Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

Home

เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า - พิพัฒน์

 Lung Toon 1300

เพิ่ม : เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า (ภาค 2 - วัยชรา)

สวัสดีครับ

          ผมเริ่มทำ Blog* นี้มาตั้งแต่ปลายปี 2549 ตลอดช่วงเวลากว่าปีครึ่งที่ผ่านมานี้ ผมมีความสุขมากกับการหาเรื่องมาเขียน และมีความสุขมากขึ้นเมื่อมีท่านผู้อ่านบอกว่าได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ผมเขียน [*บทความนี้เขียนเมื่อวันที่  27 กรกฎาคม 2551 สมัยที่ e4thai.com ยังเป็นบล็อก]

          ผู้อ่านหลายท่านที่เขียนถึงผมผ่าน Blog นี้หรือทางอีเมลแม้จะไม่ได้ลงชื่อหรือลงชื่อสมมุติ แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกห่างเหินกับท่านผู้อ่าน ในใจผมรู้สึกใกล้ชิด แม้ความรู้สึกใกล้ชิดนี้จะเป็นนามธรรมที่ชั่งตวงวัดไม่ได้ก็ตาม

          ก่อนที่จะมาเขียน Blog นี้ ระหว่างปี 2546 – 48 ผมเคยเขียนแนะนำเว็บเรียนภาษาอังกฤษ ส่งไปลงที่เว็บบอร์ดของ www.budpage.com โดยใช้ชื่อ 'KLMN' แต่ตอนหลังเลิกเขียนเพราะผมเขียนไปลงบ่อยเกินไปจนแย่งเนื้อที่ post ของผู้อ่านท่านอื่น และทำให้เว็บบอร์ดของ budpage.com ด้อยความหลากหลาย เพื่อตัดปัญหาผมจึงหยุดส่งไปลงที่นั่น แต่ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่ได้รับจากการเขียนลงที่เว็บบอร์ดของ budpage.com ก็คือ ผมได้ฝึกการ Search หาเว็บเรียนภาษาอังกฤษที่ต้องการได้เร็วขึ้น มากขึ้น และตรงตามที่ต้องการมากขึ้น ทักษะที่ได้มานี้เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อผมมาทำ blog นี้

          ท่านที่เข้ามาอ่านเว็บนี้บ่อย ๆ จะสังเกตได้ว่า ผมแทบไม่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับตัวเองไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนข้อมูลของผู้ทำ blog หรือในข้อเขียนที่ post อาจจะแทรกบ้างก็มีเพียงประสบการณ์ในการเรียนหรือใช้ภาษาอังกฤษของผมเพื่อประกอบการอธิบาย เหตุผลสั้น ๆ ตรง ๆ ก็คือ ผมไม่อยากให้ท่านผู้อ่านต้องเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการ เรียนภาษาอังกฤษของท่าน ท่านจะได้ไม่ต้องเผลอไปอ่านหรือเผลอไปคลิกให้เสียเวลา

          แต่เมื่อเดือนที่แล้วผมไม่สบาย น่าจะเรียกว่าไม่สบายมาก มันคงเป็นผลรวมของหลายโรครวมกัน คือ เบาหวานชนิดฉีดอินซูลินที่เป็นมา 20 ปี ความดันโลหิตสูงที่กินยาประจำมาครึ่งปี กล้ามเนื้ออักเสบที่ปุบปับเป็นทันทีที่ซีกซ้ายของร่างกาย กระเพาะอาหารเป็นแผลนิดหน่อยซึ่งตรวจพบหลังส่องกล้อง โรคตาที่ต้องฉายแสงเลเซอร์ 2 – 3 ครั้ง มันรวมพลังแสดงอาการพร้อมกันทันที  ทำให้ผมไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ผมก็เลยพักงานที่ทำประจำที่ office และที่ blog นี้

          แต่แม้ผมจะไม่ได้บอกท่านผู้อ่านว่าผมเป็นอะไร แต่ข้อความแสดงความเป็นห่วงมากมายที่ได้รับจากท่านผู้อ่านทั้งที่ผ่าน Blog และอีเมลทำให้ผมรู้สึกซาบซึ้งใจ ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ ไม่ใช่เพื่อนก็เหมือนเพื่อน เหมือนเป็นทั้งเพื่อนและญาติ

