เว็บ e4thai.com เปิดคอลัมน์ พูดคุย แลกเปลี่ยน ถามตอบ ปัญหาภาษาอังกฤษ แล้วครับ
สวัสดีครับ
วันนี้ผมตัดสินใจแล้วว่า เว็บ e4thai.com ควรทดลองเปิดคอลัมน์ พูดคุย แลกเปลี่ยน ถามตอบ ปัญหาภาษาอังกฤษได้แล้ว
ที่ผ่านมาผมไม่กล้าเปิดให้ท่านถาม เพราะไม่แน่ใจในความแม่นของตัวเอง พูดง่าย ๆ คือกลัวตอบผิด แต่เมื่อคิดไปคิดมา และคิดมาคิดไปหลายรอบ ก็มาถึงข้อสรุปว่า ผมไม่จำเป็นต้องเกร็งเกินไป เมื่อท่านถามมา ถ้าผมตอบได้ก็ตอบ ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่ตอบ ถ้าไม่แน่ใจก็รอก่อน ก็เท่านี้เอง ถ้าท่านผู้อ่านถามมา 10 คำถาม ผมตอบได้แค่ 3 คำถาม อย่างน้อยก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ 3 ท่านที่ถามมา และท่านอื่น ๆ ที่สงสัยอย่างเดียวกันแต่ไม่ได้ถาม
ผมจึงขอบอกว่า ถ้าท่านมีอะไรที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยน สอบถาม ปัญหาภาษาอังกฤษ แถมด้วยเรื่องการค้นหาข้อมูลในเน็ต และธรรมะ เชิญเขียนมาได้เลยครับ ผมจะพยายามตอบให้ได้มากที่สุด เท่าที่ผมจะตอบได้ ตามเงื่อนไขข้างต้น
ท่านคลิก Add comment และพิมพ์คำถามหรือความเห็นไว้ ผมจะดึงขึ้นมาตอบข้างบนนี้ ในระยะแรกขอทำลำลองอย่างนี้ไปก่อน ถ้าไปได้ดีจะค่อย ๆ ทำอะไรให้เป็นกิจจะลักษณะมากกว่านี้ครับ
พิพัฒน์
คำถาม / ความเห็น # 7:
อาจารย์คะ อยากทราบชื่อเรี ยกปางพระพุทธรูป ทั้งหมด (ถ้าจำไม่ผิด 32 ปาง) เป็นภาษาอังกฤษค ่ะ พยายามหาแล้ว ยังหาไม่เจอ ขอบพระคุณค่ะ
ตอบ
ไปที่นี่ครับ
https://drive.google.com/file/d/0B750IAjW-1dZQkp4Y0pxOGMyeW8/view?usp=sharing
คำถาม / ความเห็น # 6:
การเปรียบเทียบ character ของตัวละครในหนังสืออ่านนอกเวลา ควรบรรยายเป็น tense ใด ซึ่งในเนื้อเรื่องใช้ past tense ในการดำเนินเรื่อง ขอบพระคุณค่ะ
ตอบ:
story นั้น คือเรื่องเล่า ตอนที่เล่า ใช้ past tense ก็ถูกต้องแล้ว,
อ่านรายละเอียดที่บทความนี้ ข้อ 3, 3.1 - 3.3 http://en.wikipedia.org/wiki/Narration
คำถาม / ความเห็น # 5:
ยีน
หาหมวดอุปกรณ์กี ฬาไม่เจอเลย
พิพัฒน์
คําศัพท์อุปกรณ์กีฬา ภาษาอังกฤษ ไปที่นี่ครับ
คำถาม / ความเห็น # 4:
gg
ถ้าอยากเก่งอังกฤษต้องท่องศัพท์ ทุกวันไหมครับ
พิพัฒน์
คำถามนี้ตอบสั้น ๆ ก็ได้ คือตอบว่า “มันก็แล้วแต่” แต่ตอบอย่างนี้คงไม่มีประโยชน์ ผมจึงขอตอบยาว ๆ แล้วกันครับ ขอให้ท่านอดทนอ่านหน่อย ผมจะว่าด้วยประเด็นทั่วๆไปก่อน และจะลงท้ายด้วยการตอบคำถามของท่าน
