Home
เนื่องใน “วันแห่งความรัก” จาก ●พิพัฒน์ & ประสาร e4thai.com Webmasters●
เนื่องใน “วันแห่งความรัก” จาก ●พิพัฒน์ & ประสาร e4thai.com Webmasters●
เข้ายุค AEC มา 1 เดือนแล้ว, มีอะไรเปลี่ยนแปลงดีขึ้นบ้างเกี่ยวกับทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย และของท่าน ?
สวัสดีครับ
วันนี้ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ย่างเข้ายุค AEC มา 1 เดือนแล้ว ผมถามตัวเองว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงดีขึ้นบ้างเกี่ยวกับทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย ?
คำถามนี้ผมไม่ต้องการคำตอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะผมมองในแง่ดีว่า ผู้บริหารของทุกหน่วยงานก็คงพยายามทำอย่างเต็มที่ ถ้าเป็นหน่วยราชการ รมว., ปลัด, อธิบดี, ผู้อำนวยการ ก็คงคิดและลงมือทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่และกลุ่มเป้าหมายเก่งอังกฤษมากขึ้น, อาจารย์ใหญ่หรืออาจารย์น้อยก็คงพยายามหาวิธีสอนให้นักเรียนเก่งมากขึ้น, เจ้าของบริษัทก็คงคิดที่จะฟิตอังกฤษพนักงานของตนเช่นเดียวกัน
แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ต่อให้ท่านเหล่านั้นพยายามเต็มที่เพียงใด จัดโครงการมากแค่ไหน จัดกิจกรรมบ่อยเพียงใด มันก็มีผลน้อยมากถ้าผู้เรียนคือ บุคลากร นักเรียน นักศึกษา ลูกจ้าง ประชาชน กลุ่มเป้าหมาย ไม่ได้ขวนขวายช่วยตัวเองนอกห้องเรียน
ผมขอเปรียบเทียบอย่างนี้แล้วกันครับ ครูสามารถสอนเราให้ขี่จักรยานเป็น แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะว่าเมื่อเราขี่จักรยานเข้าไปในชีวิตจริง เราต้องเจอปัญหาอีกมากมายที่รอการเรียนรู้ ฝึกฝน ฝ่าฟัน ให้ข้ามพ้นไปได้ และเป็นไปได้ยากที่ทุกครั้งเมื่อเจอปัญหา เราจะกลับไปเข้าห้องเรียนหรือถามครู เช่น เมื่อเราขี่จักรยานแล้วเป็นตระคริว หมดแรง หลงทาง ยางในล้อรั่ว และไม่มีรถจักรยานคันอื่นขี่อยู่ใกล้ ๆ เราจะแก้ปัญหายังไง
แต่จริง ๆ แล้วปัญหาพวกนี้หรืออื่น ๆ ที่หนักหรือมากกว่านี้ มันก็ไม่ได้แสนเข็นจนแก้ไม่ได้ เพราะถ้าเราขี่จักรยานทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ลองไปขี่บนเส้นทางขรุขระ โหด ๆ ลดเลี้ยว พลุกพล่าน สับสน กลางแดด กลางฝนบ้าง เราก็จะค่อย ๆ เจอปัญหาใหม่ ๆ และรู้วิธีที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง หรือกับเพื่อนร่วมทางที่เราไปเจอ
