Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

การเปรียบเทียบโดยใช้ adjective และ adverb & ตัวอย่างการเรียนรู้แกรมมาร์โดยการสังเกต

สวัสดีครับ

          วันนี้ผมตัดบทหนึ่งในหนังสือ Oxford Grammar เล่มใหญ่ เฉพาะบทที่ 26 ซึ่งอธิบายการเปรียบเทียบโดยใช้ adjective และ adverb เนื้อหามีแค่ 8 หน้าเท่านั้นเอง  โดยแบ่งเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่

  • 217 Summary
  • 218 The comparative and superlative of adjectives
  • 219 The comparative and superlative of adverbs
  • 220 More, most, less, least, fewer and fewest
  • 221 Patterns expressing a comparison
  • 222 Special patterns with the comparative

คลิกดู บทที่ 26 Comparison

          พออ่านจบทั้ง 8 หน้าก็ได้เห็นว่า เป็นคำอธิบายที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา แถมอ่านง่ายอีกด้วย ผมขอชวนให้ท่านที่สนใจเรื่องนี้ได้เข้าไปอ่าน  เพราะมันน่าสนใจมาก เนื่องจากในการพูดคุยสนทนาเล่าเรื่องในชีวิตประจำวันนั้น  เราใช้การเปรียบเทียบเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้  ก็จะช่วยให้เราพูดเปรียบเทียบโดยใช้ภาษาอังกฤษได้ชัดและกระชับ ผมเคยอ่านจากที่อื่นมาแล้ว ไม่สมบูรณ์เท่า 8 หน้านี้

           แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผุดขึ้นมาขณะที่อ่านเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเคยพูดบ่อยมากเมื่อเขียนบทความลงเว็บ คือ การเรียนรู้แกรมมาร์นั้น  เราอย่าเอาแต่อ่านตำราแกรมมาร์  แต่ให้สังเกตจากของจริงเมื่อเราอ่านและฟังภาษาอังกฤษ  โดยอาจจะบอกตัวเองว่า อ้อ!  เขาแต่งประโยคอย่างนี้  วางคำอย่างนี้  มีข้อยกเว้นอย่างนี้  อันนี้น่าจำ  อันนี้ใช้บ่อย ฯลฯ

          สิ่งที่สังเกตนี้เรายังไม่ต้องไปรีบหากฎเกณฑ์ก็ได้  เอาเป็นว่าสังเกตไว้ก่อน และถ้าเราเห็นลักษณะเดียวกันนี้บ่อย ๆ จนจับได้ว่ามันเป็น pattern หรือลีลาของภาษาที่เขาใช้   พอถึงเวลาที่เราจะพูดเราก็พูดด้วย pattern นี้ หรือพอเวลาที่ทำข้อสอบเราก็เลือก choice นี้ไปโดยไม่ต้องคิดมาก ซึ่งก็มักจะถูกต้อง เพราะถ้าว่ากันจริง ๆ แล้ว กฎเกณฑ์แกรมมาร์มันเยอะ แถมบางเรื่องข้อยกเว้นเยอะกว่ากฎซะอีก  การเรียนรู้แบบธรรมชาติ คือเจอบ่อย ๆ ให้มันซึมเข้าไปเองจึงเป็นเรื่องที่ 1. ที่ต้องทำ ส่วนการอ่านกฎแกรมมาร์น่าจะเป็นเรื่องที่ 2.  แต่น่าแปลกที่คนไทยชอบทำเรื่องที่ 2. มากมาย แต่ทำเรื่องที่ 1. นิดเดียว  จึงเป็นการเรียนแกรมมาร์อย่างผิดธรรมชาติ  คืออาจจะจำได้แต่ใช้ไม่เป็น

          วันนี้ผมขอยกคำอธิบายบางจุดใน 8 หน้าของแกรมมาร์บทนี้มาคุยกับท่านผู้อ่าน โดยขอถามท่านว่า เมื่อท่านอ่านภาษาอังกฤษท่านเคยสังเกตจุดพวกนี้หรือไม่ และนี่เป็นตัวอย่างของการเรียนแกรมมาร์โดยสังเกตอย่างที่ผมจั่วชื่อบทความไว้


 1 most

           ตามกรอบสี่เหลี่ยมข้างบนนี้  เขาบอกว่า ใน formal English คำว่า most หมายถึง very (มาก) และเขามีตัวอย่างให้เปรียบเทียบ the most กับ a most ดังนี้

ประโยคนี้ It’s the most exclusive store in New York.

the most exclusive store หมายถึงห้างที่เปิดขายสินค้าให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากที่สุดใน New York

แต่ประโยคนี้  It’s a most exclusive store.

 a most exclusive store เป็นห้าง ๆ หนึ่งที่เปิดขายสินค้าให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม  คือเฉพาะอย่างมาก   แต่ไม่ได้มากสุดอย่างข้อแรกที่เป็น the most exclusive store

          และข้อนี้แหละครับที่อาจจะชวนงง เพราะที่เราเคยเห็น มักจะเป็น the most + adjective + noun แต่ข้อนี้  a  most + adjective + noun ก็ใช้ได้  เพียงแต่มันแปลว่า very หรือ มาก ไม่ได้แปลว่า สุด หรือ สูงสุด

          ในกรณีอย่างนี้ ที่เราเจอ a most exclusive store  เราก็น่าจะตั้งข้อสังเกตว่า เอ๊ะ! ใช้ a นำหน้า most ได้ด้วยหรือ?  เราอาจจะยังไม่รู้คำอธิบาย แต่ก็น่าจะตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน


 2 real

           ตามกรอบสี่เหลี่ยมข้างบนนี้  เราเคยเรียนกันมาว่า adjective พยางค์เดียว ตอนทำเป็นขั้นกว่า และขั้นสุด ให้เติม –er และ –est เช่น short – shorter – shortest, longer-longer-longest แต่มันก็มีข้อยกเว้น ซึ่งบางทีคุณครูก็อาจจะไม่ได้บอก และเมื่อเราไปเจอ  เราก็ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ อย่างเช่นข้อนี้  เขาบอกว่า

          ถ้าเป็น adjective พยางค์เดียวที่ลงท้ายด้วย –ed เช่น pleased(ยินดี), bored(เบื่อ)  ก็ไม่ต้องใช้กฎเติม er, est คือไม่เติมเป็น pleaseder, pleasedest เป็นต้น

         หรือ adjective 3 ตัวนี้ คือ real, right, wrong  ก็จะไม่ใช้ real-realer-realest อย่างในตัวอย่าง The film made the story seem more real. (หนังทำให้เรื่องนี้ดูเป็นจริงยิ่งขึ้น)  เขาก็ใช้ more real, ไม่ใช้ realer.

          หรือ adjective บางตัวที่มีความหมายเป็นนามธรรม (abstract)  ก็อาจจะใช้ทั้งแบบเติม –er, -est หรือนำหน้าด้วย more หรือ most อย่างเช่นในตัวอย่าง ... I felt surer / more sure….

           ขอให้สังเกตว่า เขาใช้คำว่า some one-syllable adjectives (adjective พยางค์เดียวบางตัว)  คือเขาเองก็ไม่กล้าฟันธงลงไปอย่างเด็ดขาด 100% ว่ามีตัวไหนบ้าง  นี่เป็นตัวอย่างที่บอกว่า  แกรมมาร์นั้นหลายอย่างก็ไม่ใช่เรื่องตายตัวเหมือน 1 + 1 = 2  เพราะมันอาจจะมีข้อยกเว้น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตามกาลเวลาหรือตามความนิยม เพราะฉะนั้น คนที่จะเรียนภาษาอังกฤษได้ดีจะต้องช่างสังเกต คือหูไว(เมื่อฟัง) และตาไว(เมื่ออ่าน)   ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะจำอย่างเดียว


 3 elder

           ตามกรอบสี่เหลี่ยมข้างบนนี้  เมื่อพูดถึงพี่น้องสองคนในครอบครัว คนอายุมากกว่าใช้ elder  นำหน้า เช่น elder brother แต่จะใช้ older brother ก็ได้


 4 less fewer

           ตามกรอบสี่เหลี่ยมข้างบนนี้ การใช้ few และ less ก็น่าสังเกต เราถูกสอนว่า few ใช้นำหน้าคำนามพหูพจน์นับได้ ถ้านามนับไม่ได้ต้องใช้ less แต่ในปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่ามีการใช้ less นำหน้านามนับได้อยู่บ้างเหมือนกัน (เป็นลักษณะ informal speech)  ซึ่งในตัวอย่างนี้ เขาให้ตัวอย่าง There are less cars on the road in winter. ซึ่งเขาเตือนว่า เราในฐานะผู้เรียนภาษาอังกฤษไม่น่าใช้อย่างนี้ (และตอนทำข้อสอบ ก็อย่าติ๊กเลือกข้อนี้)


 5 as than

           ตามกรอบสี่เหลี่ยมข้างบนนี้  ในการพูดลักษณะเปรียบเทียบ ซึ่งใช้ได้ทั้ง 2 แบบ ดังตัวอย่าง 

I’m not as tall as him.

หรือ  I’m not as tall as he is.


 6 special pattern

          ตามกรอบสี่เหลี่ยมข้างบนนี้  เป็นอีก 2 ตัวอย่าง ในการใช้ adjective ขั้นกว่า

1. ใช้ and เชื่อม โดยมีความหมายว่า .... ขึ้นทุกที

... taller and taller สูงขึ้นทุกที

... more and more   มากขึ้นทุกที

...worse and worse  เลวขึ้นทุกที

2. The + ขั้นกว่า......., the + ขั้นกว่า.....

The longer the journey (is), the more expensive the ticket (is).

The further you travel, the more you pay.

The older you get, the more difficult it becomes to find a job.


         ท่านผู้อ่านครับ นี่เป็นตัวอย่างนิด ๆ หน่อย ๆ ที่ผมดึงมาจากบทที่ 26 ในหนังสือ Oxford Grammar ซึ่งอธิบายการเปรียบเทียบโดยใช้ adjective และ adverb    ซึ่งเนื้อหาใน 8 หน้านั้น มีอะไรให้น่าอ่านอีกเยอะ เพราะเขาอธิบายไว้ดีมาก  คลิกดู บทที่ 26 Comparison

          แต่สิ่งที่ผมขอเน้นเป็นพิเศษอีกครั้งในที่นี้ก็คือ ในการเรียนภาษาอังกฤษ  เราควรจะเปิดหูเปิดตา ให้เป็นคนหูไว(เมื่อฟัง)ตาไว(เมื่ออ่าน)โดยเป็นคนช่างสังเกต (แต่ไม่ถึงกับจ้องสังเกตจนเครียด) และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การเรียนภาษา  ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยของเราเองหรือภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุก  

         มันเป็นการออกกำลังสมองให้แข็งแรง และลับสมองให้ทั้งคมและแหลม ซึ่งนอกจากช่วยในเรื่องของการพัฒนาภาษาแล้ว ยังช่วยให้สมองไม่แก่อีกด้วย

 พิพัฒน์ 

 https://www.facebook.com/En4Th

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com