Home
เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า (ภาค 2 - วัยชรา)
เมื่อ 10 ปีที่แล้วผมได้เขียนเรื่อง "เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า " วันนี้ผมขอเขียนเรื่องนี้ต่อเป็น "ภาค 2 - วัยชรา"
วันที่ 3 ธันวาคม 2561 ผมรับการฉีดคีโมเข็มที่ 1 ช่วงก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์ผมทรมานมากเพราะมะเร็ง บนเตียงคนไข้ในขณะนั้นจึงคล้ายชั้นเรียนที่มีครูหน้าดุสอนเรื่องมรณะ
วันนี้ ผมถามหมอตรง ๆ ว่า เชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) ในร่างกายของผมตอนนี้เหลือมากแค่ไหน หมอบอกว่า หลังจากฉีดคีโมไป 16 ครั้ง มันลดไปแล้ว 9 ส่วนเหลือ 1 ส่วน แต่ 1 ส่วนนี่ก็ยังต้องถือว่าเยอะ เรื่องนี้ผมสัมผัสได้ ผลข้างเคียงจากโรคและยาก็คือ ยอก ขัด ตึง เจ็บ ปวด ที่กล้ามเนื้อหรือกระดูกผมก็ไม่แน่ใจนัก บางวันมาก บางวันน้อย แต่บางวันก็ไม่มี อาการมันเกิดตามใจมัน มันไม่ได้ตามใจผม
พูดง่าย ๆ ว่า มะเร็งมาเยี่ยมเมื่อวัยเกษียณ วันนี้ผมอายุ 60 ปีกับ 60 วัน การที่โรคมาเยี่ยมในวัยชราพร้อมของขวัญคือความทรมานเวอร์ชันพิเศษต้องนับว่าเป็นของแปลกใหม่ในชีวิต ผมอ่านบทความใน Wikipedia เขาบอกว่าโรคนี้ รักษาได้ แต่ ไม่หายขาด ถ้าไม่รักษาก็ 7 เดือนตาย ถ้ารักษาด้วยวิธีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็จะอยู่ได้อีกประมาณ 4 - 5 ปี คนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยนี้แหละ เฉลี่ยอายุก่อนตายก็ 64 - 65 ปี
ผมได้ความรู้ทางใจหลายอย่างจากคุณครูมะเร็งท่านนี้ ผู้ชายวัยขนาด 60 ที่ชอบภาษาไทยและผ่านประสบการณ์ทางโลกมาพอสมควรอย่างผม ก็อยากจะเล่าอะไรบ้าง ไม่ใช่อยากโชว์ความรู้แต่อยากแชร์ความรู้สึกที่เชื่อว่าอาจเป็นประโยชน์บ้าง ฉันเพื่อนคุยกับเพื่อน
=||= =||= =||= =||= =||=
ผมเป็นคนโชคดีที่ไม่มีลูกและ(ยัง)ไม่มีหนี้ และมีภรรยาที่ตามใจอยากจะทำอะไรก็ให้ทำ เธอมีวาจาสุจริตเป็นปกตินิสัย เท่ากับเธอเป็นครูสอนธรรมะให้ผมโดยไม่ต้องพูดหรือพูดน้อย เคยได้ยินบางคนพูดว่าผู้ชายเราได้ 2 อย่างนี้ก็พอแล้ว คือได้ทำงานที่ชอบ และได้อยู่กินกับผู้หญิงที่รัก ผมโชคดีได้ทั้ง 2 อย่าง
ทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตไปวัน ๆ ซึ่งก็คือใช้ชีวิตทีละ 1 วัน ซึ่งก็คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด มีความสุขกับวันนี้ให้มากที่สุด แม้เชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าชาติหน้ามีจริง แต่วันนี้จริงและจับต้องได้มากกว่า ทำอะไรที่อยากทำได้มากกว่า ไม่ต้องรอ
บ่อยครั้งที่นึกทบทวนชีวิตที่ล่วงไปแล้ว เมื่อเช็คสต๊อกก็พบว่า ใน 60 ปีที่ผ่านไปก็ได้ทำอะไรบางอย่างที่ดีพอใช้ คือเมื่อระลึกถึงแล้วชื่นใจ ส่วนที่ไม่ดีหรือไม่น่าชื่นชมก็คงมีหลายอย่างแต่ไม่รุนแรง คือไม่ถึงขั้นน่าประณาม พูดง่าย ๆ ว่าเป็นชีวิตแบบดาด ๆ เกรด C สอบผ่าน ไม่ต้องสอบซ่อมมาก
ผมนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่อง ความเพียร ๔ อย่าง คืออะไรไม่ดีก็พยายามปิดกั้น, ละ, กำจัด, ส่วนอะไรดีก็พยายามก่อให้เกิดและรักษาไว้ ผมดูแล้วนี่ก็คือ Dos และ Don'ts ของชีวิตนั่นเอง
เช้าวันนี้เวลาตี 4 ผมตื่นขึ้นมา มีความรู้สึกว่า อยากจะใช้เวลาเงียบ ๆ คนเดียวพิจารณาเรื่อง Dos และ Don'ts ของตัวเอง อันที่จริงเรื่องส่วนตัวต้องเก็บไว้กับตัวไม่ใช่นำมาเล่า แต่ที่ผมนำมาเล่าก็เพราะว่า น่าจะมีคนมากมายในวัยเดียวกัน ที่ได้ทำสิ่งไม่ดีที่ไม่ควรทำ คือ Don'ts และ ได้ทำสิ่งดีที่ควรทำ คือ Dos คล้าย ๆ กับผมนี่แหละ ชีวิตของผมที่แชร์ผ่านบทความนี้ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะต่อชีวิตของคนร่วมสังคมร่วมสมัย ผมแอบหวังว่าท่านผู้อ่านอาจจะได้อะไรติดไปบ้าง
เรื่องแรกที่ขอพูดคือเรื่อง Don'ts - เรื่องไม่ดีในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ผมควรเลิกได้แล้ว หรือทำให้น้องลง
(1) มีนิสัยและอุปนิสัยบางอย่างที่ผมควรเลิก-ละ ที่ชัดที่สุดคือ พูดมากเกินไป พูดเร็วหรือรีบพูดเกินไป พูดบ่อยเกินไป หรือแม้แต่พูดดังเกินไป โดยเฉพาะเมื่อหงุดหงิดหรือร่าเริงกะทันหัน นี่เป็นเรื่องโต้ง ๆ ที่ใคร ๆ ก็เห็น แต่ทำไมต้องรอให้แก่ถึง 60 ปีจึงได้มาตระหนัก ตอบตรง ๆ ก็น่าจะเพราะประมาท ละเลย ขี้เกียจ สะเพร่า ยิ่งแก่ยิ่งไม่มีใครกล้าเตือน
ผมทำงานรับราชการต่างจังหวัด ช่วง 10 ปีแรกเป็นพัฒนากร สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หลังจากนี้ก็เข้ากรุงเทพ โอนเข้าทำงานสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำได้ 22 ปีจนลาออกเมื่ออายุ 55 ปี ได้ทำงานอยู่ 2 กอง คือกองที่รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกองที่รับผิดชอบการส่งเยาวชนไปแข่งขันฝีมือแรงงานระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ ซึ่งต้องใช้ภาษาอังกฤษในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ทั้งในการติดต่อทางจดหมาย แฟกซ์ในสมัยก่อน และอีเมลในสมัยหลัง และเข้าร่วมประชุมที่เขาเดินทางมาที่บ้านเรา และกลุ่มของเราที่เดินทางไปประชุมที่บ้านเขา งานที่เล่ามานี้บังคับให้ผมต้องพูดมาก ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งพูดจริงแบบเป็นทางการ และพูดเล่นแบบไม่เป็นทางการ แต่นิสัยรักจะพูดเล่นมีมากกว่า และการพูดเล่นนี้ถ้าพูดมากหรือเร็วเกินไปจะเผลอพูดพลาดได้ง่าย และผมก็พูดพลาดบ่อย ๆ ที่แย่ก็คือบ่อยครั้งถือดีไม่ยอมถ่อมใจว่าตัวเองพูดผิดเพี้ยนหรือพลาด
เรื่องพูดเป็นเรื่องในชีวิตการทำงานที่ผมพลาดมาเยอะ และโดยทั่วไปก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มันเริ่มจากทิฐิความถือดีและใจร้อน พยายามหาเหตุผลมาพูดเอาชนะ ถามว่าทำไมเบื้องต้นจึงใจร้อน ใจร้อนก็เพราะเราไปตั้งอคติไว้ก่อนว่าไอ้คน ๆ นี้หรือท่านนี้ เป็นคนไม่ดีเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอเขาเสนอให้เราทำอะไร เราก็มักจะตั้งแง่คัดค้านไม่ยอมรับไว้ก่อน หรือถ้าเราต้องรับคำสั่งก็จะรู้สึกหงุดหงิดอึดอัดไปตลอด เมื่อสายตาไม่สว่างอย่างนี้จึงไม่ได้มองแง่ดี คือคนนั้นเขาก็มีแง่ดีบางแง่ที่เราสามารถเข้าไปพูดคุยสัมพันธ์ได้ หรืองานชิ้นนั้นมันก็มีแง่ดีให้เราเริ่มทำเพื่อทำประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปได้ การใจร้อนจึงเป็นการปิดใจ - ปิดตา - ปิดสมอง ปิดหนทางที่จะก้าวเดินต่อไป
