าน อาจารย์พุทธทาส และหลวงพ่อชา

             เรื่องนี้มันก็เป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก พิสูจน์ไม่ได้เหมือนกันครับ ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยใกล้จบ ประมาณปี พ.ศ. 2524 -25  ผมได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) ลงไปค้นคว้าเอกสารเก่า ๆ ที่วัดชยาราม อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี ซึ่งเก็บผลงานเก่า ๆ ของท่านอาจารย์พุทธทาส ได้มีโอกาสเห็นท่านนั่งที่ม้าหินหน้ากุฏิ ได้ยินท่านพูดธรรมะรับแขก ตัวเองก็มีโอกาสได้พูดกับท่านบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องงานที่ทำ  และตอนกลางคืนก็ได้ฟังเสียงธรรมเทศนาที่เปิดให้ฟังดังทั่ววัดสวนโมกข์ ผมบอกได้เลยว่าสัมผัสอันเล็กน้อยแต่น่าประทับใจในวัยหนุ่มตอนต้น ที่ได้ใกล้แม้ไม่ชิดมหาปราชญ์ทางธรรมท่านนี้เป็นของจริง และน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมสนใจธรรมะมาตั้งแต่นั้น 

             ท่านล่ะครับ พบธรรมะที่ตัวเองชอบใจ หรือยัง และมีโอกาสเดินทางไปพบนักปราชญ์ผู้สอนธรรมะท่านนั้นบ้างไหมครับ

            (2) การทำ list หนังสือที่ควรอ่านก่อนตาย และอ่านให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่วันนี้ - นี่เป็นสิ่งที่ต้องลงทุนคัดเลือกเพราะมันหลายถึงกำไรทางธรรม อาจจะเริ่มด้วยการอ่านชื่อหน้าปก, อ่านคำนำ, ดูบทต่าง ๆ ในสารบัญ, ลองอ่านคร่าว ๆ และตัดสินใจบรรจุเข้าในบัญชี "หนังสือต้องอ่าน " และเริ่มอ่านไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันนี้ เพราะพรุ่งนี้อาจจะสายเกินไปด้วยเวลาและสายตาไม่อำนวย 

           เริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 30 ปีซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเน็ต ผมสะสมหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ ของท่านอาจารย์พุทธทาสไว้เป็นสิบ ๆ เล่ม กะว่าเมื่อแก่ ๆ หรือเกษียณแล้วจะพลิกอ่านให้ครบทุกเล่มทุกหน้า มาถึงวันนี้ผมสายตาฝ้าฟางและเป็นมะเร็ง ยังไม่ได้อ่านจบเพิ่มขึ้นแม้แต่เล่มเดียว 

           ถ้าถามว่าถ้าไม่อ่านชีวิตจะสูญเสียอะไรไปหรือเปล่า สำหรับผมมันคือการได้ในสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งผมยังไม่ได้รับหรือได้น้อยเกินไป มันคือการ update ธรรมะ เพื่อการ upgrade ชีวิตภายใน  ผมเชื่ออย่างนั้น ผมเป็นปุถุชนยังอยากได้ธรรมะเวอร์ชันใหม่ ซึ่งมีทั้งที่ออกมานานแล้วหรือที่ท่านทำออกมาใหม่ ๆ  นี่ก็อีก 1 Do ที่ต้องทำ

          (3) การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บางอย่างง่าย ๆ ที่ไม่เสียตังค์มาก ผมก็ยังไม่ได้ทำหรือทำไม่จริงจัง เช่น

          - การสวดมนต์ แผ่เมตตาและส่วนบุญให้แก่สรรพสัตว์  ผมไม่รู้ว่าจนถึงทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์ทางจิตของโลกตะวันตกเข้าถึงเรื่องนี้ได้มาก-กว้าง-ลึก  เพียงใด แต่ผมเชื่อว่ามิติทางพุทธเราไปไกลมากมานานแล้ว คำอธิบายของนักปราชญ์ชาวพุทธสมัยนี้อาจจะพอให้คำอธิบายหรือคำตอบได้ แต่การรู้จริงและอานิสงส์ที่จะได้รับต้องใช้ใจสัมผัสเท่านั้น ผ่านการปฏิบัติด้วยตัวเองจริง ๆ 

