Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ฝึกพูดเรื่องยาก ๆ ด้วยภาษาอังกฤษง่าย ๆ

 the-best-dream-happen-when-you-are-awake

สวัสดีครับ
       ในเว็บไทยสอนภาษาอังกฤษทุกวันนี้ จากคำถามและความเห็นมากมายในนั้น ถ้าให้ผมตีความก็ต้องบอกว่า คนไทยสนใจเรื่องการพูดภาษาอังกฤษมากที่สุด สังเกตได้จากคำถาม 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1: "ช่วยแปลประโยคนี้..... เป็นภาษาอังกฤษให้หน่อย" สังเกตได้ว่า ผู้ถามต้องการนำคำแปลไปใช้ในการพูดหรือเขียน
กลุ่มที่ 2: เป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่ากลุ่มที่ 1  โดยมักจะถามว่า "(ประโยคนี้)..... ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร?" โดยข้อความที่ถาม มีทั้งคำศัพท์เป็นคำ ๆ, วลีสั้น ๆ หรือทั้งประโยคที่ยาวหน่อย แต่เห็นชัดว่าผู้ถามจะนำคำตอบที่เป็นคำศัพท์-วลี-ประโยค ภาษาอังกฤษ ไปใช้ในการพูดสนทนา
       ผมเห็นว่าเว็บไซต์ของ อ.อดัม ให้คำตอบเกี่ยวกับคำถามทำนองนี้มากที่สุด (→คลิก) แต่เว็บอื่น ๆ ก็มีอยู่เหมือนกันครับ (→คลิก)
       ถามว่า ทำไมคำถามพวกนี้ถึงมีเยอะ ? ตอบได้ง่ายนิดเดียว เพราะจะเอาคำตอบไปใช้พูด แต่นึกไม่ออก จึงนำมาถามอาจารย์
       ต้องขอชื่นชมด้วยความจริงใจอาจารย์ทุกท่านที่ให้คำตอบ เพราะช่วยให้คนไทยจำนวนไม่น้อยสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น และพูดภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจมากขึ้นเยอะ
        และที่ผมจะพูดคุยในวันนี้เป็นการเพิ่มเติมอะไรนิดหน่อย ผมเชื่อว่าจะช่วยให้ท่านเห็นภาพอะไรได้กว้างขึ้น และจะช่วยให้ท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น
        คือว่า สมมุติว่า ณ นาทีนี้ ท่านกำลังพูดกับคนต่างชาติ แต่นึกไม่ออกว่า คำนั้น วลีนั้น หรือประโยคนั้น ต้องพูดยังไงเป็นภาษาอังกฤษ ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ข้างล่างนี้ ท่านค่อย ๆ อ่านไปทีละบรรทัดนะครับ และก็คิดไปพลาง ๆ ด้วยว่า ถ้าต้องพูดกับคู่สนทนาเป็นภาษาอังกฤษ จะพูดยังไง? โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่เป็นตัวดำ


 "สมมุติว่าถ้าตอนนั้นคุณเป็นฉัน คุณจะตอบเขาว่ายังไง?"

"ไม่ต้องเกรงใจ เชิญทานได้ตามสบาย"
"ฉันเป็นนักเที่ยว ไปมาแล้วเกือบ 30 ประเทศ"
"อย่าไปกังวลเลย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด"
"น้ำตกนี้คนท้องที่มาเที่ยวเยอะ แต่คนต่างชาติมาเที่ยวน้อย เพราะถนนเข้ายาก"
"อาหารญี่ปุ่นในร้านเมืองไทย มักปรับรสให้เข้ากับลิ้นคนไทย หาร้านที่มีรสดั้งเดิมยาก"
"พยากรณ์อากาศทำง่าย พยากรณ์การเมืองทำยาก"
"หล่อนเป็นลูกคนเล็กในบ้าน ชอบอ้อนพ่อแม่และพี่ ๆ มาตั้งแต่เด็กแล้ว"
"รัฐบาลจะปราบข้าราชการกินบ้านโกงเมืองอย่างจริงจัง ไม่สนใจว่าจะเส้นใหญ่แค่ไหน"
"เขาของขื้นง่าย เวลาถูกคนจี้จุดอ่อน"
"ให้โดยหวังคำชม ก็ยังดีกว่าเอาเปรียบโดยไม่สนใจคำด่า"
"พระพิธีธรรม ไม่ได้แปลว่าพระทำพิธี"
"อย่าเหมารวมว่าคนสุรินทร์ชอบกินสุราทุกคน"  