แต่แม้จะสรุปเป็นคติอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับวา ผมเป็นข้าราชการที่โชคไม่ดีนัก ได้พบเห็นและสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชาที่คอร์รัปชันเป็นกิจวัตร มีทั้งเก็บอาการอย่างมิดชิดและออกอาการอย่างเปิดเผย และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่ประเทศไทยยังจ่อมจมอยู่ที่เดิมขยับยากก็เพราะมีทากอาวุโสพวกนี้อยู่เยอะในระบบราชการ และเมื่อต้องทำงานด้วยจึงอดไม่ค่อยได้ที่จะมีอคติ ณ เวลานี้ผมยังคิดไม่ออกเลยว่า ณ เวลานั้้นผมสามารถหรือไม่ที่จะทำอะไรให้ดีกว่านั้น นอกจากรับคำสั่งจากเจ้านายเลว ๆ คำสั่งสีเทาที่ไม่ผิดระเบียบจัง ๆ แต่ก็เบียดบังผลประโยชน์จริง ๆ ที่ควรตกไปสู่ชาวบ้าน
แต่ผมก็ยังยืนยันว่า เรื่องใจร้อน คิดลวก ๆ และปากไว พูดเร็วและพูดมากเกินไป เป็นเรื่องไม่ดี แต่อาการที่เมื่อถึงเวลาควรพูดกลับไม่พูด หงอหรือจำนนต่อระบบที่เลวลึก ก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน เมื่อมองดูข้าราชการทุกวันนี้ ผมเห็นว่าเขามีโอกาสทำอะไรได้มากกว่าคนรุ่นผม สิ่งหนึ่งที่เขาทำได้ง่ายกว่า คือ การเป็นนักแฉเรื่องเลวร้ายในองค์กรให้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้จัดการ หรือให้สาธารณชนได้รับทราบ ที่ศัพท์ฝรั่งเรียกว่า whistle-blower นั่นแหละครับ แต่ก็ต้องทำอย่างใจเย็น คิดรอบคอบ และพูดรัดกุม อย่าพูดเร็วหรือพูดมากเกินไป อย่าเอาเรื่องที่ไม่แน่ใจ ไม่มีหลักฐาน มาแฉ และถ้าจะเสนอให้สาธารณชนจับตาดูในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็น่าจะเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกต ไม่ใช่การกล่าวหา สื่อทางสังคม หรือ social media นั้นมีประโยชน์มาก มันเหมือนมีดคม ถือไม่ระวังก็บาดคนอื่นและตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว ถ้าใช้ไม่เป็นก็อย่าใช้ ใช่แล้วครับ อย่าใช้ ! ให้ปรึกษาผู้รู้ก่อน คือให้ผู้รู้บอกแนวทางในการแฉความเลวร้ายในองค์กร และเราก็ คิดอย่างใจเย็น ทำอย่างรอบคอบ และพูดอย่างรัดกุม
=||= =||= =||= =||= =||=
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า ในปุถุชนคนดีสามัญที่ไม่ค่อยได้ทำร้าย เบียดเบียน เอาเปรียบคนอื่นนั้น ในศีล 5 ข้อ คือ ข้อ 1 เว้นจากการฆ่าและทำร้ายร่างกาย, ข้อ 2 เว้นจากการลัก-โกง-เอาเปรียบ, ข้อ 3 เว้นจากการล่วงละเมิดทางเพศหรือของรักของหวงของคนอื่น, ข้อ 4 เว้นจากการเบียดเบียน-ทำร้าย-เอาเปรียบคนอื่นด้วยคำพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการพูดโกหกหรือให้ร้าย, และข้อ 5 เว้นจากการกินเหล้าทำร้ายสติของตนเองจนเป็นเหตุให้ไปทำร้ายคนอื่น, ในศีลทั้งหมด 5 ข้อนี้, ข้อ 4 คนทำผิดมากที่สุด บ่อยที่สุด และมักจะไม่ค่อยรู้ตัวด้วยซ้ำ การให้ร้าย โกหก ยกตน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำกันโดยทั่วไป ด้วยความหวังดี ถือตัว หรือเพลิดเพลิน ตัวอย่างในชีวิตการทำงานของผมเองนี่แหละชัดที่สุด
ก่อนนั้นเมื่อยังทำงานอยู่ในเหตุการณ์บังคับ ผมเคยสงสัยว่าถ้าเเพื่อนใกล้ชิดพูดจานินทาว่าร้ายคนอื่นลับหลังและคาดหวังให้เราพยักหน้าหรือเอ่ยปากเออออเห็นด้วย ถ้าเราเงียบปากและนิ่งหน้า และทำอย่างนี้แทบทุกครั้ง เป็นไปได้ไหมว่า เขาจะนับเราเป็นพวกน้อยลง หรือหยิบยื่นผลประโยชน์บางอย่างที่คนเป็นพวกมักได้รับให้เราน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า หรือมีอำนาจในองค์กรมากกว่าเรา
ณ วันนี้ที่เกษียณแม้ไม่อยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นแล้ว แต่ผมก็มีคำตอบที่มั่นใจว่าถูกต้อง กล่าวคือ มันเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบ คือ (1)บางคนยอมรับได้ว่าเราเป็นอย่างนี้ (2)แต่บางคนก็ยอมรับไม่ได้ แต่การที่เขาจะยอมรับหรือไม่ยอมรับเรามันไม่สำคัญนักหรอก สิ่งที่สำคัญกว่าและสำคัญที่สุดก็คือ เราสามารถยอมรับตัวเองได้หรือเปล่า ถ้าเราเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า การไม่เบียดเบียน-ไม่เอาเปรียบ-ไม่ทำร้าย คือชีวิตที่มีคุณค่าซึ่งก่อปีติให้ชีวิตเป็นนิตย์ เขาจะพูดอะไรก็เรื่องของเขา เขาจะไม่นับว่าเราเป็นพวกวงในก็เรื่องของเรา แต่ถ้าเราปฏิบัติแบบเดียวกันกับทุกคน ทุกพวกที่ชวนเราเข้าวงนินทา เขาก็ต้องยอมรับในความบริสุทธิ์ของเรา อย่างน้อยก็ในใจของเขา แม้ทางวาจาเขาจะพูดเป็นอย่างอื่นก็เรื่องของเขา เราบังคับปากใครไม่ได้
ตัวอย่างที่คล้าย ๆ กันก็คือ ตอนที่เป็นพัฒนากรต่างจังหวัด ผมถูกชาวบ้านและเพื่อนร่วมงานชวนบ่อยมากให้กินเหล้า ผมไม่กิน ชวนยังไงก็ไม่กิน ถูกแซว ถูกยั่ว ถูกล้อเลียน ก็ไม่ยอมกิน เขาถามว่าทำไมไม่กิน ผมมักตอบว่า (1) ไม่กินเพราะไม่อยาก หรือ(2) ไม่กินเพราะไม่ชอบ หรือ(3)ตอบไปดื้อ ๆ ว่า ไม่กินก็เพราะไม่กิน แต่ผมไม่ยอมพูดว่าเหล้าไม่ดี หรือคนกินเหล้าไม่ดี บางครั้งถูกชาวบ้านขอเงินซื้อเหล้า ผมก็ใจอ่อนให้ไป แต่ไม่บ่อย
แม้ไม่กินเหล้าแต่ก็ทำงานได้ ความตั้งใจทำงานอย่างตั้งใจและสุจริต เป็นโล่ที่แข็งแกร่งในการทำงานในองค์กรหรือในหมู่คณะ ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัวที่หมองด้วยศีล ย่อมทำให้ในใจลึก ๆ เรานับถือตัวเองได้ไม่เต็มที่ หลักที่ต้องจับก็คือ ถ้าเราคนเดียวสามารถนับถือตัวเองได้ ย่อมดีกว่ามีคนอื่นมากมายที่วาจามัวหมองมานับถือ แต่หลักนี้ก็ไม่ต้องจับแน่นเกินไปจนเพี้ยนอย่างผม มีอยู่ครั้งหนึ่งผมถูกพูดยั่วมากเรื่องไม่กินเหล้า ผมหลุดพูดตอบไปว่า "คุณสมศักดิ์ (นามสมมุติ) ผมเป็นคนดีนะ และผมก็ไม่เขินด้วย ตอนถูกคนชั่วแซว " เรามันบ้ามากเกินไปที่ยัวะตอบเขาไปอย่างนั้น !
