Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

วิธีฝึกแบบโหด อ่าน นสพ. Bangkok Post ให้เข้าใจเหมือนอ่านไทยรัฐ

tr bp
       ท่านผู้อ่านครับ ผมลุ้นบ่อย ๆ ให้ท่านฝึกอ่านข่าวภาษาอังกฤษ เพราะว่า ข่าวนั้นมักพยายามเขียนให้ง่าย, ใช้ศัพท์สามัญที่ไม่ยากเกินไป, ถ้าอ่านข่าวเข้าใจจะไปอ่านเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ยาก และที่สำคัญข่าวมีหลากหลายประเภท เราสามารถเลือกอ่านประเภทที่ชอบ สรุปก็คือการฝึกอ่านข่าวได้ทั้งความรู้ ข่าวสาร ข้อมูล และได้ reading skill ที่นำไปใช้อ่านเรื่องอื่น ๆ ได้ไม่รู้จบ
       ถ้าถามว่าต้องอ่านได้ขนาดไหนถึงจะถือว่า " ใช้ได้ " ผมขอตอบง่าย ๆ อย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าสามารถอ่าน นสพ. Bangkok Post ได้รู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่ คือจับประเด็นสำคัญได้ ก็ถือว่าใช้ได้ จะอ่านได้ช้ากว่าอ่าน นสพ. ไทยรัฐบ้าง ก็ยังถือว่าใช้ได้
      ประสบการณ์ – ภูมิหลัง
      ผมเองฝึกอ่าน Bangkok Post ด้วยตัวเองมาตั้งแต่อยู่ ปี. 1 ตั้งแต่สมัยที่โลกนี้ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต มันเป็นการฝึกที่ได้ผล แต่โหดจนผมไม่อยากแนะนำแต่ก็อยากแนะนำ คือทุกวันเมื่อกลับจากมหาวิทยาลัยถึงหอพัก ผมจะนำ Bangkok Post มาอ่านที่โต๊ะ ใช้เชือกฟางผูกเอวตัวเองไว้กับเก้าอี้ให้แน่นหนา และอ่านให้จบแบบรู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่อย่างน้อย 1 หน้า โดยจะใช้วิธีเดา เปิดดิก (ทั้งดิกอังกฤษ-ไทย และดิกอังกฤษ-อังกฤษ) พยายามตีความ หรือวิธีไหนก็แล้วแต่ ตั้งเป้าอ่านให้จบ 1 หน้า  ห้ามลุก ถ้าลุกก็ยกเก้าอี้ติดก้นไปด้วย ทำอย่างนี้ติดต่อกันได้ครึ่งปีหรือหนึ่งปีนี่แหละ ผลก็คือ มันอ่านรู้เรื่องมากกว่าเดิมเยอะ ผมก็ยังฝึกอ่านเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้เชือกฟางผูกเอวแล้ว
       และต่อมาก็มีอีกช่วงหนึ่ง ผมไปที่กองบรรณาธิการ นสพ. รายวันฉบับหนึ่ง บอกเขาว่าอยากจะมาขอฝึกงานแปลข่าวที่หน้าข่าวต่างประเทศ เขาบอกว่าที่นี่ไม่รับเด็กฝึกงาน แต่คนที่รับผิดชอบหน้าข่าวต่างประเทศเพิ่งลาออกไป คุณทำได้มั้ยล่ะ ถ้าทำได้ก็จะรับ ผมเองตอนนั้นไม่ได้มีความมั่นใจอะไรนัก แต่ก็ขอทำเพราะอยากได้ตังค์
      ช่วงเวลาที่ทำอยู่นี้โหดที่สุด งานที่ทำคือแปลข่าวจากเครื่องเทเล็กซ์ ผมมีฝีมือขนาดเด็กฝึกงาน แต่เนื้องานต้องการมืออาชีพ และก็ห้ามแปลผิด ถ้าผิดมันจะฟ้องทันทีเพราะจะต่างจากข่าวต่างประเทศใน นสพ. ฉบับอื่นๆ งานนี้โหดมากครับ เพราะนอนดึก ตื่นเช้า แปลข่าวบางส่วนและรีบไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ ตอนบ่ายนั่งรถเมล์จากธรรมศาสตร์เข้าโรงพิมพ์เพื่อทำงานต่อ งานหินชิ้นนี้ทำอยู่ประมาณ 2 ปี ได้ฝึกปรืออย่างสุด ๆ เพราะไม่มีใครช่วย ตอนสงสัยก็ไม่มีใครให้ถาม แต่ผลงานแปลห้ามผิด.... ห้ามผิดเด็ดขาด
       ดิกเป็นแค่ปากทางการรู้ศัพท์
      ผมเคยถามหลายคนว่า จะอ่าน นสพ. ภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง อะไรยากที่สุด ส่วนใหญ่จะตอบว่า ศัพท์ ถ้ารู้ศัพท์ซะอย่างก็อ่านรู้เรื่อง ผมว่าคำตอบนี้ยังไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะว่าเมื่อเราติดศัพท์และใช้ดิกเป็นตัวช่วย มันจะมีงานถึง 3 งานดังนี้
  (1) เปิดดิกให้เจอคำนั้น แต่บางคนไม่ชำนาญเปิดช้ากว่าจะเจอ
  (2) เมื่อเจอแล้วก็ต้องเลือกคำแปลที่เข้าได้กับเนื้อเรื่อง เพราะศัพท์แต่ละคำมักมีหลายคำแปล
 (3) เมื่อแปลประโยคได้ก็อาจจะยังไม่เข้าใจ อาจจะต้องตีความอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่ต้องอาศัย background จึงจะเข้าใจ เช่น ข่าวเกี่ยวกับการเงิน เศรษฐกิจ งบประมาณ
