Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

เขียนมาเล่าสู่กันฟัง ประสบการณ์ในการพูดภาษาอังกฤษของผม

สวัสดีครับ 

pptstn

          วันนี้ขอละเว้นกฎเคยชินสักครั้งนึงเถอะครับ ผมอยากจะเล่าเกี่ยวกับเรื่องเฉิ่มๆในการใช้ภาษาอังกฤษของผม เผื่อบางท่านที่มาอ่าน อาจจะมีกำลังใจมากขึ้นในการศึกษาภาษาอังกฤษ

          ผมเกิดมาโชคดีที่ชอบอ่านหนังสือ และชอบภาษาอังกฤษ สองความชอบนี้ เป็นเองโดยไม่ต้องมีใครเสี้ยมสอน พอโตขึ้นจึงได้ข้อสรุปว่า ถ้าจะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ดีและมีความสุข ต้องรักภาษาอังกฤษ เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งของผม แกมีความเกลียดภาษาอังกฤษเป็นต้นทุน เพราะสมัยเด็กเคยทำข้อสอบ multiple choice ครูเขาให้เติมคำในช่องว่างว่า “I am a ………..”ข้อ A.boy ข้อ B.girl ข้อ C.cat ข้อ D.dog พี่สาวคนนี้ของผม แกเลือกข้อ D และถูกครูอารมณ์ขันจอมโหด เอาข้อสอบของแกไปเฉลยหน้าห้อง แถมยังย้อนถามพี่สมศรี(นามสมมุติ) อีกว่า “สมศรี เธอเป็น a dog หรือไง“ แล้วเพื่อนๆ ก็เฮกันทั้งชั้น ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พี่สมศรีก็ไม่ยอมเผาผีกับภาษาอังกฤษอีกเลย ตอนที่แกมาเล่าให้ผมฟัง แกเป็นสาวแล้ว แต่ผมก็นึกสงสารแกเป็นกำลัง แกถูก”กระทำ“ ให้เกลียดภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่ภาษาอังกฤษมีอะไรที่น่ารักอยู่เยอะทีเดียว

          สมัยเรียนภาษาในโรงเรียนชั้นประถม ชั้นมัธยม ผมก็ไม่ต่างจากคนรุ่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้เก่งกว่าชาวบ้าน แต่ที่ต่างจากเพื่อนหลายๆคนร่วมห้อง ก็คือ ผมไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษอย่างทุกข์ทรมาน ไม่ว่าผมจะได้เกรด A, B, C หรือ D แถมยังมีความเพลิดเพลินในการเรียนอีกต่างหาก ด้วยความรักดังกล่าว ผมจึงไม่รู้สึกอาย เมื่อใช้ภาษาอังกฤษอย่างผิดๆ บ่อยๆ ผมขอยกเหตุการณ์บางอย่างมาเล่าให้ฟัง ข้างล่างนี้นะครับ

          มีครั้งนึง ผมไปสัมมนาที่พัทยา มีหลายชาติเข้าร่วมสัมมนา ผมกำลังมองหาห้องสัมมนาชื่อ Terrace พอเดินไปที่เคาน์เตอร์ ก็พูดชื่อห้องออกไป เขาชี้บอกทางไปทางด้านหนึ่งของชั้นนั้น ผมเดินไปจนสุดทาง พบห้องๆหนึ่ง หน้าห้องเขียนได้ด้วยภาษาอังกฤษว่า Toilet ผมคิดในใจว่า “เอาวะ ไหนๆก็มาถึงแล้ว” ก็เลยเข้าไปทำธุระใน Toilet เสียหนึ่งครั้ง ขณะที่นั่งก็นึกรำพึงในใจว่า การออกเสียงภาษาอังกฤษของเรานี่ มันแย่ขนาดนี้เชียวรึ