            สำหรับผม การสวดมนต์ แผ่เมตตาและส่วนบุญให้แก่สรรพสัตว์ เมื่อก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ ทำก็ได้ - ไม่ทำก็ได้ แต่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ ทำก็ได้ - ไม่ทำไม่ได้ และผู้ที่ได้นั้นก็ทั้งตัวเราและสรรพสัตว์ ที่ต้องเปิดใจให้และเปิดใจรับ นี่เป็น Do ที่ต้องใช้ใจล้วน ๆ 

          - Do อีกอย่างหนึ่งที่ผมเพิ่งมาทำจริงจังมากขึ้นคือการทำสมาธิ ผมเคยท้อเพราะนั่งสมาธิไม่ได้ผล คือถ้าไม่ฟุ้งก็ฟุบ แต่ไม่นานมานี้เพิ่งพบว่าการทำสมาธิแบบเดินจงกรมเหมาะกับตัวเองมากกว่า อันที่จริงการทำสมาธิมีตั้ง 40 แบบ หรือมากกว่า ผมน่าจะขวนขวายให้เร็วกว่านี้หาวิธีที่สมพงศ์กับตัวเอง ผมเชื่อว่าการฝึกสมาธิทุกวันจะช่วยทำจิตใจให้หนักแน่น ปล่อยวาง และร่าเริง 

          เราได้ยินพระสอนให้ฝึกสติ เห็นการเคลื่อนไหวของความรู้สึกนึกนึกคิดที่เกิด-ดับในจิตใจและก็ให้ปล่อยวาง  แต่จิตใจเป็นของละเอียดอาจจะเห็นยาก แต่ถ้าเราฝึกสมาธิให้เห็นการเคลื่อนไหวของกาย คือลมหายใจเข้า-ออก หรือฝ่าเท้าที่ย่างซ้าย-ขวา มันก็จะง่ายขึ้นเยอะทีเดียวในการรู้จัก ดูใจ-เห็นใจ-ทำใจ  คือทักษะในการดูกายจะถูกใช้ในการดูใจโดยอัตโนมัติ เรื่องนี้แต่ละคนต้อง ดูเอง-เห็นเอง-ทำเอง ครับ

          อีกอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าสมาธิช่วยให้สมองขี้หลงขี้ลืมน้อยลง  ซึ่งมันอาจจะต่างจากบางวิธีของสมัยใหม่ที่แนะนำให้สมองจดจ่อในกิจกรรมบางอย่าง  ซึ่งผมเห็นว่าถ้าเกินพอดีอาจทำให้สมองเครียดหรือตึง แต่สมาธิแบบพุทธถ้าทำอย่างปล่อยวางโอกาสเพี้ยนจะมีน้อยหรือไม่มีเลย  

          - งาน "จิตอาสา" ที่เป็น labor of love คือหาข้อมูลเพื่อให้คนไทยได้ใช้เรียนและสอนภาษาอังกฤษ  ผ่านบล็อกและเว็บที่ผมทำมากว่าสิบปี แม้อาจจะช่วยท่านได้เพียงนิด ๆ หน่อย ๆ แต่มันก็ช่วยให้ผมรู้สึกชื่นใจทุกวัน นี่เป็นการลงทุนทางใจที่คุ้มเกินคุ้ม แต่ผมก็ยังรู้สึกบ่อย ๆ ว่า ผมน่าจะทำอะไรที่รับใช้ท่านได้มากกว่านี้ แต่ทำไมทำได้เพียงเท่านี้ พอจะหาคำตอบก็นึกไปถึงเพื่อนข้าราชการบำนาญคนอื่น ๆ ที่เคยคุยกันก่อนเกษียณในเรื่องนี้ และนี่น่าจะเป็นคำตอบ

