Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอกกับการเดินจงกรม

manyPIPAT 10

ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอกกับการเดินจงกรม

【1】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก
【2】ประสบการณ์ในการเดินจงกรม
【3】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก กับการเดินจงกรม
manyPIPAT 10
【1】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก
       ตอนที่ยังทำงานอยู่ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ผมสมัครสอบชิงทุนของกระทรวงการต่างประเทศ และสอบได้ไปฝึกอบรมระยะสั้น ๆ ที่ 4 ประเทศ คือ นิวซีแลนด์, เยอรมนี, อินเดีย และสวีเดน นี่เป็นประสบการณ์ที่ดี  เพราะนอกจากได้ความรู้ ยังได้เพื่อน และได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษจริง ๆ ในช่วงเวลาที่ยาวเป็นเดือน
      สำหรับผม ข้อสอบของกระทรวงการต่างประเทศนั้น ค่อนข้างยาก ซึ่งมักจะมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ Reading และ Listening ส่วนของ Reading นั้นง่ายกว่า เพราะถ้างงหรือไม่แน่ใจก็อ่านซ้ำได้ ส่วนนี้ผมทำคะแนนได้เยอะ แต่ส่วน Listening นั้นผมทำได้คะแนนน้อยกว่า และไม่ใช่ผมคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้ เพราะทุกครั้ง Listening จะสอบก่อน แล้วจึงค่อยให้ทำส่วน Reading จนหมดเวลา พูดง่าย ๆ ก็คือ ส่วนของ Listening นั้น ทำแล้วทำเลย ไม่มีโอกาสฟังซ้ำ แต่ส่วนของ Reading ถ้างงหรือไม่แน่ใจตรงไหนก็อ่านซ้ำได้ แต่ก็ต้องรีบ ไม่อย่างนั้นจะหมดเวลาก่อนทำครบทุกข้อ
       เมื่อหมดเวลาและเดินออกจากห้องสอบ บ่อยครั้งที่ผมได้ยินผู้เข้าสอบหลายคนคุยบ่นว่า Listening ฟังไม่รู้เรื่องเลย ที่ตลกก็คือ ฟังเรื่องเดียวกันแต่เข้าใจไปคนละเรื่อง เข้าทำนองคนหนึ่งบอกว่า ข้อสอบเขาถามเรื่องดวงจันทร์ แต่อีกคนหนึ่งบอกว่าเขาถามเรื่องดาวอังคาร อะไรทำนองนี้ เรื่องของเรื่องก็คือ ข้อสอบชิงทุนของกระทรวงการต่างประเทศมักจะยากแบบยอกย้อน กินมันไม่ได้ง่าย ๆ หลายข้อลวงให้เราตอบผิดอย่างมั่นใจ
       ถ้ามีเพื่อนที่ไปเข้าสอบชิงทุนถามผมว่า ทำยังไงให้สอบ Listening ได้คะแนนเยอะ ๆ คำตอบของผมจะเหมือนกันทุกครั้ง คือ คนเข้าสอบชิงทุนไปเมืองนอกก็เหมือนนักมวย คือ (1) ก่อนขึ้นชกบนเวทีต้องซ้อมให้หนัก และ (2) ขณะที่กำลังชกบนเวทีต้องมีสติและสมาธิ อย่าเผลอ เผลอเมื่อไหร่อาจถูกคู่ต่อสู้สอยร่วงเมื่อนั้น การทำโจทย์ Listening ก็เช่นเดียวกัน คือ ก่อนเข้าห้องสอบต้องซ้อมมาให้ดี และขณะอยู่ในห้องสอบสมาธิต้องมั่นคง เผลอเมื่อไหร่อาจถูกข้อสอบ Listening สอยร่วงเมื่อนั้น คือไม่รู้ว่าควรจะตอบข้อ A, B, C หรือ D

