Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ถ้าต้องการฝึกเขียน ก็ต้องลงมือเขียนจริง ๆ

 Effort et solitudeสวัสดีครับ

          ผมไม่แน่ใจว่า ใน 4 ทักษะภาษาอังกฤษ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ทักษะใดเป็นทักษะที่คนไทยส่วนใหญ่อ่อนที่สุด แต่เดาว่า การเขียนน่าจะไม่ใช่ 2 ทักษะแรกที่คนไทยแข็งที่สุด

          ในที่ทำงานของผม มีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถอ่านและพูดภาษาอังกฤษได้ดี  แต่ถ้าหาคนเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นงานเป็นการ ก็ต้องนึกหากันนิดหน่อย

          ทำไมคนไทยไม่ชอบฝึกการเขียนภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าหลายคนเห็นว่า การเขียนเป็นเรื่องยาก คุณต้องมีเครื่องปรุง 2 อย่าง คือ 1)ศัพท์-สำนวน-วลี และ  2)การนำศัพท์-สำนวน-วลี มาปรุงเป็น ประโยค และข้อความ ให้สามารถสื่อสารได้รู้เรื่องและเหมาะสม

          การเขียนเหมือนกับการพูดตรงที่ ต้องสื่อข้อความออกไปให้คนอ่านหรือคนฟังรู้เรื่อง แต่ต่างจากการพูดตรงที่ การพูดเมื่อพูดจบแล้วก็แล้วกัน พูดแล้วรู้เรื่องก็ถือว่าสมประสงค์  แต่การเขียนมันเหลือร่องรอยอยู่บนกระดาษ คนที่หวังดีหรือชอบจับผิดสามารถวิจารณ์ข้อเขียนได้ไม่รู้จบ หลายคนที่รู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ค่อยเก่ง” จึงไม่อยากเขียน

          ผมมานั่งถามตัวเองว่า ทักษะภาษาอังกฤษที่ได้มาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทักษะใดดีที่สุดและแย่ที่สุด ก็ได้คำตอบว่า ดีที่สุดคืออ่าน แย่ที่สุดคือเขียน ส่วนฟังกับพูดสลับกันไป-มา ระหว่างที่ 2 กับที่ 3

           ทำไมการเขียนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้แย่ที่สุด ถ้อยคำต่อไปนี้ ผมอธิบายประสบการณ์ส่วนตัว แต่ถ้าท่านอ่านแล้วเห็นพ้องกันเยอะ ๆ  มันก็จะขยายเป็นประสบการณ์ส่วนรวม

1) ผมได้รับการฝึก writing skill น้อยมากขณะเป็นนักเรียนนักศึกษา

2) exercise เกี่ยวกับ writing skill มักผูกรวมกับ grammar และเป็นลักษณะให้เลือกข้อ a,b,c,d หรือจับคู่ หรือหาคำหรือวลีมาเติมในช่องว่าง แทบไม่เคยถูกฝึกเป็นกิจจะลักษณะให้ลงมือเขียนเป็นประโยค ข้อความ หรือเรื่องราว จากง่ายไปยาก  จากสั้นไปยาว อย่างจริง ๆ จัง ๆ เหมือนกับการอ่าน

3) ผมเข้าใจว่า การตรวจงานเขียนของเด็กที่เป็น writing exercise ครูผู้สอนทำได้ยากกว่า การตรวจ grammar, vocabulary, reading comprehension ที่ให้เลือก a,b,c,d เพราะการตรวจเช่นนี้อาจจะต้องรวมไปถึงการแก้ไขสิ่งที่ผิดโดยบอกสิ่งที่ถูก ซึ่งอันนี้ยากและกินเวลา ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้ามีคนขอให้ผมตรวจข้อความภาษาอังกฤษที่แปลมาจากภาษาไทย บ่อยครั้งที่ผมนึกในใจว่า ถ้าให้ผมแปลเองจะง่ายกว่าเยอะ และใช้เวลาน้อยกว่าด้วย  อาจารย์ที่ต้องตรวจ writing exercise ของเด็กก็อาจจะคล้าย ๆ อย่างนี้ นี่ผมเดาเอาเองนะครับ เพราะว่าไม่เคยเป็นครู

          ถ้าท่านถามว่า แล้วผมฝึกการเขียนภาษาอังกฤษด้วยวิธีใด ผมทบทวนตัวเองดูแล้ว น่าจะเป็นอย่างนี้

1)  ถ้าไม่ได้ฝึกอ่านและฝึกวิเคราะห์โครงสร้างของประโยคมาเรื่อย ๆ ผมก็คงไม่ได้ซึมซับวิธีการเขียนเอามาเป็นของตัวเอง การฝึกอ่านและฝึกวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ ต้องมากพอทั้งปริมาณและคุณภาพ  เพราะฉะนั้นการอ่านและการสังเกตขณะที่อ่านจึงมีคุณูปการอย่างอนันต์ต่อการฝึกเขียน

