Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

วิธีฝึกอังกฤษแบบผิด ๆ ที่ติดเป็นนิสัยคนไทย

wrong habit

สวัสดีครับ

       มีคนไทยหลายคนที่เรียนจบปริญญาตรีด้วยทักษะภาษาอังกฤษที่ร่อแร่ เมื่อได้งานทำก็ดูเหมือนว่า หน่วยงานต้องการให้พนักงานฟิตตัวเองให้เก่งอังกฤษ แต่เมื่อ (1) พื้นเดิมก็แย่ และ (2) เวลาฟิตเพิ่มก็มีน้อย  เพราะในที่ทำงานก็มีงานประจำต้องทำ กลับถึงบ้านก็มีงานบ้านและภาระครอบครัว เมื่อเป็นอย่างนี้โอกาสเก่งอังกฤษยังมีอยู่อีกหรือ?

       คำถามนี้ ถ้าไม่มีศรัทธาและความมุ่งมั่นอดทน หรือเริ่มต้นด้วยใจที่ยอมแพ้ คำตอบแม้ดีเพียงใดก็ไร้ความหมาย  แต่ถ้าเชื่อในตัวเองและมุ่งเดินไปตามความเชื่อ  ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล

       เกี่ยวกับการฟิตภาษาอังกฤษของคนไทยมีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูด  ก็คือเรื่องการหวังผลสำเร็จด้วยการฝึกอย่างผิด ๆ  

       ก็คือว่า เวลาที่สามารถเจียดมาฝึกภาษาอังกฤษในแต่ละวันก็มีน้อยอยู่แล้ว  แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังใช้เวลาที่มีเพียงน้อยนิดนั้น ไปกับการฝึกที่ให้ผลน้อย  แล้วก็บ่นว่าฝึกเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ดีขึ้น  นี่แหละครับที่ผมอยากบอกว่า เมื่อมีเวลาน้อยก็ควรใช้วิธีฝึกที่ให้ผลมาก ไม่ใช่ทำตรงกันข้าม

       วิธีฝึกภาษาอังกฤษอย่างผิดๆที่คนไทยชอบฝึกนั้นมีเยอะอยู่ ในที่นี้ผมขอพูดถึงวิธีที่ popular ที่สุดสัก 1 วิธีก็แล้วกันครับ คือ ทุกครั้งที่จะฝึกภาษาอังกฤษ คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องจ้องหาคำแปลที่มีผู้รู้ปรุงมาให้ ไม่ว่าจะเป็นคำแปลศัพท์, คำแปลประโยค, หรือคำแปลข้อความทั้งท่อน  หรือเรื่องทั้งเรื่อง ถ้าไม่มีคำแปลก็ไปไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงไม่ยอมเข้าไปเรียนกับเว็บฝรั่ง หรือแม้แต่เว็บไทยที่ไม่มีคำแปลไว้ให้ก็ไม่ค่อยมีคนนิยม

       เมื่อเสพติดคำแปลที่ต้องรอให้คนป้อน วิธีฟิตอังกฤษที่นิยมทำก็คือ ท่องศัพท์อังกฤษ-ไทย หรืออ่านบทความที่อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ อาจจะเป็นคำอธิบายการใช้คำศัพท์  สำนวน วลี แกรมมาร์ ฯลฯ ผมขอบอกว่า การฝึกอย่างนี้ไม่ผิดและมีประโยชน์ แต่ถ้าศึกษาเน้นหนักแต่อย่างนี้ไปทั้งปีทั้งชาติ ต่อให้ท่องศัพท์ได้มากมายเยอะแยะ และมีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับแง่นั้นมุมนี้เพราะอ่านทุกวัน แต่มันก็เป็นเพียงความรู้ที่ฟังเขาพูด ถ้าเปรียบก็เหมือนคนดูมวยเอาแต่ฟังคนอื่นพากย์ ไม่เคยขึ้นไปชกบนเวทีด้วยตัวเอง

       ท่านอาจจะถามว่า จะให้ชกยังไงล่ะ? ชกไม่เป็น  หรือเหมือนกับถามว่า เมื่อไม่มีคำแปลไว้ให้ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเมื่ออ่านแล้วแปลถูก 

       ผมได้ยินคำถามนี้แล้วก็รู้สึกเหนื่อย และอยากจะถามว่า ท่านแปลไม่เป็น แปลไม่ถูก หรือท่านขี้เกียจใช้สมองกันแน่   ท่านไม่กล้าขึ้นเวทีเพื่อชก  เพราะว่าท่านชกไม่เป็น  หรือเพราะท่านกลัวเจ็บตัวเมื่อถูกชกกันแน่