          ผมมาคิดอีกที ผมเขียนข้อความใน blog นี้มากว่า 700 เรื่องแล้ว ถ้าจะเอาเรื่องส่วนตัวมาเขียนแทรกลงไปสักเรื่องหนึ่ง ท่านผู้อ่านคงไม่ว่าอะไร อาจจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องแนวเดิม ๆ ที่อ่านอยู่ประจำก็ได้ และที่สำคัญก็คือ ผมรู้สึกว่าชีวิตกลางอ่อนกลางแก่ของผมนี้เป็นชีวิตที่มีความสุขค่อนข้างมาก และมีรสชาติค่อนข้างแปลก และผมอยากแบ่งปันกับท่านบ้าง จะเรียกว่าผมเล่าประวัติส่วนตัวก็ได้ครับ เมื่อท่านอ่านจบท่านอาจจะได้ไอเดียว่าน่าจะเขียนเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคุยกับผม

 pipat 10months

         ผมเป็นคนลุ่มน้ำแม่กลองแต่ก็เป็นลูกน้ำเค็ม ตอนเด็กถ้าเปรียบเทียบฐานะครอบครัวของผมกับครอบครัวอื่นในหมู่บ้านเดียวกัน ก็ต้องถือว่าครอบครัวของผมเป็นครอบครัวคนจน มานั่งนึกในนาทีนี้ผมอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมผมถึงไม่ได้รู้สึกเป็นปมด้อยหรือน้อยเนื้อต่ำใจแม้แต่นิดเดียวในความจนของตัวเอง อาจจะเป็นเพราะว่าผมเห็นพ่อแม่ทำงานหนัก และทั้งพ่อและแม่ก็ใช้ให้ลูก ๆ คือพี่สาว ตัวผม และน้องชายมีงานที่จะต้องทำเสมอ ทั้งงานบ้านและงานอาชีพจุนเจือรายได้ครอบครัว อาจจะเป็นเพราะความภูมิใจนิด ๆ หน่อย ๆ ในหน้าที่ก็ได้ที่ทำให้เราไม่มีเวลาไปคิดทางลบในเรื่องไร้สาระ นี่ผมลองตีความเอาเอง มันอาจจะผิดก็ได้ครับ อ้อ ลืมบอกไป บ้านเราทำอาชีพขายของชำหรือโชวห่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ

          พ่อเป็นคนพูดน้อย แม่เป็นคนพูดมากและชอบพูดเล่น พี่สาวและน้องชายผมตัวขาวและพูดน้อยกว่าเหมือนพ่อ ส่วนผมตัวดำและพูดมากกว่าเหมือนแม่ และความชอบเรียนภาษาน่าจะติดมาจากแม่ด้วยเช่นกัน สมัยโน้นตอนพูดกับลูกค้าคนจีนแม่ก็พูดจีนได้นิด ๆ หน่อย ๆ สมัยนี้แม่ไม่ต้องทำงานแล้วแต่ชอบนั่งอยู่ที่เก๊ะเก็บเงินในร้านโชวห่วยที่พี่สาวกับพี่เขยเป็นเจ้าของร้าน พอมีลูกค้ามอญต่างถิ่นเข้ามาซื้อของ แม่ก็พูดภาษามอญได้นิด ๆ หน่อย ๆ ดูเหมือนแม่จะมีความสุขกับการได้พูดภาษาต่างชาตินิด ๆ หน่อย ๆ อย่างผิด ๆ ถูก ๆ ตามประสาของแก ผมเห็นแกพูดไปยิ้มไปหัวเราะไป ผมไม่สามารถพูดภาษาจีนหรือภาษามอญได้ ‘นิด ๆ หน่อย ๆ’ เหมือนแม่ แต่ผมชอบเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่อยู่ชั้น ป.เตรียม(ชั้นอนุบาลสมัยก่อน) และดูเหมือนแม่ก็ชอบใจอยู่ที่ผมชอบภาษาอังกฤษ

          เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปเข้าคอร์สเรียนภาษาอังกฤษซึ่งที่ทำงานส่งไป มีอยู่ชั่วโมงหนึ่งอาจารย์ฝรั่งถามผมว่า ทุกวันนี้ผมจำศัพท์ใหม่เพิ่มได้วันละกี่คำ ผมชะงักและตอบไม่ถูกเพราะเมื่ออ่านหนังสือพิมพ์ คือ Bangkok Post  หรือ The Nation ผมรู้สึกว่าผมแทบไม่ได้เจอศัพท์ใหม่เลย แต่เมื่อส่องกล้องดูความคิดของตัวเองให้ชัดลงไปอีกหน่อย ก็ได้พบความจริงว่าผมคิดผิด เพราะทุกวันหรือทุกครั้งที่อ่านหนังสือ ผมพบศัพท์ใหม่หรือความหมายใหม่ของศัพท์เก่าตลอดเวลา ในขณะที่ความจำของผมน้อยลงเพราะผมชักแก่แล้ว แต่สิ่งที่มาชดเชยความจำที่หดหายไปก็คือความสามารถในการเดาคำศัพท์ที่มีมากขึ้น และที่ผมเดาได้ก็เพราะผมตุนจำศัพท์ไว้เยอะสมัยที่อายุยังน้อยและความจำยังดี ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับสมัยที่ผมอยู่ชั้นประถม ถ้าครูให้หนังสือมาให้ผมอ่าน 1 หน้า เพียงแค่ครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมงผมสามารถท่องจำได้ และออกไปยืนที่หน้าชั้นและพูดข้อความที่ท่องมาได้ถูกต้องโดยไม่ผิดแม้แต่ตัวเดียว ผมยังจำ comment ของครูได้ดี ท่านบอกว่าตอนนี้เธอยังเด็กอยู่ความจำก็ดีอย่างนี้แหละ พออายุมากขึ้นจะจำไม่ได้อย่างนี้ นาทีนั้นผมไม่เชื่อเลยว่าตัวเองจะเป็นอย่างที่ครูพูด แต่ครูก็ไม่ได้โกหกผม นี่แหละครับใน post หลายครั้งใน blog นี้ผมถึงได้บอกน้อง ๆ ว่า ตอนนี้ความจำยังดีอยู่ก็พยายามจำศัพท์ไว้ให้ได้เยอะ ๆ เพราะถ้ามาเริ่มจำตอนอายุมากอาจจะช้าเกินไป นี่ผมก็ไม่ได้โกหกเหมือนกันครับ 