ทุกวันนี้ใคร ๆ ในโลกก็พยายามพูดภาษาอังกฤษให้ได้ อ่านให้ออก ฟังให้รู้เรื่อง เหมือนกับที่ใคร ๆ ในโลกก็ขี่จักรยานเป็น แต่ถ้าคนไทยในยุค AEC ยังคง ขี่จักรยาน หรือ ใช้ภาษาอังกฤษ อย่างกินลมชมวิว เช่นที่เป็นมาหลายสิบปี ยังคงฝึกภาษาอังกฤษแบบพึ่งครู พึ่งโรงเรียน พึ่งหน่วยงาน พึ่งให้คนเก่งมาช่วย เจอเรื่องยากก็หยุด, เจอเรื่องให้ท้อก็ถอย, อยากมาก-พยายามน้อย-แต่หลงคิดว่าตัวเองพยายามเยอะ, เสียเวลาไปกับการแสวงหาปาฏิหาริย์และทางลัดซึ่งไม่มีอยู่จริง ฯลฯ ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ผมบอกได้เลยว่า เราจะเสียดายเมื่อวันนั้นมาถึง วันที่เราควรจะชนะ แต่เราแพ้
วันนี้ ผมลองเข้าไปที่เว็บนี้
http://www.agendaweb.org/index.php
และลองหาเนื้อหาในการฝึกอ่านมาลองทำดู มันมีหลายระดับให้เลือก, มีแบบฝึกหัดทดสอบความเข้าใจในการอ่าน พร้อมเฉลย
- ง่าย: http://www.agendaweb.org/reading/easy-reading.html
- ปานกลาง: http://www.agendaweb.org/reading/comprehension_easy_interm2.html
- ยาก: http://www.agendaweb.org/reading/comprehension_interm2.html
เนื้อหาสำหรับฝึกอ่านทำนองนี้ หาอ่านได้มากมายในเน็ต ผมอยากชักชวนท่านที่ต้องการเก่งอังกฤษว่า เลิกฝึกอังกฤษอย่างขี่จักรยานกินลมชมวิวเถอะครับ เพราะในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค AEC ต่อให้เราไม่ต้องการไปแข่งกับใคร แต่สถานการณ์มันก็บังคับให้เราต้องแข่ง เรื่องนี้คงเห็นชัดขึ้นถ้ามองไปที่ลูกหลานของท่านซึ่งอยู่ในวัยเรียน เพราะฉะนั้น การฝึกตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เขา นั่นแหละเป็นทรัพย์สินอันมีค่ายิ่งที่ท่านสามารถมอบให้แก่เขา
เราแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราสร้างอนาคตได้ และการสร้างอนาคตต้องสร้างในปัจจุบันคือวันนี้ เพราะถ้าไม่สร้าง เมื่ออนาคตมาถึงและกลายเป็นปัจจุบัน ส่วนวันเวลาที่ล่วงไปกลายเป็นอดีต เราก็คงได้แต่พูดเหมือนเดิมว่า เราแก้ไขอดีตไม่ได้ คำพูดอันไร้ความหมายที่ซ้ำซากวนเวียนมาหลายชั่วอายุคนเช่นนี้ ควรจะหยุดได้แล้ว
ถ้าเราต้องการความสำเร็จ เราก็อย่าเดินบนเส้นทางที่คนล้มเหลวเดิน เส้นทางนี้เดินง่ายแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลวและเสียใจ ส่วนเส้นทางของความสำเร็จนั้นแม้เดินยาก แต่เดินแล้วจะไม่ทำให้เราเสียใจแน่นอน
อาหารอร่อย ๆ เต็มโต๊ะเลือกกินไม่ถูก? vs eBook ดี ๆ เต็มดิสก์เลือกอ่านไม่ถูก?
สวัสดีครับ
บ่อยครั้งที่ผมได้ยินหลายท่านพูดว่า ได้ดาวน์โหลด eBook ดี ๆ ไว้มากมายจนเต็ม hard disk มันเยอะจัดจนไม่รู้จะอ่านเล่มไหน?
ผมอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงคำพูดคล้าย ๆ กัน คือ มีอาหารอร่อย ๆ เต็มโต๊ะ มันมากจนเลือกกินไม่ถูก และก็สงสัยว่า สองปัญหานี้มันทำนองเดียวกันหรือเปล่า เมื่อตรองสักครู่ก็ได้ข้อสรุปว่า มันต่างกันแทบจะโดยสิ้นเชิง !!