 "ว่าจะหักใจ ไม่คิดเยื่อใยใฝ่ถึง แล้วไปไม่ขอคนึง เลิกคิดถึง..อีกต่อไป แต่ความหลัง เมื่อครั้ง รักกันใหม่ๆ หวลคิดคราใด หักใจไม่ได้อกเอ๋ย" - เพลงหักใจไม่คิด

"เดี๋ยวนี้คนไทยจำนวนไม่น้อย โสดถาวร แต่งช้า หย่าเร็ว"
"เนื้อคู่ไม่จำเป็นต้องหา ถึงเวลาก็มาเอง"  


        ท่านผู้อ่านครับ ผมเชื่อว่า ภาษาไทยแทบทุกประโยคข้างบนนี้ ถ้าพยายาม Search ในเน็ตก็น่าจะเจอว่า มีผู้ถามว่าพูดเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไง – และส่วนใหญ่ก็คงมีผู้รู้ตอบเรียบร้อยแล้ว และถ้าท่านพยายามจดจำคำตอบของผู้รู้ที่เป็นคำแปลของศัพท์-วลี-ประโยคเหล่านั้น มันก็ช่วยให้ท่านเอาไปใช้พูดได้ ทำให้ท่านพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้น มั่นใจมากขึ้น ถ้าท่านต้องใช้ในการพูด
       คำถามของผม ก็คือ แต่ถ้าท่านจำไม่ได้ล่ะ และก็ไม่แน่ใจนักว่าจะพูดยังไงดีเป็นภาษาอังกฤษ ก็จบเกมใช่มั้ยครับ?
       ไม่ใช่ครับ แม้จำหรือแต่งเองไม่ได้ก็ยังไม่จบเกม และวันนี้ผมจะพูดเรื่องนี้แหละครับ