          แล้วผมก็ได้เข้าเรียนธรรมศาสตร์เมื่อจบ มศ.5 เข้าคณะวารสารศาสตร์ เลือกเอกหนังสือพิมพ์ ผมแทบไม่ได้อะไรจากวิชาที่สอนในคณะนี้เลย เพราะเข้าไปแล้วถึงได้รู้ว่าไม่ชอบ แต่สิ่งที่ได้มาแน่ ๆ คือจิตวิญญาณของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ผมจึงรักที่จะให้คนไทยได้รับทั้ง news และ view (ข่าวและความเห็น) ที่ทั้งถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ลำเอียง รั้วธรรมศาสตร์ในยุคผมเป็นยุคที่ทหารไม่อยากเดินเข้าไป เพราะมักถูกมองด้วยสายตาที่ชิงชังและดูถูก ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลยเพราะเราก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่ผมก็ถือว่าธรรมศาสตร์สอนให้คนรุ่นผมมีเลือดเหลืองแดงที่เข้มข้น ในความเห็นของผมเพลงที่สำคัญที่สุดของความเป็นธรรมศาสตร์ คือ ‘เพลงมอญดูดาว ’ ทุกวันนี้ผมยังจำความรู้สึกครั้งแรก ๆได้ดีที่ร้องเพลงนี้กับเพื่อน ๆ เมื่อไปออกค่ายหรือทำกิจกรรมในต่างจังหวัดไกล ๆ ที่เล่ามาเช่นนี้มิได้หมายความว่าธรรมศาสตร์ดีกว่าที่อื่น เพียงแต่ผมรู้สึกภูมิใจในความเป็นธรรมศาสตร์ของตัวเองเอามาก ๆ

          เรื่องการเรียนในรั้วธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์จริง ๆ อาจารย์ที่ปรึกษาที่คณะของผมท่านบอกเมื่อผมพบท่านครั้งแรก ๆ ว่า ท่านเดินทางไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมาแล้วทั่วโลก และท่านสามารถพูดได้เลยว่า ‘ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าจะทำอะไรก็ได้ ยกเว้นเรียนหนังสือ’ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผมประทับใจในคำพูดของอาจารย์ที่ปรึกษามากเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ผมจึงแทบไม่ได้เข้าชั้นเรียนเลย และใช้เวลาเรียนถึง 5 ปี จบออกมาด้วยเกรด 2.3

         เมื่อเวลาส่วนใหญ่มักไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ผมใช้เวลาทำอะไรใน 5 ปีนี้ ก็ใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมของชมรม การฟังสัมมนาอภิปรายเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งมีบ่อยมากในรั้วธรรมศาสตร์ยุคนั้น การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทต่างจังหวัด หรือการอ่านหนังสือในห้องสมุดหรือนอกห้องสมุด อยากจะพูดว่า ในช่วงเพียง 5 ปีที่อยู่ธรรมศาสตร์นี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมอ่านหนังสือมากที่สุดในชีวิต ทั้งปริมาณและคุณภาพ มันเป็นความตื่นเต้นครับที่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่รักการอ่านมาพบสถานที่ซึ่งบรรจุหนังสือเป็นแสน ๆ เล่ม และเป็นภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย จุดนี้เองแหละครับที่เป็นจุดบันดาลใจของผม ก็คือว่า ตอนผมเริ่มเรียนปี 1 ผมบอกตัวเองว่าก่อนขึ้นปี 2 จะต้องอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐ ฉะนั้นแทบทุกวัน เมื่อกลับถึงที่พักผมจะนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ เอาเชือกผูกเอวตัวเองไว้กับพนักเก้าอี้ และอ่านให้จบอย่างน้อย 1 หน้าก่อนลุกไปไหน ถ้าจะลุกก่อนจบก็ต้องเอาเก้าอี้ไปด้วย ทำอย่างนี้จนเรียนจบปี 1 ผลปรากฏว่าก็ยังไม่สามารถบันดาลให้ Bangkok Post กลายเป็นไทยรัฐไปได้ แต่… มันอ่านรู้เรื่องมากขึ้นเยอะและคุ้มค่ากับความพยายาม มีอยู่หลายครั้งที่ผมไปอ่านพบหนังสือบางเล่มในห้องสมุด ผมรู้ได้ทันทีเลยว่าเนื้อหาในหนังสือเหล่านั้นถ้าตีพิมพ์เป็นภาษาไทย คนไทยที่เขียนคนนั้นจะต้องถูกจับเข้าคุกแน่ ๆ ในสถานการณ์การเมืองขณะนั้น และหนังสือก็จะถูกยึดไม่มีใครได้อ่าน แต่การที่ผมได้อ่านเพราะมันเป็นภาษาอังกฤษ คงไม่ใช่เพราะว่าเจ้าหน้าที่เคจีบีเมืองไทยช่วงนั้นอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกหรอกครับ แต่อาจจะเป็นเพราะมันลอดหูลอดตาการตรวจพบ หรือเขาอาจจะเห็นว่า คงมีไม่กี่คนที่พลิกเข้าไปอ่านหน้านั้น เขาก็เลยปล่อยให้หนังสือเหล่านั้นบางเล่มวางอยู่บนชั้นหนังสือในห้องสมุด