       การฟังอย่างมีสมาธิแปลว่าอะไร ? มันแปลว่า ขณะที่ฟัง - ให้เอาความคิดทั้งหมดจดจ่อกับประโยคที่กำลังฟัง และขณะที่อ่าน multiple choice เพื่อตอบ - ให้เอาความคิดทั้งหมดจดจ่อกับประโยคหรือที่กำลังอ่าน ทำเสร็จข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็แล้วกัน อย่าปล่อยให้ความกังวลหรือความพะวงค้างใจ และทำข้อถัดไปด้วยใจที่ไม่ว่างหรือไม่เต็มร้อย เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนี้ทุกข้อ คือทุกครั้งที่ฟังเพื่อทำข้อใหม่ ความคิดของเราก็จะคล้ายมีดที่ทื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อฟังผ่านไปถึงข้อท้าย ๆ อาจจะฟังแทบไม่รู้เรื่องเลย คล้าย ๆ กับฟังพระสวดอภิธรรมเป็นภาษาบาลีตอนไปงานศพ
       สรุปก็คือ ขณะที่ฟังข้อสอบ ให้มีสมาธิอย่างเต็มที่ต่อประโยคที่กำลังฟัง ไม่ใช่ไปพะวงกับประโยคที่ฟังผ่านไปแล้ว หรือประโยคข้างหน้าที่ยังไม่ได้ฟัง ถ้าทำได้อย่างนี้ โอกาสได้คะแนนดีก็มีมากขึ้น
manyPIPAT 10
【2】ประสบการณ์ในการเดินจงกรม
       ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 มีพระรูปหนึ่งสอนผมว่า สมาธิมีลักษณะและประโยชน์ 3 อย่าง (ท่านให้ภาษาอังกฤษมาด้วย) คือ บริสุทธิ์ - pure, ตั้งมั่น - stable และเหมาะกับการทำงาน - active และการทำสมาธิจะนั่งทำหรือเดินทำก็ได้ ถ้านั่งทำเราเรียกว่านั่งสมาธิ แต่ถ้าเดินทำเราคนไทยไม่เรียกวาเดินสมาธิ แต่เรียกว่าเดินจงกรม
       ผมเองตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว นั่งสมาธิได้ไม่ดี ไม่เคยนั่งได้สมาธิลึกแม้แต่ครั้งเดียว คือถ้าไม่ฟุ้งก็ฟุบ ง่วงเป็นประจำ แม้จะแก้ด้วยหลาย ๆ วิธีแล้วก็ไม่หาย ตอนหลัง ๆ ผมเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินจงกรมก็รู้สึกว่าดีขึ้น เพราะแม้ว่าสมาธิที่เกิดขึ้นจะได้แค่แผ่ว ๆ แต่ประโยชน์ที่เห็นชัด ๆ ก็คือ มันเหมาะกับการงาน ทั้งการงานทางโลกและการงานทางธรรมหรือทางจิตใจ
       ตรงนี้ขออนุญาตอธิบายสักนิด การงานทางโลกก็คือ เมื่อทำงานอย่างมีสมาธิ นั่นคือเมื่อความคิดนิ่งและความรู้สึกสงบ ขณะนั้นจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการงานทางธรรมหรือทางจิตใจนั้น เมื่อมีความคิด(thinking) หรือความรู้สึก (feeling) เกิดขึ้นในจิตใจ ให้มองเห็นความรู้สึกนึกคิดขณะนั้น ๆ ว่า มันจะชวนให้เราพูดหรือทำอะไร สิ่งนั้น ๆ ดีงาม ถูกต้อง เหมาะสม หรือไม่ หรือถ้าปฏิบัติให้ลึกยิ่งขึ้น ก็ให้มองเห็นความจริงตามสภาพธรรมชาติของทุกความรู้สึกนึกคิดว่า มันเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ที่ภาษาพระเรียกว่า อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความรู้สึกนึกคิดอะไรขึ้นมาในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รุนแรง ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมันมาก ดูมันไปก่อน มันอาจจะเป็นของหลอกก็ได้ คือความอยากหรือกิเลสมาหลอกให้รู้สึกอย่างนั้นหรือคิดอย่างนั้น ถ้ารออีกสักหน่อย เมื่อมันเห็นเราไม่เชื่อมัน ไม่ทำตามที่มันชวน บ่อยครั้งมันจะขี้เกียจรอ-ขี้เกียจคะยั้นคะยอเรา อาจจะไปโดยไม่บอกลาก็ได้
        ผมขอเปรียบเทียบอย่างนี้ สมาธิที่ใช้ทำงานทางโลกก็เหมือนคนถือมีดคมพร้อมใช้ทำงานฟันนั่นฟันนี่ ซึ่งก็ฟันได้ดีเพราะมันคม ส่วนสมาธิที่ใช้ทำงานทางธรรมนั้นต่างกัน คือ เหมือนเราแยกร่างออกมายืนอยู่ใกล้ ๆ, มองดูตัวเองกำลังถือมีดคม, และเรายังมีสติสามารถบอกให้คนที่ถือมีดนั้น พูดหรือทำ, หรือไม่พูด-ไม่ทำ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม หรือถ้าจะปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปกว่านั้นก็คือ ให้ปล่อยวาง เพราะไอ้คนที่กำลังถือมีดนั้น สักเดี๋ยวมันอาจจะหายแวบไปก็ได้ เพราะมันก็มันเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เหมือนกัน  การเห็นความคิดจิตใจและไม่ยึดมั่น  จะช่วยให้พูดหรือทำอะไรด้วยใจที่ว่างและไม่ผิดพลาดหรือผิดพลาดน้อย นี่คือการใช้สมาธิทำงานทางธรรม ซึ่งถ้าทำเป็นก็ไม่ขัดกับการใช้สมาธิทำงานทางโลก
        ตามคำสอนของครูบาอาจารย์ สมาธิจากการเดินจงกรมถ้าทำอย่างตั้งใจและต่อเนื่อง ผลก็ยิ่งใหญ่มหาศาล แต่ผมเองมักทำอย่างไม่ตั้งใจและไม่ต่อเนื่อง ผลที่ได้จึงเล็กน้อย ไม่น่าภูมิใจและไม่กล้าพูดอวดเพื่อน
       ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) ผมล้มป่วยเพราะโรคมะเร็งระบบเลือด มันแพร่ไปที่กระดูก ระยะแรกร่างกายอ่อนแอได้แต่นอนติดเตียง โชคดีได้หมอและยาช่วยทำให้ร่างกายฟื้นเร็ว แต่กระนั้นก็เคลื่อนร่างกายและแขนขาได้ช้าและยังโคลงเคลงอยู่บ้าง และแม้แต่จะพูดก็ช้าลง แต่นี่กลับเป็นโชค เพราะสมัยที่ร่างกายและปากเคลื่อนไหวได้ปรู๊ดปร๊าด บ่อยครั้งที่สติตามไม่ทันจึงพูดผิด-ทำผิดบ่อย ๆ บางเรื่องทุกวันนี้เมื่อนึกถึงก็ยังเสียใจ ในวันนี้เป็นคนไข้ไม่มีอะไรให้ทำมาก เมื่อใช้สติมองย้อนหลังก็เห็นอะไรชัดขึ้น และเมื่อมองไปข้างหน้าก็กะว่าจะนำอดีตมาสอนปัจจุบัน ส่วนอนาคตนั้นไม่แน่ ถ้ากรรมใจดีอาจจะให้มีชีวิตอยู่นานหน่อย แต่ถ้ากรรมเป็นครูตรวจข้อสอบแบบเข้ม อาจจะให้ตายเร็วหรือทุเลาช้า เรื่องนี้ก็ว่าใครไม่ได้ มันกรรมของเราเอง