คนที่บอกว่า อาหารเต็มโต๊ะจนเลือกกินไม่ถูกนั้น แต่ในที่สุดเขาก็กิน โดยอาจจะกินของอร่อยที่เขาชอบมากกี่สุดก่อนเป็นคำแรก จากนั้นก็สลับกินอย่างนั้นคำอย่างนี้คำ กินไปเรื่อย ๆ จนอิ่ม อาจจะอิ่มเกินพิกัดด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น อาหารมากเกินไปไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเขา เพราะเขารู้สึกอร่อยมีความสุขที่จะกิน ชอบกิน และขยันกินโดยไม่ต้องมีใครบังคับ กินได้โดยไม่รู้สึกว่าต้องทนกิน
แต่คนที่บอกว่า มี eBook เต็ม hard disk จนเลือกอ่านไม่ถูกนั้น หลายคนที่ลงท้ายด้วยการไม่อ่านเล่มไหนเลย ไม่อ่านแม้แต่เล่มที่ชอบมากที่สุดหรือเกลียดน้อยที่สุด ที่เขาลงท้ายอย่างนี้ก็เพราะว่า เขาไม่ได้มีความชอบอยากอ่านเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น แม้จะมี eBook ดี ๆ เยอะแยะ แต่ก็แค่ดูหน้าปกหรือคลิกเข้าไปดูนิด ๆ หน่อย ๆ ถ้าจะอ่านก็ต้องพยายามหรือทนอ่าน ขันติหรือวิริยะไม่ได้เกิดขึ้นชนิด automatic เพราะไม่ได้มีความรักหรือฉันทะนำหน้า
เรื่อง อาหารและ eBook นี้จึงสรุปได้ว่า แม้จะเป็นของดีและมีเยอะทั้งคู่ แต่อย่างแรกเราวิ่งเข้าใส่ อย่างหลังเราวิ่งหนี เป็นอย่างนี้เพราะเรามีใจให้มันหรือเปล่า ?
และถ้ามองให้ลึกลงไปอีกนิดก็จะเห็นว่า ถ้าใช้ความอยากหรือความอร่อยเป็นตัวตั้ง การกระทำที่เกิดขึ้นก็มักจะผิดเพี้ยนไม่มากก็น้อย เช่น เมื่ออยากกิน ก็อาจจะกินเนื้อสัตว์มากเกินไป กินไขมันมากเกินไป กินหวานมากเกินไป กินเค็มมากเกินไป กินอาหารขยะมากเกินไป กินผักน้อยเกินไป กินพวกไฟเบอร์น้อยเกินไป โดยไม่ประเมินให้ดีว่า ร่างกายของเราตอนนี้ ควรจะกินอะไร เท่าไร ให้มันพอดี
การ “กิน” eBook ก็เช่นกัน ถ้าเอาความอยากกินเป็นที่ตั้ง ก็จะเกิดอาการผิดเพี้ยนในทำนองเดียวกัน คือ ไปอ่านเยอะเรื่องที่ควรอ่านน้อย ๆ หรือไปอ่านน้อยเรื่องที่ควรอ่านเยอะ ๆ
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ สำหรับท่านที่เรียนจบและได้งานทำแล้ว และงานบังคับให้ท่านต้องใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งท่านรู้สึกว่าท่านขาดแคลนและจำเป็นต้องฟิตให้เพิ่มพูน
และท่านก็มี eBook มากมายอยู่ใน hard disk แต่ก็ไม่รู้ว่า เล่มไหนควรอ่านมาก? เล่มไหนควรอ่านน้อย? เล่มไหนไม่ต้องไปแตะมันเลยก็ได้?