          เรื่อง การฝึกภาษาอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทสนทนา หรือ conversation นี่นะครับ เด็กสมัยนี้โชคดีกว่าสมัยนั้นเยอะแยะเลยครับ เพราะมีสารพัดสื่อที่ช่วยสอนทักษะให้เราได้ง่าย ๆ มันทะยอยมาตามลำดับครับ ตั้งแต่เทปคาสเซ็ทเป็นตลับ ม้วนวีดิโอ CD เคเบิ้ลทีวี และอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทุกอย่างเล็กลง ถูกลง ใช้ได้สะดวกขึ้น ท่านเชื่อไหมครับว่าตลอดช่วง 5 ปีที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยมีโอกาสได้เรียน listening – speaking กับอาจารย์ฝรั่งเลย เพราะวิชานี้มีคนจ้องจะเรียนกันเยอะ และจะต้องได้บัตรโควตาจึงจะได้เรียน พวกนักศึกษาผู้หญิงและเกย์เขาไวมากครับ และส่วนใหญ่ก็เป็นพวกนี้แหละครับที่ได้เรียน แต่เอาเถอะแม้แย่งบัตรโควตาเพื่อเรียน listening – speaking ไม่ได้ ผมก็เรียนภาษาอังกฤษวิชาอื่น ๆ เช่น grammar หรือ reading และเพราะได้เกรด A หรือ B เป็นส่วนใหญ่จากวิชาภาษาอังกฤษพวกนี้จึงทำให้ผมไม่ต้องถูก retire และจบออกมาได้ด้วยเกรดเกิน 2.0

          หลังเรียนจบ ผมได้งานราชการและทำงาน 10 ปีในต่างจังหวัด งานที่ทำพาผมไปที่จังหวัดสงขลา ระนอง สกลนคร นครพนม สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เป็นงานพัฒนาชนบทที่ต้องลงไปคลุกคลีใกล้ชิดกับคนต่างจังหวัด คนที่จนจริง ๆ ตอนนี้ฐานะทางบ้านของผมดีขึ้น แต่คนจนที่ผมไปทำงานด้วยเขาจนมากกว่าครอบครัวของผมเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วซะอีก ทุกวันนี้เมื่อพบคนจนที่มาจากภาคอื่นในกรุงเทพ ผมจึงรู้ว่าความ ‘จน’ เป็นอย่างไร คนที่โชคดีเพราะมีฐานะสูง แต่ไม่ยอมเอื้อใจให้คิดยาวออกไปถึงคนที่จนกว่ามาก ๆ คนพวกนี้จะไม่มีวันรู้จักเพื่อนคนไทยและเมืองไทยหรอกครับ เพราะคนไทยและเมืองไทยที่เขารู้จักเป็นคนละกลุ่มและคนละเมืองกับที่คนจนรู้จัก

          ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับผมไหมครับว่า บางครั้งเคราะห์ร้ายในชีวิตก็อาจจะเป็นโชคดีอย่างมหาศาลถ้าเรามองอีกแง่หนึ่ง เมื่อผมทำงานได้ไม่กี่ปีที่จังหวัดระนองผมต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคดีซ่าน หรือตับอักเสบ มันเป็นเรื่องน่าตลกนะครับเพราะปกติผมเป็นคนแข็งแรงมาก ก่อนหน้านั้นผมแทบไม่เคยกินยามาเลยในชีวิต ผมไม่เคยปวดเมื่อย ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้ ท้องเสีย อะไรทั้งสิ้น และวิ่งออกกำลังกายทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนทักว่าตาเหลือง ๆ น่าจะลองไปหาหมอ ผมก็ไปหาอย่างเสียไม่ได้เพราะกลัวเพื่อนว่า หมอตรวจร่างกายแล้วก็บอกว่าผมเป็นโรคตับอักเสบชนิดเรื้อรัง เขาใช้ศัพท์หมอว่า chronic ผมได้ข้อสรุปว่านี่เป็นสิ่งที่คนแข็งแรงควรระวัง เพราะความแข็งแรงของท่านอาจจะกลบอาการของโรคบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ ฉะนั้นพาร่างกายของตัวเองไปตรวจสุขภาพบ้างก็ดีนะครับ