           =||= =||= =||= =||= =||=

          คือตอนที่ยังรับราชการนั้น เราทำอะไรได้หลายอย่างตามหน้าที่ เพราะเรามีพร้อมทั้งตำแหน่งหน้าที่ ลูกน้อง ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ออฟฟิศ เครื่องมือ อุปกรณ์ งบประมาณ  ผู้สนับสนุน ผู้ประสานงาน  ฯลฯ แต่พอเกษียณ เราหลายคนเหลือแค่ skill คือทักษะ ความรู้ ความชำนาญ  และใจที่จะทำสิ่งดี ๆ เพื่อคนอื่น แต่สิ่งสนับสนุนที่เคยมีเคยได้มันหดหรือหายไป จึงทำอะไรได้น้อยหรือไม่ได้เลย แถมบางคนยังมีภาระเรื่องเงินที่ต้องจ่ายเพื่อตัวเอง ครอบครัว ญาติ หรือคนในภาระดูแล หรือความต้องการติดค้างใจยังไม่ได้ชำระเช่นไปเที่ยวต่างประเทศให้หนำใจสักครั้ง 

           ผมโชคดีที่ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมมากนักในการทำงานจิตอาสา เพราะงานเว็บที่ทำมากว่า 10 ปีนี้สามารถทำ online อยู่กับบ้านได้สบายมาก   และที่โชคดีสุด ๆ ก็คือได้ ดร. ประสาร คิดดี เพื่อนรุ่นน้อง ช่วยเป็น Technical Webmaster  และได้ภรรยา เป็นกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือทุกเรื่อง

          โชคดีอีกอย่างที่เมื่ออายุไม่มากยังแข็งแรงในวัยทำงาน  ได้เดินทางท่องเที่ยวมาแล้วแทบทุุกจังหวัดในเมืองไทยและหลายประเทศในโลกนี้ แม้จะแห่งละนิด ๆ หน่อย ๆ แต่มันก็มากพอที่ตอนนี้เมื่อได้ยินใครพูดคุยเกี่ยวกับความสนุกน่าตื่นเต้นจากการไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ใจผมไม่กระเพื่อมเลยหรือกระเพื่อมน้อยมาก รู้สึกว่าแม้มันน่าดู น่าสนใจ น่าตื่นตาตื่นใจ น่าตื่นเต้น แต่มันก็อย่างนั้นแหละ และหลายอย่างก็ ของเทียมปนแท้ หรือจัดฉาก บางครั้งไกด์พาไปดูท่อนไม้เก่า ๆ สักท่อนหนึ่ง ณ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศหนึ่งในยุโรป  มันก็แค่วัตถุเก่า ๆ แต่เขาสามารถพูดจนเรารู้สึกปลื้มใจว่าได้มาเห็นสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเขา คือเขารู้จักพูดเพิ่มคุณค่าเข้าไปในสิ่ง(ที่ผมเห็นว่า)ธรรมดาให้เราทึ่ง 