หมายเหตุ : เมื่ออ่านถึงบรรทัดนี้ ท่านย่อมสรุปได้โดยไม่ยากว่า สมัยเมื่อทำงานผมไม่ใช่คนวาจาบริสุทธิ์ บ่อยครั้งที่ผมขาดสติกล่าวคำบาปต่อเนื่อง ทั้งพูดให้ร้าย-พูดโกหก-พูดยกตน โดยไม่ผิดกฎหมายแบบที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่เมื่อนึกถึงคราวใดใจตัวเองก็เดือดร้อนคราวนั้น
=||= =||= =||= =||= =||=
(2) สนใจมากเกินไปกับความรู้หรือข้อมูลที่เป็นส่วนเกินของชีวิต ที่รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะชีวิตมีเวลาจำกัด ทำให้เวลาที่สามารถใช้หาความรู้หรือสิ่งที่จำเป็นมีประโยชน์มากกว่า หดไปอย่างน่าเสียดายและไม่รู้ตัว การ browse ข้อมูลผ่านเน็ตโดยไม่มีเป้าหมายที่ดีพอและเจาะจง คือตัวอย่าง Don'ts ที่ผมทำบ่อย ๆ
การใฝ่รู้อย่างสะเปะสะปะนี้อาจจะเป็นเพราะในช่วงต้นถึงช่วงกลางของชีวิต นอกจากการทำงานหาเลี้ยงตัวเองตามอาชีพ ผมก็ไม่รู้ชัดว่า --> เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เกิดมาทำไม อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดหรือมีคุณค่าสูงสุดของชีวิต <-- เพราะถ้ารู้ก็จะได้แสวงหาความรู้อย่างมีทิศทาง คือความรู้เพื่อชีวิต... ชีวิตที่เพิ่งรู้ว่ามันสั้นนิดเดียว
(3) ความอยากจะเปลี่ยนคน คืออยากจะทำให้คนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราสนิท คนที่เรารักหวังดี ญาติผู้ใหญ่ คนใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแก่ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้เขาเปลี่ยนการกระทำ - คำพูด - ความรู้สึกนึกคิด ทั้ง ๆ ที่เขาเปลี่ยนยากหรือเปลี่ยนไม่ได้เพราะมันแน่นแล้ว ก็ยังจะไปหวังไปพูดให้เขาเปลี่ยน และบ่อยครั้งก็ทำให้หงุดหงิดทั้งตัวเขาและตัวเรา ผมหงุดหงิดที่เห็นว่าเขาเรื่องมาก แต่การที่ตัวเองหงุดหงิดและพูดมากก็เพิ่มคนเรื่องมากขึ้นมาอีก 1 คน คือตัวเองนี่แหละ นี่ก็เป็นอีก 1 Don'ts ที่ผมกำลังฝึกในวัยชรา
(4) เรื่องไม่ยอมรับว่ามีบางสิ่งในโลกนี้ ที่มันต้องเป็นของมันอย่างนั้น เราไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ จึงไม่ต้องไปเสียเวลากับมัน ปล่อยว่าง ช่างหัวมัน ไม่ต้องไปสะสางหรือตัดสินทุกเรื่องราวในโลกนี้
เรื่องความอยากจะเปลี่ยนคนหรือเปลี่ยนสิ่งที่เห็นชัดว่าเปลี่ยนไม่ได้ เป็นเรื่องใกล้ ๆ กัน ขอพูดรวม ๆ กันไปแล้วกันครับ
ผมเชื่อว่ามันเป็นกรรมที่ทำให้เราเกิดมาและใช้ชีวิต (1) ร่วมบ้าน (2)ร่วมที่ทำงาน และ(3)ร่วมประเทศ กับคนอื่น และการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นทำให้กระทบใจกลายเป็นรักหรือชัง เราจึงคิดอยากให้คนอื่นเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนคำพูด ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ ณ วันนี้ในวัยชราผมได้ข้อสรุปอันเด็ดขาดว่า อย่าไปฝันหวานเลยครับ ย้ายภูเขายังง่ายกว่าเปลี่ยนใจคน และเมื่อเขาไม่เปลี่ยนใจ เขาก็ยังทำเหมือนเดิมพูดเหมือนเดิม เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าต้องอยู่บ้านเดียวกับเขา อยู่ที่ทำงานเดียวกับเขา หรือแม้แต่อยู่ร่วมประเทศเดียวกับเขา เราจะอยู่ยังไงให้ชีวิตพอดำเนินไปได้และใจก็สงบด้วย
ผมขอยกตัวอย่างการสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานเดียวกันซึ่งมีนิสัยตระกูลขี้ที่น่ารังเกียจ คือ ขี้โกง(คอร์รัปชัน), ขี้นินทาว่าร้าย, และ ขี้เกียจไม่รับผิดชอบเต็มที่ในหน้าที่การงานของตนเอง, คนตระกูลขี้เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องก็น่ารังเกียจทั้งนั้น แต่ถ้าเราต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเขาทุก ๆ วัน เราจะทำยังไง
วิธีแก้ต้องแก้ที่ใจเราก่อน คือ ต้องยอมรับว่ามันเป็นกรรมที่นำพาเราและเขาให้มาพบกัน จึงไม่ต้องคิดมาก และเรื่องที่ควรฝึกเป็นนิจก็คือ มองเหตุการณ์อย่างมีความหวัง และ --> มองผู้คนในแง่ดี ให้โอกาส ให้อภัยก่อนใช้อคติตัดสิน <-- พูดอย่างนี้ง่ายแต่ทำคงยากกว่า แต่ผมเชื่อว่าก็พอทำได้ ถ้าเราเป็นคนทำงานอย่างรับผิดชอบและซื่อสัตย์สุจริต เมื่อต้องพูดจากับคนพวกนี้ก็ให้ทำใจเหมือนภูเขา คือสงบ ไม่กลัว และไม่เกลียด พูดด้วยใจเช่นนี้ไม่ว่าเขาจะเป็น เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง ถ้าฝ่ามือเราไม่เป็นแผลถึงใครยัดเยียดผงพิษใส่มือก็ไม่ตายหรอก กายวาจาที่สุจริตและใจที่มีเมตตาอภัยจะเป็นเกราะคุ้มกันภัยทั้งปวง ผมเชื่ออย่างนั้น
ในช่วงชีวิตกว่า 30 ปีที่ทำงาน ผมเสียสุขภาพจิตไปเยอะกับการคิดที่จะให้คนอื่นเปลี่ยนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ คำตอบที่ให้ตัวเองก็คือ อะไรที่ทำไม่ได้ก็อย่าไปคิดทำ แต่ให้เริ่มทำสิ่งดีมีประโยชน์ที่พอจะจับทำได้ เริ่มเล็ก ๆ ตรงนั้นก่อน แม้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราชอบหรือถนัด แต่ถ้ามันเป็นผลดีต่อประชาชนก็ทำไปเถอะ
เรื่องที่สองที่ขอพูดคือเรื่อง Dos - เป็นเรื่องที่ควร เริ่ม - เร่ง ซึ่งผม Do น้อยเกินไป - Do ช้าเกินไป หรือบางเรื่องยังไม่ได้เริ่ม Do ด้วยซ้ำ
