ความคิดเห็นต่อการประท้วงในเมืองไทย
สวัสดีครับ
เมืองไทยมิได้เป็นประเทศเดียวที่ประชาชนประท้วงรัฐบาล ถ้าเราเข้าไปอ่านลิงค์นี้ ของนิตยสาร The Economist เพียงหยาบ ๆ
http://www.economist.com/topics/protests-and-demonstrations
เราก็จะพบว่า การประท้วงเกิดขึ้นทั่วโลก เช่นที่ กัมพูชา, ยูเครน, บราซิล, บัลแกเรีย, ซูดาน, โคลอมเบีย, อียิปต์, ตูนิเซีย, เอธิโอเปีย, ตุรกี เป็นต้น
การประท้วงแต่ละครั้งในแต่ละประเทศ อาจจะแตกต่างกันบ้าง เช่น รุนแรงหรือสงบ, จบเร็วหรือจบช้า, จำนวนคนประท้วงมากหรือน้อย, กระจุกในเมืองหลวงหรือกระจายไปเมืองอื่นๆ เป็นต้น
แต่อย่างหนึ่งที่น่าจะเหมือนกันในทุกการประท้วงทั่วโลกทุกวันนี้ก็คือ ผู้ประท้วงใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร เช่น smartphone หรือ social media มาเป็นตัวช่วยในการกระจายข่าวสารหรือรวมพล ผมคิดว่า คุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook อาจจะคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่า ประดิษฐกรรมของเขา จะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอย่างมากมายปานนี้
ผมอดคิดไม่ได้ว่า การประท้วงที่มีคุณภาพนั้น ควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ผมว่ามันน่าจะมีอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
•-พฤติกรรมร้าย ๆ ของผู้นำการเมือง หรือนโยบายแย่ ๆ ของรัฐบาล ที่ผู้ประท้วงยกเป็นสาเหตุของการประท้วง –มันฟังขึ้น
•-ผู้ประท้วงใช้วิธีอันสงบในการประท้วง สงบ แปลว่า ไม่ทำร้ายร่างกายและชีวิต อันผิดศีลข้อ 1, ไม่ทำอันตรายทรัพย์สินระหว่างการประท้วง อันผิดศีลข้อ 2, ไม่สื่อสารสิ่งอันเป็นเท็จระหว่างการประท้วง (เพื่อให้ได้ชัยชนะ) อันผิดศีลข้อ 4, และไม่ทำให้ตัวเองมึนเมาเพื่อสร้างความกว้าและบ้าบิ่นเกินพิกัดในการประท้วง ซึ่งผิดศีลข้อ 5
•-ผู้ประท้วงต้องใช้ความสงบและความจริง ในการโน้มน้าวให้คนที่ไม่เห็นด้วยมาเข้าร่วม การใช้ความรุนแรงและความเท็จ เพื่อดึงให้คนอื่นมาเข้าร่วมด้วยความกลัวและความหลง อย่างที่มีการทำกันในบางแห่ง แม้จะได้ชัยชนะในเวลาอันสั้น แต่มันคือความพ่ายแพ้ในระยะยาวและแพ้อย่างถาวร ประเด็นที่ต้องเน้นก็คือ การใช้ความสุภาพและความจริงเพื่อจูงใจคนที่เห็นต่าง ทำได้ไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ทำหรือทำไม่สำเร็จ ก็ยากที่การประท้วงจะชนะ หรือแม้ชนะก็เป็นชัยชนะที่อายุสั้น
•-ผู้ประท้วงต้องยอมประนีประนอมหรือเปลี่ยนใจบ้าง หากเหตุผลบางข้อของผู้กุมอำนาจฟังขึ้น นี่เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแวดล้อมด้วยคนใจเดียวกันที่ต้องการทำอะไรให้มัน “สุด ๆ”
ปัญหาทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในเมืองไทยทุกวันนี้ ในแง่หนึ่ง มันคือ “ผลกรรม” ที่คนในสังคม ทั้งต่างคนต่างทำและร่วมกันทำในอดีต จนทำให้เกิดสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำหรือช่องว่าง ระหว่างคนรวยกับคนจน, ระหว่างเมืองกับชนบท, ระหว่างคนมีการศึกษามากกับคนมีการศึกษาน้อย, ระหว่างผู้ปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง ฯลฯ ช่องว่างนี้ทำให้คนที่ได้เปรียบหรือมีความสุขมากกว่า ละเลยคนที่เสียเปรียบ, แต่ความจริงก็คือ ความเหลื่อมล้ำโดยตัวมันเองคือความรุนแรงที่รอวันปะทุ ถ้าเราไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ทุกชัยชนะของการประท้วงทางการเมืองมีความพ่ายแพ้รออยู่
ผมเห็นว่า เราคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความสุขมากกว่าในสังคม กำลังชดใช้กรรมที่อาจจะเคยทำร่วมกันมาในอดีตโดยไม่ตั้งใจ เราได้เปรียบเพราะโครงสร้างสังคมที่เอาเปรียบ และโครงสร้างแบบนี้มันมีมาแล้วก่อนเราเกิด ณ วันนี้ เป้าหมายหลักของการต่อสู้ คือ การได้มาซึ่งโครงสร้างสังคมที่ไม่เอาเปรียบ, ที่ไม่เป็นเชื้อเพาะความรุนแรง นี่คือการชดใช้กรรม ที่เราต้องทำด้วยความจริงและการเสียสละ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.