          ขออนุญาตเล่าแถมสักนิดนะครับ มีครั้งหนึ่ง ผมไปเที่ยวภูเขาที่ตามโปรแกรมในสูจิบัตรจะมีหิมะให้นักท่องเที่ยวดู แต่เผอิญเราไปถึงก่อนเวลาหิมะยังตกมาแค่หรอมแหรม เขานำเครื่องทำหิมะเทียมพ่นหิมะโปรยใส่ เพื่อให้หิมะเต็มผิวภูเขาทันตามเวลาที่นักท่องเที่ยวมาชม นี่ผมเห็นกับลูกกะตาตัวเอง ผมถึงได้บอกว่า มันจริงแต่มันก็อย่างนั้นแหละ  ที่แม่กลองสมุทรสงครามบ้านผม  ผมเคยคุยกับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันและชาวไต้หวันที่เดินทางจากประเทศของเขามาดูตลาดร่มหุบที่สถานีรถไฟแม่กลอง  เขาบอกว่าตั้งใจมาดูตรงนี้โดยเฉพาะเพราะได้ดูคลิปยูทูปแล้วตื่นเต้นอยากดูบ้าง แต่ในฐานะเจ้าของบ้าน นี่เป็นสิ่งอันตรายสุด ๆ  เพราะดูเหมือนไม่มีใครกลัวรถไฟชนหรือเฉี่ยวเอาเสียเลย อยากจะเดิน ถ่ายรูป เซลฟี่ ซื้อของ ต่อราคาสินค้า หรือทำอะไรก็ได้ตามใจชอบทั้ง ๆ ที่รถไฟมาแล้วหรือกำลังจะมาในไม่กี่วินาที  รถไฟต้องกลัวคนไม่ใช่คนกลัวรถไฟ ถ้ามันเกิดอุบัติเหตุถึงตายหรือบาดเจ็บหนัก จนตลาดร่มหุบ กลายเป็นตลาดร่มหัก หรือตลาดร่มเหี่ยว จะว่ายังไง หรือจะรอให้มันเกิดเรื่องก่อน ผมเคยไปเที่ยวสถานที่ซึ่งต้องเดินบันไดลาดขึ้นไปดูสิ่งก่อสร้างคล้ายโดมหรือเจดีย์ที่บางประเทศในยุโรป ได้คุุยกับสถาปนิกคนหนึ่งที่นั่น เขาบอกว่าน่าจะมีการทำราวจับหรือออกแบบทางเดิน   เพื่อป้องกันอันตรายเมื่อหิมะตกและพื้นลื่น แต่ก็ไม่ได้ทำ ถ้าเกิดอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวไถลลื่นบันไดแข้งขาหักหัวแตกจะว่ายังไง ดูเหมือนทุกประเทศอยากได้เงินจากนักท่องเที่ยวมาก ให้เขาได้เดินและถ่ายรูปได้เต็มพิกัด สรุปก็คือ เมื่อไปเที่ยวก็ตื่นเต้นได้ แต่ก็ระวังบ้าง เพราะเขาอาจจะเล่าให้เราฟังเท่าที่เขาอยากบอก ให้เราเข้าไปดูเฉพาะส่วนที่เขายอมให้ดู  และรวมถึงต้อนเราเข้าไปซื้อในสิ่งที่เขาอยากขาย 

          นี่ก็เป็นโชคดีส่วนตัวที่ผมขอเล่า เพื่ออยากจะบอกว่า ถ้าท่านต้องการทำบุญแบบจิตอาสาเป็นงานประจำในวัยเกษียณท่านต้องเตรียมตัว-เตรียมใจ-เตรียมทักษะ-เตรียมสิ่งของ-เตรียมผู้ช่วยเหลือหรือผู้ร่วมงาน ก่อนเกษียณ  ในทำนองที่เล่ามานี้ แต่อาจจะไม่มากเท่านี้ก็ได้ เพื่อนผู้หญิงบางคนของผมชอบทำอาหารหรือขนมพวกเค้กไปถวายพระที่วัด เธอมีความสุขเพราะอิ่มบุญที่ได้ทำ อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชายตอนพูดไม่ใคร่ออกทันใจแต่เป็นจิตอาสาสามารถไปร้องเพลงเพราะ ๆ ได้คล่องแคล่วให้คนไข้และญาติฟังที่โรงพยาบาลทุกเดือน  เขามีความสุขและผมก็มีความสุขไปกับเขาด้วย  นี่ผมกำลังจะบอกท่านว่า บุญประจำที่เราเลือกจะทำในวัยชราหรือเมื่อเกษียณนั้น ถ้าไม่ใช้ labor of love เราอาจจะทำได้แต่มักไม่นาน เพราะฉะนั้นเราต้องหาอันที่เป็น labor of love ที่เรามีความสุขสามารถทำได้นาน ๆ และคนอื่น ๆ ก็จะได้ประโยชน์จากเรานาน ๆ เราต้องตระเตรียมทั้งสิ่งของ ทักษะ และใจ โดยเฉพาะใจที่คิดจะให้ไม่หวังผลตอบแทนนั้นสำคัญที่สุด การที่สังคมไทยยังมีสภาพดีพอทนไหวอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะยังมีคนไทยจำนวนมากยอมเป็นวีรบุรุษ-วีรสตรีนิรนาม ที่ปิดทองหลังพระอย่างเต็มใจและมีความสุขอย่างเงียบ ๆ ไม่กระโตกกระตาก

