เรื่องของ “คนบ้าดิก”
เมื่อมองรอบตัวครบ 360 องศาแล้ว ผมก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้อาการเช่นนี้กำเริบอยู่เรื่อย ๆ ผมก็เลยเหมาเอาว่าคงเป็นเพราะชาติก่อนผมอาจจะเคยเป็นครูที่บังคับให้เด็กท่องดิก ชาตินี้จึงเกิดมารับกรรมกลายเป็นคนบ้าดิก
ตอนที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยซึ่งไม่ค่อยมีตังค์ใช้ ผมก็ต้องทุกข์ทนเพราะความอยากได้ที่ไม่สมอยาก หลายครั้งที่ยืนกะลิ้มกะเหรี่ยอยู่ที่ชั้นหนังสือขายดิก แต่ไม่มีตังค์ซื้อ แม้ว่าสมัยนั้นผมจะไม่ค่อยหัวสูงเท่าไหร่ในการซื้อดิก คือผมมีเกณฑ์อยู่อย่างเดียวในการตัดสินว่าดิกเล่มใดดีที่สุด คือต้องมีศัพท์เยอะ เพราะฉะนั้น ก่อนเปิดดิกออกดู ผมจะมีคำศัพท์ยาก ๆ อยู่ในใจอยู่สัก 4 – 5 คำ ถ้าดิกเล่มไหนเปิดแล้วมีศัพท์พวกนี้ ผมก็จะเหมาว่าดิกเล่มนั้นดี ถ้าไม่มีก็ถือว่ายังเป็นดิกที่ใช้ไม่ได้ มาวันนี้เมื่อมองย้อนหลังไปยังวันนั้นจึงได้รู้สึกว่า ตอนนั้นเป็นอารมณ์รักดิกแบบเด็ก ๆ อะไร ๆ ก็ต้องใหญ่เข้าว่า เยอะเข้าไว้
และเมื่อเรียนจบมีงานทำ ผมจึงเลิกระงับความอยากที่เก็บกดมานาน มานั่งนับเล่น ๆ ดู ผมคงจะซื้อดิกไปแล้วไม่น้อยกว่า 150 เล่มเก็บไว้ชื่นชมที่บ้าน และเริ่มมีรสนิยมวิไลมากขึ้น เช่น ต้องมีศัพท์เยอะ ใช้ภาษาง่ายและสวยงามในการอธิบายความหมายของศัพท์ ให้ตัวอย่างประโยคที่อ่านแล้วรู้เรื่อง มีคำอธิบายเพิ่มเติมในการใช้ศัพท์ พิมพ์หน้าปกและรูปเล่มสวยงาม แบบตัวอักษรน่าอ่าน และต้องเย็บเล่มด้วยเชือก เพราะถ้าเพียงอัดกาวที่สันปกเล่มอาจจะแตกง่ายถ้าเปิดบ่อย ๆ เป็นต้น
มีอยู่บางครั้งที่ผมเสียดายเงินไม่ยอมซื้อเพราะบางเล่มราคาแพง แต่เมื่อกลับถึงบ้านก็นอนไม่หลับ ครุ่นคิดถึงแต่หน้าเธอคือหน้าปกของดิก และวันหลังก็หักห้ามใจตัวเองไม่ได้ ต้องกลับไปที่ร้านเดิมเพื่อซื้อดิกเล่มเดิมที่เคยลูบคลำ กลายเป็นเสียเพิ่มขึ้นทั้งเงินและเวลา ตอนหลังผมก็เลยมีข้อสรุปให้กับตัวเอง ถ้าความอยากซื้อดิกเล่มใดมีเกิน 50 % - ให้ซื้อไปเลย เพราะจะได้ไม่ต้องทนทุกข์เพราะรักที่ไม่สมปรารถนาเพราะแยกอยู่จากคนรัก
ผมทำอะไรกับดิกที่ได้มาครอบครอง? เพียงแค่ได้เห็นหน้าปกก็ชื่นใจแล้ว หรือเมื่อได้พลิกดูศัพท์ตัวนั้นตัวนี้ก็ยิ่งเพลินมากขึ้น ดิกบางเล่มราคาแพง ๆ เมื่อซื้อมาแล้วอาจจะหยิบขึ้นมาดูไม่เกิน 10 – 20 ครั้ง เมื่อได้ดิกเล่มใหม่ดิกเล่มเก่าก็ถูกลืมไปบ้าง
แต่สัจธรรมที่ผมได้พบเมื่อคบกับดิกมามากหน้าหลายตาก็คือ ไม่มีดิกเล่มใดดีจนไร้ที่ติ และไม่มีดิกเล่มใดชั่วจนไร้ที่ชม ดิกทุกเล่มมีทั้งความน่ารักและความน่าชังปะปนกันไปจนบางครั้งแยกแยะได้ยาก ดู ๆ ไปแล้วผมก็เลยได้คติว่าดิกชันนารีนี่ก็คงไม่ต่างจากคน ในคน 1 คนหรือในดิก 1 เล่ม ก็มีทั้งความน่าชื่นชมและน่าชิงชังปะปนกัน ก้มหน้ามองดิกแล้วเงยหน้ามองคน เงยหน้ามองคนแล้วก้มหน้าลงไปมองดิกอีกครั้ง มันก็ทำให้ปลงต่อชีวิตและปล่อยวางได้เหมือนกัน