(1) การทำตามมงคล ๓๘ ข้อแรก ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอน เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง 42 คติธรรม – หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ข้อ ที่ ๑. คือคิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดี การคบคนดีและไปสู่สถานที่ดี ก็คือมงคลข้อ ๒ และ ๔
การคบคนดีนี้มันมากกว่า การฟังธรรมหรืออ่านคำสอนของพระภิกษุหรือฆราวาสผู้รู้ดีปฏิบัติดี แต่มันหมายถึงว่า ผมควรจะเดินทางไปพบและเห็นหน้าเห็นตาเพื่อฟังท่านพูดด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เราได้สอบถาม ใกล้ชิด สนิทสนม เป็นญาติกับชุมชนทางธรรมชาวพุทธ และได้กัลยาณมิตรตัวเป็น ๆ เกิดความกระจ่าง กำลังใจ และความมั่นใจในการปฏิบัติมากขึ้น ผมมักจะแก้ตัวว่ายังไปไม่ได้เพราะไม่มีเวลา แต่ถ้าเป็นกิจกรรมเพลิน ๆ ผมกลับมีเวลาให้แบบไม่ต้องเตรียมตัว แต่เรื่องคบหาบัณฑิตนี้แม้มีเวลาเตรียมตัวกลับติดขัดทุกครั้ง นี่ผมตั้งใจว่าถ้าร่างกายทุเลามากกว่านี้จะเดินทางไปนมัสการพระอาจารย์ชยสาโรที่สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี ปากช่อง โคราช สักครั้ง ผมโชคดีที่วัยนี้ได้พบธรรมะที่ชอบใจที่ท่านสอน หลังจากมีโชคตอนหนุ่มที่ได้อ่านหนังสือธรรมะของท่าน อาจารย์พุทธทาส และหลวงพ่อชา
เรื่องนี้มันก็เป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก พิสูจน์ไม่ได้เหมือนกันครับ ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยใกล้จบ ประมาณปี พ.ศ. 2524 -25 ผมได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) ลงไปค้นคว้าเอกสารเก่า ๆ ที่วัดชยาราม อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี ซึ่งเก็บผลงานเก่า ๆ ของท่านอาจารย์พุทธทาส ได้มีโอกาสเห็นท่านนั่งที่ม้าหินหน้ากุฏิ ได้ยินท่านพูดธรรมะรับแขก ตัวเองก็มีโอกาสได้พูดกับท่านบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องงานที่ทำ และตอนกลางคืนก็ได้ฟังเสียงธรรมเทศนาที่เปิดให้ฟังดังทั่ววัดสวนโมกข์ ผมบอกได้เลยว่าสัมผัสอันเล็กน้อยแต่น่าประทับใจในวัยหนุ่มตอนต้น ที่ได้ใกล้แม้ไม่ชิดมหาปราชญ์ทางธรรมท่านนี้เป็นของจริง และน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมสนใจธรรมะมาตั้งแต่นั้น
ท่านล่ะครับ พบธรรมะที่ตัวเองชอบใจ หรือยัง และมีโอกาสเดินทางไปพบนักปราชญ์ผู้สอนธรรมะท่านนั้นบ้างไหมครับ
(2) การทำ list หนังสือที่ควรอ่านก่อนตาย และอ่านให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่วันนี้ - นี่เป็นสิ่งที่ต้องลงทุนคัดเลือกเพราะมันหลายถึงกำไรทางธรรม อาจจะเริ่มด้วยการอ่านชื่อหน้าปก, อ่านคำนำ, ดูบทต่าง ๆ ในสารบัญ, ลองอ่านคร่าว ๆ และตัดสินใจบรรจุเข้าในบัญชี "หนังสือต้องอ่าน " และเริ่มอ่านไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันนี้ เพราะพรุ่งนี้อาจจะสายเกินไปด้วยเวลาและสายตาไม่อำนวย
เริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 30 ปีซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเน็ต ผมสะสมหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ ของท่านอาจารย์พุทธทาสไว้เป็นสิบ ๆ เล่ม กะว่าเมื่อแก่ ๆ หรือเกษียณแล้วจะพลิกอ่านให้ครบทุกเล่มทุกหน้า มาถึงวันนี้ผมสายตาฝ้าฟางและเป็นมะเร็ง ยังไม่ได้อ่านจบเพิ่มขึ้นแม้แต่เล่มเดียว
ถ้าถามว่าถ้าไม่อ่านชีวิตจะสูญเสียอะไรไปหรือเปล่า สำหรับผมมันคือการได้ในสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งผมยังไม่ได้รับหรือได้น้อยเกินไป มันคือการ update ธรรมะ เพื่อการ upgrade ชีวิตภายใน ผมเชื่ออย่างนั้น ผมเป็นปุถุชนยังอยากได้ธรรมะเวอร์ชันใหม่ ซึ่งมีทั้งที่ออกมานานแล้วหรือที่ท่านทำออกมาใหม่ ๆ นี่ก็อีก 1 Do ที่ต้องทำ
(3) การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บางอย่างง่าย ๆ ที่ไม่เสียตังค์มาก ผมก็ยังไม่ได้ทำหรือทำไม่จริงจัง เช่น
- การสวดมนต์ แผ่เมตตาและส่วนบุญให้แก่สรรพสัตว์ ผมไม่รู้ว่าจนถึงทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์ทางจิตของโลกตะวันตกเข้าถึงเรื่องนี้ได้มาก-กว้าง-ลึก เพียงใด แต่ผมเชื่อว่ามิติทางพุทธเราไปไกลมากมานานแล้ว คำอธิบายของนักปราชญ์ชาวพุทธสมัยนี้อาจจะพอให้คำอธิบายหรือคำตอบได้ แต่การรู้จริงและอานิสงส์ที่จะได้รับต้องใช้ใจสัมผัสเท่านั้น ผ่านการปฏิบัติด้วยตัวเองจริง ๆ
สำหรับผม การสวดมนต์ แผ่เมตตาและส่วนบุญให้แก่สรรพสัตว์ เมื่อก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ ทำก็ได้ - ไม่ทำก็ได้ แต่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ ทำก็ได้ - ไม่ทำไม่ได้ และผู้ที่ได้นั้นก็ทั้งตัวเราและสรรพสัตว์ ที่ต้องเปิดใจให้และเปิดใจรับ นี่เป็น Do ที่ต้องใช้ใจล้วน ๆ
- Do อีกอย่างหนึ่งที่ผมเพิ่งมาทำจริงจังมากขึ้นคือการทำสมาธิ ผมเคยท้อเพราะนั่งสมาธิไม่ได้ผล คือถ้าไม่ฟุ้งก็ฟุบ แต่ไม่นานมานี้เพิ่งพบว่าการทำสมาธิแบบเดินจงกรมเหมาะกับตัวเองมากกว่า อันที่จริงการทำสมาธิมีตั้ง 40 แบบ หรือมากกว่า ผมน่าจะขวนขวายให้เร็วกว่านี้หาวิธีที่สมพงศ์กับตัวเอง ผมเชื่อว่าการฝึกสมาธิทุกวันจะช่วยทำจิตใจให้หนักแน่น ปล่อยวาง และร่าเริง