เรื่องกิจกรรมทางภาษานี้ เราทำอยู่ 4 อย่าง คือ เราพูด, เราฟัง, เราอ่าน และเราเขียน ถ้าทำอย่างนี้คือการปรุงอาหาร เราก็ต้องมี(1)เครื่องปรุงและ(2)วิธีปรุง ต้องมีครบทั้งสองอย่าง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ในทางภาษา เครื่องปรุงก็คือ คำศัพท์ หรือ vocabulary ส่วนวิธีปรุงก็คือไวยากรณ์ หรือ grammar คือการนำคำศัพท์มาปรุงเป็นวลี ประโยค ถ้อยคำ ข้อความ ในการพูดและเขียน หรือเมื่อเราอ่านและฟัง เราก็ต้องรู้จักคำศัพท์ที่เจอและวิธีที่ศัพท์ถูกปรุง เมื่อเราเจอข้อความ “คนกินปลา” หรือ “ปลากินคน” เราก็ต้องรู้จักคำศัพท์ 3 คำนี้ คือ (1)คน (2)กิน (3)ปลา และเราก็ต้องรู้หลัก grammar ในการนำคำพวกนี้มาผูกกัน มิฉะนั้นเราจะไม่รู้ว่า ใครทำอะไร เกิดอะไรขึ้น
เมื่อคนไทยเรียนภาษาอังกฤษ หรือคนอังกฤษมาเรียนภาษาไทย ก็ต้องเรียนทั้ง 2 อย่าง คือเรียนให้รู้จักคำศัพท์และวิธีปรุงศัพท์ ขืนรู้อย่างเดียวคงไม่พอแน่ เพราะไม่ว่าจะแค่ระดับเข้าใจ(คืออ่านและฟัง) หรือระดับใช้เป็น(คือเขียนและพูด) มันก็ต้องรู้ทั้ง 2 อย่าง
ที่ผมเอาเรื่องนี้มาพูดก่อนก็เพราะว่า ผมเจอคำถามทำนองนี้บ่อย เหมือนกับคนถามต้องการจะบอกว่า จะศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตัวเองชอบไปจนสุดทางหรือเก่งเลิศ แล้วจึงค่อยศึกษาเรื่องที่สองที่เหลือ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีความคิดอย่างนี้ มันเหมือนกับคนๆ หนึ่งนั่งลงที่โต๊ะอาหาร มีข้าว 1 จานและแกง 1 ชาม และถามคนเสิร์ฟว่า ควรจะกินอะไรก่อน ถ้าตอบว่าให้กินแกงก่อน เขาก็จะตักแกงกินทีละช้อนจนหมดชามแล้วค่อยเริ่มกินข้าวเปล่า ๆ ทีหลัง นี่เป็นสไตล์ของคนไทยหลายคนในการศึกษาภาษาอังกฤษเรื่องศัพท์และแกรมมาร์, แปลกทีเดียว, แปลกมาก ๆ
เอาละ เมื่อรู้แล้วว่า ศัพท์และแกรมมาร์จำเป็นเท่า ๆ กัน และควรศึกษาไปพร้อม ๆ กัน คราวนี้มาถึงคำถามว่า เราควรศึกษายังไง?
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าเป็นภาษาไทยเราจะไม่มีปัญหานี้ คือเราเริ่มเรียนภาษาไทยอย่างเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด คือเด็กจะฟังและหัดพูดกับพ่อแม่และคนในครอบครัว พอย่างเข้าวัยอนุบาลก็เพิ่มการเรียนภาษาอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเขียนและการอ่านกับครู สรุปก็คือ เราเริ่มด้วยการฟัง-พูดที่บ้าน และต่อด้วยฟัง-พูด-อ่าน-เขียนที่โรงเรียน
คราวนี้มาถึงภาษาอังกฤษซึ่งต่างจากภาษาไทยแน่ ๆ เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่ทั้งภาษาที่คนใช้ติดต่อราชการ และก็ไม่ใช่ภาษาที่สองด้วย แถมในช่วง 3 – 4 ปีแรกก่อนเข้าเรียนอนุบาล เด็กไทยก็ไม่มีโอกาสฟังหรือพูดภาษาอังกฤษเลย พอเริ่มเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษเมื่อเข้าโรงเรียน ก็ถูกยัดเยียดพรวดเดียวให้เรียนทั้งการฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษ โดยไม่มีการฝึกฟังและพูดเป็นพื้นฐานมาก่อนจากบ้านแม้แต่นิดเดียว และที่อาจจะเป็นโชคร้ายสำหรับเด็กไทยหลายคนก็คือ ตลอดหลายปีที่อยู่ในโรงเรียนชั้นอนุบาล-ประถม-มัธยม-มหาวิทยาลัย ในวิชาภาษาอังกฤษก็เจอแต่การอ่าน ส่วนการฟัง-พูด-เขียนมีน้อยเกินไปจนนำไปใช้ทำงานหรือหาความรู้ไม่ได้เมื่อเรียนจบ