การวางแผนเพื่อฟิตภาษาอังกฤษฟื้นฟูตัวเอง โดยใช้ eBook มากมายที่เก็บไว้ในสต็อก เป็นเรื่องที่พูดได้ยาว ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ มาก ๆ แต่ผมขอพูดแบบสั้นที่สุดแล้วกันครับ
❶ ท่านต้องตอบให้ได้ว่า ใน 4 ทักษะ คือ สนทนา(ฟัง+พูด), อ่าน, และเขียน ทักษะไหนจำเป็นต่อท่านมากที่สุด ถ้าจำเป็นทุกอย่าง อะไรจำเป็นมาก อะไรจำเป็นน้อย ขนาดไหน มองตรงนี้ให้ชัดก่อน
❷ เนื้อหาที่จะใช้ฝึกตามข้อ ❶นั้น มีอะไรบ้างที่เป็นเนื้อหาทั่ว ๆ ไป เช่น บทสนทนาทั่ว ๆ ไป, การอ่านจับใจความทั่ว ๆ ไป และมีเนื้อหาอะไรบ้างที่เจาะจง เช่น ศัพท์เทคนิคหรือวลี ที่ใช้ในการพูดหรือเขียนติดต่อในแวดวงการงานของท่าน
❸ ข้อนี้สำคัญมาก คือ eBook มากมายที่ท่านดาวน์โหลดไว้นั้น บางเล่มอาจจะมีเนื้อหาที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ตามข้อ ❷ แต่กระนั้น อาจจะมีวัตถุประสงค์ของท่านบางข้อที่ไม่มี eBook เล่มใดเลยให้คำตอบได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านก็ต้องไปหา eBook เล่มอื่น ๆ มาให้คำตอบ ข้อ ❸ นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางทีใน office ของท่านอาจจะต้องช่วยกันระดมสมองคิด หรืออาจจะต้องแต่งตำรารวบรวม technical terms, หรือ ช่วยกันแต่งประโยคที่ใช้บ่อยขึ้นมาเองต่างหาก งานนี้อาจจะทำคนเดียวไม่สำเร็จ ต้องช่วยกันทำทั้งสำนักงาน
❹ หลังจากที่ได้เนื้อหามาครบถ้วนแล้ว ก็เริ่มลงมือฟิตศึกษา โดยอาจจะต่างคนต่างศึกษา หรือนัดแนะศึกษาร่วมกันกับเพื่อนในสำนักงาน
ท่านผู้อ่านครับ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ท่านจะเห็นได้ว่า ในการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง หรือช่วยกันศึกษา แค่วัสดุ หรือ eBook อย่างเดียวไม่พอครับ มันต้องอาศัย ฉันทะ – วิริยะ – จิตตะ – วิมังสา ครบทั้งสี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิมังสา คือการวางแผนมองให้รอบด้าน เป็นเรื่องที่จำเป็นไม่น้อยกว่าเรื่องอื่น
เหมือนมีอาหารเต็มโต๊ะนั่นแหละครับ นอกจากอยากกินแล้ว ยังต้องกินให้ถูกต้องอีกด้วย คือรู้ว่า กินอะไรก่อน-หลัง, กินอะไรมาก-น้อย, อาหารอะไรมีแล้ว-อาหารอะไรยังไม่มีต้องไปหามาเพิ่ม, อาหารอะไรต่างคนต่างกิน – อาหารอะไรควรกินพร้อมหน้าพร้อมตากัน กินไปคุยไป
ท่านคงเห็นภาพรวมทั้งหมดของการฝึกนะครับ คือ eBook นั้นมีประโยชน์ แต่เราไม่ควรพึ่ง eBook อย่างเดียวจนลืมมองอย่างอื่นให้รอบด้าน
ถ้าวิธีที่ถนัดและสบายใช้เรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ผล - ก็น่าจะลองเปลี่ยนไปใช้วิธีที่ไม่ถนัดและลำบากดูบ้าง
สวัสดีครับ
พอพูดถึงปัญหาที่คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ บ่อยครั้งที่ผมได้ยินคำวิจารณ์เชิงลบ บอกว่าครูในโรงเรียนชอบสอนเน้นแต่แกรมมาร์ เด็กไทยจบออกมาก็เลยพูดฝรั่งไม่ได้