เราได้ยินพระสอนให้ฝึกสติ เห็นการเคลื่อนไหวของความรู้สึกนึกนึกคิดที่เกิด-ดับในจิตใจและก็ให้ปล่อยวาง แต่จิตใจเป็นของละเอียดอาจจะเห็นยาก แต่ถ้าเราฝึกสมาธิให้เห็นการเคลื่อนไหวของกาย คือลมหายใจเข้า-ออก หรือฝ่าเท้าที่ย่างซ้าย-ขวา มันก็จะง่ายขึ้นเยอะทีเดียวในการรู้จัก ดูใจ-เห็นใจ-ทำใจ คือทักษะในการดูกายจะถูกใช้ในการดูใจโดยอัตโนมัติ เรื่องนี้แต่ละคนต้อง ดูเอง-เห็นเอง-ทำเอง ครับ
อีกอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าสมาธิช่วยให้สมองขี้หลงขี้ลืมน้อยลง ซึ่งมันอาจจะต่างจากบางวิธีของสมัยใหม่ที่แนะนำให้สมองจดจ่อในกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งผมเห็นว่าถ้าเกินพอดีอาจทำให้สมองเครียดหรือตึง แต่สมาธิแบบพุทธถ้าทำอย่างปล่อยวางโอกาสเพี้ยนจะมีน้อยหรือไม่มีเลย
- งาน "จิตอาสา" ที่เป็น labor of love คือหาข้อมูลเพื่อให้คนไทยได้ใช้เรียนและสอนภาษาอังกฤษ ผ่านบล็อกและเว็บที่ผมทำมากว่าสิบปี แม้อาจจะช่วยท่านได้เพียงนิด ๆ หน่อย ๆ แต่มันก็ช่วยให้ผมรู้สึกชื่นใจทุกวัน นี่เป็นการลงทุนทางใจที่คุ้มเกินคุ้ม แต่ผมก็ยังรู้สึกบ่อย ๆ ว่า ผมน่าจะทำอะไรที่รับใช้ท่านได้มากกว่านี้ แต่ทำไมทำได้เพียงเท่านี้ พอจะหาคำตอบก็นึกไปถึงเพื่อนข้าราชการบำนาญคนอื่น ๆ ที่เคยคุยกันก่อนเกษียณในเรื่องนี้ และนี่น่าจะเป็นคำตอบ
=||= =||= =||= =||= =||=
คือตอนที่ยังรับราชการนั้น เราทำอะไรได้หลายอย่างตามหน้าที่ เพราะเรามีพร้อมทั้งตำแหน่งหน้าที่ ลูกน้อง ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ออฟฟิศ เครื่องมือ อุปกรณ์ งบประมาณ ผู้สนับสนุน ผู้ประสานงาน ฯลฯ แต่พอเกษียณ เราหลายคนเหลือแค่ skill คือทักษะ ความรู้ ความชำนาญ และใจที่จะทำสิ่งดี ๆ เพื่อคนอื่น แต่สิ่งสนับสนุนที่เคยมีเคยได้มันหดหรือหายไป จึงทำอะไรได้น้อยหรือไม่ได้เลย แถมบางคนยังมีภาระเรื่องเงินที่ต้องจ่ายเพื่อตัวเอง ครอบครัว ญาติ หรือคนในภาระดูแล หรือความต้องการติดค้างใจยังไม่ได้ชำระเช่นไปเที่ยวต่างประเทศให้หนำใจสักครั้ง
ผมโชคดีที่ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมมากนักในการทำงานจิตอาสา เพราะงานเว็บที่ทำมากว่า 10 ปีนี้สามารถทำ online อยู่กับบ้านได้สบายมาก และที่โชคดีสุด ๆ ก็คือได้ ดร. ประสาร คิดดี เพื่อนรุ่นน้อง ช่วยเป็น Technical Webmaster และได้ภรรยา เป็นกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือทุกเรื่อง
โชคดีอีกอย่างที่เมื่ออายุไม่มากยังแข็งแรงในวัยทำงาน ได้เดินทางท่องเที่ยวมาแล้วแทบทุุกจังหวัดในเมืองไทยและหลายประเทศในโลกนี้ แม้จะแห่งละนิด ๆ หน่อย ๆ แต่มันก็มากพอที่ตอนนี้เมื่อได้ยินใครพูดคุยเกี่ยวกับความสนุกน่าตื่นเต้นจากการไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ใจผมไม่กระเพื่อมเลยหรือกระเพื่อมน้อยมาก รู้สึกว่าแม้มันน่าดู น่าสนใจ น่าตื่นตาตื่นใจ น่าตื่นเต้น แต่มันก็อย่างนั้นแหละ และหลายอย่างก็ ของเทียมปนแท้ หรือจัดฉาก บางครั้งไกด์พาไปดูท่อนไม้เก่า ๆ สักท่อนหนึ่ง ณ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศหนึ่งในยุโรป มันก็แค่วัตถุเก่า ๆ แต่เขาสามารถพูดจนเรารู้สึกปลื้มใจว่าได้มาเห็นสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเขา คือเขารู้จักพูดเพิ่มคุณค่าเข้าไปในสิ่ง(ที่ผมเห็นว่า)ธรรมดาให้เราทึ่ง
ขออนุญาตเล่าแถมสักนิดนะครับ มีครั้งหนึ่ง ผมไปเที่ยวภูเขาที่ตามโปรแกรมในสูจิบัตรจะมีหิมะให้นักท่องเที่ยวดู แต่เผอิญเราไปถึงก่อนเวลาหิมะยังตกมาแค่หรอมแหรม เขานำเครื่องทำหิมะเทียมพ่นหิมะโปรยใส่ เพื่อให้หิมะเต็มผิวภูเขาทันตามเวลาที่นักท่องเที่ยวมาชม นี่ผมเห็นกับลูกกะตาตัวเอง ผมถึงได้บอกว่า มันจริงแต่มันก็อย่างนั้นแหละ ที่แม่กลองสมุทรสงครามบ้านผม ผมเคยคุยกับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันและชาวไต้หวันที่เดินทางจากประเทศของเขามาดูตลาดร่มหุบที่สถานีรถไฟแม่กลอง เขาบอกว่าตั้งใจมาดูตรงนี้โดยเฉพาะเพราะได้ดูคลิปยูทูปแล้วตื่นเต้นอยากดูบ้าง แต่ในฐานะเจ้าของบ้าน นี่เป็นสิ่งอันตรายสุด ๆ เพราะดูเหมือนไม่มีใครกลัวรถไฟชนหรือเฉี่ยวเอาเสียเลย อยากจะเดิน ถ่ายรูป เซลฟี่ ซื้อของ ต่อราคาสินค้า หรือทำอะไรก็ได้ตามใจชอบทั้ง ๆ ที่รถไฟมาแล้วหรือกำลังจะมาในไม่กี่วินาที รถไฟต้องกลัวคนไม่ใช่คนกลัวรถไฟ ถ้ามันเกิดอุบัติเหตุถึงตายหรือบาดเจ็บหนัก จนตลาดร่มหุบ กลายเป็นตลาดร่มหัก หรือตลาดร่มเหี่ยว จะว่ายังไง หรือจะรอให้มันเกิดเรื่องก่อน ผมเคยไปเที่ยวสถานที่ซึ่งต้องเดินบันไดลาดขึ้นไปดูสิ่งก่อสร้างคล้ายโดมหรือเจดีย์ที่บางประเทศในยุโรป ได้คุุยกับสถาปนิกคนหนึ่งที่นั่น เขาบอกว่าน่าจะมีการทำราวจับหรือออกแบบทางเดิน เพื่อป้องกันอันตรายเมื่อหิมะตกและพื้นลื่น แต่ก็ไม่ได้ทำ ถ้าเกิดอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวไถลลื่นบันไดแข้งขาหักหัวแตกจะว่ายังไง ดูเหมือนทุกประเทศอยากได้เงินจากนักท่องเที่ยวมาก ให้เขาได้เดินและถ่ายรูปได้เต็มพิกัด สรุปก็คือ เมื่อไปเที่ยวก็ตื่นเต้นได้ แต่ก็ระวังบ้าง เพราะเขาอาจจะเล่าให้เราฟังเท่าที่เขาอยากบอก ให้เราเข้าไปดูเฉพาะส่วนที่เขายอมให้ดู และรวมถึงต้อนเราเข้าไปซื้อในสิ่งที่เขาอยากขาย