          งานจิตอาสานั้น ผมดูแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ   (1)แจกวัตถุสิ่งของ  (2)แจกความรู้  (3)เป็นนักกิจกรรม หรือ activist ที่แจกความคิดเพื่อชักชวนให้คนในสังคมเกิดการกระทำหมู่  โดยเชื่อว่าการทำอย่างนี้จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้น อย่างผมเองทำงานเว็บ e4thai.com ก็เป็นจิตอาสาประเภทที่ 2 คือแจกความรู้  เพื่อนของผมบางคนพยายามรวบรวมสิ่งของจากผู้คนที่ใจดีนำไปให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า นี่ก็เป็นจิตอาสาประเภทที่ 1 ผมมีเพื่อนเพียงไม่กี่คนที่เป็น activist คือจิตอาสาประเภทที่ 3 เขาเก่งมากทำได้ดี  ซึ่งงานอย่างนี้ยากเกินไปสำหรับผม

         ขออนุญาตย้อนความหลังตามประสาคนแก่สักนิดนะครับ เมื่อเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 2 ผมได้อ่านหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสแปลและเรียบเรียง(อ่านยังไม่จบ) และเจอข้อความข้างล่างนี้ในบทแรก ๆ ที่กล่าวถึงตถาคตหรือพระพุทธเจ้าว่า ....

 เกิดขึ้นเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก. เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย.

คลิกอ่านข้อความเต็ม

         ผมอ่านแล้วรู้สึกเต็มตื้นประทับใจจนล้นอก สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า "จิตอาสา" แต่เด็กนักศึกษาอย่างเราคุ้นเคยกับคำว่า "เพื่อมวลชน " และผมก็บอกกับตัวเองว่า พระพุทธเจ้านี่แหละคือคนที่เกิดมาเพื่อมวลชนโดยแท้ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องพูดว่า พระพุทธเจ้ามี "จิตอาสา" ตั้งแต่ยังไม่ได้บรรลุอรหันต์ คือตั้งแต่ยังเป็นปุถุชนนั่นแหละ ... ปุถุชนอย่างที่เราทุกคนเป็น ปุถุชนที่สามารถทำงานเป็นจิตอาสาเพื่อมวลชนได้ ... ทำด้วยใจเพื่อช่วยทำให้โลกใบนี้งดงาม 

          ท่านเองล่ะครับ กะจะทำงาน "จิตอาสา" ประเภทใดและจะทำงานอะไร (ลองคลิกดูที่นี่ก่อนก็ได้ครับ)  เตรียมตัวไว้เลยครับ

         =||= =||= =||= =||= =||=

         วันนี้ เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า  (ภาค 2 - วัยชรา) เป็นวันที่ผมมีอายุ 60 ปีกับ 60 วัน  ผมไม่รู้เลยว่ามะเร็งที่ผมเป็นอยู่จะอนุญาตให้ผมมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่วัน จึงขอถือโอกาสสวัสดีทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ก่อน เผื่อปุ๊บปั๊บถึงเวลาต้องไปไม่ทันได้ลา 

     nakhonnayok    

พิพัฒน์

วันอาทิตย์ ที่ 31  มีนาคม 2562