อุปสรรค-อุปกรณ์-อิทธิบาท ในการเรียนภาษาอังกฤษ
สวัสดีครับ
ทักษะภาษาอังกฤษสำคัญหรือไม่? สำคัญเพียงใด? สำคัญอย่างไร? ผมคิดว่า 3 คำถามนี้ไม่จำเป็นต้องตอบอีกแล้ว เพราะทุกคนรู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเก่งอังกฤษ? ถามอย่างนี้คงได้คำตอบหลากหลายไม่รู้จบ และทุกคำตอบก็ถูกทั้งนั้นถ้าคนนำไปใช้และได้ผล
จุดเล็ก ๆ ที่ผมต้องการพูดในวันนี้ก็คือ เท่าที่ผมเจอมา พอพูดว่าจะฟิตภาษาอังกฤษ คน 9 ใน 10 จะถามว่า เรียนที่ไหน โรงเรียนอะไร เรียนกับอาจารย์อะไร เว็บอะไร หนังสือเล่มไหน ฯลฯ คำถามทำนองนี้บอกชัดว่า เราคนไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งเป็นอันดับแรกกับอุปกรณ์หรือตัวช่วยในการเรียน ดูเหมือนเราจะเชื่อว่า อุปกรณ์จะขจัดอุปสรรค เพราะฉะนั้นจึงขอสะสมอุปกรณ์ไว้ก่อน คงยึดคล้าย ๆ ภาษาษิตจีนที่บอกว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หรือ มีอุปกรณ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ผมจึงได้เห็นว่า หลายคนแสดงอาการท้อแท้พอผมบอกว่า ลิงค์ไฟล์หนังสือที่เคยดาวน์โหลดได้ในบล็อกตอนนี้กลายเป็นลิงค์ตายแล้ว คล้ายกับว่าตอนนี้หมดอุปกรณ์ในการเรียนภาษาอังกฤษแล้ว ผมสงสัยว่าคนที่ขยันดาวน์โหลดไฟล์ต่าง ๆ นั้น ได้เข้าไปศึกษา eBook หรือโปรแกรมพวกนั้นบ้างหรือเปล่า หรือเพียงแค่อุ่นใจว่าได้ตุนอุปกรณ์ไว้แล้ว ถึงเวลาก็สามารถหยิบออกมาใช้ได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็เหมือนพวกผู้หญิงที่ไปเจอของกระจุกกระจิกตามห้างและรู้สึกว่าจะต้องซื้อให้ได้ พอกลับถึงบ้านก็ขังลืมของพวกนั้นในตู้หรือลิ้นชัก แทบไม่เคยเปิดออกมาดู นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าได้ใช้หรือเปล่า
หลายคนทำกับอุปกรณ์ศึกษาภาษาอังกฤษอย่างนี้เด๊ะเลย คือตื่นเต้นดีใจในการได้มาและสะสม และก็ลืมมันไปเลยไม่เคยเอาออกมาใช้
แต่ครั้นถึงวันดีคืนดีที่เลือดลมผิดปกติคิดจะฟิตภาษาอังกฤษ ก็หยิบอุปกรณ์ออกมาใช้ โดยการเปิดเว็บ, ใช้โปรแกรม, คลิก eBook, ฟัง mp3, ดูวีดิโอ, ซ้อมทำ test ฯลฯ มันอาจจะลื่นไหลใน 5 – 10 นาทีแรก แต่หลังจากนี้อาจจะพบว่า การเรียนเริ่มชะลอ, ชะงัก, สะดุด ด้วยสารพัดสาเหตุ คนที่มีกระดูกใจในเรื่องนี้ค่อนข้างนิ่มก็สามารถเลิกเรียนได้อย่างรวดเร็วและทันที
ผมขอสรุปตรง ๆ สั้น ๆ ว่า ในการฟิตภาษาอังกฤษ แม้อุปกรณ์จะช่วยขจัดอุปสรรค แต่ถ้าไม่มีอิทธิบาท อุปกรณ์ก็มีความหมายน้อย หรืออาจจะแทบไม่มีความหมายเลย