        การไม่สบายครั้งนี้ยังมีอีก 1 โชคที่ขอเล่า คือหมอสั่งว่าอยู่บ้านให้ออกกำลังกายทุกวัน คือทำท่าตามกายภาพบำบัดที่หมอแนะนำและเดินออกกำลังกาย โชคดีที่บ้านพี่สาวที่ผมพักฟื้นมันมันเรียวยาวคล้ายริบบิ้น มีทางยาวให้เดินออกกำลังกายทั้งในบ้านและลานต้นไม้หลังบ้าน ตอนแรก ๆ ผมก็เดินเฉย ๆ วันละประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ต่อมาจนถึงวันนี้ผมเสริมแรงให้เป็นการเดินจงกรมด้วย เมื่อเท้าซ้ายทาบพื้นก็นึกคำในใจว่า "พุท", เมื่อเท้าขวาทาบพื้นก็นึกคำในใจว่า "โธ" เดินไปกลับอย่างนี้ตลอดเวลา 60 นาที ใช้มือถือตั้งเวลาหมดโดยไม่ดูนาฬิกา ฝึกเดินอย่างนี้ได้หลายวันแล้ว ร่างกายดีขึ้น วางเท้าตอนเดินได้มั่นคงขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าแข็งแรงขึ้น
        แต่ถ้าถามว่าด้านจิตใจล่ะมีอะไรต่างมั้ย? ผมยังตอบได้ไม่ชัดเจน แต่สามารถตอบได้ลาง ๆ ว่า ผมน่าจะมีสติมากขึ้น ตอนก้าวเท้าก็มีสติมากขึ้น ตอนใช้มือหยิบสิ่งของหรือทำงานเล็ก ๆ น้อยก็มีสติมากขึ้น สำหรับเรื่องพูดก็ยั้งใจมากขึ้นก่อนพูด และขณะกำลังพูดก็พยายามมีสติพูดให้ช้าลง-น้อยลง-หรือเงียบถ้าพูดไปก็ไร้ประโยชน์ นี่เป็นของดีที่ได้รับแต่ยังได้ไม่มาก เพราะยังฝึกน้อย
       ถ้าผมไม่ลืม ผมจะพยายามปรับคำสอนของหลวงพ่อชามาใช้ในการฝึกเดินจงกรม คือขณะที่เดินให้นึกจินตนาการว่า เรากำลังเดินจงกรมอยู่คนเดียวในป่าที่โปร่ง โล่ง และเงียบสงบ โลกทั้งโลกหยุดนิ่ง สิ่งที่เคลื่อนไหวมีเพียงเท้าซ้าย-เท้าขวาของเราที่สัมผัสพื้นทีละก้าว เมื่อก้าวเท้าซ้ายสติทั้งหมดก็อยู่ที่เท้าซายเท้านี้ เมื่อก้าวเท้าขวาสติทั้งหมดก็อยู่ที่เท้าขวาเท้านี้ ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ที่ก้าว ๆ เดียว คือก้าวที่กำลังก้าว โลกหยุดนิ่ง, ชีวิตหยุดนิ่ง และเวลาก็หยุดนิ่ง ไม่มีอดีต-เมื่อวานนี้-หรือชาติที่แล้ว และก็ไม่มีอนาคต-พรุ่งนี้-หรือชาติหน้า แต่ถ้าสติลอยไหลไปที่อื่นไม่อยู่ที่เท้า ก็พยายามดึงมันกลับมา ไม่ต่อว่าตัวเองหรือเสียใจที่ไร้สติ แต่ยิ้มในใจและเดินต่อ
        ผมตั้งใจว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะผนวกการเดินจงกรมเป็นกิจวัตรประจำวันของชีวิตที่ขาดไม่ได้ เป็นกิจกรรมออกกำลังกายและออกกำลังใจไปพร้อมกัน

manyPIPAT 10
【3】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก กับการเดินจงกรม