เราจึงได้ยินคำถามที่ออกมาจากปากของบัณฑิตที่จบมหาวิทยาลัยแล้ว ในทำนองข้างล่างนี้บ่อยมาก
... ภาษาอังกฤษอ่อนมาก อยากจะฟิตภาษา จะเริ่มยังไงดี
... จะเรียนแกรมมาร์ก่อน หรือท่องศัพท์ก่อน
... จะท่องศัพท์ จำศัพท์ยังไง ให้ได้เร็ว ๆ
... ศัพท์ก็พอรู้อยู่บ้าง แต่พอจะพูดจริง ๆ นึกแต่งประโยคไม่ถูก พูดไม่ออก
... ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเมื่อเจอชาวต่างประเทศ ประหม่า อาย กลัวพูดผิด
... ดูหนัง soundtrack ภาษาอังกฤษ, ฟังข่าวภาษาอังกฤษ ฟังเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ ทำไงดี
... อยากอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษให้เข้าใจ ทำไงดี
... ฯลฯ ....
คำถามทำนองนี้มันบอกอะไรเราหลายอย่าง แต่ที่มันโชว์แน่ ๆ ก็คือ วิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียน ไม่สามารถทำให้เด็กไทยและบัณฑิตไทย มีทักษะภาษาอังกฤษที่เพียงพอ เพื่อนำไปใช้ในการสนทนา ติดต่อสื่อสาร และแสวงหาความรู้ อย่างที่โรงเรียนมุ่งหวัง
และคำถามที่คุณ gg ถามมา คือ
ถ้าอยากเก่งอังกฤษต้องท่องศัพท์ ทุกวันไหมครับ
คำถามนี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ยอดแหลมของ iceberg แห่งปัญหาในการศึกษาภาษาอังกฤษของบ้านเรา
ทั้งหมดที่พูดมานี้ ถ้าท่านรู้สึกท้อ และคิดว่าหาทางออกไม่ได้
ท่านผิดแล้วครับ... ท่านผิดมาก ๆ ...
เพราะตั้งแต่เมืองไทยทีอินเทอร์เน็ตใช้ ประตูที่เคยปิดตาย ไม่สามารถเปิดเข้าไปหาความรู้ความชำนาญด้านภาษาอังกฤษ บัดนี้ประตูเหล่านั้นได้เปิดแล้ว ท่านเพียงแต่เดินเข้าไปหยิบฉวยบทเรียนที่มีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ตนำมาฝึกด้วยตัวเองเท่านั้นเอง
ย้อนกลับไปคำถามข้างบน ถ้าอยากเก่งอังกฤษต้องท่องศัพท์ ทุกวันไหมครับ
ผมขอตอบอย่างนี้ครับ
[1] ท่านมีนิสัยและความชอบในการท่องศัพท์ไหมล่ะครับ ถ้าชอบก็ทำไปเถอะครับ เพราะถ้าทำในสิ่งที่ชอบย่อมได้ผล
[2]แต่ท่านก็ต้องคัดเลือกก่อนว่า ควรจะท่องศัพท์ที่จำเป็นต้องรู้หรือต้องนำไปใช้ กลุ่มไหนก่อน กลุ่มไหนหลัง อย่าท่องดะไปทั่ว อย่าท่องมั่วไปหมด อย่าไปเสียเวลาท่องศัพท์คำที่ไม่จำเป็น คือ ท่องแล้วก็ไม่มีโอกาสเจอเมื่ออ่าน ไม่มีโอกาสใช้เมื่อพูด มันไม่ค่อยคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เพราะฉะนั้นต้องคัดเลือกหน่อย และควรคัดเลือกเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นคัดให้
