Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ฝากดิก Longman อังกฤษ – ไทย เอาไปใช้พัฒนาภาษาอังกฤษ

longmandictET

สวัสดีครับ

          อาจารย์หลายท่านสอนตรงกันว่า ตอนอ่านภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องรู้ศัพท์ทุกคำ แต่ให้พยายามจับ key word หรือคำหลักให้ได้ และให้อ่านเป็นกลุ่มคำ เช่น กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นประธาน มันอาจจะมีตั้งเกือบ 10 คำก็ให้มองมันทั้งกลุ่มและจับความหมายโดยรวมของกลุ่มให้ได้โดยดูที่ key word เป็นหลัก ถ้าคำใดไม่รู้ก็ให้พยายามเดาโดยอาศัยคำใกล้เคียง ถ้าเดาไม่ออกแต่มันไม่ใช่สาระสำคัญก็ผ่านไปก่อน แต่ถ้าเป็นคำสำคัญจริง ๆ จึงค่อยเปิดดิก ด้วยการฝึกเช่นนี้จะช่วยให้เราพัฒนาทักษะการอ่านให้เป็น speed reader ซึ่งได้ผลดีกว่า การเปิดดิกทุกคำที่ไม่รู้จนทำให้เรากลายเป็น slow reader ซึ่งทำให้ทักษะการอ่านเติบโตได้ช้า

          ผมเห็นด้วยกับคำสอนข้างต้นทุกประการ  แต่สิ่งที่พบเห็นและได้ยินอยู่ทุกวันก็คือ เด็กไทยและคนไทยจำนวนไม่น้อย(ที่เรียนภาษาอังกฤษมาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย)อ่านภาษาอังกฤษได้แย่ นี่เป็นเพราะอะไร?

          ตามความเห็นของผม สาเหตุก็เพราะว่า การอ่านแบบ speed reader ตามวิธีการข้างบน จะได้ผลต้องฝึกอ่านเยอะ ๆ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พูดง่าย ๆ ก็คือต้องอ่านทุกวัน แต่ข่าวเศร้าที่เราได้ยินก็คือ คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ ขนาดภาษาไทยยังอ่านปีละไม่กี่บรรทัด ภาษาอังกฤษคงไม่ต้องพูดถึง เพราะฉะนั้นหลักการฝึกอ่านภาษาอังกฤษแบบ speed reader จึงเป็นหลักการที่คนยอมรับว่าดีแต่ไม่ค่อยยอมปฏิบัติ ทักษะการอ่านจึงแย่เป็นธรรมดา

          คนไทยที่จบปริญญาตรีในเมืองไทย เห็นจะมีเพียงแพทย์เท่านั้นที่ส่วนใหญ่มีทักษะดีในการอ่านภาษาอังกฤษ เพราะต้องอ่านตำราที่เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนคณะอื่นไม่ต้อง จึงโชคดีที่ไม่ต้องพยายามมาก แต่โชคร้ายที่ไม่ได้พยายาม

           อย่างที่บอกแล้วว่า อย่าเปิดดิกบ่อยจนทำให้การอ่านสะดุด  แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ดิกมีไว้สำหรับเปิดอย่างเสียไม่ได้เมื่อเวลาจำเป็น จนคิดไปว่าถ้านอกเวลาอ่านหนังสือ การเปิดดิกคือการทำบาปหรือพฤติกรรมวิตถาร แม้หลายคนจะไม่ได้คิดรุนแรงปานนี้ แต่ก็คงออกไปในแนวนี้

         วันนี้ผมอยากจะเสนอว่า แม้ตอนอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเราไม่ได้เปิดดิกบ่อย แต่นอกเวลาอ่านหนังสือ เราสามารถใช้ดิกเป็นเครื่องมืออันวิเศษในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเรา

          ดิกที่จะเป็นเครื่องมืออันวิเศษนี้ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?

1.ต้องมีศัพท์เฉพาะคำพื้นฐานเท่านั้น คือคำที่เจอบ่อยในการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือคำที่ต้องใช้ในการพูดจาเล่าเรื่องโดยทั่วไป อย่ามีศัพท์มากเกินไป คือมีประมาณสัก 10,000 คำก็พอ และดิกที่มีศัพท์พื้นฐานพวกนี้ไม่จำเป็นต้อง update บ่อย ๆ เพราะคำพื้นฐานความหมายมักไม่ค่อยเปลี่ยน เช่น คำว่า eat แปลว่า กิน, คำว่า walk แปลว่า เดิน, คำว่า love แปลว่า รัก กี่ปี ๆ มันก็มีความหมายอย่างนี้แหละ

