ประโยชน์ของการฝึก grammar และวิธีฝึกให้ได้ประโยชน์
สวัสดีครับ
ถ้าเราอ่านตำราแกรมมาร์หรือไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่อธิบายเป็นภาษาไทย เราเข้าใจดีและทำข้อสอบได้ ซึ่งโดยมากก็เป็นข้อสอบแบบ multiple choice A) B) C) D) ถามว่าเรียนภาษาอังกฤษแบบนี้ผิดไหม ขอตอบว่า ไม่ผิดแต่ไม่พอ
สิ่งที่ยังขาดก็คือ เราต้องฝึกเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษได้โดยไม่ผิดแกรมมาร์(มากเกินไป) จะฝึกยังไง? ก็ฝึกได้หลายวิธี ในที่นี้ผมขอแนะนำวิธีที่ตรงที่สุด คือวิธีที่นอกจากช่วยให้รู้แกรมมาร์แล้ว ยังได้ reading skill และ listening skill ไปพร้อม ๆ กัน ฝึกอย่างนี้ครับ
[1] อ่านตำราหรือเว็บแกรมมาร์ที่เป็นภาษาอังกฤษ อันนี้จะช่วยให้ท่านได้ reading skill เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งในเว็บ e4thai.com นี้ได้จัดไว้ให้เยอะพอสมควร เช่นที่นี่
- ภาษาอังกฤษที่คนไทยมักใช้ผิดกันจนชิน โดย อาจารย์ Terry Fredrickson แห่ง นสพ. Bangkok Post
- Road to Grammar - เว็บแกรมมาร์ที่น่าทึ่งมาก ๆ ดีมาก ๆ น่าใช้มาก ๆ
- แนะนำหนังสือแกรมมาร์เล่มบาง ๆ อ่านง่าย 6 เล่ม, และเล่มหนา เนื้อหาสมบูรณ์ อ่านยากหน่อย 2 เล่ม
- ดาวน์โหลด หนังสือ Grammar Exercise 18 เล่ม – พร้อมเฉลยทุกข้อ
[2] ดูคลิปภาษาอังกฤษที่อธิบาย English grammar อันนี้จะช่วยให้ท่านได้ listening skill เพิ่มเติมขึ้นมา
การศึกษาแกรมมาร์โดยการอ่านและการฟังเป็นภาษาอังกฤษเช่นนี้ อานิสงส์จะช่วยให้เราพูดและเขียนได้คล่องแบบไม่ค่อยผิดแกรมมาร์ จริงอยู่ เมื่อเราฝึกพูดภาษาอังกฤษเราไม่ต้องไปพะวงว่าจะพูดผิดแกรมมาร์ เพราะถ้ามัวแต่พะวงก็จะไม่กล้าพูด แต่เราก็ไม่ควรปฏิเสธการฝึกที่ช่วยให้เราพูดได้ถูกต้อง ก็คือฝึกแกรมมาร์ไปพร้อมกับการอ่านและฟังภาษาอังกฤษนี่แหละครับ เพราะประโยคภาษาอังกฤษในตำรา และภาษาอังกฤษที่อาจารย์ฝรั่งอธิบายในคลิป มันเป็นสำนวนภาษาที่ถูกต้องทั้งเรื่องแกรมมาร์และศัพท์ เมื่อเราคุ้นเคยกับสิ่งที่ถูกต้องมาก ๆ เราก็จะจดจำไปใช้พูดและเขียนได้อย่างถูกต้องตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ แต่การเรียนกับตำราหรือคลิปโดยอาจารย์ไทย เราได้แค่เพียงความเข้าใจแต่ไม่ได้ความคุ้นเคย แต่การจะพูดหรือเขียนออกไปได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมชาตินั้น มันต้องออกไปจากความคุ้นเคย ไม่ใช่ออกไปจากความเข้าใจที่ไม่ได้คุ้นเคย
มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมขอให้ความเห็น คือข้อสอบแกรมมาร์แบบ A) B) C) D) ที่นักเรียนไทยคุ้นเคยนั้น มันกระตุ้นสมองน้อยเกินไป เพราะเราเพียงเลือกคำตอบหนึ่งในสี่ที่เขาโชว์ให้เราดู เราไม่ต้องคิดเองทั้งหมด แต่ถ้าเป็นข้อสอบแบบ cloze test หรือเติมคำในช่องว่าง เราจะมีโอกาสใช้สมองมากขึ้น และมีความชำนาญมากขึ้นเมื่อต้องพูดหรือเขียน ในที่นี้ผมขอเสนอข้อสอบเรื่อง tense ที่เป็นแบบ cloze test ให้ท่านลองทำดูครับ
ก่อนจบผมขอแถมอีก 1 เรื่องเกี่ยวกับแกรมมาร์ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นความจริง คือแกรมมาร์ในภาษาอังกฤษนั้น มีหลักการที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นตรรกะหรือ logic อยู่มากทีเดียว เมื่อเราทำ grammar exercise เราก็นำหลักแกรมมาร์ที่เราเข้าใจนั่นแหละมาตีความในการทำโจทย์ คนที่คล่องจัด ๆ อาจจะตีโจทย์แตกได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดถึงกฎเกณฑ์อะไรเลย แต่สำหรับพวกเราที่เป็นนักศึกษาชาวไทย ก็คงต้องอิงกฎในการทำโจทย์ และการตีโจทย์โดยใช้ตรรกะของแกรมมาร์นี่แหละครับที่ผมเชื่อว่าเป็นยาขนานวิเศษในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือโรคขี้หลงขี้ลืม ผมเชื่ออย่างนี้จริง ๆ ครับ
3 ลิงก์ข้างล่างนี้พูดถึงประโยชน์ของแกรมมาร์ ถ้ามีเวลาก็ลองอ่านดูนะครับ
พิพัฒน์