       ขอให้ผมพูดตรง ๆ สักหน่อยเถอะครับ ผมรู้สึกว่า คนไทยเราจำนวนไม่น้อยเลย  ที่เรียนภาษาอังกฤษอย่างคนขี้แยและใจเสาะ เหมือนนักมวย พอถูกชกด้วยความงงเมื่ออ่านไม่รู้เรื่องเพราะไม่มีคำแปลเป็นพี่เลี้ยง, ถูกน็อกด้วยความอายเพราะพูดหรือเขียนไม่ออก, ถูกเตะจนเซเพราะฟังไม่รู้เรื่อง ก็บอกลาเวทีไม่ยอมชก ถอนตัวออกไปเป็นคนดูอยู่ข้างเวทีดีกว่า นี่แหละครับ คือการเรียนภาษาอังกฤษอย่างไทย ๆ ที่ไปไม่ถึงไหนสักที

       ขออนุญาตให้ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างนี้แล้วกันครับ สมมุติว่าตอนนี้ท่านเรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือ ท่านเรียนภาษาอังกฤษมาแล้วอย่างน้อย 16 ปี คือ ประถม 6 ปี, มัธยม 6 ปี และมหาวิทยาลัย 4 ปี แต่เมื่อหยิบหนังสือภาษาอังกฤษขึ้นมาอ่าน เช่น หนังสือที่เทียบความยากระดับ ม.3 ท่านก็ยังอ่านไม่ค่อยออก ท่านก็ต้องยอมรับความจริง และไม่ต้องอายตัวเอง ไม่ต้องอายใคร

       วิธีเริ่มฟิตอีกครั้งที่เหมาะที่สุด ก็คือ กลับไปหยิบหนังสือที่มันเหมาะสมกับระดับทักษะจริง ๆ ของท่าน ไม่ใช่ตามประกาศฯ ที่โรงเรียนให้มา เช่น ท่านเรียนจบ ปี 4 แต่อ่านภาษาอังกฤษได้ระดับ ป.4 ก็ไปเริ่มหยิบหนังสือภาษาอังกฤษที่ยากราว ๆ ป.4 มาอ่านอีกครั้ง

       นี่คือการฝึกอ่านที่ช่วยตัวเอง และทักษะการอ่านของท่านก็จะค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ทีละหน่อย ๆ ถ้าท่านฝึกอ่านทุกวันไม่หยุด และทักษะที่ได้รับนี่แหละครับคือทักษะจริง เป็นทักษะที่ท่านสามารถฝึกให้ตัวเองไม่ต้องพึ่งการแปลของคนอื่น และไม่ใช่ทักษะตามเกรด A,B, C, D ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยให้ ซึ่งอาจจะเป็นทักษะปลอม ๆ ก็ได้

       และเรื่องของเรื่องก็คือว่า สิ่งที่ท่านได้รับจากการฝึกเช่นนี้ ไม่ใช่แค่อ่านรู้เรื่องเท่านั้น แต่ท่านจะได้ซึมซับลีลาของภาษา  ซึ่งท่านสามารถหยิบขึ้นมาใช้ในการพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษได้โดยไม่รู้ตัว

       แต่ถ้าท่านเอาแต่อ่านคำอธิบายมากมายเป็นภาษาไทย หรืออ่านภาษาอังกฤษที่มีคำแปลเทียบป้อนมาให้เสร็จสรรพ ท่านอาจจะรู้เรื่อง แต่มันก็เป็นการรู้เรื่องตามประสาคนดูมวย ถึงรู้ก็ไม่ซึมลึก  เพราะท่านไม่ได้ชกด้วยตัวเอง

       ผมได้รวบรวม เว็บฝึกอ่าน – ฝึกฟัง ภาษาอังกฤษ มีทุกระดับ ยาก – ง่าย ให้เลือกฝึก ท่านลองเข้าไปดูแล้วกันครับ  และเลือกระดับความยากที่เหมาะกับท่าน

       อ่านมาตั้งแต่ต้นท่านอาจจะเกิดความรู้สึกว่า ผมไม่ได้ตำหนิผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษา  สถาบันการศึกษา หรือครูแม้แต่น้อย ท่านเหล่านี้ไม่ผิดเลยหรือ  และไม่ได้มีส่วนส่งเสริมให้คนไทยติดแชมป์ทักษะอังกฤษบ๊วยระดับนานาชาติบ้างเลยหรือ? ใช่ครับ ผมไม่ได้พูดถึงท่านเหล่านี้ เพราะผมเห็นว่า อันดับแรกที่สำคัญที่สุด เรามามองที่ตัวเองก่อนดีกว่า มีประโยชน์กว่า

      ในภาษาอังกฤษ ตัว s(tudy) มาก่อน ตัว t(each), ในภาษาไทย ตัว ร.(เรียน) มาก่อน ส.(สอน) และในชีวิตจริงก็ไม่ต่างจากนี้

      บทความวันนี้ ถ้ามีบางถ้อยคำที่กระด้างหยาบคาย ต้องขออภัยด้วยนะครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com