นี่ก็เป็นโชคดีส่วนตัวที่ผมขอเล่า เพื่ออยากจะบอกว่า ถ้าท่านต้องการทำบุญแบบจิตอาสาเป็นงานประจำในวัยเกษียณท่านต้องเตรียมตัว-เตรียมใจ-เตรียมทักษะ-เตรียมสิ่งของ-เตรียมผู้ช่วยเหลือหรือผู้ร่วมงาน ก่อนเกษียณ ในทำนองที่เล่ามานี้ แต่อาจจะไม่มากเท่านี้ก็ได้ เพื่อนผู้หญิงบางคนของผมชอบทำอาหารหรือขนมพวกเค้กไปถวายพระที่วัด เธอมีความสุขเพราะอิ่มบุญที่ได้ทำ อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชายตอนพูดไม่ใคร่ออกทันใจแต่เป็นจิตอาสาสามารถไปร้องเพลงเพราะ ๆ ได้คล่องแคล่วให้คนไข้และญาติฟังที่โรงพยาบาลทุกเดือน เขามีความสุขและผมก็มีความสุขไปกับเขาด้วย นี่ผมกำลังจะบอกท่านว่า บุญประจำที่เราเลือกจะทำในวัยชราหรือเมื่อเกษียณนั้น ถ้าไม่ใช้ labor of love เราอาจจะทำได้แต่มักไม่นาน เพราะฉะนั้นเราต้องหาอันที่เป็น labor of love ที่เรามีความสุขสามารถทำได้นาน ๆ และคนอื่น ๆ ก็จะได้ประโยชน์จากเรานาน ๆ เราต้องตระเตรียมทั้งสิ่งของ ทักษะ และใจ โดยเฉพาะใจที่คิดจะให้ไม่หวังผลตอบแทนนั้นสำคัญที่สุด การที่สังคมไทยยังมีสภาพดีพอทนไหวอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะยังมีคนไทยจำนวนมากยอมเป็นวีรบุรุษ-วีรสตรีนิรนาม ที่ปิดทองหลังพระอย่างเต็มใจและมีความสุขอย่างเงียบ ๆ ไม่กระโตกกระตาก
งานจิตอาสานั้น ผมดูแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ (1)แจกวัตถุสิ่งของ (2)แจกความรู้ (3)เป็นนักกิจกรรม หรือ activist ที่แจกความคิดเพื่อชักชวนให้คนในสังคมเกิดการกระทำหมู่ โดยเชื่อว่าการทำอย่างนี้จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้น อย่างผมเองทำงานเว็บ e4thai.com ก็เป็นจิตอาสาประเภทที่ 2 คือแจกความรู้ เพื่อนของผมบางคนพยายามรวบรวมสิ่งของจากผู้คนที่ใจดีนำไปให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า นี่ก็เป็นจิตอาสาประเภทที่ 1 ผมมีเพื่อนเพียงไม่กี่คนที่เป็น activist คือจิตอาสาประเภทที่ 3 เขาเก่งมากทำได้ดี ซึ่งงานอย่างนี้ยากเกินไปสำหรับผม
ขออนุญาตย้อนความหลังตามประสาคนแก่สักนิดนะครับ เมื่อเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 2 ผมได้อ่านหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสแปลและเรียบเรียง(อ่านยังไม่จบ) และเจอข้อความข้างล่างนี้ในบทแรก ๆ ที่กล่าวถึงตถาคตหรือพระพุทธเจ้าว่า ....
เกิดขึ้นเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก. เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย.
ผมอ่านแล้วรู้สึกเต็มตื้นประทับใจจนล้นอก สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า "จิตอาสา" แต่เด็กนักศึกษาอย่างเราคุ้นเคยกับคำว่า "เพื่อมวลชน " และผมก็บอกกับตัวเองว่า พระพุทธเจ้านี่แหละคือคนที่เกิดมาเพื่อมวลชนโดยแท้ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องพูดว่า พระพุทธเจ้ามี "จิตอาสา" ตั้งแต่ยังไม่ได้บรรลุอรหันต์ คือตั้งแต่ยังเป็นปุถุชนนั่นแหละ ... ปุถุชนอย่างที่เราทุกคนเป็น ปุถุชนที่สามารถทำงานเป็นจิตอาสาเพื่อมวลชนได้ ... ทำด้วยใจเพื่อช่วยทำให้โลกใบนี้งดงาม
ท่านเองล่ะครับ กะจะทำงาน "จิตอาสา" ประเภทใดและจะทำงานอะไร (ลองคลิกดูที่นี่ก่อนก็ได้ครับ) เตรียมตัวไว้เลยครับ
=||= =||= =||= =||= =||=
วันนี้ เรื่องส่วนตัวที่ผมอยากเล่า (ภาค 2 - วัยชรา) เป็นวันที่ผมมีอายุ 60 ปีกับ 60 วัน ผมไม่รู้เลยว่ามะเร็งที่ผมเป็นอยู่จะอนุญาตให้ผมมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่วัน จึงขอถือโอกาสสวัสดีทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ก่อน เผื่อปุ๊บปั๊บถึงเวลาต้องไปไม่ทันได้ลา
พิพัฒน์
วันอาทิตย์ ที่ 31 มีนาคม 2562
เมื่อหลวงพ่อชาพูดเรื่องตายแล้วเกิดใหม่
เท่าที่เคยอ่านพบ หลวงพ่อชาท่านสอนว่าไม่ควรไปสนใจเรื่องชาติหน้า ถ้าทำปัจจุบันให้ดีทุกอย่างมันก็ดีเอง และเรื่องชาติหน้านั้น ถึงบอกว่ามีหรือไม่มีมันก็พิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้ ควรปฏิบัติในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนก่อนดีกว่า
==> อ่านที่นี่ครับ
แต่ครั้งหนึ่งผมไปที่ วัดบุญญาวาส จ.ชลบุรี ซึ่งเจ้าอาวาส คือ พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต ลูกศิษย์หลวงพ่อชา ผมได้เปรยกับท่านอาจารย์ตั๋นว่า ไม่เห็นหลวงพ่อชาพูดเรื่องชาติหน้าเลย ท่านอาจารย์ตั๋นตอบว่า ทำไมจะไม่ได้พูด การที่ท่านตอบอย่างนี้ ผมเข้าใจว่า ในช่วงชีวิตที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อชาที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อชาคงได้พูดเรื่องนี้กับพระลูกศิษย์ในวัดบ้าง แต่สิ่งที่ท่านสอนอาจจะไม่ได้มีการนำมาเผยแพร่เป็นกิจจะลักษณะ
และวันนี้ผมบังเอิญได้เจอคำสอนของหลวงพ่อชาเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ
==> It can be done คลิกอ่านที่นี่ หรือ ที่นี่
ถ้าท่านต้องการอ่านที่ย่อหน้านั้นโดยตรงก็เริ่มที่บรรทัดที่บอกว่า It is like this. Throughout all our becoming and birth,......