[3] ศัพท์ที่ท่านคัดเลือกแล้วและท่องจำนี้ ถ้าต้องนำไปผูกเป็นประโยคในการพูดหรือเขียน ท่านทำได้หรือไม่ ถ้าตอนนี้ท่านทำไม่ได้ ท่านก็ต้องฝึกให้ทำให้ได้ และจะเป็นการดีหรือจำเป็นทีเดียวว่า เมื่อท่านท่องศัพท์ ขอให้ท่านหาประโยคพื้นฐานที่มีศัพท์ตัวนี้ปนอยู่ ท่องควบคู่ตามไปด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ หนึ่ง:-ท่องศัพท์+คำแปล สอง:-ท่องประโยคที่มีคำศัพท์ตัวนี้ที่ท่านใช้พูดจริง ๆ อย่าเอาแต่ท่องศัพท์+คำแปลเท่านั้น เพราะมันจะนำไปใช้งานไม่ได้ เหมือนอุปมาที่ผมว่าไว้ตั้งแต่ต้น คือมีเครื่องปรุงแต่ไม่รู้จักวิธีปรุง มันก็ไม่ออกมาเป็นแกงให้ท่านกินได้
[4]เนื่องจากเรามีเวลาจำกัด และโตแล้วควรรู้จักเรียนลัด ศัพท์ที่เราควรรู้และผูกประโยคได้ ควรแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1: ศัพท์พื้นฐานทั่วไป ที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพไหนควรรู้ ในเว็บ e4thai.com นี้ ได้รวบรวมไว้อยู่เหมือนกัน คลิกดู
ประเภทที่ 2: ศัพท์จำเพาะที่จำเป็นต้องรู้-ต้องใช้ ในอาชีพของท่าน ศัพท์กลุ่มนี้ท่านจะต้องออกแรงลงทุนรวบรวมเอง อาจจะรวมหัวเพื่อนร่วมงานระดมสมองไล่ดูว่า{1}มีสักกี่คำ, คำอะไรบ้าง, {2}แปลเป็นไทยว่าอย่างไร, {3}มีประโยคว่ายังไงเมื่อใช้ศัพท์นี้ในการพูด ข้อนี้ท่านและกลุ่มเพื่อนหรือสำนักงานต้องช่วยกันทำครับ ยิ่งทำได้ complete มากเท่าใดก็จะมีประโยชน์มากเท่านั้น และเมื่อทำเสร็จพิมพ์ออกมาแล้ว มันจะเป็นคัมภีร์ให้คนทำงานทั้งออฟฟิศ ยึดเป็นแนวทางในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ
[5] การท่องศัพท์เหมือนกับการยิงปืนอยู่ในสนามซ้อม แต่การอ่านหรือฟังและไปเจอศัพท์นั้นอยู่ในข้อความ หรือการต้องนำศัพท์ไปผูกประโยคเพื่อใช้ในการพูดหรือเขียน นี้เหมือนกับการยิงปืนอยู่ในสนามรบจริง ๆ ในโลกของการฝึกฝนเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ท่านอย่าพอใจเพียงแค่อยู่ในสนามซ้อมเลยครับ ควรออกไปรบในสนามจริงดูบ้าง แม้อาจจะสะบักสะบอมหรือบาดเจ็บกลับมาบ้าง แต่เราก็ไม่ถึงกับตายหรอกครับ และบาดแผลบวกความบาดเจ็บที่ได้รับก็คือประกาศนียบัตรที่โชว์ทักษะซึ่งสมควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่ท้อถอยหรืออาย เหมือนกับที่คนไทยหลายคนชอบรู้สึกยึดมั่นอย่างผิด ๆ
คำถาม / ความเห็น # 3:
THANYAPHAT:
เรื่องอยากให้ลูกสาวชอบภาษาอังกฤษ ตอนนี้พยายามหาหนังสือ หานิทาน หาวิธีให้ชอบภาษาอังกฤษ แต่ลูกสาวบอกว่า ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ พูดภาษาไทยได้มั้ย ก็เลยไม่อยากกดดันลูกคะ จะทำอย่างไรดีที่จะให้พื้นฐานลูกสาวมีความแข็งแรงด้านภาษาคะ
พิพัฒน์:
ผมเชื่อว่า นี่เป็นคำถามที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากถาม เพราะต่างก็อยากจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่อนาคตของลูก และเชื่อว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ ผมพยายามเข้าไปอ่านคำแนะนำของผู้รู้ ซึ่งมักออกมาในแนวคล้าย ๆ กันคือ ต้องจัดสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้เด็กมีความสนุกและรักภาษาอังกฤษ ได้ใช้ ได้ฝึก ได้เล่น กับภาษาอังกฤษ โดยไม่รู้สึกกดดันหรือเป็นภาระ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องลงทุนทำตัวเป็น partner หรือ tutor หรือ teacher หรือ inspirator หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้ลูก ๆ เกิด “อิทธิบาท” คือ มีฉันทะ - รักและเพลิดเพลินที่จะเรียนภาษาอังกฤษ, มีวิริยะ - ขวนขวาย เต็มใจ ขยัน อดทน ที่จะเก่งอังกฤษ, เมื่อมี 2 ตัวแรก คือฉันทะและวิริยะแล้ว อีก 2 ตัวที่เหลือ คือจิตตะ(มีสมาธิในการเรียน) และวิมังสา(หาวิธีพัฒนาในตัวเองเก่งขึ้นเรื่อย ๆ)ก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ
ผมอยากให้ท่านค่อย ๆ อ่าน 4 บทความนี้ ซึ่งให้แนวคิดหลักการที่ดีในเรื่องนี้
- อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ
- 10 วิธีง่าย ๆ พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของลูก
- ทำอย่างไรให้ลูกชอบภาษาอังกฤษ
- อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ ควรเริ่มเรียนเมื่อไรดี
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมรู้สึกเห็นใจพ่อแม่ครับ เพราะว่า บางทีเราก็พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ลูกๆก็อาจจะไม่รักหรือขยันในวิชานี้อย่างที่เราต้องการ แล้วอย่างนี้จะทำยังไงได้ และคำแนะนำของผู้รู้ที่ให้พ่อแม่ต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ บางทีมันก็ไม่ง่าย เพราะเราเองที่เป็นพ่อแม่ภาษาอังกฤษก็อาจจะอ่อนแออยู่เป็นทุนเดิม จะทำตัวเป็นครูหรือผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกก็คงจะทำได้ แต่ต้องออกแรงมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทำได้เพราะความรักลูก
คำแนะนำของนักวิชาการทุกคนเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ อย่าปล่อยให้เรื่องนี้ทั้งหมดเป็นภาระของครู ไม่ว่าจะเป็นครูในโรงเรียนหรือครูสอนพิเศษ แต่พ่อแม่ต้องถือเป็นภาระด้วย งานนี้หนักนะครับ
ผมเองเป็นคนสบาย ๆ คำแนะนำสุดท้ายของผมในเรื่องนี้จึงเป็นอย่างนี้ครับ คือ เมื่อพยายามทำเต็มที่แล้ว เราก็อย่าไปกังวลจนความเครียดตอมสมองตลอดเวลา เพราะมันอาจจะระบาดจนทำให้ลูกหลานที่เราอยากให้เก่งอังกฤษเครียดไปด้วย เราเพียงพยายามมาก ๆ แต่ทำใจให้โล่ง ๆ และรื่นเริง ผมเชื่อว่าหลายเรื่องที่ติดขัดก็จะค่อย ๆ คิดออกเองแหละครับ
คำถาม / ความเห็น # 2:
ครูแอ๋ว:
Amazon คำนี้ ออกเสียง [ แอม'มะซอน ] ไม่ใช่ ออกเสียง [อา –เม – ซอน ] อย่างที่ คนไทยส่วนใหญ่ เราออกเสียง กัน … แต่ ถ้า เรา บอกว่า ช่วย แวะ ปั๊ม หน่อย จะซื้อ กาแฟ แอม'มะซอน ซักแก้วนึง …. เพื่อน ร่วมทาง .. คงคิด ว่า ดัดจริต !