ท่านผู้อ่านที่หลงอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ และได้ข้อสรุปว่า “เออ ไอ้นี่มันบ้าดิกจริง ๆ กะอีแค่ดิกเป็นเล่ม ก็พูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว” ถ้าท่านคิดอย่างนี้ผมขอบอกว่า “ถูกต้องแล้วครับ” แต่ที่พูดมานี้คือบ้าเฟส 1 เท่านั้น ผมยังมีความบ้าเฟส 2 เฟส 3 มาเล่าให้ท่านฟังอีก
เหตุการณ์ผ่านไป และผมก็อายุมากขึ้น และผมก็หายจากการบ้าดิกไปอย่างดื้อ ๆ อาจจะเป็นเพราะว่า เราทำบุญด้วยกันมาเพียงแค่นี้ แต่ผมคงจะสร้างเคราะห์กรรมมาเยอะ อาการบ้าดิกเฟส 2 จึงเกิดขึ้น
บริษัททำดิกดี ๆ ทั้งหลายที่ผมเลิกบ้าไปแล้วในเฟส 1 กลับเอาเนื้อหาทั้งหมดในดิกมาใส่ลงแผ่น CD และขายพร้อมกัน ก็เลยทำให้ผมบ้าเฟส 2 คือต้องไปกว้านซื้อมาทุกเล่มที่มี CD ขายแนบ เพราะเขามักจะไม่ขาย CD แยกต่างหาก และดิก CD นี่นะครับน่าหลงใหลมากกว่าดิกเล่มหลายสิบเท่า เพราะมันมีลูกเล่นมากมายจนตัดใจไม่ได้ (อีกแล้ว)
นอกจาก CD ถูกกฎหมายซึ่งราคาแพง ผมก็ยังไปกว้านซื้อแผ่นดิกผิดกฎหมายราคาถูกจากห้างพันธุ์ทิพย์มาอีกหลายแผ่น น่าสงสารตัวเองจริง ๆ
ในวันเวลาแห่งความบ้าเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าเฟส 1 หรือเฟส 2 ผมหาเพื่อนที่จะร่วมคุยเพื่อแบ่งปันความบ้าไม่ได้เลย ผมจึงได้สัจธรรมข้อที่ 2 จากความบ้าดิกเฟส 2 คือ ความเหงานั้นน่ากลัวนัก และคนที่ขี้เหงามาก ๆ เป็นคนที่น่าสงสาร ผมเหงาเพราะไม่มีเพื่อนร่วมบ้าดิกที่ผมรัก
แต่มันก็คงจะเป็นอย่างที่ฝรั่งเขาว่าไว้ “Life must go on” คือและแล้วมาวันหนึ่ง เมื่อผมหมดกรรม ผมก็เลิกบ้าดิก CD และวันนั้นคือวันนี้ วันที่โลกมีอินเตอร์เน็ตใช้ วันที่ผมย่างเข้าสู่ความบ้าดิกเฟส 3 คือบ้าดิก online ที่คลิกใช้ได้ขณะต่อเน็ต และบ้าโปรแกรมดิก ที่สามารถดาวน์โหลดเอามาติดตั้งเพื่อคลิกใช้ offline กับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องต่อเน็ต โดยอาการของเฟส 3 ปรากฏอยู่ที่ลิงค์นี้ เชิญท่านคลิกดูได้เลยครับ
ตอนนี้ผมเริ่มแก่แล้ว เมื่อมองย้อนไปยังชีวิตหนหลัง ผมจึงไม่อยากให้ใครก็ตามเป็น “คนบ้าดิก” อย่างผม ผมจึงขอสรุปเอาดื้อ ๆ ณ บรรทัดนี้ว่า ดิกนั้นดีมีประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาอังกฤษ แต่ดิกก็เหมือนเครื่องมือเครื่องใช้อย่างอื่น เช่น มีด ซึ่งมีหลายแบบหลายชนิด ต้องใช้ให้ถูกตามหน้าที่ของมัน เช่นมีดหั่นผัก