          ด้วยความหวังดี เพื่อนจึงติดต่อให้ผมเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงว่าคุณภาพดี หมอสั่งให้พยาบาลให้ผมกินยาสเตียรอยด์เป็นเวลา 6 วันและหยุดยา แต่พยาบาลคงลืมและไม่ได้หยุดยา และให้ผมกินไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 16 คืนก่อนที่ผมจะช็อกผมร้อนไปทั้งตัว ผมบอกให้เพื่อนสนิทที่มาเฝ้าเอาผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ชุบน้ำจากอ่างพลาสติกใบเล็กที่อยู่ข้างเตียงและเช็ดตัวให้ผมตลอดเวลา คืนนั้นเป็นคืนวันเสาร์ จนเลยเที่ยงคืนแล้วเพื่อนก็หลับไปในห้องนั้นแหละ แต่ผมก็เอาผ้าขนหนูชุบน้ำจากอ่างและเอามาลูบตัวเองโดยไม่รู้ตัวตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าเป็นวันอาทิตย์ เพื่อนผมซึ่งเป็นพยาบาลที่ห้องไอซียูที่โรงพยาบาลนั้นรีบมาเยี่ยมผมแต่เช้า แต่เขาติดต่อหมอไม่ได้เลย อาจจะเป็นเพราะเป็นเช้าวันอาทิตย์ก็ได้หมอก็เลยมาตรวจช้า เธอเข็นผมไปเข้าห้องไอซียูและปั๊มหัวใจให้โดยไม่ได้รอให้หมอสั่ง ซึ่งถือว่าโชคดีเพราะถ้ารอหมอสั่งผมคงตายไปตั้งแต่เช้าวันนั้นแล้ว

          ผมพักอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นอีกกว่า 2 เดือน ช่วงที่ผมเริ่มรู้สึกตัวใหม่ ๆ ผมรู้สึกเพลียมากและขี้เกียจหายใจ ผมขอเรียนว่านี่คือประสบการณ์พิเศษจริง ๆ ความรู้สึกที่บอกตัวเองว่าไม่เจ็บแต่อ่อนล้าเหลือเกิน ไม่อยากหายใจแล้ว จะตายก็ตายไปเถอะ ความรู้สึกเช่นนี้มิใช่หลายคนนักที่จะโชคดีมีโอกาสได้เจอ ช่วงที่ยังสลึมสลืออยู่บนเตียงนั้น รู้สึกว่ามีใครสักคนหนึ่งมายืนที่ข้างเตียงและถามผมว่า ‘กลัวตายไหม’ แปลกนักที่ผมจำคำตอบของตัวเองได้ชัดเจนว่า ‘ไม่กลัว’ โชคดีอย่างยิ่งที่หลังจากนั้นผมพ้นขีดอันตรายอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกที่ตรึงแน่นในใจก็คือ นี่เหมือนการตายแล้วเกิดใหม่ ตอนนี้เพิ่งอายุ 25 ปี แต่ชีวิตต่อจากนี้ทุกวันคือกำไร ไม่ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ทุกวันคือกำไรของชีวิต

       วันนี้ ห่างจากวันนั้นมากว่า 20 ปีแล้ว ชีวิตในช่วงที่ผ่านมาก็มีขึ้นมีลงตามลีลาของมัน แต่เหตุการณ์ที่เฉียดความตายมันเหมือนให้พลังอะไรบางอย่างแก่ชีวิต ผมอยากจะเรียกว่ามันเป็นพลังของการปล่อยวาง จากที่เคยคิดว่าชีวิตนี้มั่นคงและยืนยาว กลายมาเห็นชัดว่าชีวิตนี้เปราะบาง... เปราะบางยิ่งนัก เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะตายเมื่อไร

pipt

         ออกจากโรงพยาบาลในกรุงเทพแล้วผมกลับไปทำงานพัฒนาชุมชนเช่นเดิมที่จังหวัดระนอง เขาเรียกผมว่าเป็น ‘พัฒนากร’ และไม่นานนักภาวะเฉียดตายก็มาเยี่ยมผมอีก