สรุป Amazon คำนี้ ออกเสียง [ˈæməzən] ; ['แอ๊เมอะเซิน] นะคะ .. ลงเสียงหนัก หรือ stress ที่ am พยางค์ แรกค่ะ .. แต่ ma ไม่ เน้น เสียง แค่ ออกเสียง [มะ ]หรือ [ เมอะ]ในลำคอ ค่ะ
พิพัฒน์:
คำว่า Amazon stress พยางค์แรก อย่างที่พี่ว่าจริง ๆ ครับ
เข้าไปที่ลิงค์นี้ และคลิกฟังการออกเสียง ทั้งสำเนียงอังกฤษ และอเมริกัน
http://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/amazon
คำถาม / ความเห็น # 1:
vithaya -
ฝึกภาษาอังกฤษโดยดูภาพยนตร์จาก DVD อยากทราบขั้นตอนวิธีฝึกครับ. step by step ขอขอบคุณครับ
พิพัฒน์ -
โดยพื้นฐาน การดูภาพยนตร์คือการหาความเพลิดเพลิน แต่เมื่อเราใช้การดูเช่นนี้เพื่อการฝึกภาษาอังกฤษด้วย ภาระจึงเพิ่มเป็นสองเท่า อันดับแรกสุดที่ผมไม่จำเป็นต้องบอกแต่ก็อยากจะบอกก็คือ ให้เราเลือกหนังเรื่องที่เราอยากจะดูมาก ๆ ซึ่งมีประโยชน์ คือ เมื่อดูแล้วเพลินร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข คือ เอนดอร์ฟินออกมา ผมเชื่อว่าตอนที่ร่างกายผ่อนคลายและจิตใจเพลิดเพลิน การเรียนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้น ท่านอย่าอยากฝึกภาษาอังกฤษมากเกินไป หรือเคี่ยวเข็ญให้สมองต้องดูรู้เรื่องจนสูญเสียความเพลิดเพลินในการดู จะทำให้การฝึกเครียดและได้ผลน้อย ต้องอย่าลืมว่า การฝึกแบบนี้เอาความเพลินนำหน้า เอาภาษาตามหลัง นี่คือเรื่องแรกที่ต้องทำก่อน คือเลือกเรื่องที่เราอยากดูมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งเมื่อเพลินที่จะดู ต่อให้ฟังไม่รู้เรื่องเราก็จะไม่เครียดนัก และการไม่เครียดนี่แหละคือการเปิดประตูให้การเรียนรู้ไหลเข้าสู่สมอง
เรื่องที่สองที่ต้องพิจารณาคู่กันก็คือ เมื่อจะฝึกภาษาจากการดูหนัง ซึ่งจะได้ทั้งศัพท์ สำนวน วลี และประโยคในการพูดคุย-โต้เถียง-บอกเล่า และการออกเสียงและสำเนียง เราก็ควรเลือกเรื่องที่มีบทพูดเยอะ ๆ ถ้าไปดูหนัง action ที่ตลอดทั้งเรื่องพูดอยู่ไม่กี่ประโยค หรือพูดออกมาแต่ละทีมีแต่สบถกับสแลง จะฝึกภาษากับหนังพวกนี้ก็คงสมหวังยาก เพราะฉะนั้น หนังที่น่าสนใจไปหามาเปิดดูก็คือหนังประเภทดราม่า หรือหนังสืบสวนเช่นแบบที่มีบทพูดเยอะ ๆ ในห้องพิจารณาคดีของศาล หรือหนังเด็ก ๆ แบบวอลต์ ดิสนีย์ ฯลฯ หนังทำนองนี้ช่วยฝึกภาษาได้ดีกว่าหนัง action ที่ฟาดฟันกันทั้งเรื่อง หรือหนังระทึก แฟนตาซี ที่ให้คนใช้ตาดู แต่ไม่ต้องใช้หูฟังบทพูด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านชอบหนัง action หรือหนังระทึกที่มีบทพูดน้อย ท่านก็ต้องลงทุนหาให้เจอหนังประเภทพูดมากที่ท่านเพลินที่จะดู พอจะหาได้มั้ยล่ะครับ