เมื่อพูดถึงอิทธิบาท ผมหวังว่าหลายคนยังคงจำได้ว่ามันประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ไอ้คำศัพท์ยาก ๆ พวกนี้มันคือะไรกันแน่ และมันเกี่ยวอะไรกับภาษาอังกฤษที่ไม่ไช่ภาษาแขก
เท่าที่เคยสดับตรับฟังข่าวเกี่ยวกับระดับของผลการเรียนของเด็กไทย (ซึ่งจะกลายเป็นผู้ใหญ่ไทยในวันข้างหน้า) มันมีแต่เรื่องที่ชวนเศร้า ดูเหมือนว่าโรคขี้เกียจเรียนหนังสือจะเป็นกันเยอะทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา บางคนก็บอกว่าเด็กไทยเดี๋ยวนี้เก่ง ได้รับรางวัลแข่งวิชาการโอลิมปิกส์สาขานั้นสาขานี้บ่อย ๆ ข่าวทำนองนี้แม้จริงแต่ก็เท็จ เพราะมันเป็นกรณียกเว้น หรือ exceptional case ที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนนิดเดียว ซึ่งใช้แทนมหาชนไม่ได้ เหมือนกับที่บอกว่าคนไทยหลายคนรวยติดอันดับโลก ก็ไม่ได้แปลว่าคนไทยส่วนใหญ่รวย
เด็กในโรงเรียนที่ขี้เกียจเรียนภาษาอังกฤษ เมื่อเรียนจบเป็นผู้ใหญ่ในที่ทำงาน ก็เป็นผู้ใหญ่ที่ขี้กียจและอ่อนภาษาอังกฤษ การสะสมอุปกรณ์เป็นข้อแก้ตัวง่าย ๆ ที่ใช้บอกตัวเองว่าฉันไม่ได้ขี้เกียจ
แม้ว่าอุปกรณ์สำหรับการศึกษาภาษาอังกฤษทุกวันนี้มีมากทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่มันก็เป็นแค่อุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้เอาชนะอุปสรรคเพราะคนใช้ไม่มีอิทธิบาท
พอพูดมาถึงบรรทัดนี้ ผมต้องใช้เล็บหยิกก้นเตือนตัวเองว่าอย่าพูดมาก เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่น่าฟังสำหรับคนที่ไม่มี และเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องพูดสำหรับคนที่มีแล้ว ผมจึงขอพูดอย่างสั้นที่สุด
อิทธิบาท start ที่ใจ.... ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา start ที่ใจทั้งนั้น
เรียนภาษาอังกฤษด้วยฉันทะคือเรียนด้วยความรัก แต่ในเมื่อมันเกลียดมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกเบื่อปุบปับฉับพลันทุกครั้งที่ต้องยุ่งกับภาษาอังกฤษ เป็นยังงี้จะให้ทำยังไง คำแนะนำสั้น ๆ ของผมก็คือ บอกใจให้รัก โอ้โลมปฏิโลม หว่านล่อม ชักแม่น้ำทั้งห้าร้อยสายชักจูงใจที่แข็งให้อ่อน, ใจที่เกลียดให้รัก, ถ้าท่านบอกว่าทำไม่ได้ ผมขอถามว่าท่านเคยทำหรือเปล่า? การบอกใจให้รักภาษาอังกฤษเนี่ย!! ถ้าเคยทำ ท่านทำอย่างจริงจัง หรือทำอย่างเสียไม่ได้?