หรือฟังเสียงอ่านเป็นภาษาอังกฤษก็ ==> เริ่มที่คลิป นาทีที่ 27
เสียดายที่คำสอนเรื่องนี้ไม่ได้บันทึกวันเดือนปีที่หลวงพ่อเทศน์
นี่เป็นการตีความของผมนะครับว่า หลวงพ่อชาพูดเรื่องตายแล้วเกิดชัด ๆ คือตายแล้วไปเกิดเป็นคนเราตัวเป็น ๆ นี่แหละ ไม่ใช่ตาย-เกิดในลักษณะความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจซึ่งเป็นคำสอนที่เราได้ยินบ่อย ๆ
สรุปง่าย ๆ ก็คือ การเกิด-ตาย เป็นจริงได้ในทั้ง 2 ความหมาย คือ (1) การมีสติรู้เห็นการเกิด-ดับในจิตใจ ให้เห็นอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา จนค่อย ๆ ปล่อยวางได้ นี่เป็นเรื่องที่ต้องสนใจก่อน ต้องปฏิบัติเป็นนิตย์ (2) การเกิด-ดับทางร่างกายก็เป็นเรื่องจริง ถ้ากิเลสยังไม่สิ้น นี่เป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่หลวงพ่อชาท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ไม่เน้น และแทบไม่ได้พูดถึง
ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยนะครับ เพราะนี่เป็นเพียงความเข้าใจส่วนตัว อาจจะผิดก็ได้
ตรงนี้แหละครับ ↓↓↓↓↓ ที่ผมเจอว่าท่านพูดถึงเรื่อง ตายแล้วเกิดใหม่ตรง ๆ
It is like this. Throughout all our becoming and birth, all of us are so
terribly anxious about so many things. When there is separation, when
there is death, we cry and lament. I can only think, how utterly foolish
this is. What are we crying about? Where do you think people are going
anyhow? If they are still bound up in becoming and birth they are not
really going away. When children grow up and move to the big city of
Bangkok they still think of their parents. They won't be missing someone
else's parents, just their own. When they return they will go to their
parents' home, not someone else's. And when they go away again they
will still think about their home here in Ubon. Will they be homesick for
some other place? What do you think? So when the breath ends and we
die, no matter through how many lifetimes, if the causes for becoming
and birth still exist, the consciousness is likely to try and take birth in a
place it is familiar with. I think we are just too fearful about all of this.
So please don't go crying about it too much. Think about this. 'Kammam.
satte vibhajati' kamma drives beings into their various births - they don't
go very far. Spinning back and forth through the round of births, that is all,
just changing appearances, appearing with a different face next time, but
we don't know it. Just coming and going, going and returning in the loop
of samara, not really going anywhere. Just staying there. Like a mango
that is shaken off the tree, like the snare that does not get the wasps' nest
and falls to the ground; it is not going anywhere. It is just staying there.
So the Buddha said, 'Nibbana paccayo hotu ': let your only aim be Nibbana.
Strive hard to accomplish this; don't end up like the mango falling to the
ground and going nowhere.
พิพัฒน์
อ่านทั้ง fiction และ non-fiction ให้ได้ทั้งภาษา ความเพลิดเพลิน และความรู้
คำแนะนำพื้นฐานที่ผมให้บ่อย ๆ สำหรับท่านที่ต้องการฝึก reading skill ก็คือ แรกสุดต้องหาให้พบเรื่องที่ (1)เราชอบอ่านและสนใจ เพราะจะอ่านได้นานไม่เบื่อง่าย (2) เรื่องที่ไม่ยากเกินไป และอย่ายาวนัก เพื่อเราจะได้อ่านจบ ภูมิใจในตัวเอง และมีแรงใจอ่านเรื่องใหม่ ๆ
แต่เอาเข้าจริง ๆ เกณฑ์ 2 ข้อข้างต้นก็ยังไม่พอในการเลือกเรื่องมาฝึกอ่าน เพราะมันน่าจะมีอีก 2 ข้อที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ (1) ใช้ภาษาดี คือคำศัพท์ และลีลาภาษา ถูกต้อง เหมาะสม สวยงาม คมคาย กระชับ และชัดเจน และ(2) ให้ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ต่าง ๆ ที่น่ารู้มาก ๆ แต่เรารู้น้อยเกินไปหรือยังไม่รู้เลย หรือให้ความเพลิดเพลินที่มาพร้อมกับความรู้ และเนื้อเรื่องตาม 2 ข้อนี้ เราอาจจะไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะท่านที่ search หน้าเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยเก่ง
เนื้อหาภาษาอังกฤษมักแบ่งได้ง่าย ๆ ออกเป็น fiction และ non-fiction
FICTION
สำหรับ fiction กับพวกเราที่จะฝึกอ่านภาษาอังกฤษ อาจจะหาเนื้อหาได้ง่ายหน่อย คือมีเนื้อหาให้เลือกหลากหลาย ง่าย-ยากหลายระดับ เขียนโดยนักเขียนดังหรือผู้เชื่ยวชาญของสำนักพิมพ์ที่กลั่นกรองทั้งการใช้คำศัพท์และความถูกต้องของภาษา ผมรวบรวมไว้ที่นี่
==> fiction
NON-FICTION
และอีกประเภทหนึ่ง คือ non-fiction ซึ่งอาจจะอ่านไม่สนุกเหมือน fiction โดยทั่วไปเว็บข่าวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง มักใช้ภาษาดีและเราสามารถศึกษาจดจำได้ เช่น
==> รวมเว็บข่าวเพื่อการศึกษาภาษาอังกฤษ
ภาษาข่าวนั้น มักเขียนอย่างกระชับ ชัดเจน ตรงไปตรงมา นอกจากให้ความรู้ยังสามารถให้ความเพลิดเพลินอีกด้วย แม้ภาษาข่าวอาจจะต่างจากภาษาที่เขียน story ก็ตาม
ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมได้รวบรวมเนื้อหาประเภท non-fiction ที่นำเรื่องราวความรู้ยาก ๆ มาเขียนใหม่ให้ง่าย ๆ ผมอยากชักชวนเป็นพิเศษให้ท่านที่คุ้นเคยกับการอ่านเฉพาะเนื้อเรื่องประเภท fiction ให้ลองอ่านประเภท non-fiction บ้าง เพราะแม้ว่าอ่านแล้วจะได้ความเพลิดเพลินน้อยกว่า แต่ความรู้น่าจะได้มากกว่า และขณะเดียวกันก็ได้รู้คำศัพท์และลีลาของภาษาด้วย
ลองไปดูที่นี่ครับ
==> มีเนื้อเรื่อง nonfiction ง่าย-ยาก หลาย Level ให้ดาวน์โหลดไปอ่านและฟัง
