การเทียบพยัญชนะ, สระ ไทย → อังกฤษ ตามราชบัณฑิตย์ และตามที่ชาวบ้านใช้
สวัสดีครับ
เมื่อพูดถึงการเขียนชื่อไทยออกเป็นภาษาอังกฤษ ราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ออกมานานแล้ว โดยใช้คำว่า “การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน“ ที่ลิงก์ทางการลิงก์นี้
ผมสังเกตว่า ถ้าเป็นชื่อสถานที่ ซึ่งมักจะต้องมีความเป็นทางการ คนไทยก็ยอมเชื่อราชบัณฑิตย์อยู่หรอกครับ แต่ถ้าเป็นชื่อคน ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมเชื่อราชบัณฑิตย์ เช่นการเขียน พยัญชนะ พ, ป, จ หรือสระ อี, อู, เออ, เอือ, อำ, ไอ มีความหลากหลายมาก ท่านเพียงพิมพ์ค้นใน Google ว่า เทียบ พยัญชนะ สระ ไทย อังกฤษ ก็จะเห็นจริงอย่างที่ผมพูด หรือจะดูภาพข้างบนและข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างก็ได้ ภาพซ้ายเทียบตามราชบัณฑิตย์ ภาพขวาเทียบตามที่ชาวบ้านใช้โดยทั่วไป
แล้วถ้าท่านถามผมว่า ต้องเขียนยังไงถึงจะถูก ตามความเห็นของผม ถ้าเป็นการเขียนชื่อลูกหลานของท่าน ท่านก็เลือกเขียนตามที่ท่านชอบนั่นแหละ ไม่ต้องไปซีเรียสอะไรมากหรอกครับ แต่ก็เป็นเรื่องดีถ้าเราจะศึกษาให้รู้ไว้ว่า ราชบัณฑิตย์ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์กฎเขากำหนดไว้ว่ายังไง ถ้าไม่รู้คงไม่ค่อยดี
อย่างชื่อของผม พิพัฒน์ ถ้าเขียนตามที่ท่านราชบัณฑิตย์กำหนด ก็ต้องเขียน Phiphat แทนที่จะเป็น Pipat อย่างที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้