       เวลานี้ผมเป็นข้าราชการบำนาญรัฐเลี้ยงและไม่ต้องทำงานหาเงินแล้ว และก็ไม่ต้องสอบภาษาอังกฤษเพื่อชิงทุนไปเมืองนอกอีกแล้ว แต่ผมขอเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การฟังภาษาอังกฤษ หรือ Listening ซึ่งแม้ไม่ใช่แต่มันก็คล้าย ๆ กับการเตรียมตัวไปสอบ Listening เพื่อชิงทุนไปเมืองนอกตอนที่ยังทำงาน
       ก็คือว่า งานประจำชิ้นที่ 2 ที่ผมทำมากว่า 10 ปีแล้ว คือเขียนบทความและหาเรื่องสอนภาษาอังกฤษลงเว็บยังไม่เลิก(และก็ไม่คิดจะเลิกถ้าร่างกายอำนวย) และแทบทุกวันการอ่านและฟังภาษาอังกฤษจึงเป็น " a must " ของผม เพราะถ้าไม่อ่าน-ไม่ฟัง ก็ไม่มีเรื่องดี ๆ มาเสนอท่านผู้อ่าน ผมสังเกตว่า หลังจากฝึกเดินจงกรมวันละ 1 ชั่วโมงมาได้หลายวัน ผมมีสมาธิมากขึ้นในการอ่านและฟังภาษาอังกฤษ คือขณะที่อ่านจิตใจของผมสามารถจดจ่อได้มากขึ้นกับ 1 ประโยคที่กำลังอ่าน ซึ่งช่วยให้อ่านได้รู้เรื่องมากขึ้น-เร็วขึ้น ภาวะนี้เป็นได้โดยไม่ต้องออกแรงบังคับตัวเอง

       แต่ที่น่าพอใจมาก ๆ ก็คือการฟังหรือ Listening ผมมีสมาธิมากขึ้นกับประโยคที่กำลังฟัง ซึ่งก็แน่นอน ช่วยให้ผมฟังได้รู้เรื่องมากขึ้น และที่น่าพอใจมากไปกว่านี้ก็คือ ช่วยให้จับได้มากขึ้นว่าตรงไหนที่ฟังไม่รู้เรื่อง ก่อนหน้านี้ตอนฟังไม่รู้เรื่องก็มักไม่รู้เรื่องทั้งหมด ซึ่งไม่จริง เพราะทั้งท่อนหลายประโยคที่ไม่รู้เรื่องนั้น มันมีบางประโยคที่ฟังรู้เรื่อง แต่เมื่อสมาธิคลอนแคลน จึงพาลให้ฟังไม่รู้เรื่องแทบจะทุกประโยค
        สิ่งที่ผมเล่านี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะมันคือ 1 ใน 4 ข้อของอิทธิบาทสี่ที่พระพุทธเจ้าสอน คือ (1)ฉันทะ - รักในงานที่ "กำลัง" ทำ (2) วิริยะ - ขยันและอดทนในงานที่ "กำลัง" ทำ (3) จิตตะ - มีสมาธิในงานที่ "กำลัง" ทำ และ (4) วิมังสา - ใช้ปัญญามองให้รอบเพื่อปรับปรุงแก้ไขงานที่ "กำลัง" ทำ

       ทั้งสี่ข้อนี้ผู้หวังความสำเร็จต้องมีครบ แต่ที่ผมนำเรื่องนี้มาพูดก็เพราะดูเหมือนว่าเรื่องสมาธิในการฝึกให้เก่งอังกฤษมีคนสนใจน้อยมาก แทบทุกคนเมื่อถูกถามจะตอบว่าชอบอังกฤษ(มีฉันทะ), แต่ชอบแล้วก็ต้องขยันด้วย(มีวิริยะ), เมื่อขยันก็ต้องขยันอย่างคนฉลาด(มีวิมังสา), แต่เท่าที่ผมสังเกต โรคสมาธิจางในการเรียนอังกฤษคนไทยเป็นกันมากทั้งผู้ใหญ่และเด็ก(ไม่มีจิตตะ) อิทธิบาทที่ใช้งานได้นั้นเหมือนโต๊ะที่มีครบ 4 ขา เมื่อขาที่สามคือสมาธิหักหรือโยกก็ต้องซ่อมให้แข็งแรง .... แข็งแรงให้เท่า ๆ กับอีก 3 ขา   
 พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com