และ non-fiction อีกอย่างหนึ่งที่ผมแนะนำหลายครั้งแล้ว แต่บางท่านอาจจะไม่ชอบเพราะคิดว่ามันอ่านยาก คือ หนังสือประเภท encyclopedia หรือสารานุกรมภาษาอังกฤษที่เขาเขียนให้เยาวชนอ่าน นี่ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่อ่านแล้วได้ทั้งการพัฒนาภาษาอังกฤษ, ได้ความรู้ และความเพลิดเพลิน ถ้าเป็นเเรื่องที่ท่านสนใจ ซึ่งนี่หมายความว่า ยิ่งมีความสนใจใคร่ในความรู้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีเรื่องให้อ่านเพื่อความเพลิดเพลินมากเท่านั้น ซึ่งต่างจากคนที่เพลิดเพลินเฉพาะกับเรื่องง่าย ๆ พอยากหน่อยก็ไม่เอาแล้ว จึงได้ความเพลิดเพลินจากภาษาอังกฤษเฉพาะเรื่องตื้น ๆ ง่าย ๆ
ตามความเห็นของผม เราน่าจะขยับตัวเองให้สามารถอ่านเพื่อเพลิดเพลินกับเรื่องยาก ๆ ที่เป็นความรู้ประเภท non-fiction ให้มากกว่าเดิม และที่เว็บ e4thai.com ก็ได้รวบรวมไว้บ้าง ที่นี่
==> หนังสือประเภท encyclopedia หรือสารานุกรมภาษาอังกฤษที่เขาเขียนให้เยาวชนอ่าน
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
ฟังเรื่องเล่าวิธีฝึกภาษาอังกฤษที่ประสบความสำเร็จ
ฟังเรื่องเล่าวิธีฝึกภาษาอังกฤษที่ประสบความสำเร็จ
My Story of Learning English: 7 Unforgettable Lessons
คน ๆ นี้เขาพูดแนะนำวิธีฝึกให้ตัวเองเก่งอังกฤษ ซึ่งสรุปตามนี้
คลิกขยายภาพ ↓↓↓↓↓ คลิกขยายภาพ
ท่านผู้อ่านครับ จากที่เคยผ่านคำแนะนำพวกนี้มาหลายครั้ง ทำให้เห็นว่า วิธีฝึกที่ครูหรือคนที่ประสบความสำเร็จในการฝึกเล่าให้ฟัง ก็มักคล้าย ๆ กัน
ปัญหาของพวกเราที่เป็นคนรับคำแนะะนำ ก็คือ
【1】เขาแนะนำหลักการหรือแนวทางทั่วไป แต่เราต้องหารายละเอียดในวิธีการเองว่า เราจะฝึกยังไง และรายละเอียดพวกนี้แหละครับที่สำคัญมาก เราจะฝึกได้ผลมากหรือน้อยก็อยู่ตรงที่เราจัดการตัวเองยังไงนี่แหละะครับ
【2】 เราขาดครูที่ช่วยไขข้อข้องใจ เราคนเดียวจึงต้องเป็นทั้งครูและนักเรียน มันยากตรงนี้ เราจึงต้องฝึกให้เก่ง ๆ หน่อย ในการ Search เพื่อตอบปัญหาที่เราสงสัย ต้องขยันถามอาจารย์กู(เกิ้ล)
【3】 เราขาดเพื่อน หรือที่ปรึกษาที่สามารถให้กำลังใจ และถ้าเราไม่สามารถสร้างกำลังใจให้ตัวเอง เราก็จะเรียนอย่างคนหมดแรง
ท่านจะเห็นได้ชัดว่า แม้เน็ตจะเป็นผู้ช่วยที่วิเศษ แต่เราก็ต้องช่วยตัวเอง เพราะไม่มีใครช่วยเรา
ลองคลิกเข้าไปฟังดูซักหน่อยซีครับ มี script ให้อ่านด้วย
==> https://www.lucalampariello.com/learning-english-7-lessons/
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/pg/En4Th/posts/?ref=page_internal
ท่านใดมีไฟล์ pdf หนังสือ "ไทยรบพม่า" โดย สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผมขอครับ
ท่านใดมีไฟล์ pdf หนังสือ "ไทยรบพม่า" โดย สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผมขอครับ
คือเล่มนี้ครับ
==> http://drmlib.parliament.go.th/securepdf/p_417787.pdf
เท่าที่ผมเจอ มีแต่ข้างล่างนี้
- พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า...
- ประวัติศาสตร์พม่า โดย หม่องทินอ่อง
- รวมตำราเก่าประวัติศาสตร์ไทย
- พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- เว็บตำราเรื่องราวเก่า ๆ ของไทย
ลิงก์ 1
ลิงก์ 2
ลิงก์ 3
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/pg/En4Th/posts/?ref=page_internal
ครูสอนภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันผ่าน YouTube ที่ผมชอบเป็นพิเศษ
ครูสอนภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันผ่าน YouTube ที่ผมชอบเป็นพิเศษ
อันที่จริงก็มีหลายท่าน แต่เอาเป็นว่าโดยส่วนตัวผมชอบ ครู Alisha และครู Stefanie Here เป็นพิเศษ ท่านพูดด้วยความเร็วปกติ ไม่ได้พูดช้าลงเพื่อให้คนฝึกภาษาอังกฤษได้ฟังง่าย ๆ เราจึงได้ฟังภาษาอังกฤษที่เป็นธรรมชาติ และน้ำเสียงของทั้งสองท่านก็สดใสมาก ฟังคล้าย ๆ สำเนียงของผู้ประกาศข่าวทีวีระดับโลกค่ายอเมริกัน ลองเข้าไปฟังดูหลาย ๆ คลิปซีครับ
ครู Alisha - ENGLISH CLASS 101
- https://www.youtube.com/user/ENGLISHCLASS101
- https://www.youtube.com/user/ENGLISHCLASS101/videos
- https://www.youtube.com/user/ENGLISHCLASS101/playlists
- https://www.youtube.com/user/ENGLISHCLASS101/search?query =พิมพ์คำค้น+ตรงนี้
- https://www.facebook.com/EnglishClass101
ครู Stefanie Here - The English Coach
- https://www.youtube.com/channel/UC-g0gSStENkYPXFRsKrlvyA
- https://www.youtube.com/channel/UC-g0gSStENkYPXFRsKrlvyA/videos
- https://www.youtube.com/channel/UC-g0gSStENkYPXFRsKrlvyA/playlists
- https://www.youtube.com/channel/UC-g0gSStENkYPXFRsKrlvyA/search?query=พิมพ์คำค้น+ตรงนี้
- https://www.facebook.com/stefanietheenglishcoach/
แถมท้าย : ถ้าท่านไม่ติดใจครูสองท่านนี้ ก็ไปที่ครูท่านอื่นก็ได้ครับ
More Articles...
- สันโดษคือความสำเร็จทันทีที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด - ในการฝึก English listening
- วัด/แหล่งศิลปะโบราณเมืองไทย น่าจะเขียนป้ายข้อมูลภาษาอังกฤษง่ายกว่านี้ให้นักท่องเที่ยวอ่าน
- ชวนฝึกอ่านภาษาอังกฤษ : วิตามินรวมและอาหารเสริม ควรกินเมื่อไหร่ - กินยังไง?
- ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอกกับการเดินจงกรม
- ฝึกอ่าน simple sentence เป็นประจำช่วยให้พูดอังกฤษเก่งขึ้น (ขอยืนยัน)
- Tip ในการพูดภาษาอังกฤษ แต่นึกศัพท์ไม่ออก
- ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา # 1
- ดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บ e4thai ได้แล้วครับ ( 8 กุมภาพันธ์ 2562
- ฝึกแปลศัพท์ ไทย --> อังกฤษ เพื่อเป็นต้นทุนในการพูดและเขียน
- สั่งสอนตัวเองด้วยภาพเมื่อวัยยังแข็งแรง
- ฝึกให้เก่งอังกฤษเหมือนกินยาขม ไม่กินก็ไม่เก่ง
- ปีนถึงแน่ ๆ แม้จะเป็น The Great Hill
- วิธีง่าย ๆ หา eBook ฟรีจากเน็ต และวิธีเริ่มใช้ไม่เก็บเงียบ
- ฝึกภาษาอังกฤษกับช่อง BBC YouTube ดีแน่ ๆ
- วิธีฝึกแปลศัพท์+แปลประโยคพื้นฐาน จากไทยเป็นอังกฤษ เพื่อใช้พูดจริง ๆ
- อาการล่าสุดของโรคมะเร็งกระดูกในระบบเลือดของผม (22 มกราคม 2562)
- อาการล่าสุดของโรคมะเร็งกระดูกในระบบเลือดของผม (22 มกราคม 2562)
- ฝึก reading skill ด้วยการอ่าน world news จากหลาย ๆ สำนักข่าว
- พระมาโปรดถึงห้องนอน
- รายงานผลครับ ( 11 มกราคม 2562 )