       ภาษาทุกภาษา มีคำ – วลี – และประโยค และสิ่งพวกนี้มีความหมาย อารมณ์ และรายละเอียด ผมขอยกตัวอย่าง กลุ่มคำข้างล่างนี้ในภาษาไทย ที่เกี่ยวข้องกับการกิน
กิน ก.ทำให้ล่วงลำคอลงไปสู่กระเพาะ
กินข้าวลิง (สำ) ก. กินสิ่งที่พอจะหาได้ เพราะไปตกอยู่ในที่ที่ไม่มีอาหารจะกิน เช่น ไปเที่ยวป่าคราวก่อน หลงทางอยู่นาน เกือบจะต้องกินข้าวลิงเสียแล้ว.
กินล้างกินผลาญ ก. กินครึ่งทิ้งครึ่ง, กินทิ้งกินขว้าง, กินอย่างสุรุ่ยสุร่าย.
จุบจิบ ว. อาการที่กินพร่ำเพรื่อทีละเล็กทีละน้อย, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ กิน เป็น กินจุบกินจิบ
ฉัน ๒ ก. กิน (ใช้แก่ภิกษุสามเณร).
ดื่ม ก. กินของเหลวเช่นนํ้า.
แดก ๑ ก. (ปาก) กิน, กินอย่างเกินขนาด, (ใช้ในลักษณะที่ถือว่าไม่สุภาพ),
ถุน (ปาก) ก. กินหรือเสพพอแก้ขัด เช่น ถุนขี้ยา.
บริโภค [บอริโพก] ก. กิน (ใช้เฉพาะอาการที่ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่น บริโภคอาหาร,
ผิดสําแดง, ผิดสำแลง ก. กินอาหารแสลงไข้ ทําให้โรคกําเริบ.
ฟาด ก. (ปาก) กินอย่างเต็มที่เช่น ฟาดข้าวเสีย ๓ ชาม.
รับประทาน ก. กิน เช่น รับประทานอาหาร
ทาน ก.= กิน, รับประทาน (คำนี้ ในความหมายนี้ ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม)
ยัด ก. (ปาก) ใช้แทนคําว่า กิน (ใช้ในลักษณะกินอย่างตะกรุมตะกราม ถือว่าเป็นคำหยาบ).
รองท้อง ก. กินพอกันหิวไปก่อน.
ล้มโต๊ะ ก. กินแล้วหาเรื่องไม่จ่ายทรัพย์.
ละเลียด ก. กินทีละน้อย ๆ เช่น มัวละเลียดอยู่นั่นแหละ.
เสวย ๑ [สะเหฺวย] (ราชา) ก. กิน, เสพ, เช่น เสวยพระกระยาหาร เสวยพระสุธารส
เสพ ก. กิน, บริโภค, เช่น เสพสุรา
หม่ำ (ปาก) ก. กิน (มักใช้แก่เด็กทารก).
อด ๆ อยาก ๆ ก. กินอยู่อย่างฝืดเคือง, มีกินบ้างไม่มีกินบ้าง.
       ท่านจะเห็นว่า ความหมายพื้นฐานของแต่ละ กิน นั้นเหมือนกัน ซึ่งก็คือ ส่งอาหารเข้าปากล่วงลำคอลงสู่กระเพาะ แต่ว่า อารมณ์และรายละเอียดของแต่ละกินนั้นก็ต่างกันไปบ้าง เช่น เป็นคำราชาศัพท์, เป็นคำสุภาพ, เป็นคำหยาบ, คำโบราณ, คำในวรรณคดี, คำที่ใช้พูดกับเด็ก ๆ หรือคำที่แสดงลักษณะเฉพาะของการกิน เช่น กินจุบจิบ, กินรองท้อง, ละเลียดกิน, กินล้มโต๊ะ เป็นต้น
       แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อเราจะพูดสื่อจากภาษาไทยไปสู่ภาษาอังกฤษ ถ้าไปดูในพจนานุกรม ไทย-อังกฤษ  ในคำหนึ่ง ๆ เขาก็จะพยายามจับคู่คำที่มันมีอยู่แล้วในทั้ง 2 ภาษา ที่ match กันทั้งความหมาย อารมณ์ และรายละเอียด แต่ถ้าไม่มีที่มัน match กันโดยตรง (หรือมีแต่ผู้เรียบเรียงดิก ไทย-อังกฤษ เล่มนั้นไม่ทราบ) เขาก็ต้องพยายามหาคำหรือกลุ่มคำที่ใกล้เคียงที่สุดที่มีใช้กันอยู่มาเทียบให้เราดู แต่ถ้ายังไม่มี ก็อาจจะต้องแต่งกลุ่มคำขึ้นมาให้สอดคล้องมากที่สุด เช่น
กิน – eat
กินทิ้งกินขว้าง – waste (one's) food
จุบจิบ – to be eating snacks all the time
รองท้อง – เช่น eat enough to keep himself going
ลองดูตัวอย่างอื่นเกี่ยวกับ กิน ที่ไม่ใช่การนำอาหารเข้าปากล่วงลำคอลงสู่กระเพาะ เช่น
กินกำไร – to make easy profit
กินตำแหน่ง – to hold the position of
กินไฟน้อย – It doesn't use much power/electricity.
(จาก พจนานุกรม ไทย – อังกฤษ, ดำเนิน – เสฐียรพงษ์)