มีดหั่นเนื้อ มีดดายหญ้า มีดโกนหนวด ถ้าใช้ถูกชนิดถูกวิธีก็จะไม่มีโทษ และได้ประโยชน์ย่างเดียว ในกรณีของดิก ไม่ว่าจะเป็นดิกเล่ม - ดิก CD – ดิกคลิกใช้ online หรือโปรแกรมดิกที่ใช้ offline เมื่อไม่ต่อเน็ต หรือ talking dict ที่ใช้พกพา หรือดิกที่ดาวน์โหลดลงโทรศัพท์มือถือที่ผมจะแนะนำในโอกาสต่อไป เราควรใช้ให้ถูกกับชนิดของงาน ผมขอยกตัวอย่างรวม ๆ กันไปในคราวเดียวกันเลยนะครับ คือ
1. ดิกมีไว้เพื่อถามศัพท์:
ผมขอยกตัวอย่างเว็บไซต์ซึ่งเป็น database ขนาดใหญ่มีดิกรวมอยู่เป็นร้อย ๆ หรือพัน ๆ เล่ม ศัพท์ภาษาอังกฤษทั้งหลายแหล่ที่ใช้ในโลกรวมอยู่ที่นี่เกือบหมด ที่ 2 เว็บนี้ครับ
http://www.onelook.com/
http://www.yourdictionary.com/
และ Top English Learner's Dictionaries
2. ดิกมีไว้เพื่อทัวร์ศัพท์:
ท่านเคยเล่นอย่างนี้ไหมครับ เปิดดิกเล่มหนึ่งออกมา พลิกไปหน้านั้นหน้านี้ แล้วดูศัพท์ตัวนั้นตัวนี้ ตัวนี้ไม่น่าสนใจก็ผ่านไป ตัวนี้ดูท่าทางน่าสนใจก็หยุดพักดูสักหน่อย ส่วนตัวโน้นน่าสนใจเอามาก ๆ ก็หยุดดูนานหน่อย เหมือนขับรถส่วนตัวไปเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ นั่นแหละครับ สถานที่ไหนไม่อยากดูก็ขับรถผ่านไปเลย ที่ชอบน้อยก็แวะเดี๋ยวเดียว ที่ชอบมากก็แวะนานหน่อย ถ้าเป็นดิก online ประเภทนี้ ผมขอแนะนำ ข้างล่างนี้ครับ
♦http://dictionary.kids.net.au/
เลื่อนลงมาข้างล่างจะเห็น Random Word เมื่อ กด Refresh จะได้คำใหม่,คลิก ...more เพื่อดูความหมายอื่น ๆ ของศัพท์
♦http://www.vocabulary.com/dictionary/love
(ตอนใช้ ให้คลิกปุ่ม Random Word ที่ตอนบนของหน้า ไปเรื่อย ๆ )
♦http://www.wordreference.com/random/definition
(ตอนใช้ ให้คลิกปุ่ม Next random word ไปเรื่อย ๆ )
(ตอนใช้ ให้คลิกปุ่ม random ไปเรื่อย ๆ )
♦http://www.wordgenerator.net/random-word-generator.php
(ตอนใช้ ให้คลิกปุ่ม Generate Random Words ไปเรื่อย ๆ คำใดยากเกินไปก็ข้ามไปไม่ต้องสนใจ)
3. ดิกมีไว้เพื่อ test ศัพท์:
ผมขอชวนให้ท่าน download ไฟล์หนังสือ dictionary 4 เล่ม ข้างล่างนี้ เขาจัดเรียงคำศัพท์ในลักษณะดิก คือ A ถึง Z โดยเอาศัพท์สามัญที่ใช้บ่อยที่เรามักจะใช้ผิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผิดในความหมาย หรือใช้ผิดแกรมมาร์ หรือใช้ผิดในลักษณะไหนก็ตามมาเรียงไว้ ก่อนที่ท่านจะอ่าน ให้ท่านทำในลักษณะที่ test ตัวเองก่อน เช่น ถ้าเขาเอาศัพท์ 2 คำที่สะกดคล้าย ๆ กันมาอธิบายเปรียบเทียบกัน ท่านลองตอบตัวเองก่อนซิว่า 2 คำที่เขายกเอามาเป็นหัวข้อนี้มันใช้ต่างกันอย่างไร ท่านอาจจะตอบไม่ได้สมบูรณ์หรือตอบได้อย่างไม่แน่ใจก็ไม่เป็นไร ให้ลองตอบเพื่อ test ตัวเองก่อน แล้วค่อยอ่านคำอธิบายที่เฉลย, หรือถ้าเกิดเขายกตัวอย่างประโยคที่มีจุดที่ผิด ท่านดูออกไหมว่ามันผิดตรงไหน – ผิดยังไง แล้วค่อยดูเฉลย ถ้าไม่ขึ้นสังเวียนไม่มีทางรู้จริง ๆ หรอกครับว่าจะหลบหมัดคู่ต่อสู้ยังไง ถ้าไม่ test ตัวเองก็ไม่มีทางรู้หรอกครับว่าตัวเองรู้จริงหรือเปล่า