2) เนื่องจากงานในที่ทำงาน ผมไม่ได้ต้องเขียนภาษาอังกฤษให้มีเนื้อหาเป็นทางการ หรือ official ทุกวัน แต่เมื่อมีงานเข้ามา ผมก็ถูกคาดหวังว่าต้องเขียนได้ ท่านลองคิดเอาแล้วกันครับว่า ใน 1 ปี 365 วัน ถ้ามีงานเขียน ประเภท official letter, official statement, หรือรายงานการประชุม หรือ project เพียง 1 – 2 งาน ทักษะการเขียนของท่านจะดีและอยู่ตัวได้อย่างไรกับโอกาสในการฝึกฝนที่น้อยนิดเช่นนี้ (เราต้องทำงานอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่ทำงานภาษาอังกฤษอย่างเดียว) ผมจึงแก้ด้วยการเขียนไดอะรี่เป็นภาษาอังกฤษทุกวัน อยากจะบอกความลับว่า การเขียนไดอะรี่นี่แหละครับ มีประโยชน์มหาศาลต่อทั้งการเขียนแลการพูด เพราะขณะที่นึกไม่ค่อยออกในการหาศัพท์ สำนวน วลี ประโยคเป็นภาษาอังกฤษ  มันทำให้ท่านต้อง คิดและค้น และแม้จะช้าหน่อย แต่จนแล้วจนรอด ท่านก็จะสามารถเขียนออกไปได้ ในครั้งแรก ๆ อาจจะผิด ๆ พลาด ๆ เยิ่นเย้อ  กำกวม  ตกหล่น งุ่มง่าม ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ขี้เกียจ รำคาญ และรู้สึกว่าไม่ได้อะไร แต่ถ้าอดทนฝึกไปเรื่อย ๆ อย่างใจเย็น ทักษะที่เกิดขึ้นจะพอกพูนโดยไม่รู้ตัว เหมือนหยอดเหรียญใส่กระปุก ตราบใดที่กระปุกไปถูกทุบเสียก่อน ตังค์ต้องเต็มกระปุกแน่นอน

          ถ้าท่านสงสัยแคลงใจว่า สิ่งที่ผมเขียนในข้อ 2)นี้มันทำได้จริงหรือ เพราะท่านไม่มีครูคอยตรวจบอกจุดที่ผิด และชี้ทางที่ถูก คำตอบของผมคือ

♦ a) ให้ท่านกลับไปอ่านข้อ 1)อีก 2-3 รอบ

♦ b) ท่านต้องมีคู่มือที่เป็นตัวช่วยเพื่อการให้การเขียนง่ายขึ้น สำหรับผมตัวช่วยมีดังนี้ครับ

Top English Learner's Dictionaries

Oxford Collocations Dictionary

ประโยคตัวอย่างภาษาอังกฤษ

คู่มือดังกล่าวนี้ จะต้องฝึกใช้ให้คล่อง 

          ท่านจะเห็นว่า ทั้งข้อ a) และ b) ล้วนต้องพึ่งตัวเองทั้งสิ้น เมื่อเราไม่มีทางเลือกอื่น นี่จึงเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ ถ้าเราไม่ยอมเลือกทางนี้ เราก็ต้องอยู่กับที่

         กลับมาดูเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตบ้าง ถ้าท่านพิมพ์หาเว็บที่ช่วยสอนการฝึกเขียนภาษาอังกฤษ ก็มีมากมายครับ ลองคลิกดูคำค้นข้างล่างนี้ก็ได้ครับ

english writing exercises คลิก

english writing practice   คลิก 

          ผมเองได้มา 1 เว็บที่ชอบใจ เพราะเขาบอกวิธีให้เราลงมือฝึกเขียนด้วยตัวเอง ไม่ใช่ฝึกเขียนโดยเอาแต่ติ๊ก a,b,c,d ซึ่งต่อให้ติ๊กถูกต้องได้คะแนนเต็ม มันก็ยากที่เราจะเขียนเก่งมากขึ้นได้ เพราะการติ๊กนั้นคือการแสดงความเห็นว่า สิ่งที่ผู้อื่นเขียนมานั้น ข้อใดใน a,b,c,d  ที่เขียนถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่เราเป็นคนเขียนอยู่นั่นเอง ส่วนการจับคู่ เติมคำที่ให้มาในช่องว่าง หรืออะไรทำนองนี้ ก็ยังไม่ใช่การฝึกเขียนอยู่นั่นเอง

♦ ที่เว็บนี้ครับ

http://www.englishforeveryone.org/Topics/Writing-Practice.htm

♦ ส่วนลิงค์ข้างล่างนี้ เป็นการเรียนหลักแกรมมาร์เพื่อสร้างพื้นฐานในการเขียน

http://grammar.ccc.commnet.edu/grammar/

            ก่อนจบเรื่องนี้ ผมขอพูดส่งท้ายเรื่องหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญมากในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยเรา คือ เราอย่าไปโทษครูเลยครับว่าสอนไม่ดี เพราะครูหรือระบบการสอนที่ไหนก็แล้วแต่มันไม่มีทาง perfect หรอกครับ การสอนจึงไม่สำคัญเท่าการเรียน ถ้าไม่มีการเรียน ต่อให้การสอนดีเลิศเพียงใดก็ไร้ผล และการสอนที่บกพร่องหรือไม่ perfect จะ perfect ขึ้นมาได้ก็เพราะผู้เรียนแต่ละคนเติมให้มันเต็มขึ้นมาเอง ถ้าผู้เรียนคนไทยยังไม่ยอมแก้ไขทัศนคติขั้นพื้นฐานเช่นนี้ เอาแต่โทษครู โทษโรงเรียน โทษฟ้า โทษดิน โทษรัฐบาล โทษบรรพบุรุษไทยในอดีตที่ไม่ยอมยกประเทศให้เป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมเพื่อที่จะได้เรียนภาษาอังกฤษของเขา ถ้ายังโทษนั่นโทษนี่อยู่อย่างนี้ โอกาสที่จะไปถึงฝันก็คงริบหรี่ครับ

 

พิพัฒน์

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com