          ในยุคนั้นจังหวัดระนองไม่ได้บูมเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเช่นทุกวันนี้ พื้นที่ที่ผมรับผิดชอบเป็นเกาะนอกชายฝั่งระนองในทะเลอันดามัน 4 เกาะ ผมต้องขออาศัยเรือหาปลาจากฝั่งให้ไปแวะส่งผมที่เกาะ และขากลับบางทีเรือหาปลาก็แวะที่เกาะเพื่อขอยาจากสถานีอนามัยบนเกาะ ผมก็ขออาศัยกลับเข้าฝั่งด้วย ระหว่างเกาะกับฝั่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง

          และวันหนึ่งในเดือนเมษายน ผมได้ขออาศัยเรือประมงเข้าฝั่ง จำได้ว่าเป็นเวลากลางคืน ลมพัดเย็นสบายและจันทร์กระจ่างฟ้า ผมปีนขึ้นไปนั่งบนดาดฟ้าเรือเพื่อกินลมและชมจันทร์กลางทะเลที่หลับเพราะคืนนั้นไม่มีคลื่นเลย ใครที่บอกว่าทะเลไม่เคยหลับเขาคงไม่เคยอยู่ทะเลนาน ๆ จึงไม่รู้ว่าทะเลก็มีเวลาหลับ และยามทะเลหลับยอมให้แสงจันทร์และลมเย็นลูบไล้นั้น ช่างเป็นความงดงามจริง ๆ

          เวลาประมาณ 5 ทุ่ม เรือเริ่มเข้าสู่ปากอ่าว ผมเริ่มหนาวเพราะนั่งสัมผัสลมเย็นมานานหลายชั่วโมง จึงปีนจากดาดฟ้าเพื่อจะลงมาข้างล่าง ทันใดนั้นไม้ราวขนาดไม่ใหญ่นักซึ่งอยู่ด้านบนสุดของดาดฟ้าเกิดหัก ผมหล่นจากดาดฟ้าล่วงลงไปในทะเลโดยไม่ได้กระแทกแคมเรือ เสียงดังของเครื่องยนต์กลบเสียงทั้งหมดที่ผมตกลงไปในน้ำทะเล ร่างจมลงไปใต้น้ำ พอถีบตัวให้ขึ้นมาถึงผิวน้ำก็ได้เห็นว่าเรือแล่นไปข้างหน้าไกลแล้ว

          ‘โชคดี’ ครั้งที่สองของผมนี้เกิดขึ้นในภาวะมีผมมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ผมมองจุดที่กำลังว่ายอยู่ในน้ำกับแสงไฟที่อยู่บนฝั่งกับเรี่ยวแรงที่ตัวเองมีอยู่ ผมบอกตัวเองได้เลยว่าผมไม่ตายแน่ หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงคือการว่ายน้ำในทะเลอันดามันเข้าสู่ฝั่ง ผมถึงฝั่งอย่างปลอดภัยและเหนื่อยอ่อน มารู้ตอนหลังว่าตอนที่ผมตกทะเลมีคนบนเรือคนเดียวที่เห็น เขาเป็นกรรมกรประมงชาวพม่า เขาพยายามไปบอกนายท้ายว่าผมตกทะเล แต่ก็ใช้เวลานานกว่าจะพูดกันรู้เรื่องเพราะต่างไม่รู้ภาษาซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดเรือลำนั้นก็วกกลับเพื่อไปหาผม แต่ก็หาไม่พบหรอกครับเพราะมันกลางคืนอย่างนั้น ผมตกทะเลตรงไหนก็ไม่รู้ นายท้ายก็เลยแล่นเรือต่อไปเพื่อไปจอดที่ท่าเรือบ้านเถ้าแก่ของเขา ส่วนผมก็ว่ายน้ำตามประสาของผมไปยังฝั่งที่เห็นแสงไฟ ท่านอาจจะถามว่า ทำไมไม่ว่ายรออยู่ตรงนั้นเพื่อให้เรือย้อนกลับมารับ ท่านที่ว่ายน้ำเป็นคงจะทราบว่าเพียงแค่ใช้แรงพยุงตัวเพื่อให้ลอยอยู่ได้และ รออย่างลม ๆ แล้ง ๆ เพื่อให้เรือกลับมารับ กับการออกแรงว่ายเข้าฝั่งผมเลือกทำอย่างหลังดีกว่า

          ตอนว่ายอยู่ในทะเลผมไม่ตกใจเพราะรู้ว่าถึงจะไกลและเหนื่อย ยังไงก็ไม่จมน้ำตายและว่ายถึงฝั่งก่อนหมดแรงแน่ ๆ แต่พอมาคิดว่า ถ้าผมปีนจากดาดฟ้าลงมาข้างล่างก่อนหน้านั้นสักหนึ่งชั่วโมง ผมคงเป็นผีเฝ้าทะเลแน่ ๆ เพราะทะเลน้ำลึกว่ายยากกว่าแถบชายฝั่งที่น้ำตื้นและกำหนดทิศทางได้ยากกว่า