เรียนภาษาอังกฤษด้วยวิริยะคือเรียนด้วยความขยัน ขยันแปลว่า เรียนไปทั้ง ๆ ที่ใจขี้เกียจ-เบื่อ-ท้อเต็มร้อย,แปลว่า หาเวลาเรียนให้ได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเวลาว่าง, ไม่เอาคำว่า “เรียนไม่รู้เรื่อง” มาเป็นเหตุผลในการเขียนใบลาหยุดเรียน ฯลฯ ถ้าท่านบอกว่าทำไม่ได้ ผมก็ขอบอกว่า ถ้างั้นก็อย่าไปทำเลยครับ, หรือทำอย่างขี้เกียจ ๆ ตามอารมณ์ก็ได้, ชีวิตนี้สั้นนัก เราไม่จำเป็นต้องขยันไปทุกเรื่อง, เรามีสิทธิขี้เกียจตามใจตัวเอง, แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็ไม่มีสิทธิได้รับอภิสิทธิ์ที่สังคมมอบให้แก่คนที่ไม่ตามใจตัวเอง
เรียนภาษาอังกฤษด้วยจิตตะคือเรียนด้วยสมาธิ ถ้าท่านใช้เวลาครึ่งชั่วโมงในการเรียนภาษาอังกฤษ, ครึ่งชั่วโมงที่เรียนไปพร้อมใจที่ฟุ้งซ่าน, คุยมือถือ, เล่น facebook, chat กับเพื่อน, สะลึมสะลือ, งัวเงีย, ฟังเพลง, ดูหนัง, คือ เอาใจไปใส่ไว้ในกิจกรรมอื่น ๆ หมด จนไม่เหลือใจให้กับภาษาอังกฤษที่วางอยู่ข้างหน้า, การเรียนแบบนี้คือไม่ได้เรียนครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกห้อง-สถานที่-โต๊ะ-เก้าอี้ที่เรานั่งเรียน ที่สมพงศ์กับการเรียน, เลือกเวลาเรียน เช้า-สาย-บ่าย-เย็น-ตื่นนอน-ก่อนนอน ฯลฯ ที่สมพงศ์กับการเรียน, เลือกที่จะอยู่ห่างคนที่รบกวนสมาธิ, เลือกที่จะอยู่ใกล้ใครบางคนที่ช่วยส่งเสริมสมาธิ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ท่านต้องจัดการตัวเองครับ
เรียนภาษาอังกฤษด้วยวิมังสาคือเรียนด้วยสมองที่มองหาทางปรับปรุงการเรียนภาษาอังกฤษของตนเอง เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าแปลกมากก็คือ เด็กไทย – คนไทย จำนวนไม่น้อย เวลาจะเรียนหรือฟิตภาษาอังกฤษ ชอบให้คนอื่นวางแผนการเรียน หรือ study plan ให้ ทั้ง ๆ เรื่องนี้เราทำเองได้ดีกว่า เพราะเราย่อมรู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อน-จุดแข็ง ตรงไหน, ชอบ-ไม่ชอบ อะไร, ว่าง-ไม่ว่าง เวลาใด, มีเงินใช้เพื่อการนี้ มาก-น้อย เพียงใด, อยู่ใกล้-ไกล แหล่งการเรียนรู้-ครู-อุปกรณ์ อะไร ขนาดไหน, ควรวางแผนกิจกรรมการเรียน รายสัปดาห์ รายเดือน ราย 2 เดือนอย่างไรดี, เรื่องที่สงสัยขณะนี้ควรจะไปค้นหาที่ไหน หรือถามใคร ฯลฯ คำถามทำนองนี้ ท่านควรเป็นตัวหลักในการตอบ ส่วนคนอื่นที่ถึงแม้ว่าอาจจะเป็น “ผู้รู้” ก็เป็นแค่ตัวประกอบ และคำตอบที่ท่านคิดได้ก็ไม่จำเป็นต้องคงที่ตลอดไป เพราะมันสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา นี่เป็นวิมังสาที่ท่านต้องหาคำตอบเอง
นับจากวันนี้ไปในอนาคตกาลอีก 1,000 ปี ถ้าท่านได้เกิดใหม่ที่ประเทศนั้น และสามารถมองเห็นผ่านกล้องส่องกาลย้อนกลับมายังเมืองไทยใน ค.ศ.นี้ ท่านอาจจะนึกเห็นใจว่า คนในยุคดึกดำบรรพ์สมัยประมาณ ค.ศ. 2,000 ต้องฝ่าฟันศึกษาภาษาโลกอย่างเอาเป็นเอาตาย และเทคโนโลยีที่มีอยู่ก็ล้าหลังช่วยมนุษย์ได้เล็กน้อยมากในการเรียนภาษาโลก ถ้าท่านอยู่ที่นั่น ขอให้ท่านปรับกล้องส่องกาลสักนิด และท่านจะเห็นว่า คนที่เรียนภาษาโลกในยุคดึกดำบรรพ์เช่นปัจจุบันนี้ หลายคนเรียนเหมือนกันแต่ก็เรียนไม่เหมือนกัน บางคนเห็นความยากในการเรียนเป็นภาระและความทุกข์ที่ต้องทน แต่บางคนเห็นเป็นการท้าทายที่น่าเล่นและเอาชนะ และไม่เคยเป็นทุกข์แม้ว่าเล่นแล้วจะแพ้บ้าง
ท่านอย่าเรียนภาษาอังกฤษในแบบที่คนในอนาคตมองมาแล้วรู้สึกสงสารเลยครับ
พิพัฒน์