2.ต้องมีประโยคตัวอย่างให้เราศึกษาการใช้คำศัพท์ นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยฉพาะอย่างยิ่งคำกริยา (verb) และคำคุณศัพท์ (adjective) ส่วนคำนาม ประโยคตัวอย่างอาจจะไม่จำเป็นมากนัก เช่น คำว่า dog แปลว่า หมา, คำว่า cat แปลว่า แมว เราย่อมอ่านและฟังเข้าใจและเอาไปใช้ถูกเมื่อพูดและเขียน โดยไม่ต้องอาศัยประโยคตัวอย่างในดิก

3.ถ้าหากว่าประโยคตัวอย่างภาษาอังกฤษที่ให้มา มีคำแปลเป็นภาษาไทยเทียบไว้ด้วย นี่จะวิเศษมาก  เพราะจะช่วยให้เราฝึกอ่าน,  ฝึกตีความ แต่อันดับแรกเราควรบังคับลูกตาให้อ่านเฉพาะประโยคภาษาอังกฤษ  และแปลด้วยตัวเองเสียก่อน แล้วจึงค่อยเหลือบไปดูคำแปลภาษาไทยที่ให้ไว้ ถ้าดูเลยโดยไม่ได้แปลเองเสียก่อน สมองจะออกแรงน้อยเกินไปและไม่แข็งแรง

4.ดิกที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเช่นนี้ จะต้องมีคำอ่านคำศัพท์ และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องฝึกใช้ปากอ่านออกเสียงคำศัพท์จนหูของตัวเองได้ยิน ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่มั่นใจการออกเสียงคำศัพท์ตัวใด ย่อมเป็นการยากอย่างยิ่งที่เราจะจำศัพท์ตัวนั้นได้ และถ้าคำอ่านที่ดิกให้ไว้เป็นสัญลักษณ์โฟเนติกส์สากล ก็เป็นการคุ้มค่าอย่างยิ่งที่เราจะพยายามจดจำการออกเสียงให้ได้ ศึกษาคลิปนี้เป็นตัวอย่างครับ - คลิก

คำตั้งในดิก จะมีจุดแบ่งจำนวนพยางค์ที่ออกเสียง และโฟเนติกส์แสดงการออกเสียงแต่ละพยางค์

5.ควรฝึกอ่านออกเสียงประโยคตัวอย่างด้วย ประโยคตัวอย่างที่ดิกให้มาเป็นประโยคพื้นฐานง่าย ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการสนทนาและเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี ถ้าเราฝึกอ่านประโยคโดยไม่ยอมอ่านออกเสียงประโยคนั้นออกมาทางปาก เราก็จะเพียงเข้าใจเมื่อฟังคนอื่นพูด  แต่ไม่สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจเพราะไม่ได้ฝึกไว้ก่อน ก้อนเนื้อในสมองที่ควบคุม “ความเข้าใจ(เมื่อฟัง)” กับ “การใช้เป็น(เมื่อพูด)” เป็นคนละก้อน เราต้องฝึกให้ทั้งสองก้อนโตเหมือน ๆ กัน

แถม:

การออกเสียงคำที่ลงท้ายด้วย -ed ในภาษาอังกฤษ -คลิก

การอ่านคำนามและกริยาที่ เติม s และ es - คลิก

          ดิกที่สามารถช่วยเราได้ทั้งหมดดังกล่าวนี้ คือดิกเล่มข้างล่างนี้  

Longman Basic English – Thai Dictionary  

คลิกดาวน์โหลด Part 1Part 2

หรือจะดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่ไฟล์เดียวก็ได้ คลิก

           ในการฝึก ท่านไม่จำเป็นต้องไล่จากคำแรกในหน้าแรก ไปจนถึงคำสุดท้ายในหน้าสุดท้าย ท่านสามารถคลิกพลิกไปพลิกมาได้ตามใจชอบ อาจจะเริ่มจากคำแรกในหน้าใดหน้าหนึ่ง โดยไล่ไปทีละคำจนจบหน้า อาจจะข้ามคำที่ไม่เคยเห็น แต่ใส่ใจคำที่เคยเห็น แต่ไม่แน่ใจความหมาย หรือลืมไปแล้ว หรือเข้าใจความหมายแต่ใช้ผูกประโยคพูดไม่เป็น  ให้ท่านฝึกกับคำศัพท์ที่เคยเห็น-ไม่แน่ใจ-เลือน-ลืม-ใช้ไม่เป็น แล้วค่อยขยับไปสู่คำศัพท์ที่ไม่เคยเห็น แต่จริง ๆ แล้ว ใน 10,000 คำนี้ ทุกคำควรรู้และควรฝึกฝนจนครบ

          ผมเชื่อว่า ดิก Longman Basic English – Thai Dictionary  เล่มนี้จะเป็นเครื่องมือที่เหมาะในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งเรื่องคำศัพท์ การอ่าน และ การพูดครับ

พิพัฒน์

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com