          เหตุการณ์เฉียดตาย 2 ครั้งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตภายในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันนัก และในช่วงวัยที่ผมยังไม่ควรตาย ทำให้ผมตระหนักแน่นในความไม่แน่นอนของชีวิต ‘ความตายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน’ คำพูดนี้สำหรับผมไม่ได้เป็นปรัชญากลวง ๆ แต่เป็นความจริงที่หนักแน่น ชัดเจน แจ่มแจ้งยิ่งกว่าคำพูดบรรยายใด ๆ ทั้งสิ้น และเป็น ‘ความรู้’ ที่ติดตรึงใจมาจนถึงทุกวันนี้

          ผมย้ายไปทำงานอีกหลายจังหวัดตามที่เรียนไว้แต่ต้น บทสรุปง่าย ๆ เรื่องฐานะของคนต่างภาคในประเทศไทยที่ผมได้รับจากการทำงานในภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลางก็คือ ภาคอีสานจนที่สุด เป็นบทสรุปที่ใคร ๆ ก็รู้ แต่ในขณะที่บางคนบอกว่าคำตอบของชาวบ้านอยู่ที่หมู่บ้าน ผมกลับขอยืนยันว่า คำตอบของหมู่บ้านอยู่ในสภาฯ - อยู่ใน ครม. แต่เอาเถอะ ผมขอหยุดพูดพาดพิงถึงการเมืองไว้เพียงแค่นี้แล้วกันครับ บางครั้งอะไรต่ออะไรมันสับสนและซับซ้อนมากจนผมไม่กล้าด่วนสรุปว่าอะไรคือ อะไร

          ช่วงเวลา 10 ปีที่ผมอยู่ต่างจังหวัด ผมไม่มีโอกาสได้ฝึก speaking listening หรือ writing เลย เพราะไม่รู้จะไปพูด ไปฟัง ไปเขียนกับใครที่ไหน Buddy คู่กายในการฝึกภาษาอังกฤษของผมก็คือ หนังสือพิมพ์ Bangkok Post หรือ The Nation และก็ฝึกอย่างเดียว คือ reading เท่านั้น

          หลังจาก 10 ปีที่ทำงานที่ ‘บ้านนอก’ ผมย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพ แต่ช่วง 15 ปีที่อยู่ในกรุงเทพ งานที่ทำกลับตรงกันข้ามกับ 10 ปีแรกโดยสิ้นเชิง คือเป็นงานที่เกี่ยวกับ ‘เมืองนอก’

          งานที่ทำบังคับให้ผม ต้องติดต่อโต้ตอบโดยการคุยกับและเขียนถึงชาวต่างประเทศ ทั้งในขณะที่เขาเดินทางมาเมืองไทย และในขณะที่ผมเดินทางไปต่างประเทศ ประสบการณ์ในช่วง 15 ปีนี้ที่ทำให้ผมได้เดินทางไปประเทศอื่นประมาณ 25 ประเทศ (ทั้งไปทำงานและไปเที่ยว) ทำให้ผมได้ข้อสรุปบางอย่างเกี่ยวกับวิธีการที่จะเก่งภาษาอังกฤษทั้ง ๆ ที่ผมไม่ใช่คนเก่ง แต่ผมคิดว่าพอจะเดาได้บ้างว่าถ้าจะเป็นคนเก่งต้องทำยังไง ผมรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่ ลิงค์นี้

          ท่านผู้อ่านที่ติดตาม blog นี้เป็นประจำจะสังเกตได้ไม่ยากว่า ผมไม่ใช่คนเก่งภาษาอังกฤษมากมายอะไร ในที่ทำงานมีหลายคนที่แย่กว่าผม แต่ก็มีหลายคนที่ผมแย่กว่าเขาในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ แต่ที่ผมกล้ามาทำ blog นี้ ก็เพราะผมเอาของดี ๆ ที่คนอื่นเขาทำไว้มาเสนอให้ท่านใช้ ถ้าให้ผมทำเองผมก็คงทำไม่ได้หรอกครับ

          มีอยู่ 1 คำถามที่ผู้อ่านบางท่านอาจจะอยากทราบแต่ไม่กล้าถาม คือ ผมได้อะไรจากการทำ blog นี้? คำถามนี้ตอบได้ไม่ยากเลยครับ