ตอนซื้อหนังแผ่น DVD ที่มี subtitle ให้เลือกทั้งไทยและอังกฤษ ในเที่ยวแรกที่เปิดดู ท่านอาจจะดูหนังฝรั่งพากย์ภาษาไทยพอให้รู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร หลังจากนั้น ให้เปลี่ยนไปฟังพากย์อังกฤษ+อ่าน subtitle อังกฤษ (ภาษาไทย เลิกฟัง, เลิกอ่านได้แล้ว) อย่าใช้วิธีอ่านภาษาไทย+ฟังเสียงฝรั่งไปตลอด เพราะการฝึกฟังภาษาอังกฤษจะทำได้น้อย เนื่องจากสมาธิเกินครึ่งของท่านจะถูกแบ่งไปอยู่ที่ภาษาไทยที่กำลังอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงตอนสนุกมาก ๆ คงอยากจะรู้เรื่องมากกว่าอยากฝึกภาษา
การดูหนังฝรั่งเพื่อฝึกภาษาอังกฤษจะต้องดูหลาย ๆ เที่ยว อาจจะเป็นสิบเที่ยวก็ได้ แต่ละเที่ยวดูยังไง? อันนี้ผมไม่มีคำแนะนำเด็ดขาดให้ เพราะแต่ละคนย่อมมีวิธีฝึกที่ได้ผลต่างกันไป ฝึกอันนั้นมาก อันนี้น้อย อันนั้นก่อน อันนี้หลัง หรืออันนั้นพร้อมกับอันนี้ เรื่องนี้ต้องหาให้พบด้วยตัวเอง ผมขอยกตัวอย่างข้างล่างนี้ (ซึ่งท่านไม่จำเป็นต้องทำตามที่ผมว่าไว้ ถ้าท่านฝึกตามวิธีของท่านและได้ผลดีกว่า) เช่น
♦-ดูหลาย ๆ เที่ยว ให้หูคุ้นสำเนียงของศัพท์และสำนวน คุ้นกับประโยคที่นักแสดงพูด คุ้นหูโดยอาจจะยังไม่เข้าใจก็ได้ แต่เพียงแค่จับได้ว่าเขาพูดว่ายังไง โดยยังไม่เข้าใจ นี่ก็พัฒนาไปเยอะแล้วครับ
♦-ทำความเข้าใจกับบท, subtitle การทำความเข้าใจก็มีหลายวิธี แล้วแต่ชอบหรือถนัด ไม่ต้องยึดกฎเกณฑ์มาก ขอให้สนุกและไม่เบื่อก็ใช้ได้ เช่น
A- ดูและอ่าน subtitle ภาษาอังกฤษไปเรื่อย ๆ ถ้าเราอ่านทัน หรือถ้าประโยคไหนอ่านไม่ทัน ก็ pause และอ่านตีความให้แตกก่อน, และคลิก play เพื่อดูต่อ แต่ก็ไม่จำเป็นต้อง pause+อ่าน+ตีความ ทุกประโยคที่ไม่เข้าใจ ประโยคไหนอยากผ่านไปก่อนก็ผ่านไปได้ บอกแล้วว่าไม่ต้อง serious มาก (- -การฝึกดูแบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ท่านทำได้หลายเที่ยว- -) ถ้าดูไม่จบในรวดเดียวก็จดไว้แล้วกันครับว่า ค้างอยู่ ณ นาทีที่เท่าไหร่ เมื่อมาดูใหม่ก็ start ตรงจุดที่ stop ไว้
B- ถ้าท่านเป็นคนที่ชอบให้รู้เรื่องแบบละเอียดยิบเป็นหลัก ในเที่ยวหลัง ๆ ที่ดู ท่านอาจจะปิดเสียง, play คลิปและค่อย ๆ อ่าน subtitle บนจอไปทีละประโยค ๆ, ประโยคไหนไม่เข้าใจก็ pause+อ่านตีความให้รู้เรื่อง และ play ทำอย่างนี้ตั้งแต่ต้นจบจบเรื่อง นี่หมายความว่าถ้าท่านชอบแบบนี้ก็ทำแบบนี้ได้ ถ้าไม่ชอบแบบนี้ก็อย่าทำ มันจะเครียด ให้ทำแบบข้อ A น่าจะดีกว่า
เมื่อฝึกดูและอ่านในลักษณะนี้ จนคุ้นตาและคุ้นหูพอสมควรแล้ว ก็ฝึกดูโดยปิด subtitle เราสามารถฝึกอย่างนี้จนจบเรื่องหลาย ๆ เที่ยว แต่ถ้าฝึกแล้วรู้สึกว่าไม่ไหว คือรู้เรื่องน้อยจัง ก็สามารถกลับไปฝึกแบบดูคลิปพร้อมอ่าน subtitle
อีกเรื่องหนึ่งที่ทำได้ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูในเที่ยวหลัง ๆ คือฝึกพูดตามประโยคที่เราเห็นว่าน่าสนใจจำเอาไปใช้พูดบ้าง ในหนังเรื่องหนึ่ง ๆ อาจจะมีหลายประโยค ท่านก็ลองนึกดูเอาเองแล้วกันครับว่า ประโยคที่ฝึกนี้จะนำไปใช้พูดจริงหรือพูดเล่นได้ในโอกาสไหนบ้าง และพูดกับใคร