          ชีวิตการงานบังคับให้ผมต้องใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่ทักษะภาษาอังกฤษก็อย่างงั้นๆแหละครับ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมร่วมเดินทางกับคณะไปแข่งขันฝีมือแรงงานเยาวชนที่ประเทศแคนาดา เขาใช้ให้ผมไปซื้อดินน้ำมันที่เยาวชนไทยคนหนึ่งต้องเอามาใช้ประกอบการแข่งขันช่างอัญมณี โชคร้ายจริงๆ ย่านที่ผมไปหาซื้อดินน้ำมัน มีแต่คนพูดฝรั่งเศส ผมอธิบายแทบตายด้วยภาษาอังกฤษอันจำกัดที่มีอยู่ กว่าจะทำให้เจ้าของร้านรู้ว่าผมต้องการดินน้ำมัน ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาษาอังกฤษมันเรียกว่าอะไร (ตอนนี้จำได้แล้วว่า มันเรียกว่า plasticine) พูดนานทีเดียวจนเมื่อยมือและเมื่อยปาก แต่ก็สำเร็จครับ โดยเจ้าของร้านตอบว่า “อ๋อ เข้าใจแล้วครับ แต่ร้านเราไม่มีขาย” และเขาก็พยายามบอกให้ผมไปซื้อที่อีกร้านหนึ่งซึ่งต้องเดินไปอีกประมาณ 200 เมตร เมื่อเดินไปถึงร้านที่สองนี้ผมไม่ลำบากแล้วครับ เพราะผมเพียงยื่นแผ่นกระดาษที่เขียนคำว่า plasticine เท่านั้นเอง สำหรับคนตัวเล็ก ๆ อย่างผม การซื้อดินน้ำมันได้สำเร็จครั้งนี้เก็บเอามาเป็นความภูมิใจเงียบ ๆ ได้หลายวันทีเดียว และผมยังได้ข้อสรุปอีกว่า การจะสื่อสารให้สำเร็จ ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้ ภาษาที่พูดเปล่งเสียงออกไปทางปากเท่านั้น แต่ทำยังไงก็ได้ ที่ทำให้คนที่เราพูดด้วยรู้เรื่อง

          และจริงๆ แล้ว การทำอะไรผิดๆพลาดๆไปบ้าง ก็อาจจะดีเหมือนกัน มีอีกครั้งหนึ่ง ผมไปที่เยอรมัน กำลังมองหาห้องน้ำ พอเดินไปพบก็มีอยู่สองห้องติดกัน ห้องหนึ่งมีป้ายเขียนว่า Herr อีกห้องหนึ่งเขียนว่า Damen ผมนึกในใจตามประสาคนไม่รู้ Herr นี่มันคล้ายๆกับ Her คงจะเป็นห้องน้ำผู้หญิงละมั้ง ส่วน Damen น่าจะเป็นห้องน้ำผู้ชาย เพราะมีคำว่า men ขณะที่ผมกำลังจะเดินเข้าไปใน damen ก็มี woman คนหนึ่งเดินสวนออกมา ผมเลยชะงัก และหลังจากนั้นก็ไม่เคยเข้าห้องน้ำผิดอีกเลยที่เยอรมัน

          ไม่ใช้เพียงแค่ผมเท่านั้นครับ ที่ทำอะไรเฉิ่มๆอย่างนี้ เพื่อนของผมหรือคนที่ผมรู้จักหลายคน ก็ทำผิดคล้ายกันนั่นแหละ มีเพื่อนสนิทของผมคนหนึ่ง ไปเยอรมันด้วยกัน หมอนี่เข้าไปที่ร้านแมคโดนัลด์ แต่ก็ไปตั้งนานกว่าจะกลับมา ผมถามว่า ทำไมไปนานนัก เขาตอบว่า พูดกับคนขายไม่รู้เรื่อง พูดตั้งหลายครั้งว่าขอซ้อส ก็ไม่ยอมหยิบซ้อสให้ ดันชี้ไปที่กระปุกเกลือ ผมถามว่า แล้วแกบอกเขาว่ายังไงล่ะ ไหนพูดภาษาอังกฤษให้ฟังซิ ไม่น่าสงสัยเลยครับ เพราะแกออกเสียงคำว่า sauce ฟังเหมือน salt มากกว่า แต่ถึงยังไงผมก็ต้องชมเพื่อนคนนี้ว่า แม้จะพูดผิด แต่ก็ยังได้ซ้อสมากิน ไม่เสียเชิงพี่ไทยที่ลุยไปในต่างแดน