4 เล่มข้างล่างนี้ครับ
Longman Dictionary of Oommon Errors
Common Errors In English Usage - Oxford University Press
4. ดิกมีไว้เพื่อท่องศัพท์:
ดิกบางเล่มเป็นดิกที่มีศัพท์พื้นฐานจริง ๆ คือเป็นศัพท์ที่ใช้บ่อยในการ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน ถ้าเราท่องทุกคำในดิกเล่มนี้ก็ไม่เสียเที่ยว อาจจะเป็นดิก หรือลักษณะ word list ที่มีเพียง 1,000 คำ, 2,000 คำ, 3,000 คำ เป็นต้น และจากคำพวกนี้แหละครับ ที่จะเป็นฐานให้เราสามารถเดา หรือจำศัพท์คำอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคตได้อย่างไม่ลำบาก ตามลิงค์ข้างล่างนี้ครับ
คำศัพท์ 1,000 คำแรก พร้อมคำแปล ที่มีการใช้มากที่สุดในภาษาอังกฤษ
The Longman Defining Vocabulary
Webster's Learner's Dictionary
5. ดิกมีไว้เพื่อทบทวนศัพท์:
อันที่จริงดิกมีไว้ท่องศัพท์ในข้อ 4 ข้างบนก็สามารถใช้เป็นดิกเพื่อทบทวนศัพท์ก็ได้ แต่ผมไปพบไฟล์ดิก 2เล่ม คือ Easier English Basic Dictionary (ศัพท์ 10,000 คำ) และ Easier English Student Dictionary (ศัพท์ 32,000 คำ) เป็นดิกที่น่ามีไว้เพื่อการทบทวนศัพท์อย่างยิ่ง คือ เป็นคำศัพท์ที่ใช้บ่อย, ประโยคหรือวลีตัวอย่างที่ให้ไว้ไม่ยาก-ไม่ยาวเกินไป ทำให้เข้าใจและจดจำง่าย และมีอย่างหนึ่งที่ดิกดัง ๆ เล่มอื่น ๆ มักจะไม่มี คือ ดิกเล่มนี้ให้คำนิยามคำศัพท์ทุกคำ เช่น คำ adverb ที่เติม –ly หรือคำนามที่เติม –ness ซึ่งดิกเล่มอื่นมักไม่ให้ความหมายไว้ เพราะให้เราเดาเอาเองจากคำต้นศัพท์
Easier English Basic Dictionary
Easier English Student Dictionary
ผมไม่รู้จะสรุปจบท้ายยังไง เอาเป็นว่าตอนต้น ผมเล่าเรื่องบ้าดิกของตัวเองให้ท่านฟังเล่น ๆ ส่วนตอนท้าย ที่ผมแนะนำว่าเราสามารถใช้ดิกเพื่อถามศัพท์, ทัวร์ศัพท์, test ศัพท์, ท่องศัพท์ และทบทวนศัพท์ อันนี้ผมพูดจริง ๆ ครับ ไม่ได้พูดเล่น
เพิ่งนึกได้: ผมน่าจะพูดเกี่ยวกับดิกที่ใช้ใน smart phone และ tablet PC เป็นอาการบ้าดิกเฟส 4 แต่เรื่องของเรื่องก็คือ ทุกวันนี้ผมยังไม่ได้ซื้อของพวกนี้มาใช้เลย แต่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว ที่บทความนี้
แนะนำ Apps สำหรับ iPhone, iPad, Android
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.