Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

คำว่า link ภาษาไทย ราชบัณฑิตย์ให้สะกด “ลิงก์”, ไม่ใช่ “ลิงค์”

ลิงค์ลิงก์

สวัสดีครับ

ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะสะกดคำภาษาไทยให้ถูกต้อง คำใดที่ไม่แน่ใจก็จะตรวจดูใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อน แต่ว่ามีอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า ลิงค์ ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษ link และเป็นคำที่ผมแน่ใจว่าเขียนถูกมาโดยตลอด จนเมื่อคุณบรรพตบอกว่า คำสะกดที่ถูกต้อง คือ ลิงก์ ทำให้ผมชะงัก และต้องค้นคว้าว่ามันสะกดยังไงกันแน่

[1] ผมเข้าไปที่หน้า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คำนี้ก็ไม่มีในนั้น

[2] ผมอ่านคำถาม-คำตอบในเว็บ ราชบัณฑิตยสถาน

ที่นี่ Link เขียนทับศัพท์ภาษาไทยอย่างไรคะ (ความเห็นที่ 1 และ 3)

มีคำอธิบายว่า “Link เขียนทับศัพท์ว่า ลิงก์ ตาม หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ถ้า k เป็นตัวสะกดและการันต์ ใช้ ก ไก่

[3] เมื่อดูแล้วก็เห็นว่าคำนี้คนไทยจำนวนมากเขียนผิดจากที่พจนานุกรมฯกำหนด เพราะแม้แต่ homepage ของเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถานเอง เมื่อก่อนมีปุ่มหนึ่งเขียนว่า “รวมลิงค์น่าสนใจ” พอถูกคนท้วงว่าแม้แต่ราชบัณฑิตยสถานเองก็เขียนผิด ก็เลยแก้เป็น “รวมลิงก์น่าสนใจ” และตอนหลังสุดก็เปลี่ยนใหม่เป็น "รวมเว็บไซต์ที่น่าสนใจ"

[4] ผมให้ Google หาดูก็ได้ตัวเลขมาว่า ในเว็บมีคำว่า “ลิงก์” 32,600,000 ครั้ง และคำว่า “ลิงค์” 11,300,000 ครั้ง พูดอีกอย่างก็คือ สัดส่วนของคน สะกดผิด:สะกดถูก คือประมาณ 1:3

[5]การที่ราชบัณฑิตยสถาน กำหนดให้สะกดว่า ลิงก์ ก็มีบางคนไม่เห็นด้วย อย่างเช่น ความคิดเห็นที่ 7 ใน link นี้ คำทับศัพท์ ที่เขียนถึงราชบัณฑิตยสถาน

[6] ตามความเห็นส่วนตัว มีเหตุผลง่ายที่สุดที่อธิบายว่า ทำไมคำว่า link จึงมีคนไทยจำนวนมาก สะกดว่า ลิงค์ ท่านเพียงคลิกฟังเสียงอ่านคำว่า link จาก Oxford Dictionary [คลิกฟัง] ซึ่งมันชัดหูอยู่โต้ง ๆ ว่า เขาออกเสียงว่า ลิงคฺ แล้วท่านราชบัณฑิตย์กลับบอกว่า ต้องเขียนว่า ลิงก์ หลายคนก็ต้องสงสัยหรือไม่อยากจะเออออด้วยเป็นธรรมดา

[7] ในเรื่องการสะกดคำในภาษาไทยนี้ ผมเองเป็นคนหัวอ่อน ท่านราชบัณฑิตย์บอกให้สะกดยังไงผมก็สะกดยังงั้น ไม่โต้ ไม่เถียง จำได้ว่าตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม สมัยนั้นเมืองไทยใช้พจนานุกรม ฉบับปี ๒๔๙๓ คำข้างล่างนี้ ในหน้า ๗๙๑ เขาเขียนอย่างภาพข้างล่างนี้

791loklaek

แต่พจนานุกรมฯ ฉบับปัจจุบัน บอกให้เขียนอย่างนี้

loklaek  ๒๕๔๒

ผมก็เชื่อฟัง ไม่โต้ ไม่เถียง อย่างที่ท่านราชบัณฑิตย์สอน ท่านบอกว่า ตอนนี้ให้เขียน ลอกแลก ผมก็ ลอกแลก ด้วย แม้ว่าใจผมจะยอมรับอย่างหลุกหลิกก็ตาม

[8] สรุปก็คือ ต่อจากนี้ไป คำว่า link ผมจะสะกดว่า ลิงก์ และทุกท่านโปรดทราบด้วยว่า ที่ผมเขียนว่า ลิงค์ มาโดยตลอดในบทความก่อนหน้านี้ ผมเขียนผิดจาก หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษของราชบัณฑิตยสถาน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบครับ

แถม:ความเป็นมาและการจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  Ιลิงก์ 1Ιลิงก์ 2Ιลิงก์ 3

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com