          เรื่องรายได้ไม่ใช่สาเหตุแน่ ๆ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ชัดเลยว่า blog นี้เป็น blog ที่ Free 100 % อันที่จริงมีอยู่หลายวิธีที่สามารถหารายได้จาก blog แบบนี้ ที่คนอื่นเขาทำกันอยู่ก็เช่น ให้ข้อมูลดี ๆ แก่คนอ่านพอเป็นตัวอย่าง ถ้าอยากได้เพิ่มเติมต้องเสียเงินลงทะเบียน หรือหาโฆษณามาลง ผมตั้งใจไว้อย่างเด็ดขาดตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่ใช้ blog นี้หารายได้ ไม่ว่าด้วยทางใดทั้งสิ้น บางวิธีอาจจะดูว่าไม่เป็นอันตราย win – win ด้วยกันทั้งคู่ เช่น หาโฆษณามาลง ใครไม่อยากคลิกก็ไม่ต้องคลิก ใครคลิกเข้าไปแล้วไม่อยากซื้อก็ไม่ต้องซื้อ ท่านผู้อ่านก็ไม่ได้เสียอะไร ผมเองก็ได้เงินค่าคลิกโฆษณา แต่... มันไม่ใช่เรื่องพื้น ๆ อย่างนั้นหรอกครับ ยกตัวอย่างเรื่องคลิกโฆษณา เนื่องจาก blog นี้ผู้ชมส่วนใหญ่คือผู้ที่สนใจเรื่องภาษาอังกฤษ โฆษณาที่จะถูกให้เอามาลงก็หนีไม่พ้นโฆษณาโรงเรียนสอนภาษา หนังสือ CD วีดิโอ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษ ปัญหาก็คือ ผมไม่มีทางรู้เลยว่าสินค้าเหล่านั้นคุณภาพดีจริงหรือเปล่า หรือถ้าหากว่าคุณภาพดี ราคามันแพงเกินไปหรือเปล่า มันคุ้มค่ากับเวลาหรือเงินที่ท่านผู้อ่านต้องเสียไปหรือเปล่า หรือมีสิ่งอื่นไหมที่ blog นี้สามารถให้ได้ฟรี ๆ โดยท่านผู้อ่านไม่ต้องไปเสียเงินซื้อ เรื่องของเรื่องก็คือ ผมไม่ต้องการให้ท่านผู้อ่านเสียอะไรแม้แต่นิดเดียวจากการเข้ามาที่ blog นี้

prasarnkiddee

          เมื่อท่านผู้อ่านขอบคุณผมที่ทำ blog นี้ ก็ขอให้ท่านช่วยขอบคุณน้องอีกคนหนึ่งที่ช่วยเหลือผมทางด้านเทคนิคมาโดยตลอด  คือ คุณประสาร คิดดี  ที่เป็นเหมือนอาจารย์ของผมในเรื่องการทำ blog ตอนนี้คุณประสารกำลังศึกษาปริญญาเอกด้าน robot ที่เมืองจีน แต่ก็ยังช่วยเหลือผมอย่างต่อเนื่องเหมือนตอนที่อยู่เมืองไทย (กลางปี 2560 เรียบจบที่ปักกิ่ง  และกลับมาทำงานที่เมืองไทยแล้วครับ

          แต่อะไรเล่าคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมทำ blog นี้ และก็จะทำต่อไปถ้าไม่มีปัญหาทางด้านเทคนิคหรือสุขภาพร่างกายมาขัดขวางบั่นทอน?

          ตั้งแต่ต้นมาแล้วที่ผมเรียนท่านผู้อ่าน ผมรู้สึกว่าชีวิตของคนเราสั้นและไม่แน่นอน งานราชการที่ผมทำ แม้จะตั้งใจทำอย่างซื่อสัตย์และเต็มความสามารถ แต่จะพูดว่าผมทำความดีก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะถึงอย่างไรผมก็ได้เงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ จากภาษีของประชาชน การทำงานอย่างซื่อสัตย์และเต็มกำลังความสามารถจึงเป็นการใช้หนี้ประชาชน ไม่น่าจะเอามาคุยว่าเป็นการทำความดี

          ผมจึงขอเรียนว่า การที่ผมทำ blog นี้ก็เพราะว่า...

          1. ผมมีความสุขยิ่งนักที่ได้ทำ เพราะผมได้ใช้ความสามารถที่ผมมี คือ search skill, computer skill, English skill และ skill ในการชี้แจงอธิบายขยายความเรื่องต่าง ๆ ซึ่งผมแอบเข้าข้างตัวเองว่า ผมน่าจะสอบไม่ตกในเรื่องเหล่านี้ เมื่อได้ให้ความสุขแก่ตัวเองเช่นนี้ ก็ถือว่าเป็นโบนัสของชีวิตที่ผมให้แก่ตัวเองทุกวัน ผมทำสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า labour of love นั่นแหละครับ

          2. ผมมีความสุขยิ่งขึ้นไปอีกที่ได้รู้ว่า มีบางท่านได้รับประโยชน์จาก blog นี้ แม้ blog นี้จะรู้กันในกลุ่มคนที่จำกัดเพราะผมไม่ได้ใช้วิธีโฆษณาใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านเข้ามาแล้วแม้จะได้อะไรกลับออกไปเพียงนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ถือว่าท่านได้ช่วยให้ผมมีความสุขมากขึ้น ขอขอบคุณครับ

          ขอบคุณทุกท่านครับที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th

at wat don wai 10 Feb 2018 500

 

 

 

Add comment

เชิญแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ

Security code
Refresh

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com