       จากตัวอย่างที่ยกมานี้ ผมมีข้อสรุป 4 ข้อ เป็นคำแนะนำสำหรับท่านที่จะพูดสนทนาภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติ
[1] ถ้าคำศัพท์หรือสำนวนที่ท่านจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ ท่านจำได้จากที่ผู้รู้สอนไว้ ก็โชคดีครับ นำมาใช้พูดได้เลยครับ
[2] แต่ถ้านึกไม่ออก ก็ให้พยายามนึกและพูดเฉพาะความหมายพื้นฐานก็พอ เช่น กินรองท้อง, กินจุบจิบ, กินละเลียด, กินข้าวลิง , กินล้างกินผลาญ, กินอย่างอด ๆ อยาก ๆ  ถ้าท่านนึกภาษาอังกฤษไม่ออก ก็พูดเฉพาะคำพื้นฐานว่า eat ออกไปก่อนก็ได้ครับ ส่วนในหน้างานจริง ๆ ค่อยไปพูดเติมเอาทีหลังในประโยคถัดไปก็ได้  ให้มันได้อารมณ์หรือรายละเอียดเพิ่มเติม
[3] คำบางคำที่มันเป็นสำนวนมาก ๆ เช่น มีคำว่า กิน ทั้ง ๆ เมื่อพูดคำนี้เราอาจจะไม่ได้นึกถึงโต๊ะอาหารเลย เช่น กินเลือดกินเนื้อ, กินตามน้ำ, กินอยู่อย่างพอเพียง, กินดีอยู่ดี, เป็นต้น
       ถ้าเป็นอย่างนี้ ท่านต้องกระตุกความคิดให้ไวสักนิด และนึกถึงความหมายที่กระชับของคำ ๆ นั้น ในสถานการณ์ที่กำลังพูดกับคนต่างชาติ พูดง่าย ๆ ก็คือ เรื่องราวที่ท่านกำลังจะเล่าเป็นภาษาอังกฤษมันอาจจะซับซ้อน และรายละเอียดเยอะ แต่ท่านขอเล่าอย่างตรงประเด็น และขอใช้คำที่ง่าย ๆ สั้น ๆ ซึ่งท่านไม่ต้องกังวลว่าจะพูดผิด เพราะบริบทของประโยคและการพูดคุย มันจะเป็น hint หรือ clue ให้คู่สนทนารู้ได้เองว่า ท่านต้องการจะสื่ออะไร เช่น
"นักการเมือง 2 คนนี้กินเลือดกินเนื้อกันมาแต่ไหนแน่ไรแล้ว"
"Mr A and Mr B hate each other for long, long time."
"เขาอ้างว่าเขาไม่ได้โกงมาก เขาแค่กินตามน้ำนิด ๆ หน่อย ๆ "
"He said he was not corrupt much. He just took little money that businessmen gave him."
"เขาใช้ชีวิตกินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ซื้อมากเกินจำเป็น"
He doesn't eat much. He doesn't buy what isn't necessary."
"กินดีอยู่ดีเกินไป ทำให้ตายเร็ว"
"Eat a lot, and never exercise, you die fast."
[4] ผมขอสรุปสั้น ๆ อย่างนี้ครับ  ถ้ามันเป็นเรื่องยากที่จะสื่อความให้ครบถ้วนทั้งความหมาย อารมณ์ และรายละเอียด ท่านก็จับประเด็นพูดสื่อความหมายคร่าว ๆ ออกไปก่อน แต่การทำประโยคยากให้เป็นประโยคง่ายเพื่อจะแปลเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ นี้ ต้องมีความกล้า คือเมื่อนึกสื่อความอะไรได้ก็พูดออกไปก่อน และจึงค่อยพูดแต่งแต้มขัดเกลาเพื่อเพิ่มอารมณ์หรือรายละเอียด(ถ้าพอจะทำได้) ท่านอาจจะบอกว่าถ้าคนเก่งก็ทำอย่างนี้ได้ แต่คนไม่เก่งคงทำยาก แต่ผมขอยืนยันว่าแม้ไม่เก่งแต่กล้าก็ทำได้ เก่งแต่ไม่กล้านั่นแย่กว่าเสียอีก เพราะถ้าได้พูดก็จะพูดได้ แต่ถ้าไม่พูดก็จะพูดไม่ได้ ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่ง
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com