          แต่อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยครับ ผมไปเจอฝรั่งคนหนึ่ง อยู่เมืองไทยมาหลายปี แถมจีบสาวไทย จะขอไปอยู่กินที่สหรัฐด้วยซ้ำ เพื่อนๆบอกว่า Mr. Carlton คนนี้พูดภาษาไทยเก่งมาก ฟังรู้เรื่องหมด ผมบอกว่า ขออนุญาตเล่นอะไรด้วยนิดนึงได้ไหม โดยบอกเขาว่า มีภาษาไทยที่ฟังยาก พูดยากอยู่ 3-4 ตัว คือ มวย(Boxing) หมวย(Chinese girl), สวย(beautiful), ซวย( unlucky) แล้วผมก็ให้นาย Carlton แปลภาษาไทย 3-4 ประโยค ต่อไปนี้ สลับไปสลับมา คือ หมวยสวยมาก - หมวยซวยมาก - มวยสวยมาก - และ มวยซวยมาก ถามไป 2-3 ทีเท่านั้นแหละครับ Mr.Carlton ใบ้รับประทานเลยละครับ นี่ขนาดเก่งๆ กำลังจะได้สาวไทยไปเป็นเมียนะ แต่ที่ผมต้องการสรุปจากนิทานเรื่องนี้ก็คือว่า ต่อให้พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็ยังได้เรื่อง ขอให้ขยันพูดหน่อยแล้วกันในกรณีนี้คือ ได้เมีย ฉะนั้น ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรนักหนา

          การใช้ภาษาผิดๆถูกๆนี้ เกิดกับทุกคนที่เรียนรู้ภาษาของคนอื่น มีอยู่ครั้งนึง ผมนั่งเครื่องการบินไทยจากกรุงเทพฯ ไปโตเกียว เขาจ้างสาวญี่ปุ่นเป็นแอร์โฮสเตส คงกะจะให้เสริฟนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่มาเที่ยวเมืองไทย ขณะที่เธอกำลังเสริฟอาหารและเครื่องดื่ม 2-3 แถว ก่อนที่จะถึงที่นั่งของผม ผมได้ยินเธอถามผู้โดยสารเป็นคำไทยสำเนียงญี่ปุ่นว่า “เอากาแฟไหมคะ“ ผมนึกในใจว่า trainer ของเธอ น่าจะจับเธอไปอบรมซะใหม่ เพราะคำว่า “เอา” ใช้ควบกับคำว่า “กาแฟ” ไม่ค่อยจะสุภาพนัก แต่พอเธอมาถึงผม เธอตัดคำหลังออก แล้วถามสั้นๆว่า “เอาไหมคะ” และเพื่อให้ภาษามีความสอดคล้องกลมกลืนกัน ผมก็เลยตอบเธอ ว่า “เอาครับ” แล้วก็ได้เอากาแฟอร่อยๆมากินหนึ่งแก้ว

          ผมอยากจะสรุปว่า เมื่อมีการใช้ภาษา ก็ต้องมีการใช้ผิด ๆ ถูก ๆ ปนๆกันไปเป็นธรรมดา ซึ่งสำหรับผมแล้วถือเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง อีกครั้งนึง ผมไปฮานอย ถึงมื้อกลางวัน แวะเข้าร้านอาหารข้างทาง ทั้งร้านไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้แม้แต่คนเดียว ถามหาเมนูก็มีแต่ภาษาเวียดนาม ด้วยเหตุที่ผมเป็นคนกินยาก เลยไม่อยากสั่งอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า กะจะกินข้าวราดไข่เจียวเท่านั้นแหละครับ แต่คุณเอ๊ย เป็นมื้อข้าวไข่เจียวที่สั่งได้ยากทุรกันดารที่สุด เพราะยังไงๆพี่แกก็ไม่ยอมรู้เรื่อง แม้ว่าจะใช้ภาษามือ ขยับเป็นวงรอบ 360 องศาแล้วก็ตาม โชคดีครับ ผมเหลือบไปเห็นเมนูเก่าๆเล่มนึง วางอยู่บนโต๊ะใกล้ๆ หยิบมาดู อ๊ะ มีภาษาอังกฤษด้วย แต่ก็เป็นภาษาอังกฤษที่เขียนตามคำอ่านภาษาเวียดนาม โอ๊ย วันนี้จะได้กินมั้ยเนี่ยะ แต่เอ๊ะ มีคำว่า “boiled rice” ให้เห็น ผมพยายามที่จะสั่ง “steamed rice” เพราะอยากกินข้าวสวย ไม่ใช่ข้าวต้ม แต่ก็อีหรอบเดิม พูดยังไงๆก็ไม่รู้เรื่อง เลยนึกในใจว่า เอาวะ “boiled rice” ก็ได้วะ สักเดี๋ยวนึง เขาก็ยกอาหารมาเสริฟ ปรากฏว่าเป็นข้าวสวยครับ ไม่ใช่เป็นข้าวต้มอย่างที่คิด ผมไม่ได้นึกหงุดหงิดอะไรเลย เพราะอย่างน้อย ก็มีเรื่องเก็บมาเล่าให้เพื่อนที่บ้านฟังเล่น

          มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าโดยทั่วไปแล้ว การเรียนภาษาเป็นเรื่องที่ ”ต้องลองผิดก่อนลองถูก” จะให้ทำถูกโดยไม่เคยทำผิด มันออกจะอัจฉริยะเกินไปหน่อย และถ้ากลัวเกินไป ไม่กล้าใช้ภาษาเพราะกลัวทำผิด ก็จะไม่มีวันได้ทำอะไร ไม่ว่าจะถูกหรือผิด มันออกจะเศร้าไปหน่อยนะชีวิตแบบนี้ มันคล้ายกับคำพูดที่ว่า “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น“ เอ๊ะนี่มันคนละเรื่องเดียวกันหรือเปล่านะเนี่ยะ
          หลายวันก่อนผมกลับไปเยี่ยมแม่ที่ต่างจังหวัด แม่ผมมีร้านขายของชำ มีพม่ามาเป็นลูกค้าอยู่หลายคน วันหนึ่ง มีพม่าคนหนึ่งมาซื้อน้ำตาลทราย พูดกันไม่รู้เรื่องครับ ต้องหากันอยู่นานทีเดียว กว่าจะเจอถุงน้ำตาลทรายที่มิสเตอร์หม่องแกต้องการ พอเจอปุ๊บ แม่ผมถึงกับโพล่งออกมาว่า “อ๋อ ไอ้นี่เอง“ วันหลัง มีพม่าอีกคนหนึ่ง มาซื้อของที่ร้าน แล้วก็พูดกันไม่รู้เรื่องอีก แต่ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ให้แม่ผมต้องเหนื่อยเหมือนอีหรอบเดิม มิสเตอร์หม่องคนแรกก็เดินเข้ามาในร้าน แล้วก็บังเอิญที่มิสเตอร์หม่องคนที่สองนี่ก็จะซื้อน้ำตาลทรายเหมือนกัน จากการสังเกตของแม่ผมและตามที่ได้ยินพม่าสองคนคุยกัน ทำให้รู้ว่า พม่าคนแรกสอนพม่าคนที่สองว่า ถ้าจะซื้อน้ำตาลทรายต้องบอกแม่ค้าว่า “อ๋อ ไอ้นี่เอง“ แม่ผมต้องเสียเวลาอีกพักใหญ่กว่าจะสร้างความเข้าใจกับลูกค้าต่างชาติ 2 คนนี้ ซึ่งก็ให้ความเพลิดเพลินแก่ทุกคน ก็อย่างที่ผมเคยว่าเอาไว้แล้วนั่นแหละครับ การเรียนภาษาเป็นเรื่องของความเพลิดเพลิน แล้วก็ไม่จำเป็นต้องกลัวหน้าแตกด้วย

          ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่อยากยกมาคุยกันเล่นๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเกิดกำลังใจในการฝึกภาษาอังกฤษ เมื่อกลางปีนี้ ผมร่วมเดินทางไปกับคณะของประเทศไทย นำเด็กเยาวชนไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติที่ประเทศฟินแลนด์ แล้ววันหนึ่ง ผมได้เข้าประชุมผู้แทนจากประเทศสมาชิก ซึ่งมีประมาณ 40 ประเทศ คนพวกนี้มาจากทุกทวีป แต่ก็ใช้ภาษาอังกฤษกันคล่องแคล่วทุกคนแหละครับ มีอยู่ตอนหนึ่ง ผู้แทนคนหนึ่งจากประเทศแถบยุโรป เขาถามเกี่ยวกับเรื่อง “รื้อ“ บูธแข่งขัน เมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้นแล้ว เขาใช้คำว่า “destroy“ ปรากฏว่า มีเสียงหัวเราะเบาๆพอให้ได้ยินไปทั่วห้อง แต่ไม่มีใครถือเป็นเรื่องน่าอับอายนะครับ และก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถนึกถึงคำว่า “dismantle” ได้โดยอัตโนมัติ ถ้าให้ครูสอนภาษาอังกฤษแก่แกรมมาร์ ไปนั่งฟังด้วย ก็จะพบว่าพูดผิดกันไม่น้อย แต่เขาก็สื่อสารกันได้ทุกเรื่อง และการแข่งขันก็จบลงได้อย่างประสบความสำเร็จ

          คราวหนึ่ง มีเวียดนามคนหนึ่งมาติดต่อธุระที่สำนักงานที่ผมทำงานอยู่ เขาพูดภาษาอังกฤษดีผมจึงถามว่าเขาเรียนภาษาอังกฤษจากที่ไหน เขาบอกว่าเขาเรียนปริญญาตรีหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ฮานอย แต่เขาก็ยังให้ความเห็นว่า "ฝ่าพายุง่ายกว่าเรียนภาษาอังกฤษ" ผมไม่เห็นด้วยตามที่เพื่อนเวียดนามคนนี้พูด ผมเชื่อตามที่คุณแอนดรู บิกส์พูดมากกว่า ว่า "ภาษาอังกฤษ ง่ายนิดเดียว" เพราะถ้าเราไม่ท้อ-ไม่ถอย-แต่เดินอยู่เรื่อย ทุกก้าวที่ค่อย ๆ เดินไปคือการถึงที่หมายทุกก้าว เพราะชีวิตคือการเดินทางไม่หยุดนิ่ง และที่หมายอยู่บนทุกก้าวที่เราก้าวไปอย่างพอใจ คุณเองก็เชื่อเช่นนี้ไม่ใช่หรือครับ

          ผมอยากจะสรุปในย่อหน้าสุดท้ายนี้ว่า การเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งทุกท่านก็เห็นอยู่แล้วว่า ถ้าอ่านออก – เขียนได้ และฟังออก – พูดได้ จะมีประโยชน์มหาศาล ทั้งในแง่ความรู้, ความเพลิดเพลิน, ประโยชน์ต่ออาชีพของตัวเอง, ประโยชน์ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ ก็เห็นกันอยู่แล้วว่า คุณค่ามันเยอะแยะ แต่ก็อาจจะท้อ - และถอย เพราะรู้สึกว่า มันยาก จนไม่อยากพยายาม ที่คิดเช่นนี้ก็ไม่ผิดความจริงหรอกครับ แต่ผมอยากจะบอกว่า พยายามสักนิดเถอะครับ เพราะว่าแม้ไม่รู้มากๆจนใช้ประโยชน์ได้มากๆ แต่ท่านก็สามารถรู้ทีละน้อย แล้วก็ใช้ประโยชน์จากเท่าที่รู้ทีละน้อยๆ นี่แหละครับ คล้ายกับท่านที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น แล้วมาหัดว่ายน้ำ แม้พยายามแล้วพยายามอีก ท่านก็รู้ตัวว่าท่านไม่สามารถว่ายข้ามช่องแคบโดเวอร์ หรือไม่สามารถว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่ถ้าหากพยายามฝึกบ่อยๆ ไปสักระยะหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด ท่านก็ต้องสามารถว่ายข้ามคลองเล็กๆ หน้าบ้านของท่านได้ หรืออย่างน้อยก็ว่ายไปว่ายมาในสระว่ายน้ำเล็กๆได้ พอให้ได้ความเพลิดเพลินอย่างยิ่ง แถมยังเป็นการออกกำลังกายที่แสนจะวิเศษอีกด้วยครับ

พิพัฒน์

12 มค 50

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com