ในฐานะ webmaster ของ e4thai.com เมื่อผมนำไฟล์ที่อธิบายแกรมมาร์มาให้ดาวน์โหลด จะมีคนกด Like กด Share กันเยอะแยะ นี่หมายความว่ายังไง? ผมสรุปอย่างนี้ถูกไหมครับ ไม่เฉพาะคนสอนเท่านั้นที่ชอบสอนแกรมมาร์ คนเรียนก็ชอบเรียนแกรมมาร์ด้วย แต่พอถามว่า ebook ภาษาอังกฤษที่ดาวน์โหลดไว้นั้นได้เข้าไปเรียนกันบ้างหรือเปล่า? ส่วนใหญ่บอกว่าไม่มีเวลาเข้าไปเรียน
แต่พอผมแนะนำเว็บ หรือ ebook หนังสือภาษาอังกฤษที่น่าอ่านเพื่อการฝึกภาษาอังกฤษ เช่น story ต่าง ๆ จำนวนคนที่สนใจกลับมีน้อย ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงคำที่เขาพูดกันเล่น ๆ ว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด (*) ซึ่งผมเชื่อว่าไม่จริง แต่ถ้าพูดใหม่ว่า คนไทยอ่านภาษาอังกฤษปีละ 8 บรรทัด อันนี้อาจจะเป็นความจริงมากกว่า แต่สรุปก็คือ ผมคิดว่าคนไทยที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ อ่านภาษาอังกฤษน้อยเกินไป หมายถึงภาษาอังกฤษล้วน ๆ ที่ไม่มีคำอธิบายเป็นภาษาไทยแทรก และการที่อ่านน้อยเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยโตช้า
การที่เราเข้าไปเรียนภาษาอังกฤษกับเว็บไทย อ่านคำอธิบายที่ครูไทยอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแกรมมาร์ คำศัพท์ คำคม สำนวน วลี คำสนทนา หรือคำแปลอะไรต่าง ๆ แม้ว่ามันจะช่วยให้เราเข้าใจ แต่ข้อเสียที่ยิ่งใหญ่ก็คือ หากเรายังยึดติดอยู่กับเว็บไทยหรือครูไทยอย่างนี้ ก็ยากยิ่งนักที่เราจะขจัด “การคิดเป็นภาษาไทย” เมื่อเราอ่าน-ฟัง-พูด-เขียน ภาษาอังกฤษ และจะทำให้ความเข้าใจและการใช้ภาษาอังกฤษของเราเป็นไปอย่างเชื่องช้า
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็จำเป็นต้องฝึก... ฝึกกับเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ ไม่มีภาษาไทยเข้ามาแทรก โดยเรียนกับเว็บฝรั่งที่ไม่มีภาษาไทย ซึ่งเปรียบเหมือนเรียนกับครูฝรั่งที่ไม่พูดภาษาไทย (หรือไปเรียนเมืองนอกทั้ง ๆ ที่ยังอยู่เมืองไทย) ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะสามารถขจัด “การคิดเป็นภาษาไทย” เมื่อเราอ่าน-ฟัง-พูด-เขียน ภาษาอังกฤษ
เราจะเริ่มยังไง? ผมพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า เราจะต้องเริ่มด้วยเรื่องที่ ❶ง่าย ❷เราชอบและสนใจ แต่เนื้อหาเช่นนี้จะหาได้จากที่ไหน? นั่นเป็นเรื่องที่ท่านจะต้องยอมลงทุนกัดฟันหาเองครับ ไม่มีใครหาให้ท่านได้หรอกครับ
และในการหานี้ท่านจะต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง เช่น ถ้าท่านเรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของท่านเทียบเท่าเด็กอนุบาล ท่านก็ต้องยอมรับความจริงและไปหาหนังสือที่ง่ายระดับเด็กอนุบาลมาฝึกอ่าน หรือถ้าเป็นเรื่องที่ท่านชอบแต่อ่านไม่รู้เรื่อง ท่านก็ต้องยอมทำตัวเหมือนคนเดินขึ้นภูกระดึงตอนอายุมาก คือค่อย ๆ เดินขึ้นไปทีละก้าว เหนื่อยก็พักนิดหน่อย พอแรงฟื้นก็เดินต่อ และไม่อิจฉาหรือท้อแท้เมื่อเห็นเด็กหนุ่มเด็กสาวที่ก้าวแซงสวบ ๆ ไปข้างหน้า ขอให้ท่านมีขันติ วิริยะ และศรัทธาว่า แม้จะถึงช้าแต่ท่านเดินถึงยอดภูแน่ ๆ ถ้าท่านไม่หยุดเดิน
ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมได้รวบรวมเนื้อหาหลากหลายมากพอสมควรที่ง่ายและสนุกให้ท่านหยิบไปฝึก ขอให้ท่านเข้าไป search ดูเถอะครับ แต่ถ้าหาแล้วไม่เจอ บอกผม ผมจะช่วยหาให้
การเรียนกับเว็บฝรั่งที่ไม่มีภาษาไทย ซึ่งมีเนื้อหาที่ ง่าย+สนุก ซึ่งเหมาะกับเรานี้ ในเบื้องแรกนี้ ผมขอสรุปให้เห็นชัด ๆ ว่า มันน่าจะมีสัก 4 ประเภท
❶ อ่านเรื่องง่าย ๆ
❷ อ่าน + ฟัง เรื่องง่าย ๆ เช่น เว็บข่าว ที่มีให้เราทั้งอ่านและฟังไปพร้อม ๆ กัน
❸ ฟัง + อ่าน เรื่องง่าย ๆ เช่น คลิปที่มี subtitle ภาษาอังกฤษให้เราอ่าน ขณะที่ดูภาพเคลื่อนไหวบนจอ
❹ อ่าน + พูดตาม เช่น บทสนทนาต่าง ๆ มีทั้งที่เป็นคลิป YouTube และไฟล์ mp3 ต่าง ๆ
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าเราหวังผลสำเร็จ บางทีเราก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีเรียนนะครับ และเราก็ต้องมีทั้งขันติ วิริยะ ศรัทธา พร้อมด้วยใจที่ร่าเริงฮึกเหิมในการเรียน
หรือพูดง่าย ๆ ตามชื่อบทความนี้
ถ้าวิธีที่ถนัดและสบายใช้เรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ผล
ก็น่าจะลองเปลี่ยนไปใช้วิธีที่ไม่ถนัดและลำบากดูบ้าง
https://www.facebook.com/En4Th
7 สาเหตุที่ฟิตอังกฤษแล้วไม่รู้จักก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องการพูด
7 สาเหตุที่ฟิตอังกฤษแล้วไม่รู้จักก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องการพูด
More Articles...
- ebook ที่ดาวน์โหลดเก็บไว้มากมาย จะมีวิธีศึกษายังไงให้เกิดประโยชน์?
- 4 วิธีฟิตภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง
- การทำให้เด็กรักในความรู้ คือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ในวันเด็ก
- ●●●← “ให้” –เสียงเพลงอันไพเราะ ที่ควรดังอยู่ในใจทุกคน ปีนี้ ทุกปี และตลอดไป→●●●
- สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๙ ครับ
- ฝึกอังกฤษให้ได้ผล ตามหลักอิทธิบาท 4
- เรียนภาษาอังกฤษ แบบ “2 ไม่ – 2 เอา” เรียนเท่าไรก็ไปไม่ไกลสักที
- คำแนะนำจากผู้รู้หลายท่าน เกี่ยวกับวิธีเรียนให้เก่งอังกฤษ
- คำแนะนำหน่วยงานซึ่งกำลังจะจ้างครู(ฝรั่ง)มาสอนพนักงานพูดภาษาอังกฤษ
- คำแนะนำสำหรับองค์กรในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของพนักงานเจ้าหน้าที่
- เชิญ Search บทความเก่า ช่วงที่ยังไม่มีบทความใหม่
- ขอลางานหลายวันครับ
- วิธีฝึกอังกฤษแบบผิด ๆ ที่ติดเป็นนิสัยคนไทย
- อ่านข่าวภาษาอังกฤษทุกวัน - ข้อปฏิบัติง่าย ๆ ในการฟิตอังกฤษ
- ขุมทองทางภาษา รอให้ท่านเข้าไปขุดด้วยตัวเอง
- ต้องเจอของจริง !!!
- ฝึกภาษาอังกฤษกับสำนักข่าวดังทั่วโลกผ่านเว็บYouTube
- หินลับมีด – ปัญหาลับชีวิต
- “นิราศท่าพระจันทร์ถึงท่าเตียน” - ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับงานบริการ
- คนที่อยากเก่งอังกฤษ แต่กลัวความยากลำบากในการเรียน ก็ไม่ต่างจากหนูในนิทานเรื่องนี้