10 นิสัยเจ้าปัญหาของคนไทย ในการเรียนภาษาอังกฤษ
**
เรื่อง “10 นิสัยเจ้าปัญหาของคนไทยในการเรียนภาษาอังกฤษ” ที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ถ้าผิดขอให้ท่านผู้อ่านแผ่เมตตาให้ผมด้วยที่มีมิจฉาทิฐิ แต่ถ้ามันถูกขอให้ช่วยส่งต่อ
10 นิสัยเจ้าปัญหาของคนไทย ที่ผมขอพูดก็คือ
[1] ไม่ยอมชดใช้กรรมเก่า
เมื่อตอนเป็นเด็กขี้เกียจเรียนและเกลียดภาษาอังกฤษ, ลอกการบ้านส่งครูหรือให้เพื่อนทำให้, หรืออาศัยงานกลุ่มที่ให้คนเก่งทำเลยพลอยได้คะแนนไปด้วย, อ่านหนังสือเพียงพอให้สอบผ่าน, หรือเข้าติวเพื่อให้ทำข้อสอบได้โดยไม่ต้องเข้าใจ, เมื่อสงสัยก็ไม่ค้นคว้าหนังสือหรือไต่ถามผู้รู้, แม้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยได้ปริญญาตรี แต่ความรู้ภาษาอังกฤษกลับอยู่แค่ระดับประถม จากวิบากกรรมที่ตนทำเอง
บาปที่ทำกับภาษาอังกฤษเช่นนี้ ถ้าไม่ยอมสำนึกผิด โดยกลับไปเริ่มเรียนบทสุดท้ายที่รู้เรื่อง - ถ้าไม่ยอม “แก้กรรม” บาปที่ทำก็คงไม่สิ้น และต่อยอดความรู้ได้ยาก
[2] อยากเกินพิกัด
พอเรียนปุ๊บก็จะให้รู้เรื่องปั๊บ ไม่ให้เวลาสำหรับการตกตะกอนของความรู้ ความอยากที่เยอะจนทำให้ความรู้ไม่ย่อยนี้ ทำให้ไม่อยากเรียน และเมื่อทนเรียนก็ไม่รู้เรื่อง แท้จริงแล้วควรลดละความอยากซะบ้างเพื่อให้ใจสงบ สมองจะปลอดโปร่งและเรียนได้รู้เรื่องมากขึ้น
[3] ความอดทนมีขีดจำกัด
ถ้าหวังมากแต่พยายามน้อยก็คงสมหวังยาก การให้อภัยตัวเองที่มีความอดทนจำกัดนั้นทำได้ แต่ถ้าอภัยเช่นนี้บ่อย ๆ ก็คงผิดหวังง่าย และทำใจยาก
[4] เบื่อความซ้ำซาก
การฝึกซ้ำ ๆ จะทำให้เกิด 2 อย่าง คือ (1)ความชำนาญและ (2)ความเบื่อ คนที่ทนความเบื่อได้ยาก ก็จะมีความชำนาญได้ยากเช่นกัน
[5] เป็นเด็กไม่รู้จักโต
โตแล้วก็ยังเป็นเด็กที่ขาดครูไม่ได้ ไม่ยอมเรียนด้วยตัวเองทั้ง ๆ ที่สื่อการเรียนแทนครูก็มีเยอะแยะ
[6] เอาแต่รอคนมาให้กำลังใจ
กำลังใจใคร ๆ ก็ต้องการ แต่กำลังใจจากคนอื่นแม้สวยงามปานใดก็เปราะบางปานนั้น ต่างจากกำลังใจที่ให้ตนเองเพราะพยายามเรียนจนรู้เรื่อง แม้ได้ทีละน้อยแต่ก็มั่นคง ทนแดดทนฝน ทนต่อกาลเวลา
[7] ต้องเรียนแบบไม่เครียด
บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำชมว่า อาจารย์คนนั้นคนนี้สอนเก่ง สอนสนุก เรียนแล้วไม่เครียด หัวเราะทั้งชั่วโมง ขอถามว่า นี่เรายังไม่เลิกนิสัยของเด็กอนุบาลอีกหรือที่อะไร ๆ ก็ต้องสนุกไปซะทุกอย่าง ถ้าไม่สนุกฉันไม่เรียน
[8] พวกมากลากไป
ถ้าขาดเพื่อนก็ขาดคนปรึกษาหารือ ขาดกำลังใจ เลยไม่เรียน ถ้ายังมีชนิดของกำลังใจที่ไร้กระดูกเช่นนี้ ก็คงทำอะไรสำเร็จได้ยาก
[9] “กินอาหารไม่ครบหมู่”
แม้แต่ละคนจะมีวิธีที่ถนัดในการเรียนต่างกัน แต่ก็ควรใช้ให้ครบทั้ง 4 อวัยวะในการเรียน คือ ใช้ตาอ่านและดู - ใช้หูฟัง – ใช้ปากพูด – และใช้มือเขียน ไม่ใช่ใช้อวัยวะอย่างเดียวที่ตนถนัดในการเรียนภาษาอังกฤษ และปล่อยให้อวัยวะอื่นอีก 3 อย่างว่างงาน ถ้าขืนทำอย่างนี้นาน ๆ ก็จะเป็นโรคขาดสารอาหารทางทักษะภาษาอังกฤษ
[10] “ไม่เข้าถ้ำเสือแต่อยากได้ลูกเสือ”
หลายคนพออ่านภาษาอังกฤษที่ไม่มีคำแปลไทย, ดูคลิปวีดิโอที่ไม่มีซับไตเติ้ลภาษาไทย, เปิดดิกชันนารีฝรั่งที่ไม่ใช่ดิกอังกฤษ-ไทย, ก็มีอาการคล้ายถูกภาษาอังกฤษขบกัดหรือขีดข่วน และขยาด แต่ทำไมท่านไม่ถามตัวเองสักหน่อยว่า ถ้าท่านอยากได้ลูกเสือ แต่กลัวเสือกัดจนไม่กล้าเข้าถ้ำเสือ ท่านต้องรออีกนานเท่าไรจึงจะได้ลูกเสือ
พิพัฒน์