       ความยากยังไม่หมดแค่นี้ เพราะดิกอังกฤษ-ไทยส่วนใหญ่มีศัพท์หรือความหมายให้ไม่พอใช้ เช่น ศัพท์-สำนวนที่เกิดใหม่, ศัพท์เฉพาะในข่าวประเภทนั้น ๆ, ศัพท์ประเภท idiom – informal – slang – phrasal verb หลายคนไม่เฉลียวด้วยซ้ำว่า ความหมายที่ตัวเองต้องรู้นั้น มันไม่มีอยู่ในดิกอังกฤษ-ไทยเล่มที่ตัวเองกำลังเปิด แต่ก็ดึงมา 1 คำแปลเพื่อเอาไปใช้ ถ้าอย่างนี้มันก็ผิดวันยังค่ำ การจะแก้ปัญหานี้ต้องพึ่งดิกอังกฤษ-อังกฤษ ซึ่งมีคำศัพท์และความหมายพอใช้มากกว่าดิกอังกฤษ-ไทย
      ในยุคเน็ตทุกวันนี้มีดิกอังกฤษ-อังกฤษให้เปิดอ่านผ่านเว็บฟรี ๆ ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต้องฝึกอ่านดิกอังกฤษ-อังกฤษให้คล่องนะ จะได้ไม่จนตรอกหรือจนแต้มง่าย ๆ
       แต่แม้ว่าการเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษ หรือดิกอังกฤษ-ไทยผ่านเว็บจะทำได้ง่าย ๆ และง่ายยิ่งขึ้นเมื่อมี add-on ให้ติดตั้งและคลิกดูได้ทันทีโดยไม่ต้องไปที่เว็บดิก แต่ภาระการเลือกคำแปล/เลือกความหมาย และการตีความ ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม หรือพูดอีกทีก็คือ ถึงรู้ศัพท์ก็ใช่ว่าจะอ่านรู้เรื่อง เพราะดิกให้ความหมายหรือคำแปล แต่ไม่ได้ช่วยเราตีความ
      เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง ?
       เรื่องนี้ ถ้าตอบแบบไม่ให้ผิดเลยก็ต้องตอบว่า ต้องกลับไปอ่านภาษาอังกฤษในระดับที่เราเข้าใจ เช่น ตอนนี้เราเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 แต่ทักษะในการอ่านภาษาอังกฤษอยู่ที่ระดับชั้น ป. 1 ก็ต้องยอมถ่อมใจย้อนกลับไปอ่านที่ระดับนั้น เราไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้เวลามาก  เพราะเราจะอ่านได้เร็วกว่าตอนเป็นเด็ก เนื่องจากเราเป็นผู้ใหญ่แล้วและมีประสบการณ์ ถ้าเราฝึกอ่านต่อเนื่อง ทักษะการอ่านของเราจะพาสชั้นจาก ป.1 ขึ้นเป็น ป.2 , ป.3 , ป. 4, ป.5, ป.6 อย่างรวดเร็ว และถ้าอึดใจฝึกต่อ reading skill ก็จะพัฒนาเป็นระดับ ม.1 – 2 – 3 – 4 – 5 - 6 ในไม่ช้า
       ท่านอาจจะถามว่า เพราะเหตุใด reading skill ที่เรากลับไปฝึกไต่ต้อย ๆ จากระดับ ป.1-2-3-4-5-6 และจากระดับ ม.1-2-3-4-5-6 มันถึงพัฒนาได้รวดเร็วโดยไม่ต้องมีครูสอน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า บันไดการฝึกอ่านที่เราก้าวขึ้นนั้นมันไม่ชันแต่ค่อนข้างลาด เราค่อย ๆ เรียนรู้ศัพท์ใหม่ทีละคำ ๆ และโครงสร้างประโยคก็ยากขึ้นแบบอ่อน ๆ เพราะฉะนั้นเราจะได้ซึมซับทั้งศัพท์และแกรมมาร์จากการอ่านโดยไม่รู้ตัว
 ifel
       เรื่องการค่อย ๆ เดิน, ค่อย ๆ ฝึกนี้ ท่านอย่าไปดูถูกมันนะครับว่าไม่ได้ผล ถ้าเราเดินไม่หยุดมันย่อมถึงที่หมายแน่ ๆ ผมเคยไปเที่ยวหอไอเฟลที่ปารีส ฝรั่งเศส และจินตนาการว่า ถ้าไม่มีลิฟต์เราจะขึ้นถึงชั้นบนสุดได้มั้ย ? คิดอย่างนี้แล้วก็ค่อย ๆ เดินตามบันไดขึ้นไป เดินแบบไม่ต้องรีบร้อน เหนื่อยก็พักนิดหน่อยไม่พักนาน มันก็ถึงข้างบนจนได้ จะถึงช้าไปสักนิดก็ไม่เป็นไร การฝึกอ่านไต่ไปเรื่อย ๆ มันไม่ใช่ทางลัดแต่ก็ห้ามลบหลู่แม้ไม่เชื่อ เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นทางทิพย์ที่หลายคนเผลอดูถูก
      ผมเองทุกวันนี้ตอนอ่าน Bangkok Post ก็เลิกใช้เชือกฟางผูกเอวติดเก้าอี้แล้ว และขอสรุปนิทานที่เล่ามาข้างบนว่า ถ้าไม่มีสถานการณ์บังคับให้เราฟิตหนัก เราก็ต้องบังคับตัวเองให้ฟิตหนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน ถ้าเรายอมถูกบังคับ เราจะโชคดี เจอความสำเร็จ และเก่ง
       ถ้าท่านพร้อมจะฟังคำบอกเล่าภาคปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีฟิตหนักในการอ่าน นสพ. Bangkok Post ก็→ ตามมาเลยครับ
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com